ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ กนกรัตน์ รีสอร์ท อัมพวา สมุทรสงคราม ๑๒ - ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๘

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  21 มี.ค. 2558
หมายเลข  26351
อ่าน  3,199

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๑๒ - ๑๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากรของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา พร้อมทั้งสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. รวม ๑๑๐ ท่าน ได้รับเชิญจาก คุณสัมพันธ์ และ คุณนวรัตน์ พงษ์พรรณากูล เจ้าของกนกรัตน์ รีสอร์ท เพื่อไปพักผ่อนและสนทนาธรรม ณ กนกรัตน์ รีสอร์ท อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ที่นี่ เป็นรีสอร์ทที่แวดล้อมไปด้วยความร่มรื่นของพรรณไม้ บนทำเลที่ยังคงสภาพเดิมๆ ของวิถีชีวิตริมน้ำ คลองอัมพวา ที่ดูเงียบสงบ เหมาะแก่การมาพักผ่อน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือ หมู่คณะ หรือ การประชุมสัมมนาของบริษัท หน่วยงาน ต่างๆ ซึ่งทางรีสอร์ท มีห้องประชุมสัมมนาที่โออ่า ทันสมัย ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้มาตรฐาน มีห้องพักที่สะอาด สะดวกสบาย พรั่งพร้อมด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกครบครัน ที่สำคัญ อัมพวา เป็นเมืองที่ยังมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปพักผ่อนในวันสุดสัปดาห์ โดยไม่ต้องเหน็ดหนื่อยจากการขับรถไปไกล จึงสามารถที่จะเดินทางไปพักผ่อน และ ท่องเที่ยว ได้อย่างสบายๆ ครับ

ไม่เพียงแค่เป็นสถานที่ร่มรื่น เหมาะแก่การพักผ่อน และ ท่องเที่ยวที่อัมพวาเท่านั้น ทางรีสอร์ท ยังมีชื่อเสียงทางด้านอาหารพื้นบ้านที่อร่อย จนได้รับรางวัลชนะเลิศของอัมพวา นอกจากนั้น เชลล์ชวนชิม โดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ยังมอบประกาศนียบัตรไว้ให้ สำหรับอาหารระดับเชลล์ชวนชิมถึง ๓ รายการ คือ ปลาทูต้มมะดัน ยำส้มโอ และ สะเดาน้ำปลาหวาน ซึ่งท่านเจ้าของรีสอร์ทได้นำมาให้ทุกท่านได้รับประทานด้วย ต้องยอมรับว่าอร่อยจริงๆ และเป็นรสชาติพื้นบ้านดั้งเดิม ที่หาทานได้ยาก เพราะปัจจุบัน รสชาติของอาหาร ที่เป็นพื้นบ้านไทยเดิมแท้ๆ ถูกทำลายโดยมาตรฐานร้านอาหารสมัยใหม่ ที่ควบคุมตามสูตรชั่ง ตวง วัด ทำให้อาหารทุกร้าน มีรสชาติเหมือนกันหมด ไม่ต่างกันเลย

ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่อาหารที่ขึ้นชื่อ และ ได้รับรางวัลเท่านั้น อาหารจานอื่นๆ ที่ท่านเจ้าของรีสอร์ทได้กรุณาจัดมาให้ทุกท่านได้รับประทานในแต่ละมื้อ ก็มีรสชาติที่อร่อย นุ่มนวล น่าชื่นชมอย่างยิ่งที่ยังคงรักษารสชาติไทยแท้ไว้ได้ไม่เปลี่ยนแปลง เหตุหนึ่งคงเป็นเพราะทางแม่ครัว ยังคงตำน้ำพริกแกงต่างๆ เอง แบบใหม่ๆ สดๆ ในแต่ละวัน เพราะข้าพเจ้าได้ยินเสียงโขลกน้ำพริก โป๊กๆ ๆ ขณะที่เดินถ่ายภาพรอบๆ บริเวณนั้น

ยอมรับจากใจจริงๆ ว่า ขณะที่เขียนบรรยายอยู่นี้ ยังนึกถึงน้ำพริกอ่อง และ น้ำพริกกุ้งเสียบ ที่ทั้งสิงห์เหนือ คือ ข้าพเจ้าและพี่แอ๊ว ฟองจันทร์ ต่างยกมือให้ ว่าอร่อยเป็นเลิศ ส่วนน้ำพริกกุ้งเสียบนั้น เสือใต้ของภูเก็ตที่ว่าแน่ อาจต้องส่งแม่ครัวมาสังเกตุการณ์ที่นี่นะครับ เพราะ มีรสชาติดีมาก หอมเครื่องและกุ้งเสียบ แบบที่ว่า ยังนึกถึงอยู่จนขณะนี้เลยทีเดียวครับ

ขอกราบอนุโมทนาท่านเจ้าภาพทั้งสอง พร้อมทั้งบุตรชายของท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่เพียงให้ที่พักผ่อน ที่อาศัย ที่สวยงาม ยังให้อาหารรสเลิศ ให้ความเป็นมิตรที่มีใจดี และ ประการสำคัญที่สุด ให้ธรรมทานอันเลิศ ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าสิ่งใด สำหรับทุกคนธรรม อันท่านทั้งสองและบุตรชายของท่าน ได้รับฟังจากท่านอาจารย์มากว่าสิบปีแล้ว และเป็นเหตุแห่งกุศลศรัทธา กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์และคณะฯ มาสนทนาธรรม เป็นการปิดรีสอร์ททั้งหมด เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทั้งขอขอบพระคุณและขออนุโมทนา คุณฟองจันทร์ วอลช (พี่แอ๊ว) ที่ได้รับการร้องขอจากท่านเจ้าภาพ ให้เป็นผู้ประสานงาน ซึ่งการทั้งหลายได้เสร็จสิ้นไปด้วยความเรียบร้อย งดงาม และเป็นประโยชน์ยิ่ง ทั้งขอขอบพระคุณพี่เจี๊ยบ รัชนีวรรณ และ พี่ประสาร บุญชู สำหรับน้ำมะพร้าวแสนอร่อย ที่พี่ทั้งสอง นำมาให้สหายธรรมได้รับประทานทุกครั้ง ที่เดินทางมายังสมุทรสงครามครับ

อนึ่ง หากท่านได้ติดตามฟังการสนทนาบ่อยๆ จะพบว่า ระยะนี้ ท่านอาจารย์ ได้เมตตากล่าวเตือน ให้ทุกคนได้เข้าใจถูกต้องในพระธรรมวินัย เพื่อการสำนึกและปฏิบัติตาม ในบุคคลที่มีความตรง และจริงใจที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อจุดประสงค์คือ ขัดเกลากิเลสของตนๆ เป็นสำคัญ นอกจากท่านจะกล่าวถึงสำนักปฏิบัติต่างๆ กล่าวถึงภิกษุในพระธรรมวินัย แล้ว ท่านยังกล่าวคำที่เตือนใจ คฤหัสถ์ ผู้ครองเรือน ผู้เป็นอุบาสก อุบาสิกาทั้งหลายด้วย ดังจะขอยกความที่ท่านอาจารย์ ได้กล่าวไว้ในตอนท้ายของการสนทนาธรรม ที่กนกรัตน์ รีสอร์ทนี้ มาเพื่อให้ทุกๆ ท่านได้พิจารณา โดยทั่วกันดังนี้

"...ฟังธรรมะ เพื่ออะไร? เพื่อเข้าใจถูก เพื่อรู้ความจริง เมื่อรู้แล้ว ธรรมะลึกซึ้งอย่างยิ่ง ยากที่ใครจะเข้าใจได้ ถ้าคนนั้นไม่ได้ยิน ได้ฟัง คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยตรง อย่างละเอียด ทั้งพระวินัย พระสูตร และ พระอภิธรรม ไม่มีการกล่าวว่า ภิกษุรูปนั้น รูปนี้ ชื่อนั้น ชื่อนี้ แต่ว่าผู้ใดก็ตาม ประพฤติผิด ต้องผิด ผู้ใดก็ตาม ที่มีความเห็นผิด ก็ต้องผิด!!! สำนักใดก็ตามที่ผิด แล้วจะไม่กล่าวว่าผิด เพราะอะไร? รักตัวเอง หรือว่า เกรงใจอะไร? ถ้าสิ่งที่ผิด แล้วผิด แล้วไม่พูดเลย ไม่บอกกันเลย ใครจะรู้ว่าผิด? ก็หลงทำสิ่งที่ผิดกันไป ต่อๆ ไป

แต่ถ้ารู้ว่า เพื่อประโยชน์หรือเปล่า? แก่คนซึ่งไม่สามารถจะพิจาณาด้วยตัวเอง นอกจากจะได้ฟัง "คำ" ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ละเอียดอย่างยิ่ง ก็สามารถที่จะรู้ว่า ผิดต้องเป็นผิด!!! จะเป็นถูกไม่ได้เลย!!! และ การที่จะอนุเคราะห์คนอื่น ให้เข้าใจถูก ว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก เป็นความหวังดี หรือ เป็นความหวังร้าย? เพราะว่า ไม่ใช่เพียงแต่จะเอ่ยคำ เอ่ยชื่อ แล้วก็ไม่มีเหตุผลใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ทั้งหมด การกระทำ ไม่ว่าใคร? ชื่ออะไร? ก็ไม่สำคัญ แต่พระวินัยอย่างนี้ ว่าอย่างนี้!!! เพราะฉะนั้น ไม่มีการที่คนนี้ทำแล้วจะไม่ผิด คนนี้ทำแล้วผิด แต่ว่า ใครก็ตามที่ผิด ก็ต้องผิดทั้งหมด นั่นคือ ความตรง และ ความจริง เพื่ออนุเคราะห์ ให้มีการสำนึก..."

.........

กราบท่านอาจารย์ครับ สำหรับข้าพเจ้า นี้เป็นคำที่เตือนใจตนเองอย่างยิ่ง คำจริง วาจาสัจจะ เป็นคำเตือนที่ดี สำหรับทุกบุคคล ไม่เว้นแม้บรรพชิต หรือ คฤหัสถ์

อันดับต่อไปขออนุญาตนำความการสนทนา ซึ่งคุณสัมพันธ์ พงษ์พรรณากูล ได้กราบเรียนสนทนากับท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของการเข้าใจธรรมะในเด็กและเยาวชน เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้น ท่านอาจารย์ยังได้เมตตาแสดงถึงความสำคัญ และ หนทางของการอบรมเจริญปัญญา ไว้โดยละเอียดอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะเป็นประโยชน์มาก แก่ท่านที่มีความตั้งใจจริง ที่จะเดินบนหนทางนี้ ซึ่งท่านอาจารย์ได้เมตตากล่าวไว้ โดยละเอียดตามลำดับ เป็นความชัดเจนมากๆ ครับข้าพเจ้าได้นำมาลงไว้ทั้งหมด เพื่อทุกท่านได้พิจารณา โดยไม่มีการตัดทอนเลย

อนึ่ง สำหรับภาพที่นำมาประกอบ เป็นภาพจากทั้งสองวันของการสนทนา วันแรกเป็นการสนทนาภายในห้องประชุม และในบรรยากาศภายนอกสำหรับวันที่สองครับ

คุณสัมพันธ์ กราบเท้าท่านอาจารย์ ท่านคณะวิทยากรทุกท่านครับ จริงๆ แล้วคำถามแรกไม่ใช่คำถามของผม เป็นคำถามของเพื่อนที่อยู่ในจังหวัดสมุทรสงคราม ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะท่านที่ปรึกษาของผม ท่านก็มีความปรารถนาดี และ ท่านก็ดูแลโรงเรียนในจังหวัดสมุทรสงครามมากมาย คำถามแรกคือ ท่านฟังท่านอาจารย์แล้วรู้สึกประทับใจมาก แล้วก็มองไปถึงเรื่องทางสังคม เรื่องทางเด็กรุ่นใหม่ๆ จะทำอย่างไร จะปูพื้นฐานเด็กๆ ให้เข้าใจธรรมะที่ท่านอาจารย์ได้กล่าว อันนี้ ก็เป็นความห่วงใย เกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ๆ นะครับ ก็อยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์ ได้กรุณาตอบคำถาม ให้เพื่อนๆ ชาวสมุทรสงครามได้ฟัง

ท่านอาจารย์ สำหรับวัยเด็ก คงไม่พร้อมที่จะฟังธรรมะที่ลึกซึ้ง แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจได้ จากชีวิตจริงๆ ของเขา เราก็มีชีวิตจริงของเด็กในชั้นก็มีหลายคน หลากหลาย ผู้ปกครอง พี่น้อง ญาติ เพื่อนฝูง แต่ละชีวิต ถ้าเราถามเขา ให้เขาได้เล่า แล้วก็ให้ทุกคน ได้ช่วยกันพิจารณา ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรดี เขาก็อาจจะช่วยกันคิด และ ในที่สุด เขาก็เริ่มที่จะเห็นว่า สิ่งใดที่ควร สิ่งใดไม่ควร ก็ค่อยๆ แทรกความเข้าใจธรรมะ โดยไม่ต้องกล่าวตรงๆ ว่า เดี๋ยวนี้ เป็นธรรมะ ทุกอย่างเป็นธรรมะ เขาก็อาจจะไม่พร้อมที่จะเข้าใจ เพราะเขาอยู่ในวัยนั้น

แต่ก็ถาม ในสิ่งที่เขาสามารถเข้าใจได้ พี่น้องเป็นอย่างไร? เหมือนกันหรือเปล่า? ทำอะไรบ้างเมื่อวานนี้? ทำดี หรือ ทำไม่ดี?อย่างน้อยที่สุด เขาก็ค่อยๆ "เริ่มคิด, เริ่มเข้าใจ" แล้วเราก็ค่อยๆ นำไป และ ถ้ามีคำถามอะไร เราก็ตอบในทางที่ให้เขา ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ถ้าเขาเป็นคนช่างซัก เราก็สามารถที่จะให้เขา ค่อยๆ เข้าใจ เห็นถูกต้อง อย่างบอกว่า ขณะนี้ หิวไหม? ถ้าเขาบอกว่า หิว ถ้าไม่มีตัวร่างกายนี่ จะหิวไหม? เริ่มให้เขาเข้าใจความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว ทุกอย่างที่มีจริง บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วก็ มีธรรมะ ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็เป็นฝ่ายที่ดี อีกฝ่ายหนึ่งก็ ไม่ดี

ขั้นต้น ต้องรู้ว่า อะไรดี? อะไรชั่ว? ตั้งแต่ต้น!!! แล้วเขาก็สามารถที่จะเข้าใจได้ เด็กคนไหน ช่วยพ่อแม่บ้าง? รักพ่อแม่ เพราะอะไร? พ่อแม่ มีคุณ ในอะไรบ้าง? เพราะว่า เด็กบางคน ไม่คิดถึงคุณของพ่อแม่เลย!!! เหมือนพ่อแม่ มีหน้าที่เลี้ยงดู แล้วก็อุ้มชูเขาไปตลอด แต่ถ้าเป็นเด็กที่ช่างคิด เราก็อาจจะให้ไปคิดว่า รักพ่อแม่ไหม? รักแล้วทำอย่างไร? ดูแลหรือเปล่า? ถ้าเขาเป็นเด็กไม่ดี พูดไม่ดีนี่ เคยไหม? และ ขณะนั้น พ่อแม่ รู้สึกอย่างไร? และคำพูดที่ไม่ดีนี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะกับใคร ทั้งนั้น กับเพื่อนหรือกับใคร แม้แต่ผู้ที่ช่วยงาน ทำให้เขาเสียใจ

เพราะฉะนั้น ถ้าเขาต้องการอย่างเราที่ได้รับสิ่งที่ดี เขาก็เป็นคนดีต่อคนอื่นด้วย ค่อยๆ แนะนำ ให้เขาได้ยินคำที่คุ้นหูก็ได้ อย่าง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ดับกิเลส เพราะฉะนั้น กิเลส ก็คือ สิ่งที่ไม่ดี วันนี้มีไหม? โกรธบ้างหรือเปล่า? อะไรอย่างนี้ ก็ค่อยๆ ก็คงจะทำให้เขาได้เข้าใจชีวิตจริงๆ ถ้าเราเอาหัวข้อมา อริยสัจจ์ ๔ รับรอง ไม่มีความหมายเลย!!! อิทธิบาท ๔ ก็ไม่รู้ว่า อะไร? แต่ว่า จากชีวิตจริงๆ เขาเริ่มเห็นว่า ในบรรดาคนที่เขารู้จัก เขาชอบใคร? เพราะอะไร? ก็ต้องรู้ว่า เป็นเพราะ ความดี หรือ อะไร? หรือถ้ามีข่าวคราว ซึ่งแท๊กซี่นำเงินมาคืนให้นี่ ถ้าเป็นเขา เขาจะทำอย่างไร? และ อะไรที่ถูกต้อง? ค่อยๆ เห็นว่า ไม่ว่าเป็นใคร ความดี เป็น ความดี และ ทุกคน ก็ชื่นชม ความดี ด้วย

เพราะฉะนั้น คนที่เป็นคนดี ใครจะเปรียบ จริงๆ แล้ว ก็ไม่มี ใช่ไหม? ถ้าจะมีคนอิจฉา ริษยา ก็ช่วยไม่ได้!!! เพราะว่า จริงๆ แล้ว เขาเข้าใจผิด ว่าแท้ที่จริงแล้ว ถึงจะริษยาใคร ก็ไม่ได้ทำให้คนนั้นเดือดร้อน กุศลทั้งหลาย เป็นโทษกับตัวเอง ทั้งนั้น มัวแต่คิดร้ายไป อะไรไป คือ ค่อยๆ รู้จักเด็กในห้อง แล้วก็รู้ว่า แต่ละคน เราจะช่วยเขาอย่างไร ให้เขาเข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง และ เป็นคนดีขึ้น

เราอาจจะถามทุกวัน วันนี้ ใครทำดีบ้างหรือเปล่า? มี หรือ ไม่มี? คนที่ไม่มี จะรู้สึก อายไหม? วันนี้ ไม่ได้ทำดีอะไรเลย เห็นไหม? คือ มี "ความเข้าใจ" สำคัญที่สุด "ความเข้าใจ" "สมานัตตา" ความมีตนเสมอ ไม่นึกถึง ว่าเขาสูงกว่าเรา ต่ำกว่าเรา เสมอกับเรา หรืออะไร แต่ทุกคนเหมือนกันเลย เกิดมาเพราะกรรมที่ได้ทำแล้ว และ ชีวิตแต่ละคน จากเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เราก็เห็นตัวอย่าง ตอนเด็กเขาเป็นอย่างไร และตอนโตเขาเป็นอย่างไร? เด็กทุกคนนี่ เข้าใจว่า ตอนเล็กๆ ดูเหมือนว่า พอใจที่จะทำความดี ชื่นชมในความดี แต่ทำไมโตขึ้น กลายเป็นไม่ดีไปได้ถึงอย่างนั้น!!!

นี่ก็แสดงให้เขา ไม่ประมาท คือ จะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่า ตราบใดที่ไม่เป็นคนดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่เข้าใจความถูกต้อง วันหนึ่ง เขาก็จะทำไม่ดี เพราะฉะนั้น คนที่ทำไม่ดีนี่ จริงๆ แล้ว ไม่มีใครอยากไม่ดี แต่เมื่อทำไม่ได้ เพราะไม่ใช่เขา สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น!!! คือ ให้เข้าใจถึงเหตุถึงผลจริงๆ ว่า บังคับบัญชาไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องสะสมความดี เพื่อที่จะไม่เป็นคนเลว ในวันข้างหน้า

คุณสัมพันธ์ ครับ จะขอรบกวนท่านหลายคำถามหน่อยนะครับ ท่านอาจารย์ คือ ปรกติ ผมเป็นคนฟังธรรมะท่านอาจารย์อยู่ตลอด คราวนี้ ก็มีความสงสัย ช่วงหลังนี้ ได้ยินเรื่อง "ฟังด้วยความเคารพ" ก็รู้สึก ไม่ทราบรู้สึกผิดหรือเปล่านะครับ บางครั้งเราก็ออกกำลังกายฟังบ้าง ขับรถบ้าง อะไรต่างๆ เราก็พินิจพิเคราะห์ตัวเองไม่ถูก นะครับ ว่าตกลงเราเคารพ หรือไม่เคารพ แต่ก็รู้สึกว่า บางครั้ง สมมติว่าเรากำลังทำอะไรสักอย่าง เราก็ฟังไปด้วย บางครั้งเราก็เข้าใจ ที่ได้ยิน บางครั้งเราก็หลุดลอยไปกับเรื่องที่เรากำลังทำ

ท่านอาจารย์ การเคารพด้วยกาย ความเคารพด้วยวาจา ความเคารพด้วยใจ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามึความเข้าใจในพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วฟัง ยังดีกว่าไม่ฟังค่ะ อย่างน้อยที่สุด บางคนบอกว่า ทำอะไรไปด้วยแล้วฟัง จะไม่ดี ไม่เข้าใจเท่ากับตั้งใจฟังจริงๆ นั่นถูก แต่ว่า ถ้าไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้นได้ เพียงได้ฟังคำบางคำนี่ สะกิดใจทันที แล้วก็สามารถที่จะเห็นประโยชน์ในขณะนั้น ทันที ก็แล้วแต่การสะสม แต่ขอให้ทราบว่า การฟัง "เพื่อความเข้าใจ" ความเคารพ ก็คือว่า ไม่ใช่ลาภ ยศ สรรเสริญ หรืออะไรทั้งสิ้น ไม่ใช่คนอื่นยกย่องชมเชย แต่ "ฟัง ด้วยความเข้าใจ" นั่นจึงเป็นการเคารพจริงๆ เพราะฉะนั้น "เคารพ" แท้จริงก็คือ เคารพในความถูกต้อง เคารพในความจริง "เคารพ" ในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึง "ฟัง" เพื่อ "เข้าใจ" นั่นคือ การเคารพ อย่างยิ่ง!!!

และ เมื่อเข้าใจแล้ว "ปัญญา" ทำหน้าที่ของปัญญา โดยที่ "เรา" ไม่รู้เลย!!! เพราะว่า แต่ละขณะจิต "ไม่ใช่เรา" ที่ทรงแสดงขันธ์ ๕ รูปขันธ์ ไม่รู้อะไรเลย แต่เป็นที่ตั้ง ที่ยินดี ที่ยึดมั่น ที่ต้องการ เวทนาขันธ์ เป็นความรู้สึก ทุกคน แสวงหาแต่ความรู้สึกที่เป็นสุข และ เพราะจำได้ว่าอะไรทำให้เป็นสุข ก็ขวนขวาย แสวงหา สิ่งนั้น เพราะฉะนั้น สังขารขันธ์ ไม่ว่าจะเป็น โลภะ โทสะ ความเพียร หรือ อะไรก็ตามทั้งหมด เพราะ "ความจำ" และ เพราะ "ความรู้สึก" ที่ทำให้ ปรุงแต่งไป ตามสภาพของความรู้สึก ด้วยความจำ ในสิ่งที่ต้องการ เพราะฉะนั้น ก็เห็นในความ ไม่ใช่ตัวเรา ทั้งหมด และ ชีวิตก็สั้นมาก

การฟังธรรมะ เพื่อจุดประสงค์คือ เข้าใจธรรมะ นั่นคือ การเคารพอย่างยิ่ง ไม่ใช่ว่า เวลาฟัง มีท่านหนึ่ง ท่านก็อาบน้ำ แต่งตัวเรียบร้อย ไม่ทำอะไรเลย นั่งฟัง "เข้าใจ" หรือเปล่า? หวังอะไร หรือเปล่า? และชีวิตของท่านต่อมาก็คือ ท่านป่วยไข้ เป็นอัมพาต ไม่ฟังธรรมะเลย!!! ใครจะรู้? ว่าการฟังด้วยความเคารพจริงๆ เพื่อการเห็นประโยชน์จริงๆ คือ เข้าใจ ไม่ใช่เคารพ ด้วยการไปอาบน้ำแต่งตัวเรียบร้อย แล้วก็มานั่งฟัง เข้าใจว่าเป็นการเคารพ แต่สำคัญที่สุด คือ "เข้าใจ" ในคำสอน ซึ่งไม่เปลี่ยน แล้วก็ไม่มีใครสามารถที่จะทำให้เราเปลี่ยน จากความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

เพราะ เราไม่ถือกิริยาอาการภายนอก แต่ความที่มั่นคง ในความถูกต้อง ในความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่ง "ทุกคำ" กล่าวถึง สิ่งที่มีจริง แต่เราต้องเริ่มเข้าใจ ตามลำดับ ทีละเล็ก ทีละน้อย ทีละเล็ก ทีละน้อย เพราะ ยิ่งฟัง ยิ่งเข้าใจ ยิ่งลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น จะไม่เหมือนกับการที่เราเพิ่งเริ่มฟัง ก็จะยิ่งเห็นพระคุณมากขึ้นอันนั้น คือ การฟังด้วยความเคารพ แม้แต่การอบรมเจริญปัญญา ที่เป็นภาวนา ก็ด้วยความเคารพ "สักกัจจภาวนา" หมายความว่า เคารพต่อการที่รู้ว่า ธรรมะยาก ขณะนี้ มีสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกอย่าง เช่น "เห็น" พระพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ ในการเป็น "ธาตุ" ซึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ขณะนั้น ต้องไม่มีอะไรเลย ทรงแสดงให้เห็นว่า "ถึงเฉพาะ" นี่ "เฉพาะ" จริงๆ แต่ละหนึ่ง!!!

เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญา ด้วยความเคารพว่า ต้องเป็นความเข้าใจขึ้น โดยความเป็นอนัตตา นี่คือ ด้วยความเคารพในความเป็นธรรมะ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาจริงๆ คือ ไม่เคลื่อน ไม่ไขว้เขว ไปสู่การที่จะ "คิดเอง" หรือ เข้าใจผิด หรือ หวังผล ว่าถ้าทำอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วสามารถที่จะละกิเลสได้ ซึ่งตราบใดที่ยังทำอยู่ เป็นเพราะยังมีโลภะอยู่ แล้วก็เป็นเพราะ ยังเป็น "ความไม่รู้" อยู่ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ค่อยๆ ละ การที่เป็น "เราทำ" หรือ การ "จะทำ" จนกระทั่ง เมื่อไหร่ ไม่ได้ทำอะไรเลย ก็เข้าใจความจริงของสภาพธรรมะที่เกิดแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิด เกิดแล้ว เดี๋ยวนี้ สิ่งนี้ เกิดแล้วดับ แต่ปัญญาขั้นฟัง น้อยมาก ฟังความจริง เชื่อมั่นจริงๆ ว่าธรรมะ เป็นอย่างนี้ แต่ต้องมีความมั่นคง ว่า สามารถจะประจักษ์ความจริงได้ เมื่อละความไม่รู้และความติดข้อง ไม่ใช่ว่า เมื่อเราอยากจะรู้ อันนั้น ก็แสดงว่า ฟังแล้ว ไม่มีความเข้าใจที่มั่นคง

เพราะฉะนั้น ทรงแสดงธรรมะที่กำกับไว้ เช่น ปริยัติ การรอบรู้ในพระพุทธพจน์ คือ ความเข้าใจแต่ละคำถูกต้อง ไม่ เปลี่ยนแปลง ไม่แต่ง ไม่เติม ธรรมะ ต้องเป็น ธรรมะ ตรง ตามที่ได้ฟัง เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้มั่นคง เป็น "สัจญาณ" คือ ปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมะ ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิด "ปฏิปัตติ" คือ ธรรมะที่เป็น โพธิปักขิยธรรม หลายๆ อย่าง ไม่ใช่ปัญญาอย่างเดียว ต้องมีทั้งสติ มีศรัทธา มีวิริยะ เหล่านี้ ซึ่งทรงแสดงไว้ว่า เป็นธรรมะ ทั้งหมด จากการที่ ขณะฟัง ก็มีสติในขณะที่เข้าใจ แต่ ตราบใดที่ยังไม่ "ถึงเฉพาะลักษณะที่กำลังมี" จริงๆ แม้ในขณะฟัง ก็ถึงสภาพนั้นได้!!! "ขณะนั้น" จึงจะเป็น สัทธินทรีย์ เริ่มเป็นอินทรีย์ ทั้งศรัทธา ทั้งวิริยะ ทั้งสติ ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา "ไม่ใช่เรา" อีกเลย!!!

เพราะฉะนั้น ก็เป็น "ผู้ที่ตรง" ว่า ขณะนั้น คือ ขณะที่ ลักษณะของสภาพธรรมะ ปรากฏในความเป็นธรรมะ เพราะ สติกำลังรู้ตรงนั้น!!! เฉพาะตรงนั้น!!! ด้วยปัญญา จากการฟัง ที่เข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะ "ถึงเฉพาะ" ลักษณะนั้น ด้วยความ "ไม่ใช่เรา" และ ด้วยความ "เข้าใจ" นั่นเป็นการ "เริ่มต้น" ของ "ปฏิปัตติ" ซึ่งทำ "กิจญาณ" จนกว่าจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะขณะนี้ ระหว่างเห็นกับได้ยิน ก็มีกิเลสเกิดแล้ว โดยไม่รู้ พระอรหันต์ เป็นผู้ดับอาสวะ เมื่อเห็นแล้วไม่รู้ ก็เป็นกิเลสขั้นอาสวะ โดยไม่รู้เลย เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ ต่างกับคนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ คือ ไม่มีกิเลสใดๆ เลย คิดดู!!!

จากปัญญา ที่รู้ความจริง มั่นคงในความจริง ใน "จิรกาลภาวนา" เคารพในความจริง "สักกัจจภาวนา" แล้วก็อบรมไป จนกระทั่ง สภาพธรรมะปรากฏเมื่อไหร่ เมื่อนั้น ปัญญาก็รู้ ตรงตามที่ได้ทรงแสดงไว้!!! ตามที่ได้ฟัง!!! เพราะฉะนั้น สภาพธรรมะ สามารถปรากฏได้จริงๆ ด้วยปัญญา ที่ได้อบรมแล้ว ด้วยการละ!!! เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่มีปกติ อาจหาญ ที่จะเป็นปกติ!!! ถ้าคิดจะทำเมื่อไหร่ ก็แสดงว่า ยังมีเยื่อใยของโลภะ ความเป็นตัวตนอยู่ คอยดึงไว้ คอยดึงมา คอยดึงไป ตลอดเวลา ไปสู่ตรงนั้น ไปสู่ตรงนี้ มาตรงนี้ มาตรงนั้น จะเป็นลมหายใจ หรือ จะเป็นอะไร ก็แล้วแต่จะคิดไป!!

แต่ว่า ปัญญาที่อบรมแล้ว สามารถที่จะรู้ว่า "ผิด" จึง "ละ" เพราะฉะนั้น กว่าจะละคลาย อุปาทาน ในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นสิ่งที่เราติดข้องในรูปนั้นๆ มานาน แสนนาน ละคลายอุปาทาน ที่ยึดถือความรู้สึกว่า "เป็นเรา" เดี๋ยวสุข เดี๋ยวทุกข์ การละคลายความรู้สึก เรากำลังจำ เดี๋ยวนี้ค่ะ "จำ" ถ้าไม่จำ จะไม่รู้เลยว่า แต่ละคำ แม้แต่การ "คิด" ก็ต้องเพราะ "จำ" ทุกอย่าง เป็นไปเพราะ "จำ" และ ความรู้สึก ซึ่งเป็นอุปาทานขันธ์ที่สำคัญ ที่จะปรุงแต่งสังขารขันธ์ และเรารู้ไหม ว่าเมื่อไหร่จะเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้ "จำ" มี มีจริงๆ ถ้ายังไม่รู้ว่าเป็น "จำ" ก็ยังคงเป็น "เรา"

กว่าจะหมด การที่เคยยึดมั่นไว้ นานแสนนาน ก็คือว่า เป็นผู้ที่มั่นคง ในการที่จะได้อบรม เจริญปัญญา โดยไม่หวั่นไหว!!! ไม่ว่า อีกนานสักเท่าไหร่ ก็เป็นปัญญา ที่สามารถจะถึงความจริง เพราะว่า ทุกอย่าง เป็นความจริงทั้งนั้น รู้ได้ทั้งนั้น แม้แต่ "เห็น" ขณะนี้ เกิดแล้วดับ และ "ได้ยิน" จึงเกิดแล้ว หรือสภาพธรรมะอื่นก็ได้ ที่ไม่ใช่ "ได้ยิน" "คิดนึก" ก็ได้ เกิด แล้ว ดับ!!!

ต้อง "เข้าถึง" ทีละหนึ่ง ด้วยความเข้าใจขึ้น ซึ่งทำให้ "คลายการยึดถือ" และ สามารถที่จะ "รู้สภาพธรรมะ" ทั่วขึ้น จึง ค่อยๆ คลายไปได้ ยังติดอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็รู้ว่า ยังไม่สิ้นกิจ ที่จะต้อง สะสม ความเห็นถูกต้อง ในสภาพธรรมะ

เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว อาจหาญ ร่าเริง กุศลเกิดแล้วปกติ ไม่ชอบเลย ทำอย่างไรจะไม่มีกุศล ดิ้นรน ด้วยความไม่รู้ กระสับกระส่าย อุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน "ด้วยความเป็นเรา" แต่เมื่อมีปัญญา อาจหาญ มีกำลังพอที่จะเข้าใจในขณะนั้น ว่าไม่ใช่เรา ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับ "ปัญญา" ที่สามารถที่จะรู้ว่า "ไม่ใช่เรา" ก็แสดงว่า จากความเป็นอินทรีย์ เป็นพละ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอะไรจะเกิด จะเป็นโกรธ จะเป็นรัก จะเป็นเยื่อใย จะเป็นอะไรก็ตามแต่ ไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่ว่าหมดไป ไม่เกิดอีก มีปัจจัย เกิดให้เห็น ให้เข้าใจถูกต้อง ว่า "เป็นธรรมะ" เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับปัญญา ถึงระดับขั้น ที่สามารถที่จะเข้าใจ แล้ว "ละ" ในการที่เคยเป็นเรา ไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย!!! เพียงแค่รู้ว่า เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา!!!

แล้วหนทางนั้น ก็จะค่อยๆ พ้นจากความเป็นทาสของ "โลภะ" ซึ่งขณะนี้ ยังเป็นทาสของโลภะตราบใด รู้สึกว่า สบายดี เดี๋ยวนั่นก็อร่อย เดี๋ยวนี่ก็...หาไป หาไปหมดทุกอย่าง ไม่เห็นเดือดร้อนเลย หาได้!! หรือว่า ถ้าเกิดจะไม่ได้ ก็เป็นธรรมดา ค่อยๆ เข้าใจมานิดหนึ่ง แต่ก็ไม่พ้น จากความเป็นทาสของโลภะ

เพราะฉะนั้น เมื่อไหร่ที่พ้น ภาวะอีกอย่างหนึ่ง ที่ค่อยๆ ห่าง จากความเป็นทาส ซึ่งเป็นมาโดยตลอด ในสังสารวัฏฏ์ แต่ถ้าไม่เกิด จะไม่รู้เลย ว่า เบากว่าการที่เราต้องเป็นทาสของโลภะ ที่ให้ทำโน่น ให้ทำนี่ ให้ไปสำนักปฏิบัติ ให้ไปนั่งจดจ้อง ให้ไปทำอะไร ทั้งหมด ด้วยความต้องการทั้งนั้น หลอกล่อ พาไป ไม่ให้รู้สึกตัวเลย ตลอดเวลา จนกระทั่ง เมื่อเห็นโลภะ ละสมุทัย จึงสามารถที่จะ "รู้ความจริง" ซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน!!!

เพราะฉะนั้น ปัญญา จะค่อยๆ เป็นปกติ แล้วก็ไม่หนัก กระสับ กระส่าย เพราะเป็น "พละ" มีกำลัง แต่จาก "พละ" ก็ยังต่อไปอีก จนกระทั่งถึงความเป็น "โพชฌงค์" ใกล้ที่จะรู้แจ้ง อริยสัจจธรรม!!! จนกระทั่งเป็นหนทาง คือ ตัวธรรมะ ที่ได้อบรมมาแล้ว ให้ผล เกิดขึ้น เป็นปัญญา ที่ประจักษ์แจ้ง สภาพของธรรมะ สภาพของธรรมะ ซึ่งดับกิเลส จึงรู้ว่า ขณะนั้น ไม่ใช่เรา!!!

ก็เป็นเรื่องของ "ความเข้าใจของตนเอง" ฟังไป เข้าใจไป เก็บไว้ สะสมไว้ ไม่ลืม แม้แต่ว่า แล้วก็ไม่มี จริงไหม? กำลังติดข้องอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้ามีปัญญาเกิดขึ้น แล้วก็ไม่มี!!! เพราะฉะนั้น ความติดข้องขณะนั้น จะจาง และ จะเบากว่า แต่ก็ต้องแล้วแต่ "กำลังของความมั่นคง" ว่ามีความเข้าใจในคำนี้ มากน้อย แค่ไหน? "แล้วก็ไม่มี" นี่นะคะ ถึง "ภังคญาณ" ซึ่งเป็น "วิปัสสนาญาณ" ที่ไม่ใช่ญาณต้นๆ ญาณ ที่จะทำให้ละคลาย เพราะ "แล้วก็ไม่มี" แสดงว่า เราเคยติด ในสิ่งที่ไม่มี เคยหลงยึดถือ ว่ามี ลมๆ แล้งๆ ตลอดเวลา เพียงแค่สิ่งนี้ เกิดแล้วดับไป ยังจำว่ามี!!!

คนที่นั่งอยู่ตรงนี้ ไม่เห็น ยังคิดว่าเขายังอยู่ที่โน่น ที่นี่ เห็นไหม? นั่นคือ "อัตตสัญญา" แต่ ไม่มี คือ ไม่มี แม้แต่ขณะนี้ ก็ไม่มี!!!ถ้ามีการที่ สามารถจะรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ แต่ ความคิด ความจำ ว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นคนนั้น เร็วแค่ไหน? แล้วก็เป็น "สภาพที่จำ" "ไม่ใช่เรา" ด้วย!!!

เพราะฉะนั้น กว่าจะละคลายหมดทั้ง ๕ ขันธ์ ซึ่งเป็นอุปาทาน ที่ยึดมั่นมานานแสนนาน ก็เป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว ไม่เดือดร้อนเพราะ กำลังเป็นผู้ที่ ฟังธรรมะ ปริยัติ เพื่อที่จะถึง ปฏิปัตติ โดยความเป็น "อนัตตา" ตลอด ไม่ใช่มี "อัตตา" เข้าไปแทรกคั่น เมื่อไหร่ ก็หลงทาง แล้วแต่ว่า ปัญญาที่สะสมมา มีกำลังพอที่จะรู้ไหม? ว่า นั่นผิด จึงจะละได้!!!

เป็นเรื่องของการอบรม ในแต่ละชาติ ที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม แล้ว ไม่ประมาท!!! เพราะว่า นี่เป็น สาวกบารมี บารมี มีตั้งแต่ "มหาโพธิบารมี" เป็นพระมหาสัตว์ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า "ปัจเจกบารมี" แล้วก็ "สาวกบารมี" ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย ไม่ใช่ผู้ฟัง!!! ไม่มีการที่จะอบรมความเห็นถูก เพื่อที่จะละความเห็นผิด แล้วก็ยังมี บุคคล ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมะ โดยเป็น "ไนยบุคคล" แล้วแต่จะเป็น "พุทธเวไนย" เฉพาะ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่สามารถจะมีคำ ที่ทำให้บุคคลนั้น เข้าใจ จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้ หรือว่า ถึงแม้ว่า จะไม่ใช่ "พุทธเวไนย" ก็เป็น "สาวกเวไนย" ได้พบสาวก อย่างท่านพระสารีบุตร ตอนนั้น ก็เป็นอุปติสสมาณพ ได้ฟังท่านพระอัสสชิ ยังไม่พบพระพุทธเจ้าเลย แต่ก็สามารถที่จะรู้ความจริงได้ หรือแม้ เมื่อไม่มีพระพุทธเจ้า ไม่มีสาวกแล้ว ก็เป็น "ธรรมเวไนย" เพราะฉะนั้น รู้ได้เลย ว่า "พระธรรมคำสอน" แม้ไม่พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พอได้ยินแล้ว เห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ซึ่งไกลกับคนที่ไม่สามารถที่จะฟัง แล้วก็เข้าใจในความเป็นอนัตตา เพราะมีความเป็นอัตตา!!! แล้วแต่ จะฟังธรรมะ รู้ไม่ได้เลยว่าคนที่ไปฟังธรรมะ ฟังด้วยความเป็นเราหรือเปล่า? เพราะฉะนั้น ถ้ามีคำถามว่า แล้วทำอย่างไร? นั่นคือ "เป็นเรา" ตลอดเวลาที่ต้องการ ฟังด้วยความต้องการ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ฟังด้วยความเคารพ ด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา แต่เป็นอนัตตา ก็เป็นเรื่องที่ละเอียด

เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจว่า รอบรู้แต่ละคำ ก็จะทำให้เข้าใจ คำอื่นๆ ที่ มากเหลือเกิน ที่ได้ตรัสไว้ดีแล้ว จาก รู้ธรรมะ ก็รู้ว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม จากนามธรรม รูปธรรม ก็เป็น ขันธ์ ๕ จะพ้นจากนามธรรม รูปธรรม ได้ไหม? ขันธ์ ๕ จะพ้นจากความเป็น ธรรมะ ได้ไหม? เพราะฉะนั้น จากการที่จะไตร่ตรอง ธรรมะมีมาก แต่ต้องตามเหตุ ตามปัจจัย ถ้าสะสมการฟัง การเข้าใจเป็นปัจจัยให้การไตร่ตรองธรรมะ สามารถที่จะเข้าใจ แม้ "คำ" ซึ่งคนอื่น คิดไม่ถึง หรือว่า มองไม่เห็น!!! หรือว่า ไม่เข้าใจ!!!เช่น เดี๋ยวนี้!!!... ....แล้วก็ไม่มี!!!... ถูกต้องไหม? ถ้า "แล้วก็ไม่มี" สั้นเข้า สั้นเข้า ก็รู้ว่า ไม่มี จริงๆ !!! แล้ว ไปติดข้อง ได้อย่างไร? กว่าจะหมดทั้ง ๕ ขันธ์ คงไม่ทราบนะคะ ว่าฟังอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ เพื่อ ละโลภะ ความต้องการ!! เพราะ รู้ในความลึกซึ้ง!!!

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม 3 หน้าที่ 121

๔. ปริวัฏฏสูตร

(ว่าด้วยการรู้อุปาทานขันธ์โดยเวียนรอบ ๔)

[๑๑๒] กรุงสาวัตถี. ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการ เป็นไฉน?
คือ อุปาทานขันธ์คือรูป อุปาทานขันธ์คือเวทนา อุปาทานขันธ์คือสัญญา อุปาทานขันธ์คือสังขาร อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ,

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่รู้ยิ่งซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ ประการนี้ โดยเวียนรอบ ๔ ตามความเป็นจริงเพียงใด เราก็ยังไม่ปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบยิ่งซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณ อย่างยอดเยี่ยมในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เพียงนั้น

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดแล เรารู้ยิ่งซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ โดยเวียนรอบ ๔ ตามความเป็นจริง เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบยิ่ง ซึ่งสัมมาสัมโพธิญาณอย่างยอดเยี่ยม ในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ เวียนรอบ ๔ อย่างไร คือ เรารู้ยิ่งซึ่งรูป ความเกิดแห่งรูป ความดับแห่งรูป ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป, รู้ยิ่งซึ่งเวทนา ... รู้ยิ่งซึ่งสัญญา ... รู้ยิ่งซึ่งสังขาร ... รู้ยิ่งซึ่งวิญญาณ ความเกิดแห่งวิญญาณ ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ.

[๑๑๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็รูปเป็นไฉน. คือ มหาภูตรูป ๔ และ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ นี้เรียกว่ารูป ความเกิดขึ้นแห่งรูปย่อมมี เพราะความเกิดขึ้นแห่งอาหาร ความดับแห่งรูป ย่อมมี เพราะความดับแห่งอาหาร อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้แล เป็นปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูป

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ยิ่งซึ่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความเกิดแห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งความดับ แห่งรูปอย่างนี้ รู้ยิ่งซึ่งปฏิปทาอันให้ถึงความดับแห่งรูปอย่างนี้ ปฏิบัติ แล้วเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับรูป สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว ชนเหล่านั้นชื่อว่า ย่อมหยั่งลง ในธรรมวินัยนี้

.........

ขอยกข้อความที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวแล้วข้างต้น มาลงซ้ำอีกครั้ง

เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจที่ดี เพื่อความมั่นคงในหนทาง อันมีท่านผู้ดำเนินไปดีแล้ว ดังนี้

.........

"...เป็นผู้ที่มั่นคง ไม่หวั่นไหว อาจหาญ ร่าเริง อกุศลเกิดแล้วปกติ ไม่ชอบเลย ทำอย่างไรจะไม่มีอกุศล ดิ้นรน ด้วยความไม่รู้ กระสับกระส่าย อุทธัจจะ ฟุ้งซ่าน "ด้วยความเป็นเรา" แต่เมื่อมีปัญญา อาจหาญ มีกำลังพอที่จะเข้าใจในขณะนั้น ว่าไม่ใช่เราทั้งหมด ขึ้นอยู่กับปัญญา ที่สามารถที่จะรู้ว่า "ไม่ใช่เรา" ก็แสดงว่า จากความเป็นอินทรีย์ เป็นพละ ไม่หวั่นไหว ไม่ว่าอะไรจะเกิด จะเป็นโกรธ จะเป็นรัก จะเป็นเยื่อใย จะเป็นอะไรก็ตามแต่ ไม่ใช่ไม่มี ไม่ใช่ว่าหมดไป ไม่เกิดอีก มีปัจจัย เกิดให้เห็น ให้เข้าใจถูกต้อง ว่า "เป็นธรรมะ"

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับปัญญา ถึงระดับขั้น ที่สามารถที่จะเข้าใจ แล้ว "ละ" ในการที่เคยเป็นเรา ไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย!!! เพียงแค่รู้ว่า เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา!!!

.........

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธา ของคุณสัมพันธ์และคุณนวรัตน์ พงษ์พรรณากูล

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
siriporn2509
วันที่ 21 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 22 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 22 มี.ค. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Patchanon
วันที่ 22 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Nareopak
วันที่ 22 มี.ค. 2558

กราบอนุโมทนาในกุศลจิต ของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ รวมทั้งอนุโมทนาในกุศลจิตของท่านเจ้าภาพผู้จัดงาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คณะวิทยากร ตลอดจนถึงทุกๆ ท่าน ที่มีกุศลศรัทธาในการฟังธรรม และ คุณวันชัย ภู่งาม ที่ถ่ายทอดคำสนทนาธรรมออกมาเป็นตัวอักษรให้ได้อ่านและได้ชมภาพสวยๆ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Boonyavee
วันที่ 22 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอกราบอนุโมทนาในกุศลวิริยะ ของคุณวันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านวิทยากร

ท่านเจ้าภาพที่ร่วมเจริญกุศลครั้งนี้และทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ch.
วันที่ 22 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
thilda
วันที่ 22 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขอบพระคุณท่านเจ้าภาพ คณะวิทยากร คุณวันชัย ภู่งาม และทีมงานทุกท่าน

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 23 มี.ค. 2558

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของท่านเจ้าภาพผู้จัดงาน

ผู้เกี่ยวข้องทุกๆ ท่านครับ

และขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณวันชัย มา ณ กาลครั้งนี้

ท่านถ่ายทอดบรรยากาศการสนทนา และนำเนื้อหาการสนทนาที่ดีมากๆ

มาประกอบให้ได้พิจารณา เป็นประโยชน์มากๆ เลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
khampan.a
วันที่ 23 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณท่านเจ้าภาพ คณะวิทยากร

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม

และทีมงานอาสาสมัครบันทึกวีดีโอการสนทนาธรรมทุกท่าน

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ผู้มีความประมาท
วันที่ 24 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณเจ้าภาพ คณะวิทยากรและทีมงานทุกท่าน

ขอบคุณคุณวันชัยที่กรุณาเผยแพร่ค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
napachant
วันที่ 26 มี.ค. 2558

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ท่ีเคารพอย่างยิ่ง

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาเจ้าภาพจัดการสนทนาธรรม

ขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม

งดงามด้วยธรรม...งดงามด้วยภาพ...ยังความปิติและโสมนัสอย่างยิ่งค่ะ

และขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wirat.k
วันที่ 26 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ