ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ซาบซึ้งในหทัย [ตอน บอกบุญ คือ อะไร?]

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  19 มี.ค. 2558
หมายเลข  26339
อ่าน  1,953

อันเนื่องมาจากการได้รับชมการถ่ายทอดสดการสนทนาธรรมออนไลน์ จาก สุชาดา รีสอร์ทแอนด์สปา สระบุรี ระหว่างวันที่ ๑๗-๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา ซึ่งคุณยุพิน สุชลธาดา สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ ลำดับที่ ๓๔๐ เป็นเจ้าภาพ กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ไปพักผ่อนและสนทนาธรรม ณ รีสอร์ทแสนสวย ท่ามกลางบรรยากาศที่ปลอดโปร่งสดชื่น เห็นจากภาพและการถ่ายทอดสด

แม้ว่าข้าพเจ้าไม่มีโอกาสได้เดินทางไปร่วมฟังการสนทนา ท่ามกลางบรรยากาศดังกล่าว แต่ก็ได้มีโอกาสติดตามรับชมการถ่ายทอดสดอยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นความเมตตาของ อ.คำปั่น อักษรวิลัย ที่ได้ส่งลิงค์การถ่ายทอดสดให้ทางไลน์ เมื่อได้ติดตามรับชม มีความรู้สึกประทับใจ ซาบซึ้งใจอย่างยิ่งในคำของท่านอาจารย์ จึงขออนุญาต นำความการสนทนาบางตอน ที่ซาบซึ้งยิ่งในใจนั้น มาให้ทุกท่านได้พิจารณาร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องของการ "บอกบุญ" ที่เป็นเรื่องที่ทำตามๆ กันมา ในสังคม จนกลายเป็นเรื่องที่เหมือนเป็นปรกติ ซึ่งถ้าท่านที่ได้มาฟังพระธรรมที่มูลนิธิฯเป็นประจำและมีความเข้าใจถูกต้อง ย่อมทราบดีว่า สำหรับที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ไม่มีการบอกบุญ เรี่ยไร ใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งยังมีประกาศที่ชัดเจน เรื่องไม่อนุญาตให้มีการบอกบุญ เรี่ยไรใดๆ ทุกท่านที่มา มาเพื่อฟังธรรม สนทนาธรรม เพื่อเข้าใจธรรม ความการสนทนาธรรม ที่ยกมาต่อไปนี้ ก็เพื่อความละเอียดยิ่ง ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการพิจารณาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อขัดเกลาตนเอง ไม่หลงไปทำในสิ่งที่ผิด ด้วยความไม่เข้าใจ ดังนี้

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น "บุญ" ไม่ใช่คำที่ใครจะมาพูดง่ายๆ "บอกบุญ , ทำบุญ" แต่จริงๆ แล้ว อะไร? ถ้าบอกบุญใคร หมายความว่าอย่างไร? คนที่ได้ยินคำว่า บอกบุญ บอกบุญ "บอก" อะไร? บอก อะไรคะ? คุณปริญญาเคยได้ยินบอกบุญไหม?

คุณปริญญา เคยได้ยินครับ แล้วก็ ทุกครั้งเวลาที่เขาบอกบุญมา ก็มีโทสะเกิด

ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนค่ะ เขาบอกบุญน่ะ เขา "บอก" อะไร?

คุณปริญญา เขาบอกให้ไปทำบุญ

ท่านอาจารย์ เขาบอกให้ไปทำบุญ "บุญ" อะไร?

คุณปริญญา "บุญ" ก็คือ การสละออกไป สละทรัพย์ออกไป

ท่านอาจารย์ ค่ะ "บุญ" ก็คือ "เงิน"

คุณปริญญา ใช่ครับ

ท่านอาจารย์ ยุคนี้ สมัยนี้ บุญ คือ เงิน "บอกบุญ" ก็คือ ตรงๆ คือ "ขอเงิน" "ขอเงิน" โดยการที่ "บอก" ซึ่งก็คือ "การเรี่ยไร" เพราะฉะนั้น แต่ละคำที่เราได้ยิน ก็โยงไปถึง ความจริง คือ สัจจะ ต้องเป็นผู้ที่ "ตรง" ที่จะรู้ความจริง บอกบุญ ให้ทำบุญ โดยการที่เอาเงินไปทำบุญ ไม่ใช่บุญเลย!!! ไป "ขอเงิน?" หรือว่า "บอกบุญ?" เพราะว่า ถ้าบอกบุญ บุญของเขาจบแล้ว เราไม่ต้องไปเอาเงินของเขา ใช่ไหม?

บุญ คือ กุศลจิต ถ้า "จิตเขาเป็นกุศล" เมื่อไหร่ ก็เป็น "บุญ" ขณะนั้น เพราะฉะนั้น บอกบุญ แย่เลยนะคะ ถ้าเราไม่เข้าใจถูกต้อง เหมือนกับการขอเงินจริงๆ มีการบอกบุญครั้งไหน คราวไหน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการขอเงิน?

คุณปริญญา ไม่มีเลยครับ ท่านอาจารย์ครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น ก็ผิดมาตั้งแต่ ใช้คำว่า "บุญ" โดยไม่เข้าใจ แล้วบอกบุญ จะเห็นได้ว่า ไม่ได้ทำให้เขาเกิดบุญ แต่เขาให้เงิน และ คิดว่าเงินนั้น เป็นบุญ

คุณปริญญา ก็เท่ากับ ไปร่วมให้เขามีความเห็นผิดเพิ่มขึ้น โดยการที่สละเงินออกไป

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา ไม่รู้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า ทรงมพระมหากรุณาแสดงธรรม ไม่เกี่ยวกับเงินเลย !!!

.....บุญ ก็คือ กุศลจิต เกิดกับใคร? ไม่ต้องไปชวนใครได้ไหม? ลองคิดดู ชวนให้เขาเป็นกุศลหรือ? ไม่ต้องชวนหรอก ถ้ากุศลจิตของเขาจะเกิด ก็เพราะเหตุปัจจัยที่จะเกิดกุศล และ แต่ละคน มีกุศลที่สะสมมาต่างๆ กัน ไม่จำเป็นต้องไปถูกชวนให้เป็นกุศล เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ถ้าเรารู้สึกว่า ทำไมเขาต้องชวนให้เราทำกุศลอันนี้ เหมือนกับเราไม่ได้ทำกุศลใดๆ เลยหรือ? จึงต้องชวนให้เราทำกุศลอันนี้ เพราะฉะนั้น กุศลแต่ละคนนี้ ตามอัธยาศัยที่ได้สะสมมา ไม่ใช่ ทำเพราะเขาชวน หรือ เขาบอก เกรงใจ ไม่ให้ไม่ได้ ต้องทำ นั่นไม่ใช่

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนที่ตรง ที่จะรู้ว่า เมื่อกุศลของเราเกิดเอง แล้วเราจะไปชวนให้คนอื่นเกิดกุศล ได้ไหม? หรือว่า กุศลของเขาเกิด เมื่อเขามีการสะสมมา ที่เขามีฉันทะ พอใจที่จะทำกุศลแบบไหน เราเห็นว่า การฟังธรรมะ มีประโยชน์มาก แต่เราก็ไม่ได้ไปชวนคนที่เขาไม่อยากฟังใช่ไหม? แต่ถ้าใครแสดงความสนใจที่จะรู้ว่า พระพุทธองค์สอนอะไร? เราก็มีทางที่ว่า ถ้าเขาได้เข้าใจก็ดี แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง คือ เมื่อเขาต้องการที่จะเข้าใจ เขาสะสมมาที่จะเป็นกุศลอย่างนี้ แต่ถ้าเขาไม่สนใจที่จะเข้าใจธรรมะ เขาพอใจที่จะเป็นอย่างอื่น เราก็ไม่ไปชวนเขา ฉันใด เวลาที่เขาพอใจ ที่เขาจะไปทำอะไร ซึ่งเราไม่เห็นว่ามันเป็นประโยชน์เลย เราก็รู้ได้ เราไม่ต้องไปชวนใคร กุศลเกิดเอง การฟังธรรมะก็เหมือนกัน ฟังแล้ว เขาจะเชื่อ หรือ ไม่เชื่อ เขาจะสนใจ หรือ ไม่สนใจ เขาจะมาอีกหรือไม่? ไม่ใช่เรื่องของเราเลย เราไม่ต้องเดือดร้อน!!! เราทำหน้าที่ของเรา!!! กุศลของใคร เกิดเมื่อไหร่ ก็เป็นไป ตามฉันทะ อัธยาศัยของคนนั้น!!! เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า น่าแปลก!! ทำไมเมื่อตัวเองมีกุศลจิตทำ แล้วยังต้องไปชวนคนอื่น!!!

คุณจักรกฤษณ์ อยากจะรบกวนท่านอาจารย์ขยายความตรงนี้นิดหนึ่ง เพราะว่าละเอียดมากครับ ว่า เราทำกุศล เพื่อความสำเร็จ กับ ทำกุศล โดยที่จิตนั้นเป็นกุศลจริงๆ

ท่านอาจารย์ จิตเป็นกุศลน่ะ สำเร็จแล้ว !!! จิตที่ไปชวนคนอื่นให้ทำน่ะ เป็นกุศลหรือเปล่า? เหมือนเป็นกุศล แต่ ชวนใครให้เป็นกุศลน่ะ ชวนได้ไหม?

.........

กุศลจิตเกิดเมื่อไหร่ สำเร็จเป็นกุศลเมื่อนั้น แต่เวลาเราอยากอย่างนั้น อยากอย่างนี้ อยากอย่างโน้น เป็นกุศล หรือ เป็นกุศล?

อ.อรรณพ แม้อยากให้กุศลสำเร็จก็ยังเป็นโลภะ

ท่านอาจารย์ อยากให้คุณอรรณพเป็นพระอรหันต์

อ.อรรณพ ให้เข้าใจธรรมะขึ้นเรื่อยๆ ก็พอแล้วครับ

ท่านอาจารย์ แล้วที่จริงน่ะ ไปชวนให้เขาเกิดกุศลจิต หรือ ไป "ขอ" เขา?

อ.อรรณพ เหมือนไปขอเขา ใช่ไหมครับท่านอาจารย์?

ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วก็บอกว่า ชวนให้เขาเป็นกุศล

อ.อรรณพ บอกบุญ

ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วก็คิดว่า จริงๆ แล้ว คือ อะไร? ก็คือ "ขอ" และ การขอ ไม่ว่าในกรณีใดทั้งสิ้น ข้อความในพระไตรปิฏกมีว่า "เหมือนคนร้องไห้" แล้วคนที่ไม่ให้ ก็คือ "ร้องไห้ตอบ" ทุกข์ทั้งสองคน ไปขอ หวังจะให้เขาให้ ก็เป็นทุกข์ เขาจะให้หรือไม่ให้ คนที่ไม่ให้ เขามาขอเรา ก็ไม่อยากจะให้ ไม่มีศรัทธา ไม่มีความประสงค์ที่จะให้ ก็เหมือนร้องไห้ตอบ เวลาที่ไม่ให้!!!

เรื่องของปัญญา เรื่องของศรัทธา เรื่องของกุศล เป็นเรื่องที่ใครจะบังคับใครได้? ซองทั้งหลายมานี่ เยอะเลย ซองโน่น ซองนี่ จะให้หรือเปล่า? หรือว่าให้เพราะอะไร? ให้เพราะรำคาญ หรือว่า เกิดกุศลจิต ลองคิดดู แต่ถ้าเราเกิดกุศลจิตเอง ไม่ต้องมาขอเลย นั่นแหละค่ะ "กุศลจิต" แต่พออยาก ไม่ว่าอยากอะไรทั้งสิ้น อยากให้เขาเป็นกุศล อยากให้เขาทำบุญร่วมด้วย แล้วรู้ได้อย่างไร ว่าเขาเป็นกุศลหรือเปล่า? เมื่อไม่รู้ ไป "ขอ" ใช่ไหม?

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ คุณยุพิน สุชลธาดา

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paew_int
วันที่ 19 มี.ค. 2558

อนุโมทนาในกุศลศรัทธาของผู้จัด

และกุศลจิตของผู้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ธรรมะ

ทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 มี.ค. 2558

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ คุณยุพิน สุชลธาดา

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Thanapolb
วันที่ 19 มี.ค. 2558

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ คุณยุพิน สุชลธาดา

และ ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัยครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
napachant
วันที่ 19 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
namarupa
วันที่ 19 มี.ค. 2558

เป็นการสนทนาที่ละเอียดอ่อนและน่าคิดเป็นอย่างยิ่งค่ะ การกระทำใดๆ ก็ตามจะต้องคิดให้รอบคอบก่อนทำ ก่อนพูด บางครั้งเราอาจจะคิดเองว่า..นี่เป็นกุศลแล้ว แต่อาจจะไม่ใช่ก็เป็นได้ ดังนั้นการฟังพระธรรมให้เข้าใจ พิจารณา และไตร่ตรองให้ดี เป็นคนตรงต่อตัวเอง ไม่บิดเบือน พระธรรมก็จะช่วยให้คิดถูก เข้าใจถูกและการกระทำก็จะถูกต้องไปด้วย

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์เป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 19 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 20 มี.ค. 2558

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ คุณยุพิน สุชลธาดา

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย มา ณ กาลครั้งนี้

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 20 มี.ค. 2558

สาธุ อนุโมทนา และขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
j.jim
วันที่ 20 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เมตตา
วันที่ 20 มี.ค. 2558

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของ คุณยุพิน สุชลธาดา

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย มา ณ กาลครั้งนี้

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 20 มี.ค. 2558

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๙ ขุททกนิกาย ชาดก ภาค ๑

๓. พรหมทัตตชาดก ว่าด้วย ผู้ขอกับผู้ถูกขอ

[๕๙๐] ดูกรมหาบพิตร ผู้ขอย่อมได้ ๒ อย่าง คือ ได้ทรัพย์ หรือ ไม่ได้ทรัพย์ แท้จริง การขอมีอย่างนี้เป็นธรรมดา.

[๕๙๑] ดูกรมหาบพิตร ผู้เป็นใหญ่ในปัญจาลรัฐ บัณฑิตกล่าวถึง การขอ ว่า เป็นการร้องไห้ ผู้ใด ปฏิเสธคำขอ บัณฑิตกล่าว คำปฏิเสธของผู้นั้นว่า เป็น การร้องไห้ตอบ.

[๕๙๒] ชาวปัญจาลรัฐ ผู้มาประชุมกันแล้ว อย่าได้เห็น อาตมภาพ ผู้กำลังร้องไห้อยู่ หรือ อย่าได้เห็น พระองค์ ผู้ทรงกรรแสงตอบอยู่ เพราะเหตุนั้น อาตมภาพ จึงปรารถนา ขอเฝ้าในที่ลับ.

[๕๙๓] ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้า ขอถวาย วัวแดงหนึ่งพัน พร้อมด้วยวัวจ่าฝูง แก่ท่าน อันอารยชน ได้ฟัง คาถา อันประกอบด้วยเหตุผล ของท่านแล้ว ทำไม จะไม่พึงให้ แก่ท่าน ผู้เป็นอารยชนเล่า.

จบ พรหมทัตตชาดกที่ ๓.

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๗ บรรทัดที่ ๒๙๒๘ - ๒๙๔๑. หน้าที่ ๑๔๒.

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 20 มี.ค. 2558

อรรถกถา พรหมทัตตชาดก

ว่าด้วย ผู้ขอ กับ ผู้ถูกขอ

พระศาสดา เมื่อทรงอาศัยเมืองอาฬวี ประทับอยู่ ณ อัคคาฬวเจดีย์ ทรงปรารภกุฏิการสิกขาบท จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทฺวยํ ยาจนโก ราช ดังนี้.
เรื่องปัจจุบันมีมาแล้วใน มณิกัณฐชาดก ในหนหลังนั่นเอง.

แต่ในเรื่องนี้ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า พวกเธอ มากไปด้วยการขอ มากไปด้วยการทำวิญญัติอยู่ จริงหรือ เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ จึงทรงติเตียนภิกษุเหล่านั้น แล้วตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย แม้ผู้อันพระราชาผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินปวารณาไว้ ปรารถนา จะขอ ร่มใบไม้ และ รองเท้าชั้นเดียวคู่หนึ่ง ก็ไม่ขอ ในท่ามกลางมหาชน เพราะ กลัว หิริโอตตัปปะ ร้าวฉาน จึงได้กล่าวขอ ในที่ลับ.

แล้วทรงนำเอา เรื่องในอดีต มาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าปัญจาลราช ครองราชสมบัติอยู่ใน อุตตรปัญจาลนคร กบิลรัฐ พระโพธิสัตว์ ได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในบ้านตำบลหนึ่ง เจริญวัยแล้ว ไปเมืองตักกสิลา เรียนศิลปะทั้งปวง ในกาลต่อมา ได้บวชเป็นดาบส เลี้ยงชีพด้วยมูลผลาผลของป่า ด้วยการแสวงหา อยู่ในหิมวันตประเทศช้านาน เมื่อจะเที่ยวไปยังถิ่นมนุษย์ เพื่อต้องการเสพ รสเค็ม และ รสเปรี้ยว จึงไปยัง อุตตรปัญจาลนคร อยู่ในพระราชอุทยาน.
วันรุ่งขึ้น เมื่อจะแสวงหาภิกษา จึงเข้าไปยังพระนคร ถึงประตูพระราชวัง.

พระราชา ทรงเลื่อมใสใน อาจาระของพระดาบสนั้น จึงนิมนต์ให้นั่ง ในท้องพระโรง ให้ฉันโภชนะอันควรแก่พระราชา ถือเอาปฏิญญาแล้ว ให้อยู่ในพระราชอุทยาน นั่นแหละ. พระดาบสนั้น ฉันอยู่ เฉพาะในพระราชมณเฑียร นั่นเอง เป็นประจำ เมื่อล่วงฤดูฝนแล้ว มีความประสงค์ จะไปยัง หิมวันตประเทศ ตามเดิม จึงคิดว่า เมื่อเราจะเดินทางไป ควรจะได้ รองเท้าชั้นเดียวหนึ่งคู่ และ ร่มใบไม้หนึ่งคัน เราจักทูลขอพระราชา.

วันหนึ่ง พระดาบสนั้นเห็นพระราชาเสด็จมายังพระราชอุทยาน ไหว้แล้วประทับนั่งอยู่ จึงคิดว่า จักทูลขอรองเท้าและร่ม กลับคิดอีกว่า คน เมื่อขอผู้อื่นว่า ท่านจงให้ของชื่อนี้ ชื่อว่า ย่อมร้องไห้ ฝ่ายคนอื่น ผู้กล่าวว่า ไม่มี ชื่อว่า ย่อมร้องไห้ตอบ ก็มหาชน อย่าได้เห็นเราผู้ร้องไห้ อย่าได้เห็นพระราชาร้องไห้ตอบเลย ดังนั้น เราแม้ทั้งสองร้องไห้กันอยู่ ในที่ปกปิดเร้นลับ จักเป็นผู้นิ่งเงียบ.

ลำดับนั้น พระดาบส จึงกราบทูล กะพระราชานั้นว่า ข้าแต่มหาราช อาตมภาพ หวังเฉพาะที่ลับ. พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงรับสั่งให้ พวกราชบุรุษ ถอยออกไป. พระโพธิสัตว์ คิดว่า ถ้าเมื่อเราทูลขอ พระราชาจักไม่ประทานให้ไซร้ ไมตรีของเราก็จักแตกไป เพราะฉะนั้น เราจักไม่ทูลขอ จึงในวันนั้น เมื่อไม่อาจระบุชื่อ จึงกราบทูลว่า ข้าแต่มหาราช ขอพระองค์จงเสด็จไปก่อนเถิด อาตมภาพจักรู้ในวันพรุ่งนี้.

ในกาลที่พระราชา เสด็จมาพระราชอุทยาน อีกวันหนึ่ง ก็กราบทูล เหมือนอย่างนั้น อีกวันหนึ่งก็กราบทูล เหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ. รวมความว่า เมื่อพระโพธิสัตว์นั้น ไม่อาจทูลขออย่างนี้ เวลาได้ล่วงเลยไป ๑๒ ปี.

ลำดับนั้น พระราชา ทรงดำริว่า พระผู้เป็นเจ้าของเรา กล่าวว่า หวังเฉพาะที่ลับ เมื่อบริษัทถอยออกไปแล้ว ก็ไม่อาจกล่าวคำอะไรๆ เมื่อพระผู้เป็นเจ้า ประสงค์จะกล่าว เท่านั้น กาลเวลาล่วงไปถึง ๑๒ ปี อนึ่ง พระผู้เป็นเจ้านั้น ประพฤติพรหมจรรย์มานาน ชะรอยเธอ จะระอาใจ ใคร่จะบริโภคสมบัติ หวังเฉพาะราชสมบัติกระมัง ก็เธอเมื่อไม่อาจระบุชื่อราชสมบัติจึงได้นิ่ง วันนี้เราจักรู้กันละ เธอปรารถนาสิ่งใด เราจักให้สิ่งนั้น ตั้งต้นแต่ราชสมบัติไป.

พระราชานั้นเสด็จไปยังพระราชอุทยาน ทรงนมัสการแล้วประทับนั่ง เมื่อพระโพธิสัตว์กราบทูลว่า อาตมภาพหวังเฉพาะในที่ลับ และเมื่อบริษัทถอยออกไปแล้ว จึงตรัสกะพระโพธิสัตว์นั้น ผู้ไม่อาจ กราบทูลอะไรๆ ว่า ท่านกล่าวว่า หวังได้ที่ลับ แม้ได้ที่ลับแล้ว ก็ไม่อาจกล่าวอะไร ตลอดเวลา ๑๒ ปี ข้าพเจ้าขอปวารณาสิ่งทั้งปวง มีราชสมบัติเป็นต้นต่อท่าน ท่านอย่าได้กลัวภัย จงขอสิ่งที่ท่านชอบใจเถิด.

พระโพธิสัตว์จึงทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร พระองค์จักประทานสิ่งที่อาตมภาพทูลขอหรือ. พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้า จักให้.

พระโพธิสัตว์ทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร เมื่ออาตมภาพเดินทางไป ควรจะได้ รองเท้า ชั้นเดียวคู่หนึ่งกับร่มใบไม้หนึ่งคัน. พระราชาตรัสว่า ท่านผู้เจริญ สิ่งของมีประมาณเท่านี้ ท่านไม่อาจขอ จนตลอดเวลา ๑๒ ปี เทียวหรือ.

พระโพธิสัตว์ทูลว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร. พระราชาตรัสถามว่า ท่านผู้เจริญ เพราะเหตุไร? ท่านจึงได้กระทำอย่างนี้.

พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า มหาบพิตร คน ผู้ขอว่า ท่านจงให้สิ่งชื่อนี้แก่เรา ชื่อว่า ร้องไห้ คนผู้กล่าวว่าไม่มี ชื่อว่า ร้องไห้ตอบ ถ้าพระองค์ถูกอาตมภาพทูลขอ จะไม่

พระราชทานไซร้ มหาชนจงอย่าได้เห็น การที่อาตมภาพจึงหวังเฉพาะที่ลับ เพื่อประโยชน์นี้ แล้วได้กล่าวคาถา ๓ คาถาเบื้องต้นว่า :-

ข้าแต่พระเจ้าพรหมทัต ผู้ขอย่อมได้ ๒ อย่าง คือ ไม่ได้ กับ ได้ ทรัพย์ แท้จริง การขอ ย่อมมีอย่างนี้ เป็นธรรมดา. ข้าแต่พระองค์ผู้ประเสริฐกว่าชาวปัญจาละ บัณฑิตกล่าว การขอ ว่า เป็นการร้องไห้ ผู้ใดปฏิเสธต่อผู้ขอ บัณฑิตกล่าวผู้นั้นว่า เป็นการร้องไห้ตอบ. ชาวปัญจาละผู้มาประชุมกันแล้ว อย่าได้เห็นอาตมภาพผู้กำลังร้องไห้อยู่ หรือ อย่าได้เห็นพระองค์ผู้กำลังกรรแสงตอบอยู่ เพราะฉะนั้น อาตมภาพ จึงปรารถนา ขอเฝ้าในที่ลับ.

บรรดาบทเหล่านั้น พระโพธิสัตว์เรียกพระราชา แม้ด้วยบททั้งสองว่า ราช พฺรหฺมทตฺต

บทว่า นิคจฺฉติ ได้แก่ ย่อมได้เฉพาะ คือ ย่อมประสบ.

บทว่า เอวํธมฺมา แปลว่า มีอย่างนี้เป็นสภาวะ.

บทว่า อาหุ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าว.

บทว่า ปญฺจาลานํ รเถสภ ได้แก่ ผู้เป็นใหญ่แห่งแคว้นปัญจาละ.

บทว่า โย ยาจนํ ปจฺจกฺขาติ ความว่า ก็ผู้ใดย่อมปฏิเสธต่อผู้ขอนั้นว่าไม่มี.

บทว่า ตมาหุ ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวแล้ว คือ ย่อมกล่าวการปฏิเสธนั้นว่า เป็นการร้องไห้ตอบ. บทว่า มํ มาทฺทสํสุ ความว่า ชาวปัญจาละผู้อยู่ในแคว้นของพระองค์มาประชุมกันแล้ว อย่าได้เห็นอาตมภาพผู้ร้องไห้อยู่เลย.

พระราชาทรงเลื่อมใสใน ลักษณะแห่งความเคารพของพระโพธิสัตว์

เมื่อจะทรงให้พร จึงตรัสคาถาที่ ๔ ว่า :- ข้าแต่ท่านพราหมณ์ ข้าพเจ้าขอถวายวัวแดงหนึ่งพันตัว พร้อมด้วยโคจ่าฝูงแก่ท่าน อันอารยชนได้ฟัง คาถาอันประกอบด้วยเหตุผลของท่านแล้ว ไฉนจะไม่พึงให้แก่อารยชนเล่า.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โรหิณีนํ แปลว่า มีสีแดง.

บทว่า อริโย ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยอาจาระคือมารยาท.

บทว่า อริยสฺส ได้แก่ ผู้สมบูรณ์ด้วยอาจาระคือมารยาท.

บทว่า กถํ น ทชฺเช ความว่า เพราะเหตุไร จะไม่พึงให้.

บทว่า ธมฺมยุตฺตา ได้แก่ ประกอบด้วยเหตุ.

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ กราบทูลว่า ข้าแต่มหาบพิตร อาตมภาพ ไม่ต้องการ วัตถุกาม พระองค์ จงประทาน สิ่งที่อาตมภาพทูลขอ แล้วรับเอา รองเท้าชั้นเดียว กับ ร่มใบไม้ โอวาทพระราชาว่า ขอถวายพระพรมหาบพิตร ขอพระองค์ อย่าทรงประมาท จงรักษาศีล กระทำอุโบสถกรรมเถิด เมื่อพระราชาทรงวิงวอนอยู่นั่นแล ได้ไปยังหิมวันตประเทศ ทำอภิญญาและสมาบัติ ให้บังเกิดในที่นั้นแล้ว ได้มีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประชุมชาดกว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้เป็น พระอานนท์ ส่วนดาบสในครั้งนั้น คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาพรหมทัตตชาดกที่ ๓

.. อรรถกถา พรหมทัตตชาดก ว่าด้วย ผู้ขอกับผู้ถูกขอ จบ.

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 20 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาคุณใหญ่ราชบุรีเป็นอย่างยิ่งครับ

ที่ได้อัญเชิญพระสูตรและอรรถกถาโดยละเอียด ที่ท่านอาจารย์กล่าวถึงในการสนทนา

มาให้ได้พิจารณา เป็นความไพเราะเหลือประมาณครับ

ขออนุโมทนาอีกครั้งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ms.pimpaka
วันที่ 20 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ch.
วันที่ 21 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ