เอามาตรฐานอะไรมาวัดว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี

 
นิ้ง
วันที่  29 ก.ค. 2557
หมายเลข  25184
อ่าน  881

หนูได้มีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนเรื่อง อกุศล และ กุศลค่ะ ซึ่งเพื่อนหนูค่อนข้างจะมีความคิดค่อนไปทางเสรีนิยม และไม่ค่อยอะไรกับศาสนามาก เขาฝากคำถามมาว่า ใครเป็นคนบอก หรือ เอาเกณฑ์อะไรมาวัดว่า สิ่งนี้เป็นกุศล แล้ว สิ่งนั้นเป็นอกุศล สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดีกัน

ขอกราบขอบพระคุณและอนุโมทนาในทุกๆ คำตอบค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 29 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัจจะ ความจริงไม่เปลี่ยนแปลงเลย ไม่ว่าจะยุคไหน สมัยไหน หรือ ที่ใด เพราะสัจจะ ความจริง ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งไม่ใช่อื่นไกล คือ กายกว้างศอกยาววาหนาคืบ คือ ร่างกายนี้นี้เอง ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใคร จะนับถือศาสนา หรือ ไม่นับถือศาสนา ก็ไม่สามารถปฏิเสธความจริงนี้ได้ว่า กำลังมีสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ ที่เป็นสภาพธรรมทาง ตาหู จมูก ลิ้น กายและใจ ขณะนี้เห็น เห็นมีจริง ไม่ว่าจะศาสนาอะไร ไม่ต้องมีใครมาตัดสินว่าจริงหรือไม่ เพราะมีอยู่แล้วกำลังปรากฏและสภาพธรรมไม่ใช่มีเพียงเห็นเท่านั้น ก็ยังมีสภาพธรรมอื่นๆ เช่น ได้ยิน เสียง และคิดนึก ซึ่งมีในชีวิตประจำวันตามเป็นความจริง แต่สิ่งที่ดี ถูกต้อง และไม่ดี ไม่ถูกต้อง เกณฑ์อะไรเล่าที่เป็นเครื่องวัด ตัวสภาพธรรมของมันเองนั่นแหละที่เป็นเครื่องวัด ตัดสินว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือไม่ดี ประการหนึ่งซึ่งพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความจริงในสิ่งเหล่านี้ที่ผู้อื่นไม่รู้ เพราะอวิชชา ความไม่รู้ รู้ความจริงไม่ได้ แต่ปัญญาเท่านั้นที่รู้ความจริงได้ เพราะฉะนั้น เกณฑ์วัด ที่แท้จริง ที่ใครเป็นคนบัญญัติว่าสภาพธรรมที่ดี กุศล อกุศล ถูกต้อง ไม่ถูกต้อง นั่นคือปัญญา ความเห็นถูกอันประจักษ์ที่ตัวสภาพธรรมที่มีลักษณะไม่เปลี่ยนแปลง คือ กุศล ที่เป็นความดี ไม่มีโทษ เพราะ ไม่ติดข้อง ไม่โกรธ และไม่หลง ในขณะนั้น ส่วนสภาพธรรมที่ไมดี่ ที่เป็นอกุศล มีโทษ เพราะเป็นความติดข้อง หรือ เป็นความโกรธ หรือ เป็นความหลง เป็นต้น ในขณะนั้น ซึ่งสภาพธรรมเหล่านี้ ไม่เปลี่ยนแปลง ลักษณะธรรมที่ดีมีประโยชน์ จริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น ลักษณะธรรมไม่ดี มีโทษ ไม่มีประโยชน์จริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น ดังนั้น จากคำถาม ที่กล่าวว่า เอาเกณฑ์อะไรมาวัดว่าสิ่งนี้ดี ไม่ดี เป็นกุศล อกุศล เกณฑ์นั้น คือ ปัญญา ความเห็นถูก เป็นเกณฑ์ตัดสินความจริง ที่สมมติเรียก เป็นบุคคลว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นั่นก็คือพระปัญญาคุณนั่นเอง เพราะปัญญา ความเห็นถูก ย่อมเห็นตามความเป็นจริงในสิ่งต่างๆ และเกณฑ์วัดนั้น ก็ตัดสินในตัวสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีลักษณะที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่เปลี่ยนลักษณะ จึงเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า เป็นสภาพธรรม อภิธรรม เพราะเป็นธรรมที่มีจริง ซึ่งปัญญาจะมีได้ ไม่ใช่เพราะ ไม่ศึกษา ไม่อบรม แต่มีได้ด้วยการฟัง ศึกษาพระธรรม ดังนั้น การจะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้น เป็นความคิดเห็นส่วนตัว แต่การจะเข้าใจความจริงเป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา อันเกิดจากเหตุปัจจัย คือ การฟัง ศึกษาพระธรรม และ เมื่อมีปัญญา ก็ย่อมเห็นตามความเป็นจริง ตามที่ผู้หนึ่งที่ได้ทรงตรัสรู้ความจริงและได้ทรงแสดงตามความเป็นจริงให้เห็นตาม นั่นคือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 29 ก.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรม หรือ กุศลธรรม ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็น ธรรม ไม่ใช่ เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ปกติในชีวิตประจำวัน ของผู้ที่ยังมีกิเลส ยังถูกผูกมัดไว้ด้วยกิเลสประการต่างๆ จึงมีอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา และเกิดมากกว่ากุศลด้วย ตามความเป็นจริง อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้ใครเลย มีแต่จะนำทุกข์มาให้ในภายหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่จิตเป็นอกุศลย่อมเร่าร้อน เพราะอกุศลเจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วย และถ้ามีกำลัง ถึงขั้นล่วงเป็นอกุศลกรรมบถที่ครบองค์ ยิ่งเร่าร้อนมาก กล่าวได้ว่า เร่าร้อนทั้งในขณะที่ทำ และในขณะที่ได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นๆ ด้วย อกุศลธรรมทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง โดยประการทั้งปวง ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรทั้งนั้น ในทางตรงกันข้าม ขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นย่อมผ่องใส ไม่ขุ่นมัวเพราะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมได้เลย มีแต่สภาพธรรมฝ่ายดี เช่น ศรัทธา (สภาพธรรมที่เลื่อมใสในกุศล) สติ (สภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย และถ้ามีความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดร่วมด้วย ก็เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ดังนั้น กุศลธรรม อันได้แก่ กุศลจิต และเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย นี้แหละคือ สิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่สมควร ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด สถานที่ใด สิ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ ความดี (กุศลธรรม)

ความจริงของสภาพธรรม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ตามสภาพที่เป็นจริง ไม่ใช่อยู่ที่ใครจะตัดสินหรือไม่ตัดสิน หรือ จะถือหรือไม่ถือ เพราะความจริง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น เป็นอกุศล เป็นความไม่ดี ใครจะบอกว่าดีก็ไม่เป็นจริงตามนั้น ในทางตรงกันข้าม ความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความมีเมตตา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นต้น เป็นความดี เป็นสภาพธรรมที่ดีงาม ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 29 ก.ค. 2557

อกุศล โลภะ โทสะ โมหะ ไม่ดี กุศล เมตตา หวังดี ช่วยเหลือเป็นความดี ถูกต้อง รู้ด้วยปัญญาของตนเอง ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 30 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
peem
วันที่ 30 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
j.jim
วันที่ 30 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
papon
วันที่ 30 ก.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Dechachot
วันที่ 30 ก.ค. 2557

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ประสาน
วันที่ 1 ส.ค. 2557

อกุศลธรรมเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ไม่นำประโยชนฺ์อะไรๆ ๆ ๆ มาให้ใครเลย

มีแต่จะนำทุกข์มาให้ในภายหลังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ