ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ บ้านท้ายหาดรีสอร์ท อัมพวา สมุทรสงคราม ๖ - ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  10 พ.ค. 2557
หมายเลข  24836
อ่าน  3,021

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๖ - ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา

คุณทวีชัย อยู่มั่นธรรมา มีกุศลศรัทธากราบเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และ คณะวิทยากร ไปพักผ่อนและสนทนาธรรม ณ บ้านท้ายหาดรีสอร์ท

อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

โดยคุณทวีชัยได้กล่าวว่า เพื่อเป็นการน้อมบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

และ มีกุศลจิตที่จะเกื้อกูลแก่สหายธรรม เพื่อไปพักผ่อนและสนทนาธรรมร่วมกัน

ณ บ้านท้ายหาดรีสอร์ท ริมแม่น้ำแม่กลอง อำเภออัมพวา สมุทรสงคราม

ทั้งนี้ ในวันเดินทางไป ท่านเจ้าภาพ พร้อมทั้ง พี่รัชนีวรรณ และ พี่ประสาร บุญชู

ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน ที่ร้านอาหารทะเลชื่อดังของสมุทรสงคราม

มีอาหารทะเลสดๆ มากมายหลายอย่าง จานใหญ่มากๆ เต็มโต๊ะเลยครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาท่านเจ้าภาพทุกท่านด้วยครับ โดยเฉพาะพี่เจี๊ยบ (รัชนีวรรณ)

ที่คอยดูแลทุกๆ เรื่อง ทั้งเรื่องอาหาร น้ำดื่ม น้ำมะพร้าวหวานหอมชื่นใจ คลายร้อนดีมาก

ขนมต้มมะพร้าวน้ำหอม และ ส้มโอรสชาติดีมากของอัมพวา เป็นของฝากขากลับอีกด้วย

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาพี่เดือนฉาย และ พี่ตุ้ม ที่ดูแลจัดการทุกอย่างครับ

และ ขออนุโมทนา บริษัท มนตรีทรานส์ปอร์ต ที่ จัดรถตู้ขนอุปกรณ์การบันทึกวีดีโอครับ

แต่เดิมมีกำหนดการสนทนาธรรม เพียงตอนบ่ายสามโมง ถึง ห้าโมงเย็น วันแรกเท่านั้น

แต่ด้วยมีสหายธรรมผู้ใหม่จากสมุทรสงคราม กลุ่มใหญ่ ที่เข้าร่วมรับฟังและสนทนาธรรม

ซึ่งหลายท่านเคยฟังการสอนพระอภิธรรมมาบ้าง เกิดความสนใจ หลังจากที่ฟังจบ

ยังไม่ยอมลุกหนีไปไหน แต่เข้ากราบท่านอาจารย์และสนทนาต่ออีกพักใหญ่

ทั้งยังกราบขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ เพื่อมาสนทนาธรรมต่อ ในวันรุ่งขึ้นอีกครั้ง

โดยในตอนนี้ ข้าพเจ้าขอนำความการสนทนาในตอนท้ายของวันแรก ซึ่งมีความไพเราะ

ลึกซึ้งและกินใจทุกท่านอย่างยิ่ง ที่ท่านอาจารย์ได้กรุณากล่าวให้เข้าใจชัดเจนเรื่องสมาธิ

การนั่งสมาธิ ที่เป็นที่แพร่หลายไปมากในปัจจุบัน ว่าเป็นความถูกต้องอย่างไร

ขอเชิญทุกๆ ท่านได้พิจารณาข้อความดังกล่าวเพื่อประโยชน์ ตามควรแก่กาล เช่นเคยครับ

ท่านผู้ฟัง หมายความว่า ในขณะที่เป็นกุศลสมาธิ ก็ไม่ใช่สัมมาสมาธิเสมอไป

ท่านอาจารย์ ค่ะ สัมมาสมาธิ มิจฉาสมาธิ

สองคำนี้ สัมมาสมาธิ ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะต้องประกอบด้วยปัญญา

มิจฉาสมาธิ ก็ต้องประกอบกับ ความเห็นผิด

มรรคมีองค์ ๘ ทรงแสดงไว้ ๒ อย่าง มิจฉามรรค กับ สัมมามรรค

ตั้งแต่องค์ที่ ๑ ไปเลย มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาหมด มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ

มิจฉาสมาธิ แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า จริงๆ แล้ว สติ เป็นมิจฉาไม่ได้

แต่ทรงแสดงคู่กัน เป็นการเปรียบเทียบ ให้เห็นความเข้าใจผิด คิดว่า ขณะนั้นเป็นสติ

แต่ความจริง ไม่ใช่สติ

ท่านผู้ฟัง แล้วขณะที่ฟังธรรม ขณะนี้ค่ะ ฟังแล้วเข้าใจ ก็เป็นกุศลสมาธิ ใช่ไหมคะ?

ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ

ท่านผู้ฟัง แต่มันไม่ได้ต่อเนื่อง นะคะ

ท่านอาจารย์ หมายความว่ายังไงคะ? ไม่ต่อเนื่อง มีอะไรที่ต่อกันได้บ้าง?

ท่านผู้ฟัง หมายถึงว่า ขณะที่เข้าใจ เดี๋ยวก็

ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดาค่ะ เป็นธรรมดา

มิฉะนั้น เราจะคิดว่า เป็นเรา ที่เที่ยง

แต่ความจริง แม้แต่จิตแต่ละขณะ ก็เกิดดับ สลับกันไป กุศลบ้าง อกุศลบ้าง

วิบากบ้าง กิริยาบ้าง แต่ว่าไม่ซ้ำ เป็นแต่ละหนึ่งขันธ์ เป็นแต่ละขันธ์ไป

ฟังเพื่อละ เพื่อไม่ใช่เรา เพื่อเห็นถูกต้อง

ใครเคยทำสมาธิบ้างคะ? จะเล่าให้ฟังได้ไหม? ว่าประโยชน์คืออะไร?

ท่านผู้ฟัง ประโยชน์ของการทำสมาธิ ก็ทำให้เราได้ความสงบ

เพราะว่า เราจะอยู่ในอารมณ์เดียว

ท่านอาจารย์ เท่านี้ก่อนนะคะ ขณะไหนสงบ? และ สงบจากอะไร?

ท่านผู้ฟัง ขณะที่จิตเรา ไม่ได้คิดเรื่องอื่นน่ะค่ะ

ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้คิดเรื่องอะไร? ไม่ได้คิดเรื่องอื่น "เรื่องอื่น" คือ เรื่องอะไร?

ท่านผู้ฟัง อาจจะเป็นเรื่องในอดีต หรือเรื่องที่เราพบเจอมาระหว่างวัน

ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้น ขณะที่ไม่ได้คิดเรื่องในอดีตหรือในระหว่างวัน

ขณะนั้น คิดอะไร? ที่สงบ

ท่านผู้ฟัง ก็จะคิดถึงท้องพองยุบค่ะ

ท่านอาจารย์ ค่ะ คิดถึงท้องพองยุบแล้วสงบ?

คุณธีรพันธ์ เคยคิดถึงท้องพองยุบแล้วสงบไหม?

อาจารย์ธีรพันธ์ เคยคิด แต่ว่าไม่รู้อะไรเลย คือ ไม่สงบครับ

ไม่ได้สงบเลย เพราะว่า ขณะนั้น ไม่ได้เข้าใจอะไรเลย

เพราะว่า มีความติดข้อง ที่จะไปเพ่งที่พองยุบ พองยุบ

แล้วก็ไม่ทราบว่า จะไปรู้เพื่ออะไร?

แต่ว่า ต้องอาศัยการฟังพระธรรม

เพราะว่า จะไปรู้อะไรครับ?

พองยุบ สอนอะไร? ให้รู้อะไรหรือครับ?

คือ อารมณ์ที่ปรากฏ ไม่สามารถทำให้เกิดปัญญาได้เลย

นอกจากความเข้าใจ เท่านั้น ที่รู้สภาพธรรมะที่ปรากฏ

ไม่ใช่สิ่งภายนอก ที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดความสงบได้เลย

พองยุบ ก็เป็นเรื่องของการไปจดจ้องมากกว่า ใช่ไหม?

แทนที่จะเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนั้น อะไรมีจริง เป็นสภาพธรรมะ ใช่เราหรือเปล่า

ใช่เรา ที่ไปกำหนดหรือเปล่า?

แล้วเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา? รู้อะไรได้บ้าง?

อันนี้ ตอบตัวเองได้หรือเปล่า? ว่ารู้อะไรได้บ้าง?

ขณะที่พองยุบ แล้วคิดว่าสงบ สงบจากอะไร? และ ขณะนั้น รู้อะไรตามความเป็นจริง?

ท่านผู้ฟัง ทำสมาธิ แสดงว่า เป็นวิธีที่เราต้องการเพื่อที่จะให้สงบ

แต่จริงๆ ยังไม่สงบ

ท่านอาจารย์ ขณะนั้น เป็นกุศล หรือ อกุศล? ต้องรู้

ท่านผู้ฟัง เป็นกุศลค่ะ

ท่านอาจารย์ ขณะไหนเป็นกุศล? ขณะไหน?

ท่านผู้ฟัง ขณะที่เรานั่งสมาธิ

ท่านอาจารย์ นั่งสมาธิ? ทำอะไร? นั่งสมาธิ?

มีสองอย่างนะคะ กุศลสมาธิ กุศลสมาธิ มิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ

แล้วจะรู้ได้เมื่อไหร่ ว่าขณะนั้นเป็นอะไร? ถ้าไม่มีการศึกษาธรรมะเลย

ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนให้ทำอย่างนั้นหรือเปล่า?

คิดว่าท่านสอนให้ทำอย่างนั้นหรือเปล่า?

ท่านผู้ฟัง แสดงว่า เป็นวิธี เพื่อที่จะให้

ท่านอาจารย์ วิธีของใคร?

ท่านผู้ฟัง เราจะต้องรู้ว่า เรามีโลภะหรือเปล่า? ใช่ไม๊คะ? ตอนที่เรานั่ง

ท่านอาจารย์ เพียงแค่อยากทำสมาธิ เป็นกุศลหรือเปล่า?

โดยที่ไม่รู้ว่า สมาธิ คือ อะไร?

ไม่ต้องทำอกุศลสมาธิเลย เป็นอยู่แล้ว

ต้องทำไหม? กุศลสมาธิ

ไม่ต้องทำ ใช่ไหม?

แล้วอยากทำสมาธิ สมาธืที่อยากทำ คือ สมาธิอะไร? ประเภทไหน?

เพราะว่า สมาธิมีอยู่แล้ว เดี๋ยวนี้ก็มี

แล้ว "เราทำ" หรือว่า เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น ต้องรู้ก่อน ว่าสมาธิ ที่ว่าไปทำสมาธินี่ คือ อะไร?

เป็นกุศลหรือเปล่า? หรือเป็นอกุศล

ต้องตรง ถ้าไม่ตรง ไม่ได้สาระจากพระธรรมเลย

พระธรรมอารักขา ให้เรามีความเข้าใจที่ไม่คลาดเคลื่อน เพราะเข้าใจธรรมะ

แต่ถ้าไม่เข้าใจธรรมะ โอกาสที่จะผิดและคลาดเคลื่อน มีตลอด

โดยพอได้ยินชื่อว่า ทำสมาธิ ยังไม่ได้เข้าใจอะไรเลย แต่ทำแล้ว ใช่ไหม?

หรือว่า มีความเข้าใจอะไร? จึงทำ

ความเป็นผู้ตรง คือ จะทำสมาธิ มีความเข้าใจอะไรหรือเปล่า?

หรือว่า ไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ก็จะทำสมาธิ

ต้องรู้ตัวเอง ตามความเป็นจริง

ยังทำอยู่หรือเปล่าคะ?

ท่านผู้ฟัง ขณะนี้ ตอนนี้หรือคะ?

ท่านอาจารย์ ยังทำอยู่หรือเปล่าคะ?

ธรรมะ เป็นเรื่องธรรมดา ตามความเป็นจริง

เราสนทนาธรรม เพื่อที่จะได้เข้าใจถูกต้อง ว่าคำใด เป็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คำใด เป็นของใครก็ได้ ที่ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

คิดเอง

ท่านผู้ฟัง แล้วการเดิน สมาธิ หมายถึงการนั่ง ใช่ไหมคะ?

ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน สมาธิ ไม่ได้หมายความถึงการนั่งเลย ยืนก็มีสมาธิ

จิดเกิดเมื่อไหร่ ก็มีเอกัคตาเจตสิก เกิดร่วมด้วย

ท่านผู้ฟัง คือการตั้งจิต ที่...

ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ เป็นสภาพของเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ

ทำให้จิตขณะนั้น ตั้งมั่น ในอารมณ์หนึ่ง

เพราะฉะนั้น เมื่อเจตสิกเกิดกับจิตที่กำลังรู้อารมณ์ใด ก็ตั้งมั่น ในอารมณ์นั้นชั่วขณะ

ใช้คำว่า ขณิกสมาธิ แต่ละหนึ่งขณะ แต่ละหนึ่งขณะ มีอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ธรรมะ มีอยู่แล้ว

แต่การฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีอยู่แล้ว

จะถูกหรือจะผิดอย่างไร ก็เพื่อให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า

ไม่สามารถที่จะ "คิดเอง" ได้ เข้าใจได้ หรือ เข้าใจผิด

ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม

เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ประโยชน์สูงสุดอย่างยิ่ง ก็คือว่า

กั้น ไม่ให้เราเห็นผิด

ทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง

และ สาระ ก็คือว่า ไม่ทำ สิ่งที่ไม่จริง และ ไม่ตรงกับความเป็นจริง

และ ไม่ใช่ทึกทักเอาเอง

ทำสมาธิ ทั่วโลก ไม่ใช่มีแต่เฉพาะประเทศไทย

ต่างคนต่างทำ ต่างคน ต่างมีแบบแผนของ "การทำ" ใช่ไหม?

มีชื่อหลายชื่อ หลายวิธีการ

แต่ว่า ที่พระผู้มีพระภาคฯตรัสรู้และทรงแสดงถึงสภาพธรรมะที่มีจริงว่า

ที่ว่าเป็นสมาธินั้น คือ อะไร

คือ สภาพของเจตสิก ที่ตั้งมั่นในอารมณ์

แล้วแต่ว่า จะตั้งมั่น ในอารมณ์อะไร ที่เป็นอกุศล กรือ ที่เป็นกุศล

มิฉะนั้น จะไม่มีสมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ศึกษาธรรมะเลย "ทำสมาธิ" กันทั่วโลก ทั่วโลกจริงๆ

แต่ว่า สมถภาวนา คือ อะไร? วิปัสสนา คือ อะไร?

สมถภาวนาและวิปัสสนา เป็นกุศลจิต

แต่ว่า ถ้าสมาธิอื่น ถ้าเกิดกับกุศล ก็เป็นกุศล ถ้าเกิดกับกุศล ก็เป็นกุศล

แต่ไม่ใช่ภาวนา

ภาวนา คือ อบรมให้มีมากขึ้น ให้มั่นคงขึ้น

คำว่าภาวนา อบรมในสิ่งที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น อบรมในสิ่งที่มีแล้ว ให้เจริญขึ้น

เพราะฉะนั้น สมถภาวนา ชื่อบอกแล้ว อบรมกุศลหรือกุศล?

จะไปอบรมกุศลทำไม? ใช่ไหม?

ไม่ต้องไปอบรม มีอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น สมถภาวนา คือ อบรมความสงบจากกุศล

ถ้าตรงๆ ก็คือว่า อบรมความสงบจากกุศล ให้มั่นคงขึ้น

เพราะว่า ใครจะยับยั้งอกุศล ซึ่งมีมาก เกิดอยู่เรื่อยไป

"เห็น" เกิดแล้ว ใช่ไหม?

ติดข้อง อุปาทาน กามุปาทาน ยึดมั่น ในสิ่งที่ปรากฏ

รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ละไม่ได้เลย

แต่ว่า ถ้าจะเป็นการอบรม เจริญ ต้องเจริญทางฝ่ายกุศล

คือ สงบจากความติดข้อง

ภาวนาทั้งหมด ที่เป็นสมถภาวนา คือ สงบจากอกุศล

เพราะฉะนั้น กุศลต่างหาก ที่สงบ ถ้าไม่ใช่กุศล ไม่สงบเลย

เพราะฉะนั้น สมถภาวนา คือ อบรมความสงบจากกุศล ให้ตั้งมั่น

วิปัสสนาภาวนา ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญา ความเห็นถูกต้อง ในสิ่งที่กำลังปรากฏ

ไม่ใช่สิ่งที่หมดไปแล้ว หรือ สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้

การฟังแล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้น จะนำไปสู่ วิปัสสนาภาวนา

แต่ถ้าไม่มีปัญญาเลย ยังไงๆ ก็เรียกว่า เรียกกันไป

แต่ไม่ได้เข้าใจเลย ว่าหมายความว่าอะไร?

เหมือนสมาธิ ใช่ไหม? ก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้น เป็นอกุศล

เพราะว่า ถ้าเป็นกุศล ต้องเป็นสมถภาวนา อบรมความสงบจากอกุศล

เพราะฉะนั้น อยู่ดีๆ จะเกิดความสงบจากอกุศล ได้ไหม?

ทำได้ไหม?

ทำไม่ได้

แต่ปัญญา ค่อยๆ ทำให้รู้ว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหน เป็นกุศล

แล้วขณะที่เป็นกุศล เพราะอะไร?

เพราะฉะนั้น ก็มีปัญญา ที่จะรู้ว่า ขณะนี้ เป็นกุศลหรือเปล่า?

อบรมกุศล ก็คือว่า อบรม ให้พ้นจากความไม่รู้ และ ความติดข้อง

การฟังธรรมะ เป็นการอบรมเจริญความสงบของจิต แต่ยังไม่ถึงขั้นสมถภาวนา

ฟังธรรมะขณะนี้ คิดถึงใครบ้างไหม?

คะ?

มีใครคิดถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบ้าง?

แต่ละคำ มาจากไหน?

ถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีโอกาส ได้ยิน ได้ฟัง ได้เข้าใจ อย่างนี้ไหม?

เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกถึงพระคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตสงบไหม?

นั่นคือ พุทธานุสสติ

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่า คิดอะไรๆ ก็ไปที่ท้อง แล้วก็สงบ อย่างนั้นได้อย่างไร?

ท่านผู้ฟัง แสดงว่า รูปแบบนี่ ไม่จำเป็นเลย

ท่านอาจารย์ ไม่ให้เหตุผลเลย ว่าระลึกแล้ว รู้อะไร?

แล้วสงบได้อย่างไร?

ถ้าจะไปดูที่ท้องพองยุบ สงบหรือเปล่า?

ท่านผู้ฟัง อย่างนั้น แล้วเราจำเป็นต้องนั่งสมาธิ ที่เขามีวิธีการไหมคะ?

ท่านอาจารย์ ค่ะ "เราจำเป็นต้องนั่งสมาธิ ที่เขามีวิธีการไหม?"

เขาคือใคร?

ท่านผู้ฟัง ที่แสดงให้เห็นกัน

ท่านอาจารย์ ตั้งแต่คำแรกเลย เขาคือใคร? เท่านี้ค่ะ

คะ?

เขาคือใคร?

ไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน

แล้วมีพระธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงไว้ครบถ้วน โดยละเอียดยิ่ง

โดยประการทั้งปวง

ที่จะไม่ให้มีการเห็นผิด ไม่ให้เข้าใจผิดเลย

แล้วเราจะฟังใคร?

คิดว่าคนอื่น สามารถจะทำให้เราเข้าใจได้หรือ?

ในเมื่อ ไม่ได้บอกให้เราเกิดปัญญาอะไรเลย

แต่ให้ทำ

ขณะนั้น เป็นเรา ใช่ไหม?

ไม่ใช่ความเห็นถูก ว่าไม่ใช่เรา

และไม่รู้ด้วย ว่าขณะไหนสงบ ขณะไหนไม่สงบ

ขณะไหนมีความเห็นถูก ขณะไหนไม่มีความเห็นถูกเลย

ได้แต่หลงต้องการ พยายามที่จะทำ พยายามที่จะจ้อง โดยถูกบอกให้ทำ

ปัญญาของใครคะ? เวลาที่ถูกบอกให้ทำ

คะ?

ปัญญาของใคร ที่ทำ เพราะถูกบอกให้ทำ

ปัญญาของใคร?

คนบอก ก็ไม่มีปัญญา อย่าว่าแต่คนที่ทำตามที่บอก

เพราะอะไร?

ถ้าเข้าใจถูก จะไม่ให้คนอื่นเข้าใจถูกหรือ?

ถ้าเข้าใจถูก จะให้คนอื่นทำอะไร ซึ่งไม่ใช่ความเข้าใจหรือ?

เพราะฉะนั้น แม้แต่ผู้บอก ก็ไม่มีปัญญา

ผู้ฟัง ทำตาม จะมีปัญญาไหม?

ลืมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ลืมพุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

เป็นผู้ที่ไม่ตรง

เพระาฉะนั้น ถ้าไม่ใช่สัจจะบารมี

ไม่มีทางถึงความเข้าใจ สภาพธรรมะ ที่กำลังปรากฏ

เพราะ ไม่ตรง

เชื่อใคร?

ท่านผู้ฟัง เชื่อพระพุทธเจ้า

ท่านอาจารย์ เชื่อพระพุทธเจ้า ก็ต้องศึกษา

ใครก็ตาม ที่บอกว่า มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่ง

มีพระธรรม เป็นที่พึ่ง มีพระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่ง

ต้องตรง

พึ่งอะไร? พึ่งคำสอน ถ้าไม่สอนเลย เราจะพึ่งได้ไหม?

นั่งนิ่งเลย ที่พระวิหารเชตวัน ไม่มีสักเสียง ไม่มีสักคำ แล้วเราจะพึ่งอะไร?

แต่เพราะเหตุว่า ทรงแสดงพระธรรม ไม่ได้ให้ใคร ไปทำอะไร ที่ไหน เลยทั้งสิ้น

แต่ให้มีความเห็นถูก ให้มี ความเข้าใจถูก เป็นที่พึ่ง

ไปพึ่งปัญญาของคนอื่น ไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น ใครก็ตาม ที่ให้ความเข้าใจ ผู้นั้นต้องมาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทุกคำ ที่พูด เป็นความจริง เป็นสัจจธรรม

ซึ่งใครก็คิดเองไม่ได้

รับรองได้เลย ไม่มีใครคิดเองได้

แล้วเรายังฟังคำคนอื่น ซึ่งไม่ทำให้เกิดปัญญาเลย

เพราะฉะนั้น คนฟัง สามารถที่จะรู้จักคนพูด ซึ่งคนพูด ไม่มีโอกาส

คิดว่าพูดอะไร คนฟังก็เชื่อ

ไม่ใช่อย่างนั้นเลย

พูดมาสิ แล้วจะรู้ว่า คนที่พูด พูดผิดหรือเปล่า?

ถ้าคนนั้นศึกษาพระธรรม มีความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถที่จะบอกได้ว่า ผิดตรงไหน?

ผิดตรงที่ ไม่ได้ให้ใครเกิดปัญญาเลย

แล้วให้เขาทำอะไร?

นี่เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือ?

ในเมื่อพระองค์ทรงแสดงให้คนฟัง เกิดปัญญาของตนเอง

เป็นสมบัติล้ำค่าที่สุด ซึ่งเงินทองก็ซื้อไม่ได้

เงินเท่าจักรวาล กี่จักรวาล ก็ทำให้ปัญญาเกิดไม่ได้

แต่ทุกคำ ที่ทรงแสดง

สามารถที่จะทำให้คนฟัง เกิดความเห็นถูกต้อง เป็นปัญญาของตนเอง

แล้วจะเชื่อใคร? แล้วจะฟังใคร?

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง ตามเหตุตามผล จะทำไหม?

ตามเขาบอก แค่เขาบอกก็ทำ

ไม่มีเลย ในพระไตรปิฎก ที่จะให้ใครไปทำอะไร

ที่ว่าดูที่ท้องพองยุบ แล้วเกิดอะไรขึ้น

ลองยกเหตุผลสิคะ มีไหม?

ท่านผู้ฟัง การดูท้องพองยุบ

ท่านอาจารย์ แค่นี้ก่อน การดูท้องพองยุบ ทำไมดูท้องพองยุบ ไม่ดูอย่างอื่น

ท่านผู้ฟัง เป็นวิธีการ เพื่อ...

ท่านอาจารย์ วิธีการ มาจากไหน?

ท่านผู้ฟัง เพื่อที่จะดูความจริง ณ ขณะนั้นค่ะ

ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ เห็นจริงไหม? ได้ยินจริงไหม?

เที่ยงไหม? เกิดไหม? ดับไหม?

แล้วจงใจ ไปดูท้องพองยุบ เข้าใจอะไร?

แล้วทำ เพื่อเข้าใจหรือเปล่า? หรือทำ เพื่อไม่รู้ แล้วเข้าใจว่า สงบ

สงบจากกุศล คือ ความไม่รู้ค่ะ

แต่ถ้ามีความไม่รู้ ไม่สงบ

เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ไม่สงบ ก็ชวนไปทำความไม่สงบ

ไม่สงบอยู่แล้ว ยังไม่พอ ไปทำให้ไม่สงบมากขึ้นๆ จนไม่รู้ตัว

ไม่ได้เกิดปัญญา ความเห็นถูกใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะขณะนั้น ไม่รู้สึกตัว

เท่าที่ได้ฟังวิทยุ บางคนก็บอกว่า ดูไปแล้ว ก็เหมือนไก่ขยับปีก

บางคนก็ตัวแข็งไปทั้งตัว ก้าวไม่ออก

ปัญญา อยู่ที่ไหน?

ปัญญา รู้อะไร?

เป็นปรกติ หรือเปล่า?

เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง ที่ทิ้งไม่ได้เลย

เป็นผู้มีปรกติ รู้ความจริงของสภาพธรรมะที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ

ใครไปทำอะไรไม่ได้ เพราะเกิดแล้ว

เกิดแล้ว สิ่งที่เกิดแล้วไม่รู้ จะไปรู้ หรือ ไปทำอะไรให้รู้คะ?

ในเมื่อ ยังไงๆ ก็ไม่รู้สิ่งที่เกิดแล้ว เพราะเหตุปัจจัย

เพราะฉะนั้น ต้องรู้เลย คำไหน เป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำไหนไม่ใช่

เพราะว่า ไม่จริง

เดี๋ยวนี้ก็มีสภาพธรรมะ ไม่ต้องไปดูอะไร

เกิดแล้ว

เกิดแล้ว กำลังเห็น จะไปดูอะไร?

แต่ ฟังแล้วเข้าใจเห็น ค่อยๆ รู้ว่า เห็น เป็นธาตุที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย

ต้องอาศัย จักขุปสาท รูปพิเศษ ซึ่งไม่เหมือน เย็น ร้อน อ่อน แข็ง

เพราะรูปนั้น สามารถกระทบ สิ่งที่เกิด ปรากฏให้เห็น และรูปนั้นก็เห็นไม่ได้

แต่ต้องมีธาตุรู้เกิดขึ้น เพราะการกระทบกัน

แสดงความเป็นอนัตตา โดยตลอด ตั้งแต่แม้รูปที่กระทบสิ่งที่ปรากฏทางตาได้

เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้นมาได้เลย

แต่ทรงแสดงเหตุปัจจัยว่า แม้รูปนั้น ก็เกิดขึ้นเพราะอะไร?

นี่เป็นความรู้ถูกหรือเปล่า?

แทนที่จะไปดู โดยไม่รู้อะไรเลย

พระสามัญญกานิเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

บุคคลผู้ต้องการความสุขเมื่อประพฤติให้สมควรแก่ความสุขนั้น

ย่อมได้ความสุข

ผู้ใดเจริญอริยมรรค

อันประกอบด้วยองค์ ๘เป็นทางตรงเพื่อบรรลุอมตธรรมผู้นั้นย่อมได้ความสรรเสริญและเจริญด้วยยศ

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณทวีชัย อยู่มั่นธรรมา

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
peem
วันที่ 11 พ.ค. 2557

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 11 พ.ค. 2557

ภาพและคำบรรยายยอดเยี่ยม เหมือนได้ไปที่อัมพวา ครับ

ขออนุโมทนาพี่วันชัย ภู่งาม ที่ถ่ายทอดรายละเอียดได้เป็นอย่างดีมาก ครับ

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณทวีชัย อยู่มั่นธรรมา

คุณ ประสาร และ คุณ รัชนีวรรณ บุญชู

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ch.
วันที่ 11 พ.ค. 2557

ขอบคุณคุณวันชัย ภู่งามและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 11 พ.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ..ทั้งๆ ที่ไม่สงบ ก็ชวนไปทำความไม่สงบ

ไม่สงบอยู่แล้ว ยังไม่พอ ไปทำให้ไม่สงบมากขึ้นๆ จนไม่รู้ตัว

ไม่ได้เกิดปัญญา ความเห็นถูกใดๆ เลยทั้งสิ้น ...

...กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณทวีชัย อยู่มั่นธรรมาพร้อมด้วยผู้ร่วมจัดกิจกรรมอันมีค่าในครั้งนี้

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งาม เป็นอย่างยิ่ง

ที่ถ่ายทอดสารธรรม และ ภาพ ที่สวยงาม

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ปวีร์
วันที่ 11 พ.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wirat.k
วันที่ 12 พ.ค. 2557

ขอขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 13 พ.ค. 2557

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 14 พ.ค. 2557

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนากุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
orawan.c
วันที่ 7 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ