การตัดสินว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ดี

 
Krisd
วันที่  18 เม.ย. 2557
หมายเลข  24733
อ่าน  10,115

การตัดสินว่าใครเป็นคนดีหรือไม่ดี


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อพูดถึง คำว่า คนดี คนชั่ว หากเข้าใจความจริงของสภาพธรรม ที่ไม่มีสัตว์ บุคคล มีแต่ธรรม ที่สมมติว่าเป็นคนดี หรือ คนชั่วก็คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ที่เป็นจิต เจตสิก เพราะฉะนั้น คนดี ก็คือ จิตที่ดีงามเกิดขึ้น มี กุศลจิต เป็นต้น และ คนชั่วก็คือ จิตที่ไม่ดี ที่เป็นอกุศลธรรมเกิดขึ้น

ซึ่งคนดี ก็คือ บัณฑิต และ คนไม่ดี คือ คนพาล แต่ในความละเอียดของพระธรรมที่แสดงว่าใครเป็นคนดี คนชั่ว ก็มีเกณฑ์แบ่งเป็นหลายระดับ คือ คนดี คนชั่วก็แบ่งเป็นหลายระดับ

คนชั่วที่เป็นพาลอย่างหยาบ พระพุทธเจ้าทรงแสดว่า คนที่ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ล่วงศีล และ เห็นผิด ชื่อว่าคนพาล คนที่ประพฤติดี ทางกาย วาจาและใจ ไม่ล่วงศีล เป็นคนดี ในระดับที่หยาบ แต่เมื่อว่าละเอียดลงไปอีก ก็ยังแบ่งคนดี ที่เป็น คนดี เพราะเป็นพระอริยะ และ คนไม่ดี เพราะ เป็นปุถุชน คือ ยังเป็นพาล ที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม นี่แสดงความละเอียดของ คนดี และ คนไม่ดี และ เมื่อว่าโดยละเอียด ทางโลก มองโดยภาพรวม แต่ ในทางธรรม ความเป็นคนดี คนไม่ดี บัณฑิต หรือ พาล คือ พิจารณาทีละขณะจิต ขณะที่จิตไม่ดี คือ อกุศลจิตเกิดขึ้น มีความชอบ ความโกรธ เป็นต้นเกิดขึ้น ก็ชื่อ เป็นคนไม่ดีในขณะนั้น และ ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้น ก็เป็นคนดีในขณะนั้น พิจารณาไปทีละขณะจิต นี่คือ ความละเอียดของการพิจารณาในพระพุทธศาสนา ครับ ซึ่งปัญญาเท่านั้นที่จะรู้ความจริงว่าอะไรดี ไม่ดี ครับ

ดั่งคำที่ท่านอาจารย์สุจินต์ พูดไว้น่าคิดว่า ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ เพราะ ดีของปุถุชนก็ยังหวั่นไหว เพราะ ไม่ใช่ความดีที่มีกำลังที่จะถึงการดับกิเลสได้ ดีสูงสุด คือ ผู้ที่ไม่มีกิเลส ดับกิเลสหมดสิ้นแล้ว ครับ และ ที่น่าพิจารณา คือ ความดี ที่ประเสริฐ และ บริสุทธิ์ คือ ดีด้วยปัญญา ที่เกิดจากการศึกษาพระธรรม เพราะปัญญาที่เกิดขึ้น จะค่อยๆ ละกิเลส ที่เป็นการสมมติว่าเป็นคนชั่วไปทีละน้อย จนถึง ดับกิเลสที่สุด ละ ความชั่วได้หมดสิ้น ครับ การศึกษาพระธรรม จึงเป็นการค่อยๆ เป็นคนดี ทีละน้อย ครับ

ไม่มีใครที่จะมีความชั่ว เป็นคนชั่วตลอดเวลา แต่ความดี กุศลจิตก็มีได้บ้าง แต่ ความดีจะบริสุทธิ์ได้ก็เพราะ มีปัญญา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ

แม้คนชั่วจะทำความดีได้ และ แม้คนดีจะทำความชั่วได้ แต่ ต่างกันตรงที่ว่า

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓- หน้า 567

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่าความดีคนดีทำได้ง่าย ความดีคนชั่วทำได้ยาก ความชั่วคนชั่วทำได้ง่าย ความชั่วพระอริยะทั้งหลายทำได้ยาก

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 19 เม.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เวลาที่กล่าวว่าใครดีใครชั่ว เพราะอะไร? เพราะจิตดีหรือจิตชั่ว ถ้าจิตดี ก็กล่าวว่าบุคคลนั้นเป็นคนดี เพราะเหตุว่า กายก็ดี วาจาก็ดี ตามจิตที่ดี แต่ถ้าจิตไม่ดี จะกล่าวว่าคนนั้นดีได้ไหม? ก็ไม่ได้

(อ้างอิงจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๓๗)

ชีวิตคือ ความเป็นไปของจิตแต่ละขณะ มีจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้นที่เป็นอย่างนี้ แต่เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ในแต่ละชาตินั้น แต่ละคนก็สะสมมาทั้งส่วนที่ดี และ ไม่ดี ซึ่งสะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ ไม่สูญหายไปไหน เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ก็เกิดขึ้นทันที จะเห็นได้ว่าเมื่อจิตเศร้าหมองด้วยอำนาจของอกุศล สะสมจนกระทั่งมีกำลังมากขึ้นๆ ย่อมเป็นเหตุให้กระทำในสิ่งที่ไม่ดี เป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ สิ่งร้ายๆ ที่เกิดขึ้นจะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่เพราะอกุศล บุคคลที่ทำแต่สิ่งไม่ดี ไม่ได้ทำความดีอะไรไว้เลย เป็นผู้ประมาทมัวเมา ย่อมเสื่อมจากประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ในทางตรงกันข้าม เมื่อจิตไม่เศร้าหมองไม่ร้าย ไม่ถูกอกุศลครอบงำ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ย่อมเป็นไปในทางที่ดียิ่งขึ้น ขณะที่มีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อน (ไม่เดือดร้อนเพราะอกุศล) เมื่อละจากโลกนี้แล้วย่อมไปสู่สุคติ

ตามความเป็นจริงแล้ว คนดี เพราะจิตเป็นกุศล กุศลจิตเป็นจิตใจที่ดีงาม จิตใจที่ดีงามเกิดขึ้นในขณะใดขณะนั้นเป็นกุศล, ส่วนคนไม่ดี เพราะจิตเป็นอกุศล อกุศลจิตเป็นจิตใจที่ไม่ดี จิตใจที่ไม่ดีเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นอกุศล เมื่อเข้าใจและรู้แน่ชัดแล้วว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดี อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็ควรที่จะอบรมเจริญความดีซึ่งเป็นธรรมฝ่ายกุศลให้มากขึ้น ให้มีกำลังพอที่จะขัดเกลาอกุศลของตนเองให้เบาบางลงได้ เพราะอกุศลมีมากมายเหลือเกิน ถ้าไม่เริ่มขัดเกลา ก็ย่อมจะมีแต่พอกพูนหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ โดยปกติในชีวิตประจำวัน อกุศลเกิดขึ้นมาก จากที่เป็นอกุศลบ่อยๆ เนืองๆ แล้วเริ่มเป็นกุศลที่เพิ่มขึ้นในชีวิตประจำวัน มีการคิดดี พูดดี ทำดีมากยิ่งขึ้น ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาให้มากขึ้น ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เมื่อปัญญาเจริญขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะช่วยบรรเทาอกุศลจิตซึ่งเป็นจิตที่ไม่ดีให้ลดน้อยลง จนกว่าจะดับได้เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ สูงสุด คือถึงความเป็นพระอรหันต์, บุคคลผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากพระธรรม ซึงไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นอย่างนี้ เพราะธรรมไม่ได้สาธารณะกับทุกคน ครับ.

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 19 เม.ย. 2557

คนดีทำกุศล ให้ทาน รักษาศีล กตัญญูู คนชั่วก็คนเนรคุณ ทุศีล ไม่มีศีล 5 ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
one_someone
วันที่ 20 เม.ย. 2557

การตัดสินว่าใครดีหรือใครไม่ดี ขณะนั้นตัดสินเพื่ออะไร ประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจตามความเป็นจริง ตัดสินว่านั่นดี นั่นไม่ดี ขณะนั้นมีอกุศลหรือเปล่า

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
j.jim
วันที่ 21 เม.ย. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
pat_jesty
วันที่ 21 เม.ย. 2557

ขณะใดจิตเป็นกุศล ขณะนั้นคือ ดี ขณะใดเป็นอกุศล ขณะนั้นคือ ไม่ดี ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ก็ยังเป็นเหตุให้เกิดทั้งกุศล อกุศล สมควรตามเหตุนั้นๆ ไม่ว่ากับใคร เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็มีทั้งดี และไม่ดี สลับกันไป เป็นธรรมดาค่ะ แต่อย่างไรก็ตาม กุศล และอกุศล ก็ไม่ใช่ ใคร เป็นเพียงสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้นเอง.

ขอบพระคุณ และอนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Krisd
วันที่ 26 เม.ย. 2557

กราบอนุโมทนาครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ดวงทิพย์
วันที่ 29 เม.ย. 2557

มึครบในตัวเราคะ.....จะหมดดีหมดชั่วได้ด้วยปัญญาคะ

ขอบคุณ และอนุโมทนากับทุกท่านคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
jran
วันที่ 29 เม.ย. 2557

คนดีตามที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้มีหลายระดับ สำหรับคนดีในระดับที่หยาบคือคนที่ประพฤติดีทางกาย 3 ข้อได้แก่

1.ไม่ฆ่าสัตว์ 2.ไม่ลักทรัพย์ 2.ไม่ประพฤติผิดในกาม

ประพฤติดีทางวาจา 4 ข้อได้แก่

1.ไม่พูดเท็จ 2.ไม่พูดส่อเสียด 3.ไม่พูดคำหยาบด่าทอ 3.ไม่พูดเพ้อเจ้อ

ประพฤติดีด้วยใจ 3 ข้อได้แก่

1.ไม่คิดโลภอยากได้ของผู้อื่น 2.ไม่คิดปองร้าย 3.มีความเห็นชอบตามคลองธรรม (สัมมาทิฏฐิ)

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
orawan.c
วันที่ 7 ส.ค. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
worrasak
วันที่ 30 เม.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ