ชราสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๗

 
มศพ.
วันที่  12 ม.ค. 2557
หมายเลข  24318
อ่าน  1,809

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

... สนทนาธรรมที่ ...


มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ ในวันเสาร์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๗ คือ

ชราสูตร

... จาก ...

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ หน้าที่ ๗๓๘

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์และ คณะวิทยากร

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ หน้าที่ ๗๓๘

ชราสูตรที่ ๖ (ว่าด้วยชีวิตนี้น้อยนัก)

[๔๑๓] ชีวิตนี้น้อยนัก สัตว์ ย่อมตาย แม้ภายใน ๑๐๐ ปี ถ้าแม้สัตว์เป็นอยู่ (๑๐๐ ปี) ไซร้ สัตว์นั้น ก็ย่อมตาย แม้เพราะชราโดยแท้แล. ชนทั้งหลาย ย่อมเศร้าโศก เพราะสิ่ง ที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา สิ่งที่เคยหวงแหน เป็นของเที่ยง ไม่มีเลย บุคคลเห็นว่า สิ่งนี้ มีอันต้องพลัดพรากจากกันมีอยู่ ดังนี้แล้ว ไม่พึงอยู่ครองเรือน.

บุรุษย่อมสำคัญสิ่งใดว่า สิ่งนี้เป็น ของเรา จำต้องละสิ่งนั้นไป แม้เพราะความ ตาย บัณฑิตผู้นับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นของ เรา ทราบข้อนี้แล้ว ไม่พึงน้อมไปในความ เป็นผู้ถือว่าสิ่งนั้นๆ เป็นของเรา. บุคคลผู้ตื่นขึ้นแล้ว ย่อมไม่เห็น อารมณ์อันประจวบด้วยความฝัน แม้ฉันใด บุคคลย่อมไม่เห็นบุคคลผู้ที่ตนรัก ผู้ทำกาละ ล่วงไปแล้ว แม้ฉันนั้น. บุคคล ย่อมกล่าวขวัญกันถึงชื่อนี้ ของ คนทั้งหลายผู้อันตนได้เห็นแล้วบ้าง ได้ฟัง แล้วบ้าง ชื่อเท่านั้น ที่ควรกล่าวขวัญถึง ของบุคคลผู้ล่วงไปแล้ว จักยังคงเหลืออยู่. ชนทั้งหลาย ผู้ยินดีแล้วในสิ่งที่ตน ถือว่าเป็นของเรา ย่อมละความโศก ความ ร่ำไรและความตระหนี่ ไม่ได้ เพราะเหตุนั้น มุนีทั้งหลาย ผู้เห็นนิพพานเป็นแดนเกษม ละอารมณ์ที่เคยหวงแหนได้ เที่ยวไปแล้ว. บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวผู้ไม่แสดงตน ในภพ อันต่างด้วยนรกเป็นต้น ของภิกษุผู้ ประพฤติหลีกเร้นผู้เสพที่นั่งอันสงัด ว่าเป็นการสมควร. มุนี ไม่อาศัยแล้วในอายตนะทั้งปวง ย่อมไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก ทั้งไม่กระทำสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่เกลียด- ชัง ย่อมไม่ติดความร่ำไรและความตระหนี่ ในสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักและเป็นที่ เกลียดชังนั้น เปรียบเหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบไม้ ฉะนั้น. หยาดน้ำย่อมไม่ติดอยู่บนใบบัว น้ำ ย่อมไม่ติดอยู่ที่ใบปทุม ฉันใด มุนีย่อมไม่ ติดในรูปที่ได้เห็น เสี่ยงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ ที่ได้ทราบ ฉันนั้น. ผู้มีปัญญา ย่อมไม่สำคัญด้วยรูปที่ได้ เห็น เสียงที่ได้ฟัง หรืออารมณ์ที่ได้ทราบ ย่อมไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยทางอื่น ผู้มีปัญญานั้น ย่อมไม่ยินดี ย่อมไม่ยินร้าย ฉะนี้แล.

จบชราสูตรที่ ๖.

ข้อความจากอรรถกถา (นำมาเพียงบางส่วน) ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนิดเดียว เพราะตั้งอยู่ประเดี๋ยวเดียว

เพราะมีกิจน้อย ดังนี้. บทว่า โอรํ วสฺสตาปิ มิยฺยติ สัตว์ย่อมตายแม้ภายใน ๑๐๐ ปี คือตายแม้ในเวลาที่ยังเป็นกลละ (รูปที่เกิดเป็นครั้งแรกในขณะเริ่มตั้งครรภ์) ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี. บทว่า อติจฺจ อยู่เกิน คือ อยู่เกิน ๑๐๐ ปี. บทว่า ชรสาปิ มิยฺยติ คือ สัตว์นั้นย่อมตายแม้เพราะชรา.

บทว่า มมายิเต คือ เพราะสิ่งที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา.

บทว่า วินาภาวสนฺตเมวิทํ คือ สิ่งนี้มีความพลัดพรากจากกันมีอยู่. ท่านอธิบายว่า จะไม่มีการพลัดพรากจากกันไปไม่ได้. บทว่า มามโก ผู้นับถือพระพุทธเจ้า ว่าเป็นของเรา คือนับถือว่าอุบาสกหรือภิกษุของเรา หรือนับถือพระพุทธเจ้าเป็นต้นว่าเป็นของเรา. บทว่า สงฺคตํ อารมณ์อันประจวบคืออารมณ์ที่มาถึงหรือที่เคยเห็น. บทว่า ปิยายิตํ บุคคลที่ตนรัก คือบุคคลที่ตนทำให้เป็นที่รัก. บทว่า นานเมวาวสิสฺสติ อกฺเขยฺยํ ชื่อเท่านั้นที่ควรกล่าวถึงยังเหลืออยู่ คือธรรมชาติมีรูปเป็นต้นทั้งหมดละไป ส่วนชื่อเท่านั้นยังเหลืออยู่เพื่อเรียกกันอย่างนี้ว่า พุทฺธรกฺขิโต ธมฺมรกฺขิโต. บทว่า มุนโย มุนีทั้งหลาย ได้แก่พระมุนีผู้เป็นขีณาสพ. บทว่า เขมทสฺสิโน ได้แก่ ผู้เห็นนิพพาน. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคาถาที่ ๗ เพื่อทรงแสดงถึงการปฏิบัติอันสมควรในโลกที่ถูกความตายกำจัดอย่างนี้. ในบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิลีนจรสฺส ของภิกษุผู้ประพฤติหลีกเร้นอยู่ คือของภิกษุผู้ประพฤติทำจิตหลีกเร้นอยู่จากที่นั้นๆ . บทว่า ภิกฺขุโน ได้แก่ กัลยาณปุถุชนหรือพระเสกขะ. บทว่า สามคฺคิยมาหุ ตสฺส ตํ โย อตฺตนํ ภวเน น ทสฺสเย ความว่า บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้ที่ปฏิบัติอย่างนี้ ไม่แสดงตนในภพอันต่างด้วยนรกเป็นต้นว่า เป็นการสมควร. อธิบายว่า ยิ่งไปกว่านั้น บัณฑิตนั้นพึงพ้นจากความตาย. บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงพระขีณาสพอย่างนี้ว่า ผู้ที่ไม่แสดงตนในภพ ดังนี้ จึงตรัสคาถา ๓ คาถา ต่อจากนี้เพื่อพรรณนาคุณของพระขีณาสพนั้น. ในบทเหล่านั้นบทว่า สพฺพตฺถ ในอายตนะทั้งปวง คือ ในอายตนะ ๑๒. ก็ในบทนี้ว่า ยทิทํ สุตํ มุเตสุ วา พึงทราบการเชื่อมความอย่างนี้ว่า มุนีย่อมไม่ติดในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ฟัง หรือในอารมณ์ที่ได้ทราบ อย่างนี้. บทว่า โธโน น หิ เตน มญฺญติ ยทิทํ ทิฏฺฐํ สุตํ มุเตสุ วา พึงทราบการเชื่อมความอย่างนี้เหมือนกันว่า ผู้มีปัญญาย่อมไม่สำคัญด้วยรูปที่ได้เห็น ด้วยเสียงที่ได้ฟัง หรือย่อมไม่สำคัญในอารมณ์ที่ได้ทราบ. บทว่า น หิ โส รชฺชาติ โน วิรชฺชติ ผู้มีปัญญานั้น ย่อมไม่ยินดีย่อมไม่ยินร้าย. ความว่า ผู้มีปัญญาย่อมไม่ยินดี เหมือนปุถุชนที่เป็นพาล ย่อมไม่ยินร้าย เหมือนกัลยาณปุถุชนและพระเสกขะย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ยินดียินร้าย เพราะสิ้นราคะแล้วนั่นเอง. บทที่เหลือในที่ทั้งปวงชัดดีแล้ว. ในเวลาจบเทศนา สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้บรรลุธรรมแล้ว.

จบอรรถกถาชราสูตร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 12 ม.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป ชราสูตร (ว่าด้วยฃีวิตนี้น้อยนัก)

[สรุปที่มาของการทรงแสดงชราสูตร]

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไปถึงเมืองสาเกต พราหมณ์มหาศาลผู้หนึ่งพอได้เห็นพระองค์ ก็เกิดความรักเพียงดังบุตร ได้เข้าไปสวมกอดพระวรกายของพระองค์โดยรอบ ทั้งข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา พร้อมกับพูดว่า ลูกรัก พ่อเห็นลูกมานานแล้ว ลูกได้จากพ่อไปนานแล้ว [ถ้าหากพราหมณ์ไม่ได้ทำอย่างนี้ ใจก็จะแตกสลาย] พร้อมกับกราบทูลให้พระองค์เสด็จไปที่เรือนของตนเพื่อที่จะได้ถวายอาหารบิณฑบาต ตนเองก็เดินล่วงหน้าไปบอกนางพราหมณีผู้เป็นภรรยา นางพราหมณีพอได้เห็นพระองค์แล้ว ก็เกิดอาการเหมือนกับพราหมณ์ [พราหมณ์และนางพราหมณี ทั้งสองนี้ เคยบิดามารดาของพระองค์ ๕๐๐ ชาติ เคยเป็นลุงเป็นป้า ๕๐๐ ชาติ เคยเป็นอาเป็นน้า ๕๐๐ ชาติ] ทั้งสองท่านได้ถวายภัตตาหารแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเสวยเสร็จแล้วพระองค์ก็ทรงแสดงธรรม จนเป็นเหตุให้ทั้งสองท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระโสดาบัน

เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จจากเมืองนี้ไป ทั้งสองท่านได้ฟังธรรมจากภิกษุทั้งหลาย จนได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ แล้วดับขันธปรินิพพาน ชาวเมือง ตั้งศพสักการะบูชาไว้ที่ป่าช้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรวจดูสัตว์โลก ทรงเห็นว่าพราหมณ์และพราหมณี ปรินิพพานแล้ว และทรงเห็นว่าเมื่อพระองค์เสด็จไปที่นั่น มหาชนก็จักได้ฟังพระธรรมและได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม พระองค์จึงเสด็จออกจากเมืองสาวัตถี ไปที่ป่าช้า ชาวเมืองพอเห็นพระองค์แล้ว ได้กราบทูลถามพระองค์ถึงการบูชาต่ออริยสาวกที่เป็นคฤหัสถ์ว่าควรจะเป็นอย่างไร พระองค์ทรงแสดงว่า ควรบูชาเหมือนกับการบูชาต่อพระอเสขะ (พระอรหันต์) ต่อจากนั้นพระองค์ก็ทรงแสดงชราสูตร เมื่อจบพระธรรมเทศนา มีผู้ได้บรรลุธรรมถึง ๘๔,๐๐๐.

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ

ชราสูตร

ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง เราควรทำอะไร?

ทางเดินของชีวิต

ชีวิตที่ประเสริฐคือการได้เข้าใจธรรม

ชีวิตเนื่องด้วยปัจจัยหลายอย่าง

จะรอทำไมให้ถึงก่อนตาย

ทุกคนที่เกิดมา ล้วนมีความตายเป็นที่สุดทั้งนั้น

พักแล้วก็ต้องไปต่อ

ชีวิตนี้ว่าเป็นของน้อย

ที่พักและเสบียงในการเดินทางไกล

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ladawal
วันที่ 12 ม.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
isme404
วันที่ 15 ม.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jans
วันที่ 15 ม.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ม.ค. 2557

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 17 ม.ค. 2557

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ

ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nong
วันที่ 17 ม.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ปวีร์
วันที่ 17 ม.ค. 2557

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
สิริพรรณ
วันที่ 17 ม.ค. 2557

ขอขอบคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เมตตา
วันที่ 18 ม.ค. 2557

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น และทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
peem
วันที่ 18 ม.ค. 2557

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ