รส คืออะไร

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  22 พ.ย. 2556
หมายเลข  24053
อ่าน  2,397

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต

อะระหะโต สัมมา สัมพุทธธัสสะ

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ขอเรียนถาม ความหมาย คำแปล ของ คำว่า “รส” มีกี่ประการ อย่างใดบ้างคะ ช่วยกรุณายกข้อความในพระไตรปิฎก และช่วยชี้แจงแสดงธรรมที่เกี่ยวข้องด้วยค่ะ เช่น ความสัจ เป็น รสอันเลิศกว่ารสทั้งหลาย เป็นต้น

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับคำอธิบายและกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ ด้วยความเคารพ จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 22 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเข้าใจเรื่อง "รส"

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ หน้า ๓๒๗

รส มีรสเกิดแต่ลำต้นเป็นต้น ทุกชนิด โดยส่วนสูงแม้รสแห่งสุธาโภชน์ (อาหารที่สะอาด) ของเทวดาทั้งหลาย ย่อมเป็นปัจจัยแห่งการยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ส่วนพระธรรมรส กล่าวคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ (มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น) และกล่าวคือ โลกุตตรธรรม ๙ ประการ (มรรคจิต ๔ ผลจิต ๔ และพระนิพพาน) นี้แหละประเสริฐกว่ารสทั้งปวง เพราะเหตุนั้น พระศาสดาจึงตรัสว่า รสแห่งธรรม ชนะรสทั้งปวง

รส หมายถึง สิ่งที่นำมาซึ่งความยินดี สิ่งที่เป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย และในบางนัย มุ่งหมายถึง กิจหน้าที่ของธรรมทั้งหลาย

ถ้าจะพิจารณาอย่างกว้างๆ แล้ว จะเห็นได้ว่ารสที่อร่อยต่างๆ มีรสหวาน รสเปรี้ยว เป็นต้น ก็เป็นที่นำมาซึ่งความติดข้องยินดีพอใจสำหรับผู้ที่ติดในรส แต่ตามความเป็นจริงแล้วรสต่างๆ ที่กล่าวมาเหล่านั้น ไม่สามารถทำให้พ้นจากทุกข์ ไม่สามารถทำให้หลุดพ้นจากกิเลสได้ แต่ทำให้ปุถุชนผู้มากไปด้วยกิเลสที่ติดในรสมีความตกต่ำ ในขณะที่อกุศล คือ ความติดข้องยินดีพอใจ เกิดขึ้น สะสมพอกพูนยิ่งขึ้น ทำให้ต้องท่องเที่ยวในสังสารวัฏฏ์ต่อไป หรือนำไปสู่อบายภูมิ อันเนื่องมาจากการกระทำอกุศลกรรม เพราะเหตุแห่งรส

ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว ที่บุคคลมีความติดข้องยินดีพอใจในรสต่างๆ มีรสหวาน รสเปรี้ยว เป็นต้น ก็เพียงชั่วขณะสั้นๆ ที่รสปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่สามารถจะตั้งอยู่ได้นานเลย แต่ก็เป็นที่ตั้งของความติดข้องยินดีพอใจได้ แต่สำหรับท่านที่ได้อบรมเจริญปัญญา ท่านย่อมสามารถที่จะเปรียบเทียบได้ว่า รสที่ปรากฏที่ลิ้นชั่วขณะที่ชิวหาวิญญาณ (จิตรู้รส) รู้รสนั้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นสิ่งที่ทำให้หมดความกระหาย ความเร่าร้อนและความทุกข์ต่างๆ ได้เลย เพราะเหตุว่าถ้าปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถึงแม้จะลิ้มรสที่ประณีตสักเท่าใดก็ไม่พอแก่ความต้องการ ก็ยังคงปรารถนาที่จะลิ้มรสที่ประณีตนั้นต่อไปอีก ไม่มีวันหมดสิ้น

แต่รสแห่งความจริง กล่าวคือ วาจาสัจจะ ซึ่งเป็นพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ย่อมนำมาซึ่งความปลาบปลื้มอย่างยิ่ง เป็นไปความเจริญขึ้นของกุศลธรรมและปัญญา โดยส่วนเดียว สามารถจะทำให้พ้นทุกข์ ดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ ดังนั้น รสแห่งพระธรรม ที่เป็นวาจาสัจจะ จึงประเสริฐกว่ารสทั้งหลาย เพราะรส ต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงรูปธรรมไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่รสของพระธรรม เป็นรสที่ประเสริฐเพราะสามารถนำสัตว์ออกจากทุกข์ ทำให้ถึงการดับกิเลสได้

บุคคลผู้ที่เห็นรสพระธรรม ว่า เลิศกว่ารสทั้งปวง นั้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่ได้ฟังพระธรรมพิจารณาไตร่ตรองจนเป็นความเข้าใจของตนเอง น้อมประพฤติปฏิบัติตาม และรู้ตามว่า สภาพธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นความจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม จึงมีประโยชน์มากที่จะทำให้ผู้ศึกษาได้พิจารณาสภาพธรรมที่ปรากฏให้ละเอียดขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เพื่อการประพฤติปฏิบัติจะได้ถูกต้องขึ้น รู้ความละเอียดของธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น จนกระทั่งเป็นปัญญาที่ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ในที่สุด ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส

อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 22 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

รส หมายถึง น่ายินดี รสที่อร่อยต่างๆ มีรสหวาน เปรี้ยว เป็นต้น ก็เป็นที่น่ายินดีสำหรับผู้ที่ติดในรส แต่รสต่างๆ ที่กล่าวมานั้น ไม่สามารถทำให้พ้นจากทุกข์ได้ แต่ทำให้ปุถุชนที่ติดในรส ตกต่ำ หรือไปสู่อบายเพราะเหตุแห่งรส (เค็ม หวาน) นั้น แต่รสคือ สัจจะ ความจริง ซึ่ง สัจจะ ก็มีหลายอย่าง วจีสัจจะ อริยสัจจะซึ่งสัจจะเหล่านี้ สามารถจะทำให้พ้นทุกข์ได้และเป็นธรรมที่เป็นฝ่ายดี ย่อมนำมาแต่ความเจริญ ดังนั้นจึงประเสริฐกว่ารสทั้งหลายที่กล่าวมา ที่เป็นเพียงรูปธรรม (รส เปรี้ยว หวาน) ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ แต่ธรรมที่ดับกิเลสได้ต้องเป็นนามธรรม คือสัจจะความจริงที่เป็น อริยสัจจะ หรือแม้แต่ วจีสัจจะวาจาจริง ก็เป็นธรรมฝ่ายดี ประเสริฐ และเป็นเบื้องต้นของการบรรลุธรรม ดังนั้น รสของพระธรรม และ สัจจะ จึงประเสริฐสุด เพราะสามารถนำออกจากทุกข์ ดับกิเลสได้ครับ เรื่อง สัจจะ (ความจริง) ย่อมทำให้ดับกิเลสได้จึงประเสริฐ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 690

ข้อความบางตอนจาก มหาสุตตโสมชาดก ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์ตรัสพระคาถาว่า รสเหล่าใดบรรดาที่มีอยู่ในแผ่นดิน ความสัตย์ย่อมดีกว่ารสเหล่านั้น เพราะสมณพราหมณ์ที่ตั้งอยู่ในความสัตย์ ย่อมข้ามฝั่งแห่งชาติและมรณะเสียได้


และ รส ที่เป็นวาจาสัจจะที่เป็น สัจจกิริยา ก็เป็นรสที่เลิศกว่ารสทั้งหลาย ดังนี้

คำว่า "รส" ในอรรถกถาวิภังค์อธิบายว่า ที่ชื่อว่า รส เพราะอรรถว่าเป็นที่ยินดี คือเป็นที่ชอบใจของสัตว์ทั้งหลาย ดังนั้น สัจจะรส คือการพูดความจริง วาจาที่จริง จึงเป็นที่ยินดีชอบใจของสัตว์ทั้งหลายในอรรถกถาวิตตสูตร ท่านกล่าวถึง อำนาจสัจจกิริยา เลิศกว่ารสทั้งหลาย

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 301

ข้อความตอนหนึ่งจากอรรถกถาวิตตสูตร

บทว่า สาธุตรํ แปลว่า รสดียิ่งกว่า คือว่า สัจจะ (ความจริง) เท่านั้นเป็นรสดีกว่ารสทั้งปวงอันมีรสเค็มและรสเปรี้ยวเป็นต้น อธิบายว่า บุคคลตั้งอยู่ในสัจจะ ย่อมยังแม้แม่น้ำอันไหลเชี่ยวให้ไหลกลับได้ ย่อมนำพิษร้ายออกได้ ย่อมห้ามแม้ไฟ ย่อมยังฝนให้ตกก็ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า สัจจะนั้นเป็นรสดี ยิ่งกว่ารสทั้งปวง ดังนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เข้าใจ
วันที่ 23 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ธนัตถ์กานต์
วันที่ 25 พ.ย. 2556

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ