หากเราเคยตั้งจิตอธิษฐานตอนทำบุญ เราสามารถถอนคำอธิษฐานนั้นได้หรือไม่ครับ?

 
Navylaws
วันที่  22 พ.ย. 2556
หมายเลข  24057
อ่าน  1,442

ขอเรียนถามท่านผู้รู้ทุกท่านนะครับ

หากเราเคยตั้งจิตอธิษฐานตอนทำบุญ เราสามารถถอนคำอธิษฐานนั้นได้หรือไม่ครับ ผมเคยทำบุญหล่อพระสมเด็จองค์ปฐมและหลวงพ่อโสธร โดยเขียนคำอธิษฐานลงในแผ่นเงินก่อนจะใส่แผ่นเงินหล่อพระลงในเบ้าหลอม ผมก็ตั้งจิตอธิษฐานอีกครั้ง แล้วจึงใส่แผ่นเงินลงในเบ้าหลอม แบบนี้ถ้าเกิดว่าผมอยากจะถอนคำอธิษฐาน ผมจะสามารถถอนคำอธิษฐานได้หรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 22 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็เข้าใจ คำว่า อธิษฐานในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องก่อนครับ

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ตรง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น คำว่า อธิษฐานในภาษาไทยที่เข้าใจกันนั้น หมายถึง การขอ แต่ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว หมายถึง ความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหว ในการที่จะ

สะสมคุณความดีประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลธรรมด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของกุศลทั้งหมด และเป็นไปในการสละกิเลสทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลทั้งนั้น ถูกอกุศลกลุ้มรุมจิตใจอยู่เกือบจะตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความตั้งใจมั่น ก็เป็นผู้ที่รู้ตัวว่ามีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นแล้วก็พลาดให้กับอกุศลทุกที อธิษฐานซึ่งเป็นความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล จึงเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นและสำเร็จได้ เป็นบารมี (ความดี) ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเป็นการขอ อยากได้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดนั้น เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ความติดข้องต้องการ ไม่ใช่อธิษฐานในพระพุทธศาสนา ครับ

จากความเห็นที่กล่าวมา อธิษฐาน จึงไม่ใช่การขอ ด้วยโลภะ ที่เป็นอกุศล แต่เป็นความตั้งใจมั่นในการกระทำกุศลประการต่างๆ อันเป็นไปเพื่อดับกิเลสครับ

@พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงแสดงไว้เลยว่า ทุกอย่างจะสำเร็จมาจากการขอ แต่ต้องมีเหตุปัจจัย

อ้างอิงจาก ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ ไปสนทนาธรรมที่เชียงใหม่ ๑๖ - ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๖

ดังนั้นประเด็นที่ถามว่า จะถอนคำอธิษฐาน ก็สามารถถอนได้ หาก เป็นการตั้งใจที่จะเป็นไปในทางที่ดี เพื่อเป็นไปในทางละคลายกิเลส และ เจริญขึ้นของปัญญา เพราะฉะนั้น จึงมีการแก้ไขใหม่ ในสิ่งที่ดีได้เสมอ เรียกว่า เป็นการเริ่มต้นใหม่ ที่จะไม่ขอ ใน ลาภ สักการะ แต่ เป็นการทำกุศลเพื่อละคลายกิเลส และตั้งใจที่จะศึกษาอบรมปัญญา ละกิเลส อันเป็นการอธิษฐานที่ถูกต้องที่สุด ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 22 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งใดก็ตามที่ไม่ทำให้ได้เข้าใจความจริง ก็ไม่ต้่องไปสนใจ แต่ควรที่จะได้ตั้งต้นที่ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะเหตุสำคัญที่จะทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เจริญขึ้น ก็คือ การฟังพระธรรม จะได้เข้าใจแม้แต่คำที่ตนเองได้กล่าวถึง คือ คำว่า อธิษฐาน จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร

อธิษฐาน ในทางพระพุทธศาสนา เป็นความตั้งใจมั่นในทางที่เป็นกุศล ธรรมฝ่ายดี ที่เป็นกุศลธรรมในชีิวิตประจำนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส เพราะถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทางที่เป็นกุศลแล้ว วันหนึ่งๆ ก็มีแต่จะเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนอกุศลให้มีมากขึ้น ดังนั้น ทั้งสัจจะ ความจริงใจ ในการที่จะฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของความไม่จริงใจ ทั้งการกระทำและคำพูด และทั้งอธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาและเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของความไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรม ไม่มีความมั่นคงในการเจริญกุศลประการต่างๆ ทั้งหมด จึงไม่พ้นไปจากสภาพจิตที่ดีงามในขณะนั้นที่เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณประโยชน์ของกุศล พร้อมทั้งถอยกลับจากอกุศลและเพิ่มพูนกุศลให้ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปเพื่อการขัดเกลาละคลายกิเลสจนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด แต่เป็นในลักษณะที่ติดข้องต้องการ ขออย่างหนึ่งอย่างใด นั่้นไม่ใช่อธิษฐานในพระพุทธศาสนา เลย สิ่งใดที่ผิด ก็สามารถละทิ้งได้ทันทีเลย ไม่ต้องไปเสียดาย และไม่ต้องย้อนกลับไปทำในสิ่งที่ผิดอีก ครับ

อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 22 พ.ย. 2556

อธิษฐาน คือ ความตั้งมั่น แน่วแน่ในการทำกุศล เพื่อละ ไม่เปลี่ยนแปลง ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ