ขอเรียนสอบถาม อาจารย์อีกครับ

 
เข้าใจ
วันที่  6 ก.ค. 2555
หมายเลข  21359
อ่าน  1,026

เนื่องจากพระธรรมมีความละเอียดลึกซึ้งมาก ยากยิ่งที่จะเข้าใจถึงเนื้อแท้แห่งธรรมจริงๆ ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมแล้ว ถ้าไม่เข้าใจหรือเข้าใจ แต่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรม คือรูปธรรมนามธรรม ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ธรรมทั้งหลายเป็นของจริงที่มีอยู่จริงๆ และก็เป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้เพียงเท่านี้ แล้วจะถือได้ว่าเป็นการศึกษาถึงแก่นแท้ แห่งธรรมหรือยัง ผมเองก็ยังเป็นผู้ใหม่ในการเข้ามาศึกษา และก็ยังมีการเข้าใจผิดธรรมอยู่อย่างมาก เรื่องของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปมี ๒๘ เวทนา ๑ สัญญา ๑ สังขาร ๕๐ จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ รู้แต่ในหนังสือครับ คือไม่สามารถจะเข้าใจได้เลยครับว่า ราย ละเอียดต่างๆ ในเนื้อแท้แห่งธรรมนั้นๆ มีอะไรปลีกย่อยและจำเป็นไหมที่ต้องศึกษาให้เข้าใจ ก่อน เรื่องปรมัตถธรรม บัญญัติ ผมเองก็อยากเรียนรู้ ถึงแม้จะรู้ได้ช้า ถ้าไม่ศึกษาเรียนรู้ เราก็จะไม่เข้าใจถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณไม่ได้เลย ผมได้อ่านในการสนทนา มีสหายธรรมเสมือนจะบอกว่า ถ้ามัวไปเสียเวลาในการศึกษา บัญญัติอยู่ก็จะเป็นเครื่องเนิ่นช้า ไม่ทราบจะเป็นเครื่องเนิ่นช้าจริงๆ หรือเปล่าครับ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน จะมีคู่มือการเรียนรู้ไหมครับ เรียนรู้ไป ระลึกศึกษาไป ก็คงน่าจะได้นะครับ

จึงเรียนสนทนาสอบถามมา ด้วยความเคารพ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมของพระพุทธเจ้ามีความละเอียดลึกซึ้ง

คำว่า ศึกษา ก็ต้องเป็นการศึกษาให้ถูกต้องและละเอียดรอบคอบ และ กว้างขวางด้วย เพียงศึกษาเพียงเล็กน้อย ไม่เพียงพอกับปัญญาที่จะเกิดเลย ที่จะเข้าใจสภาพธรรม เพราะฉะนั้น ก็ต้องเริ่มจาก จุดประสงค์ที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ศึกษาด้วยความเข้าใจถูกและไม่คลาดเคลื่อนไปทางอื่น ซึ่งการศึกษาที่ผิด คือ ศึกษาเป็นวิชาการ ด้วยความต้องการที่อยากรู้ชื่อ ศัพท์ แต่ ไม่ได้กลับมาที่สภาพธรรมที่มีอยู่ในขณะนี้ว่าเป็นแต่เพียงธรรม ก็เป็นเครื่องเนิ่นช้า เพราะ เครื่องเนิ่นช้า คือ โลภะ มานะ ทิฏฐิ ขณะนั้น ถูกโลภะ ความต้องการที่อยากเรียน อยากรู้มากๆ อยากรู้ชื่อ ก็เป็นเครื่องกั้น เครื่องเนิ่นช้า อันอาศัยการศึกษาที่ผิด ครับ ส่วน การศึกษาธรรมที่ถูกต้อง ก็คือ ศึกษาในความละเอียดของพระธรรม เพื่อเพิ่มพูนศรัทธา และปัญญา ปัญญาในที่นี้ คือ ไม่ใช่การรู้ชื่อเยอะๆ แต่เป็นปัญญาที่เริ่มจากขั้นการฟังว่า สิ่งที่ศึกษาอยู่ ก็คือ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็ควรศึกษาพระธรรม ส่วนต่างๆ เพื่อละคลายความไม่รู้ และที่สำคัญ เพื่อประโยชน์ให้เห็นถึงว่า คือ ความจริงในขณะนี้ และการศึกษาพระอภิธรรมโดยละเอียด เพื่อให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม คือ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล เลย ขันธ์ ๕ อายตนะ ธาตุ ๑๘ ที่ศึกษา ก็แสดงแล้วครับว่า มีแต่ธรรมล้วนๆ ไม่มีเรา ขณะที่ศึกษา อ่านอยู่ ก็น้อมด้วยการตั้งจิตที่ถูกว่า ไม่มีเรา มีแต่ธรรม ประโยชน์อยู่ตรงนี้ คือ การละคลายความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล แต่ประโยชน์ไม่ได้อยู่ที่การจำชื่อ เรื่องราวของสภาพธรรม หรือ เพื่อลาภ สักการะ สรรเสริญ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 6 ก.ค. 2555

ดังนั้น จึงควรศึกษาพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง หากสิ่งใด ไม่เป็นประโยชน์ พระองค์จะไม่ตรัสคำนั้นเลย แม้พระอภิธรรม หรือ ส่วนต่างๆ แต่การศึกษาก็ต้องตั้งจิตไว้ถูก คือ เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ เพราะ พระธรรมทุกบท ทุกคำ ก็เป็นไปเพื่อละคลายกิเลส อกุศล และ แสดงถึงความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ ดังนั้น ก็ควรศึกษา เท่าที่ปัญญาจะเข้าใจได้ ตามกำลังของตน แต่ไม่หนัก ไม่เครียด เพราะการศึกษาไม่ใช่เรื่องได้ แต่ค่อยๆ ศึกษาไปด้วยความเข้าใจทีละน้อย ครับ

ที่สำคัญ หากไม่มีปริยัติ ปฏิบัติ คือ การรู้ความจริงในขณะนี้ก็มีไม่ได้เลย หากไม่มี ปัญญาขั้นการฟัง ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ได้ครับ แต่ ปริยัติจะต้องเกื้อกูลกับปฏิบัติ คือ เป็นการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรม เพื่อเข้าใจว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา และ เข้าใจความเป็นอนัตตา เพื่อถึงการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่แสดงความเป็นอนัตตาอย่างแท้จริง ครับ

การศึกษาด้วยจุดประสงค์ที่ถูก ตามที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมเรื่องอะไร แต่ศึกษาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ ไม่เป็นเครื่องเนิ่นช้า เพราะเป็นปัญญาขั้นการฟังที่เกิดในขณะนี้ แต่ผู้ที่เข้าใจผิด คิดว่าไม่ต้องศึกษา มาปฏิบัติเลย ความเข้าใจนั้น กลับเป็นเครื่องเนิ่นช้า เนิ่นช้าด้วยทิฏฐิ ด้วยความเห็นผิด ย่อมไม่สามารถถึงปฏิบัติและการบรรลุธรรมได้เลย เพราะฉะนั้น ปัญญาไม่ใช่เครื่องเนิ่นช้า แต่อกุศลประการต่างๆ มีโลภะ มานะ ทิฏฐิ เป็นเครื่องเนิ่นช้า ครับ

ซึ่ง หนังสือ ที่อธิบายเรื่องความละเอียดของสภาพธรรม ในเรื่อง ปรมัตถธรรม ก็สามารถอ่านได้ โดยดาวน์โหลดในเว็บ คือ หนังสือ ปรมัตถธรรม หรือ พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน ครับ หรือ สามารถขอได้สำหรับหนังสือ พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน ที่มูลนิธิฯ หรือ เขียนจดหมายมาขอ สอดแสตมป์ ๒๐ บาทก็ได้ครับ ส่วนหนังสือปรมัตถธรรม หนังสือรอพิมพ์อยู่ น่าจะออกที่มูลนิธิฯ ก่อนวันอาสาฬบูชา ครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกที่นี่ครับ

พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน

ปรมัตถธรรมสังเขป

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
orawan.c
วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 6 ก.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อน จากความเป็นจริง ไม่ใช่เพื่อจำชื่อ จำพยัญชนะ จำเรื่องราวต่างๆ แต่เพื่อเข้าใจถูก เห็นถูก ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องเริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่จะศึกษา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ถ้ามีความตั้งใจจริงๆ เห็นประโยชน์จริงๆ ไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการศึกษา ความรู้ความเข้าใจ ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นอย่างแน่นอน การศึกษาธรรม ก็คือ ศึกษาสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งแต่ก่อนไม่เคยรู้เลยว่า เป็นธรรม ทุกขณะเป็นธรรมจริงๆ ไม่พ้นไปจากนามธรรม กับ รูปธรรม ไม่พ้นไปจากจิต เจตสิก รูป เลย ฟังส่วนไหน ศึกษาส่วนไหน ก็ค่อยๆ สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย

การฟังบ่อยๆ เนืองๆ จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น ทำให้มีความมั่นคงในเหตุ ในผล ของธรรม จนกว่าจะประจักษ์แจ้งได้จริงๆ ว่า ธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 6 ก.ค. 2555

การศึกษาธรรมะ เช่น จิต เจตสิก รูป ฯลฯ ถ้าศึกษาถูก เข้าใจถูก ไม่หลงทาง

ไม่ใช่เครื่องเนิ่นช้า เครื่องเนิ่นช้า คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ถ้าไม่ศึกษาพระอภิธรรม

ปัญญาก็ไม่เจริญ ก็ไม่มีทางเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
เข้าใจ
วันที่ 6 ก.ค. 2555

เข้าใจดีแล้วครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 6 ก.ค. 2555

จิต เจตสิก รูป มี ... แต่ขณะนี้อยู่ที่ไหน?

ถ้าเข้าใจแล้วจะรู้ว่า ไม่ได้อยู่ในตำราหรือพระไตรปิฎก

แต่มีในขณะนี้นี่เอง ... ที่กำลังเห็นและกำลังอ่านอยู่ในขณะนี้ค่ะ

ประโยชน์ของพระธรรมจึงอยู่ที่ ความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่จริงๆ

ความเข้าใจ (เรื่องราว) ธรรมตามตำราเป็นเพียงเครื่องประกอบ เครื่องปรุงแต่ง

ให้มีการพิจารณาสภาพธรรมในขณะนี้ได้อย่างถูกต้อง

เพราะถ้าไม่อาศัยพระธรรม เราไม่สามารถคิดหรือพิจารณาธรรมเองได้

ความเข้าใจปริยัติ (เรื่องราวของธรรม) จึงเกื้อกูลต่อการปฏิบัติ (เข้าถึงสภาวธรรม)

จะขาดกันและกันไม่ได้เลย

ไม่ว่าจะศึกษาพระธรรมส่วนไหน

ต้องย้อนกลับมาพิจารณาที่ตัวจริงของธรรมเสมอ

จึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษาพระธรรมที่แท้จริงค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
รากไม้
วันที่ 7 ก.ค. 2555

สำหรับผู้ที่สะสมมาที่จะสนใจ ใคร่ศึกษาพระธรรม จนถึงความรู้แจ้งได้นั้น จะไม่มีคำว่า "ศึกษานิดหน่อยก็พอแล้ว" แต่จะเป็นผู้ที่เพียรศึกษาทั้งหมดโดยไม่ข้ามเนื้อหาให้ตกหล่นไป รายละเอียดแม้เพียงเล็กน้อยก็มีค่ามาก เพราะทั้งหมดเป็นไปเพื่อละกิเลส ละความไม่รู้ ... ส่วนที่ถูกต้องก็ต้องศึกษาเพื่อให้รู้ว่าอย่างนี้ถูก ส่วนที่ผิดก็ต้องศึกษาเพื่อให้รู้ว่าอย่างนี้ผิด จะเลือกศึกษาให้รู้เพียงส่วนที่ถูกเพียงส่วนเดียวก็ไม่ได้

ปริยัติสำคัญมาก เพราะทั้งหมดนี้จะสะสม เป็นไปเพื่อปรุงแต่งสังขารธรรม ให้เจริญขึ้น, แต่ถ้าไม่มีปริยัติ สังขารธรรมก็ย่อมปรุงแต่งไปในทางที่เสื่อม เพราะมีอวิชชาและตัณหา หนาแน่นเป็นทุนเดิมด้วยกันทั้งนั้น

อนุโมทนากุศลจิตทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
kinder
วันที่ 7 ก.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ