อโคจร

 
pirmsombat
วันที่  20 พ.ย. 2554
หมายเลข  20061
อ่าน  7,564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 573

ว่าด้วยอโคจรเป็นไฉน

ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีหญิงแพศยา เป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีหญิงหม้ายเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีสาวเทื้อเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีบัณเฑาะก์เป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีภิกษุณีเป็นโคจรบ้าง เป็นผู้มีโรงสุราเป็นโคจรบ้าง อยู่คลุกคลีด้วยพวกพระราชา พวกมหาอำมาตย์ของพระราชา พวกเดียรถีย์ พวกสาวกของเดียรถีย์ ด้วยความคลุกคลีกับคฤหัสถ์อันไม่สมควร.

อนึ่ง สกุลบางแห่งไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ไม่เป็นดุจบ่อน้ำ มักด่า มักบริภาษ มุ่งความเสื่อม มุ่งสิ่งไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล มุ่งความไม่สบาย มุ่งความไม่ปลอดโปร่งจากโยคกิเลส แก่พวกภิกษุ พวกภิกษุณี พวกอุบาสก พวกอุบาสิกา ภิกษุย่อมซ่องเสพ คบหา ติดต่อกับสกุลเห็นปานนั้น นี้เรียกว่า อโคจร

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเข้าไปสู่ละแวกบ้าน เดินไปตามถนน เป็นผู้ไม่สำรวมเดินไป คือแลดูช้าง แลดูม้า แลดูรถ แลดูพลเดินเท้า แลดูสตรี แลดูบุรุษ แลดูกุมาร แลดูกุมารี แลดูร้านตลาด แลดูหน้ามุขเรือน แลดูข้างบน แลดูข้างล่าง แลดูทิศน้อยทิศใหญ่เดินไป แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร.

อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ถือนิมิต ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อมไม่รักษาจักขุนทรีย์ ย่อมถึงความไม่สำรวมในจักขุนทรีย์ ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ถือนิมิต ถืออนุพยัญชนะ ย่อมไม่ปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น ย่อมไม่รักษามนินทรีย์ ย่อมถึงความไม่สำรวมในมนินทรีย์ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร.

อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า ท่านสมณพราหมณ์บางพวกฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ คือการฟ้อน การขับ การประโคม มหรสพ มีการรำเป็นต้น การเล่านิยาย เพลงปรบมือ ฆ้อง ระนาด หนัง เพลงขอทานไต่ราว การเล่นหน้าศพ ชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโค ชนแพะชนแกะ ชนไก่ ชนนกกระทา รำกระบี่กระบอง ชกมวย มวยปล้ำ การรบ การตรวจพล การจัดกระบวนทัพ กองทัพ ท่านสมณพราหมณ์บางพวก ขวนขวายดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศลเห็นปานนี้ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร

แม้กามคุณ ๕ ก็ชื่อว่า อโคจร สมจริงตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงอย่าเที่ยวไปในแดนอื่นซึ่งเป็นอโคจร ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนอื่นซึ่งเป็นอโคจร มารจักได้ช่องได้อารมณ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็แดนอื่นซึ่งเป็นอโคจรของภิกษุ คืออะไร คือกามคุณ ๕. กามคุณ ๕ เป็นไฉน? คือรูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา พอใจ ชอบใจ รักใคร่ประกอยด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย อันน่าปรารถนา พอใจ ชอบใจ รักใคร่ ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่าแดนอื่นเป็นอโคจรของภิกษุ แม้เช่นนี้ก็เรียกว่าอโคจร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 21 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สำหรับคำว่า อโคจร มีหลายนัย ซึ่งจะขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ครับ

โคจร หมายถึง การเที่ยวไป อโคจร จึงหมายถึง การไม่ควรเที่ยวไป ซึ่ง เมื่อว่าโดยละเอียดแล้ว แม้แต่คำว่า เที่ยวไป ก็ต้องพิจารณาให้ละเอียดครับว่า มุ่งหมายถึงอะไร และมีนัยอะไรบ้างครับ เที่ยวไป ในความเป็นจริง ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง คือ จิต เจตสิกและรูปที่เกิดขึ้นและดับไป ดังนั้น เมื่อพูดถึง คำว่า เที่ยวไป ที่เป็นโคจร โดยทั่ว ไป เราเข้าใจว่า เป็นการเที่ยวไปของสัตว์ บุคคล เช่น ภิกษุ ไปสถานที่เที่ยวไป เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง หากไม่มี จิต เจตสิก ก็ไม่มีการเที่ยวไปได้เลย เพราะฉะนั้น อีกนัย หนึ่ง การเที่ยวไป คือ การเที่ยวไปของจิต เจตสิก จิต เจตสิกที่เกิดขึ้นแต่ละขณะ เป็น การเที่ยวไปของจิตและเจตสิกครับ

ซึ่งสำหรับ ที่คุณหมอได้ยกมาในเรื่อง อโคจร หมายถึง การที่ภิกษุ เที่ยวไปในที่ที่ไม่สมควร มี หญิงแพศยา เป็นต้น อันเป็นทางที่จะนำมาซึ่งกิเลสได้ง่าย และที่ที่ไม่ควรเที่ยวไปของเพศพระภิกษุที่เป็นเพศที่ สละ ขัดเกลาอย่างยิ่งครับ นี่กล่าวโดยนัยพระสูตร แต่ เมื่อว่าโดยความเป็นจริง อโคจร อีกความหมายหนึ่ง คือ การเที่ยวไปของจิต เจตสิก ที่เป็นไปในกามคุณ ๕ คือ จิตและเจตสิกที่มีอารมณ์ที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ครับ

ถามว่าพระอรหันต์ท่านมีอารมณ์ คือ รู้ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสที่เป็น กามคุณ ๕ หรือไม่ มีครับ เป็นปกติและเป็นอโคจรหรือไม่ ไม่เป็น เพราะว่า จิต เจตสิก ที่รู้อารมณ์ที่เป็นไปรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ในขณะนั้น จิตไม่เป็นอกุศล เป็นกิริยาจิตในขณะนั้นครับ ดังนั้น ขณะที่เป็นอโคจร ที่จิตและเจตสิก มีอารมณ์ คือ กามคุณ ๕ ที่ป็น รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็คือ ขณะที่จิตเป็นอกุศลในขณะ นั้นครับ สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การที่ภิกษุเห็นรูปด้วยตาและถือเอาด้วยนิมิต อนุพยัญชนะและเกิดกิเลส นั่นชื่อว่า เป็นอโคจรแล้วครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 21 พ.ย. 2554

ส่วน คำว่า โคจร ไม่ได้มุ่งหมายเพียง การที่ภิกษุไม่เที่ยวไปในสถานที่อันไม่สมควรเท่านั้นครับ โคจรยังมีหลายนัย อันจะนำมาสู่ความเข้าใจในการอบรมปัญญา

อีกนัยหนึ่ง โคจร มี ๓ อย่างคือ อุปนิสัยโคจร คือ การเข้าไปอาศัยกัลยาณมิตรผู้มีคุณธรรมมีปัญญาแล้วทำให้ตัวเองเจริญในคุณธรรมและปัญญา เข้าใจถูกในหนทางดับกิเลส เป็นต้น อารักขโคจร คือ ภิกษุเป็นผู้สำรวมกาย วาจา เมื่อบิณฑบาต มีจักษุทอดลงต่ำ ไม่แลดูสิ่งไม่ควร ไม่วอกแวก เป็นต้น อุปนิพันธโคจร คือ สิ่งที่ผูกไว้เป็นที่เที่ยวไปของภิกษุคือสติปัฏฐาน ๔ นั่นเองครับ ซึ่งสามารถอบรมได้ในทุกสถานที่ เพราะธรรมมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน สติปัฏฐานจึงเป็นโคจรของภิกษุ (อุปนิพันธโคจร)

สามารถอ่านเพิ่มเติมในเรื่องโคจรที่นี่ครับ

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 394

หรือในวิสุทธิมรรค เรื่อง ศีลนิเทศครับ

ขออนุโมทนาคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 21 พ.ย. 2554

ถ้าเป็นพระภิกษุ ก็มีพระวินัยบัญญัติไว้ ไม่ให้ไปสถานที่อโคจร เช่น โรงสุรา โรงหนังเป็นต้น ซึ่งเป็นข้าศึกต่อเพศพรหมจรรย์ ส่วนคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางแห่งความเสื่อมไว้ ๖ ประการ คือ

๑. ดื่มสุรา

๒. เที่ยวการคืน

๓. ดูการละเล่น

๔. คบคนชั่วเป็นมิตร

๕. เล่นการพนัน

๖. เกียจคร้านในการทำงาน

ผู้หวังความเจริญในชีวิต พึงเว้นทางเสื่อม ๖ ประการนี้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 21 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทุกขณะไม่พ้นไปจากสภาพธรรมเลย มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลาทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ ถ้าเป็นไปกับด้วยอกุศล อกุศลจิตเกิดขึ้นไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด ก็เป็นอโคจร เพราะขณะนั้น จิตเป็นอกุศล ในทางตรงกันข้าม ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด เมื่อมีความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏ นั่น ไม่ใช่ อโคจร แต่ถ้ามุ่งถึงสถานที่ที่ไม่ควรไปแล้ว ที่เรียกว่า "อโคจร" ทรงแสดงไว้เพื่อประโยชน์แก่การสำรวมระวังสำหรับเพศที่เป็นบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่แตกต่างจากคฤหัสถ์ เพราะเมื่อไปสถานที่ที่ไม่ควรไป จะทำให้เป็นอันตรายแก่พรหมจรรย์ทำให้อกุศลธรรมเจริญขึ้น ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ครับ.

...ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลจิตของคุณหมอและทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เซจาน้อย
วันที่ 21 พ.ย. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nong
วันที่ 22 พ.ย. 2554

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 28 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 6 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ