ปฏิสนธิจิต เป็นวิถีจิตหรือไม่

 
govit2553
วันที่  25 ส.ค. 2554
หมายเลข  19569
อ่าน  2,382

หรือเป็นภวังคจิตครับ จุติจิต ก็เช่นกันครับ เป็นวิถีจิตหรือไม่ครับ ปกติ วนรอบของจิต ตลอดวันตลอดคืนคือ ภวังคจิต ปัญจทวารวิถี ภวังคจิต มโนทวารวิถี หมุนวนไปเรื่อยๆ ถูกมั๊ยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

วิถีจิต วีถิ (แนวทาง ทางเดิน) + จิตฺต (จิต) จิตที่เป็นไปตามแนวทาง หมายถึง จิตซึ่งรู้อารมณ์ที่ปรากฏในโลกนี้ทางทวาร ๖ถ้าเป็นไปตามแนวทางปัญจทวาร เรียกว่า ปัญจทวารวิถีจิต ถ้าเป็นไปตามแนวทางมโนทวาร เรียกว่า มโนทวารวิถีจิต

ชีวิตของแต่ละบุคคลที่ดำเนินไปในแต่ละวันๆ นั้น เป็นจิตแต่ละขณะที่เกิดขึ้นเป็นไปดำรงอยู่เพียงชั่วหนึ่งขณะจิตเท่านั้น จึงไม่พ้นไปจากวิถีจิต (จิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจในการรู้อารมณ์) และ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต (จิตที่ไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางในการรู้อารมณ์ ได้แก่ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต จิตทั้ง ๓ ประเภทนี้ ได้แก่วิบากจิตประเภทเดียวกัน ที่เกิดขึ้นทำกิจปฏิสนธิ ทำกิจภวังค์ และ ทำกิจจุติ

ดังนั้น ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่วิถีจิต ภวังคจิตไม่ใช่วิถีจิต และจุติจิตก็ไม่ใช่วิถีจิตครับ


ปกติ วนรอบของจิต ตลอดวันตลอดคืนคือ ภวังคจิต ปัญจทวารวิถี ภวังคจิต มโน ทวารวิถี หมุนวนไปเรื่อยๆ ถูกมั๊ยครับ

ถูกต้องครับ ในชีวิตประจำวันก็สลับไประหว่างปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถีจิตครับ หรือ บางครั้งก็เกิดมโนทวารวิถีหลายวาระติดต่อกันไป เช่นขณะที่ฝัน ขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้กระทบสัมผัส หรือบางครั้งก็อาจจะมีภวังคจิตเกิดดับ สืบต่อกันหลายขณะ โดยที่ไม่มีวิถีจิตเกิดขึ้นก็ได้ครับ เช่น ขณะที่หลับสนิท แต่ถ้าไม่ ฝัน ไม่ได้หลับ โดยทั่วไปก็เป็นภวังคจิตเกิดและก็เป็นปัญจทวารวิถี และก็มีภวังคจิตขั้น และมโนทวารวิถีเกิดดับสืบต่อกันไปครับ ทำให้มีการเห็นและมีการเห็นเป็นสัตว์ บุคคล มีการคิดนึกต่างๆ นั่นเองครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนาครับ

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Sam
วันที่ 25 ส.ค. 2554

วิถีจิตคือการรู้อารมณ์ในโลกนี้ครับคือขณะที่มีการรู้อารมณ์ทางทวารทั้งหก ได้แก่ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ ส่วนการรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่ของโลกนี้ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งในชีวิตประจำวันคือภวังคจิตที่ เกิดคั่นการรู้อารมณ์แต่ละทวารที่เกิดดับสลับกัน และในขณะที่หลับสนิทไม่ฝัน ขณะนั้นก็เป็นภวังคจิต จิตที่ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้อีกสองดวงได้แก่ ปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นจิตดวงแรก และจุติ จิตซึ่งเป็นจิตดวงสุดท้ายของอัตภาพนี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 25 ส.ค. 2554

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ถ้ามีความเข้าใจเป็นเบื้องต้นว่า วิถีจิต กับ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต มีความต่างกันอย่างไร ก็จะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเพื่อความเข้าใจธรรมอย่างถูกต้องยิ่งขึ้น เพราะวิถีจิต เป็นจิตที่อาศัยทวารหนึ่งทวารใดใน ๖ ทวาร เกิดขึ้นรู้อารมณ์ ซึ่งก็คือ จิตที่เกิดขึ้นรู้ อารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ ส่วนจิตที่เหลือนอก จากนี้ ไม่ใช่วิถีจิต ซึ่งได้แก่ ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต เท่านั้น ทั้ง ๓ ประเภทนี้ ไม่ได้อาศัยทวารหนึ่งทวารใดในการเกิดขึ้นรู้อารมณ์ เลย แต่มีทีเกิด คือ เกิดที่หทยวัตถุ

ในภพนี้ชาตินี้ ปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นจิตขณะแรก เกิดแล้วดับไปแล้ว ส่วนจุติจิต ยังไม่เกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้นเมื่อใดนั้นไม่มีใครทราบได้ ชีวิตประจำวันจึงมีแต่วิถีจิต สลับกับภวังคจิต (ไม่ใช่วิถีจิต) จนกว่าจะถึงคราวที่จุติจิตเกิดขึ้นทำกิจเคลื่อนจาก ความเป็นบุคคลนี้ในภพนี้ชาตินี้ และสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ อย่างเด็ดขาด ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อยู่ร่ำไป เดินทางไกลใน สังสารวัฏฏ์อีกต่อไป การศึกษาเรื่องจิต ก็เพื่อเข้าใจจิตตามความเป็นจริงว่า จิตเป็น ธรรม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เพิ่มพูนความมั่นคงในความเป็นจริงของสภาพ ธรรมยิ่งขึ้น ครับ

ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหาวนเขตต์ และอ่านคำบรรยาย เพิ่มเติมได้ที่นี่ ครับ

ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติจิต

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pat_jesty
วันที่ 25 ส.ค. 2554
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 26 ส.ค. 2554

จิตที่ทำกิจปฏิสนธิ มี 19 ดวง คือ มหาวิบาก 8 อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก 1 อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก 1 รูปาวจรวิบาก 5 และ อรูปาวจรวิบาก 4 เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำกิจปฏิสนธิคือเกิดในภพต่างๆ ตามกรรมและเกิดเพียงขณะเดียวในชาตินั้น เกิดแล้วดับไม่กลับมาอีกเลย จนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนั้นในชาิตินั้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ก.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ