จิตที่ไม่ใช่วิถี : ปฏิสนธิจิต - ภวังคจิต - จุติจิต


    คุณอุไรวรรณ วันนี้เราอาจจะเริ่มจิตที่เป็นวิถีใหม่ จิตที่เป็นวิถี และจิตที่ไม่ใช่วิถี ท่านอาจารย์ค่ะ เราเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิจิตดีไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตหนึ่งขณะดับไป ไม่มีการที่จะเกิดอีกเลยในชาตินี้ ต่อจากนั้นก็จะต้องเป็นภวังค์ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ จนถึงกาลที่จะสิ้นสุดกรรมที่ทำให้เป็นบุคคลนี้ อยากจะจากหรือไม่อยากจะจากก็เป็นไปไม่ได้เลย เมื่อถึงเวลาที่กรรมจะให้ผลทำให้จิต ขณะสุดท้ายของชาตินี้เกิดก็ต้องเกิด ไม่มีใครสามารถที่จะขอร้อง ซื้อ ยื้อแย่งอะไร อุทธรณ์ฎีกาอะไรก็ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจะต้องเป็นไปตามกรรม แต่ว่าระหว่างที่จิตนั้นยังไม่เกิด ชีวิตก็ดำเนินไปตามการสะสมของจิตของแต่ละคน ซึ่งจะเห็นได้ว่าต่างกันมาก

    วิถีชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย แม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกัน แต่การสะสมที่เป็น กุศลบ้าง อกุศลบ้าง ก็ทำให้จิตเกิดหลังจากที่มีการเห็นการได้ยินเหล่านี้แตกต่างกันไป การศึกษาธรรมก็คือต้องทราบว่าเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ และก็กำลังปรากฏกับจิตหนึ่ง ขณะทีละหนึ่งขณะ ซึ่งก็คือโลกแต่ละทาง ไม่ใช่ใครเลยทั้งสิ้นถ้าจิตนั้นไม่เกิด อะไรๆ ก็ไม่มี แต่เมื่อจิตเกิดเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา ทางหู ทางจมูก สำหรับ ลิ้น ขณะใดที่ลิ้มรส ขณะนั้นก็เป็นจิตนั่นเอง ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงกามาวจรจิต คือจิตที่เป็นขั้นต้น ขั้นต่ำสุดคือเป็นขั้นที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะว่าจิตจะต่างกันโดยระดับขั้น

    จิตขั้นต่ำ คือ จิตที่วนเวียนไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หนีไม่พ้นเลย รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในมนุษภูมิซึ่งเป็นสุขติภูมิ ในเทวภูมิคือสวรรค์ ๖ ชั้น ซึ่งเป็นสุคติภูมิ แล้วก็ในอบายภูมิ ๔ ภูมิ ก็เป็นภูมิของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าจะมีกุศลใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างที่ยังไม่จากโลกนี้ไป และก็ยังอยู่ในกามภูมิ ยุคนี้สมัยนี้ ก็คงจะเป็นกุศลระดับขั้นที่เป็นไปกับ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ ยังเป็นกามาวจรจิต หมายความถึงจิตที่วนเวียนไปใน กาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าเข้าใจคำว่า กาม ก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็น สีสันวัณณะต่างๆ ก็เป็นกามชนิดหนึ่ง เป็นที่น่ายินดีของผู้ที่ไม่รู้ความจริง

    วันนี้เห็น มีสิ่งที่น่ายินดีมากมาย และถ้ารู้ว่าก่อนเห็นเป็นภวังค์ ต้องดำรงภพชาติอยู่ และหลังจากที่ ภวังค์หมดแล้ว ก็จะเป็นวิถีจิตทางหนึ่งทางใด เช่น กำลังเห็น แต่ไม่ได้รู้เลยเมื่อเห็นแล้ว เป็นอกุศลหรือเป็นกุศล เพียงแค่อายุของรูปซึ่งมีอายุเพียงแค่การเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ แล้วดับ แต่เมื่ออกุศลเกิดแล้วดับไปแล้วก็จริง รูปดับไปแล้ว แต่สะสมอกุศลสืบต่อ ในทุกวาระที่มีการเห็นทางตา การได้ยินเสียงทางหู การได้กลิ่นทางจมูก การลิ้มรสทางลิ้น การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรมเป็นผู้ที่ตรง ว่าเห็นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้ารู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นอกุศลมากเหลือเกิน ก็จะรู้ว่ามีหนทางเดียวซึ่งเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ขณะที่เริ่มเข้าใจทุกๆ ขณะตามความเป็นจริง ก็จะรู้ได้ว่าอกุศลเกิดบ่อยกว่า มากกว่า เพราะฉะนั้น จึงต้องสะสมกุศล ในชาตินี้คงจะต้องไม่ไปคิดถึงว่าสามารถที่จะดับอกุศลทั้งหมดที่สะสมมาตลอดชาตินี้ และชาติก่อนๆ ให้หมดสิ้น หรือว่าให้ถึงความเป็นพระอริยบุคคล โดยไม่รู้อะไร เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าปัญญาที่จะถึงระดับขั้นนั้น ก็ต้องค่อยๆ เจริญขึ้น และผู้นั้นก็เป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ได้มีการฟังพระธรรมจนกระทั่งมีความเข้าใจในสภาพธรรมซึ่งเป็นอนัตตาว่า ไม่ใช่เราเลยสักขณะเดียวมากน้อยแค่ไหน

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 114


    หมายเลข 7933
    22 ม.ค. 2567