••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••
... สนทนาธรรมที่ ...
••• มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา •••
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
ปฐมทานสูตร
ว่าด้วยทาน ๘ ประการ
จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๗๒
,
ทุติยทานสูตร
ว่าด้วยการให้ทานด้วยศรัทธา เป็นต้น
จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๗๔
และ
ทานวัตถุสูตร
ว่าด้วยเหตุแห่งการให้ทาน
จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๗๕

... นำสนทนาโดย ...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๗๒
ทานวรรคที่ ๔
๑. ปฐมทานสูตร
(ว่าด้วยทาน ๘ ประการ)
[๑๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ บางคนเมื่อประสบ(ปฏิคาหก คือ ผู้รับ) จึงให้ทาน ๑ บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาให้แก่เราแล้ว ๑ บางคนให้ทาน เพราะนึกว่า เขาจักให้ตอบแทน ๑บางคนให้ทานเพราะนึกว่าทานเป็นการดี ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราหุงหากินชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ผู้ไม่หุงหากินไม่สมควร ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทาน กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป ๑บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้แล.
จบ ปฐมทานสูตรที่ ๑.
อรรถกถาปฐมทานสูตรที่ ๑
วรรคที่ ๔ ปฐมทานสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ .- บทว่า อาสชฺช ทานํ เทติ ความว่า บุคคลบางคนให้ทานเพราะประจวบเข้า คือพอเห็นปฏิคาหก(ผู้รับ)มาถึง นิมนต์ให้ท่านนั่งครู่หนึ่ง กระทำสักการะแล้ว จึงให้ทานย่อมไม่ลำบากใจ ว่า จักให้. บทว่า ภยา ได้แก่ เพราะกลัวครหาว่าเป็นผู้ไม่ให้เป็นผู้ไม่ทำ หรือ เพราะกลัวอบายภูมิ. บทว่า อทาสิ เม ความว่า ให้ด้วยคิดว่าผู้นี้ได้ให้สิ่งชื่อนี้แก่เราในกาลก่อน. บทว่า ทสฺสติ เม ความว่า ให้ด้วยคิดว่า ผู้นี้จักให้สิ่งชื่อนี้แก่เราในอนาคต. บทว่า สาหุ ทานํ ความว่า ให้ด้วยคิดว่า ขึ้นชื่อว่าทาน ยัง-ประโยชน์ให้สำเร็จ คือ ดี ได้แก่อันบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว. บทว่าจิตฺตาลงฺการจิตฺตปริกฺขารตฺถ ทาน เทติ ความว่า ให้เพื่อประดับและตกแต่งจิตในสมถะและวิปัสสนา. เพราะว่า ทานย่อมทำจิตให้อ่อนโยน บุคคลผู้ได้รับทาน ย่อมมีจิตอ่อนโยนดีว่าเราได้แล้ว แม้บุคคลให้ทานนั้น ก็ย่อมมีจิตอ่อนโยนว่า เราให้ทานแล้ว.เพราะฉะนั้น ทานนั้น ชื่อว่า ย่อมทำจิตของบุคคลทั้ง ๒ ฝ่ายให้อ่อนโยน เพราะเหตุนั้นนั่นแล ท่านจึงตรัสว่า อทนฺตทมนํ การฝึกจิตที่ยังไม่ได้ฝึก ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า .- อทนฺตทมน ทาน อทาน ทนฺตทูสก อเนน ปิยวาเจน โอณมนฺติ มนมฺติ จ. การให้ทาน เป็นเครื่องฝึกจิตที่ยังไม่ได้ฝึก, การไม่ให้ทาน เป็นเครื่องประทุษร้ายจิตที่ฝึกแล้ว, ชนทั้งหลายมีจิตโอนอ่อน และน้อมลงด้วยปิยวาจานี้. ก็บรรดาการให้ทาน ๘ ประการนี้ การให้เพื่อประดับจิตเท่านั้น เป็นสูงสุดแล.จบ อรรถกถาปฐมทานสูตรที่ ๑.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๗๔
๒. ทุติยทานสูตร
(ว่าด้วยการให้ทานด้วยศรัทธา เป็นต้น)
[๑๒๒] ธรรม ๓ ประการนี้ คือ การให้ทานด้วย ศรัทธา ๑ การให้ทานด้วยหิริ ๑ การให้ทานอันหา โทษมิได้ ๑ เป็นธรรมที่สัปบุรุษดำเนินมาแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวธรรม ๓ ประการนี้ ว่า เป็นทาง ไปสู่สวรรค์ ชนทั้งหลายย่อมไปสู่สรรค์ได้ ด้วยธรรม- ๓ ประการนี้แล จบ ทานสูตรที่ ๒
อรรถกถาทุติยทานสูตรที่ ๒
ทุติยทานสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ .- บุคคลย่อมให้ทานด้วยศรัทธาใด ศรัทธานั้น ท่านประสงค์เอาว่าศรัทธา.บุคคลย่อมให้ทานด้วยหิริใด หิรินั้นท่านประสงค์เอาว่า หิริ. บทว่า กุสลญฺจ ทานํได้แก่ ทานที่หาโทษมิได้. บทว่า ทิวิย ได้แก่ เป็นทางไปสู่สวรรค์.
จบ อรรถกถาทุติยทานสูตรที่ ๒.

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ ๔๗๕
๓. ทานวัตถุสูตร (ว่าด้วยเหตุแห่งการให้ทาน)
[๑๒๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือบางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน ๑ บางคนให้ทานเพราะโกรธ ๑ บางคนให้ทานเพราะหลง ๑ บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า บิดา มารดาปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้มา เคยทำมา เราไม่ควรให้เสียวงค์ตระกูลดั้งเดิม ๑บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราให้ทานแล้ว เมื่อตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจความดีใจ ย่อมเกิด ตามลำดับ ๑ บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการนี้แล.
จบ ทานสูตรที่ ๓.
อรรถกถาทานวัตถุสูตรที่ ๓
ทานวัตถุสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้. บทว่า ทานวตฺถูนิ ได้แก่ เหตุแห่งการให้ทาน. บทว่า ฉนฺทา ทานํ เทติความว่า บุคคลไห้ทานเพราะความรัก. บทว่า โทสา ความว่า เป็นผู้โกรธแล้วสิ่งใดมีอยู่ก็รีบหยิบเอาสิ่งนั้นให้ไปเพราะโทสะ.บทว่า โมเหน ความว่า เป็นผู้หลงให้ไปเพราะโมหะ. บทว่า ภยา ความว่า เพราะกลัวครหา หรือ เพราะกลัวอบายภูมิก็หรือว่า เพราะกลัวครหาและอบายภูมินั้นนั่นแหละจึงให้ไป. บทว่า กุลวํสํ ได้แก่เป็นประเพณีของตระกูล.จบ อรรถกถาทานวัตถุสูตรที่ ๓.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ปฐมทานสูตร
(ว่าด้วยการให้ทาน ๘ ประการ)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงลักษณะประการต่างๆ ของการให้ทาน ๘ ประการดังนี้๑. เมื่อประสบกับผู้รับ ก็ให้๒. ให้เพราะกลัวคนอื่นจะนินทา หรือ กลัวอบายภูมิ๓. ให้เพราะคิดว่า เขาเคยให้เรามาก่อน๔. ให้ เพราะหวังว่าเขาจะให้ตอบ๕. ให้ เพราะคิดว่า การให้ทานเป็นสิ่งที่ดี พระพุทธเจ้า เป็นต้นทรงสรรเสริญ๖. ให้ แก่ผู้ไม่ได้หุงหากิน เพราะตนเองเป็นผู้หุงหากินได้๗. ให้ เพราะต้องการชื่อเสียง๘. ให้ เพื่อเกื้อกูลแก่การอบรมเจริญสมถะและวิปัสสนา.
------------------------------------------------
ข้อความโดยสรุป
ทุติยทานสูตร
(ว่าด้วยการให้ทานด้วยศรัทธา เป็นต้น) พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า ชนทั้งหลายจะไปสู่สวรรค์ได้ ด้วยธรรม ๓ประการ คือ ให้ทานด้วยศรัทธา, ให้ทานด้วยหิริ, ให้ทานอันไม่มีโทษ. ------------------------------------------------ ข้อความโดยสรุป
ทานวัตถุสูตร
(ว่าด้วยเหตุแห่งการให้ทาน)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงเหตุแห่งการให้ทาน ๘ ประการ ดังนี้ คือ๑. ให้ เพราะรัก๒. ให้ เพราะโกรธ๓. ให้ เพราะหลง๔. ให้ เพราะกลัว๕. ให้ เพราะวงศ์ตระกูลเคยทำมา๖. ให้ เพราะจักได้ไปสู่สวรรค์๗. ให้ เพราะคิดว่า เมื่อให้ไปแล้วจะเกิดความเลื่อมใส เบิกบานใจ ดีใจ๘. ให้ เพื่อเกื้อกูลแก่การอบรมเจริญสมถะและวิปัสสนา. ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ
ทาน ศีล ภาวนา ต้องการข้อมูลประกอบการเทศน์ครับ ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต [ทานสูตร] อภัยทาน ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง ฯลฯ ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ให้ทาน
เพื่อละความตระหนี่
ที่เกาะติดอยู่ในจิตใจ
........................
กราบอนุโมทนาค่ะ