ผลสมาบัติ [วิสุทธิมรรคแปล]

 
JANYAPINPARD
วันที่  16 ก.ย. 2552
หมายเลข  13551
อ่าน  3,452

ขอเชิญอ่านข้อความจากวิสุทธิมรรคโดยตรง

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 274

[ปวัติในผลสมาบัติ]

ส่วนว่า เพื่อแสดงปวัติในผลสมาบัติแห่งอริยผลนั้น มีปัญหากรรม (ดังต่อไป) นี้ คือ ผลสมาบัติ คืออะไร บุคคลเหล่าไหนเข้าผลสมาบัตินั้นได้ เหล่าไหนเข้าไม่ได้ เข้าเพราะ (เพื่อ) อะไร และการเข้าผลสมาบัตินั้นเป็นอย่างไร (เข้าแล้ว) ยั้งอยู่อย่างไร ออกอย่างไรอะไรมีในลำดับแห่งผล และผลมีในลำดับแห่งอะไร?

[ผลสมาบัติคืออะไร]

ในปัญหากรรมทั้งหลายนั้น ปัญหากรรมข้อว่า "ผลสมาบัติคืออะไร" แก้ว่า คือ ความแนบอยู่ในนิโรธแห่งอริยผล

[ใครเข้าผลสมาบัติได้ ใครเข้าไม่ได้]

ปัญหากรรมข้อว่า "บุคคลเหล่าไหนเข้าผลสมาบัตินั้นได้ เหล่าไหนเข้าไม่ได้ " แก้ว่า บุถุชนทั้งปวงเข้าไม่ได้ เพราะอะไร เพราะยังไม่ได้บรรลุ (อริยผล) ส่วนพระอริยะทั้งปวงเข้าได้ เพราะอะไรเพราะได้บรรลุ (อริยผล) แล้ว แต่ว่าพระอริยะชั้นสูง ย่อมไม่เข้าผลสมาบัติชั้นต่ำ เพราะผลชั้นต่ำระงับไปแล้ว ด้วยการเข้าถึงความเป็นบุคคลอื่น พระอริยะชั้นต่ำระงับไปแล้ว ด้วยการเข้าถึงความเป็นบุคคลอื่น พระอริยะชั้นต่ำเล่า ก็เข้าผลสมาบัติชั้นสูงหาได้ไม่ เพราะยังไม่ได้บรรลุ อันพระอริยะทั้งหลาย ย่อมเข้าผลสมาบัติของตนๆ เท่านั้น นี่เป็นสันนิษฐาน (ข้อตกลง) ในปัญหากรรมข้อนี้ แต่อาจารย์ลางเหล่ากล่าวว่า "แม้พระโสดาบันและพระสกทาคามีก็เข้าไม่ได้ พระอริยะชั้นสูง พวกเท่านั้นจึงเข้าได้ " ดังนี้ และ นี่เป็นเหตุของเกจิอาจารย์เหล่านั้น คือ "เพราะพระอริยะชั้นสูง ๒ พวกนั้น เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ" เหตุที่เกจิอาจารย์กล่าว (อ้าง) นั้นไม่เป็นเหตุ (คือไม่ชอบ) เลย เพราะแม้บุถุชนก็เข้าโลกิยสมาธิที่ตนได้แล้วได้ ๒ แต่ว่าประโยชน์อะไรด้วยการคิดว่าเป็นเหตุไม่เป็นเหตุในข้อนี้เล่า ในพระบาลีเองท่านก็ได้กล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่า "โคตรภูธรรม๑๐ อะไรบ้าง ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสนา? ญาณใดครอบงำเสียซึ่งอุปปาทะ.. ซึ่งปวัตตะ ฯลฯ... ซึ่งอุปายาส... ซึ่งสังขารนิมิตภายนอกเพื่อประโยชน์แก่อันได้โสดาปัตติมรรค เหตุนี้ ญาณนั้นจึงชื่อ โคตรภู ญาณใดครอบงำเสียซึ่งอุปปาทะ ฯลฯ ซึ่งสังขารนิมิตภายนอก เพื่อประโยชน์แก่อันเข้า โสดาปัตติผลสมาบัติ...สกทาคามิผลสมาบัติ...อานาคามิผลสมาบัติ...อรหัตผลสมาบัติ...สุญตวิหารสมาบัติอนิมิตวิหารสมาบัติ เหตุนี้ ญาณนั้นจึงชื่อโคตรภู๓" ดังนี้ เพราะเหตุนั้น จึงควรถึงความตกลงในปัญหากรรมข้อนี้ได้ว่า "พระอริยะทั้งปวง (ทุกชั้น) ย่อมเข้าผลสมาบัติของตนๆ ได้"


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 16 ก.ย. 2552

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 276

[เข้าเพื่ออะไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "เข้าเพราะ (เพื่อ) อะไร" แก้ว่า เพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (ความพักอยู่สำราญในปัจจุบันชาติ) เหมือนอย่างพระราชาเสวยรัชสุข เทวดาทั้งหลายอริยโลกุตรสุข ฉันใด พระอริยะทั้งหลายคิดว่า เราทั้งหลายจักเสวยอริยโลกุตรสุข ทำอัทธานปริเฉท (กำหนดกาล) แล้วก็เข้าผลสมาบัติในทุกขณะที่ต้องการ ฉันนั้น

[เข้าอย่างไร ยั้งอยู่อย่างไร ออกอย่างไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "และการเข้าผลสมาบัตินั้นเป็นอย่างไร (เข้า) แล้ว) ยั้งอยู่อย่างไร ออกอย่างไร" แก้ว่า อันดับแรก การเข้าผลสมาบัตินั้นย่อมมีด้วยอาการ ๒ คือ เพราะไม่มนสิการถึงอารมณ์อื่นจาก พระนิพพาน ๑ เพราะมนสิการถึงแต่พระนิพพาน ๑ ดังพระธัมมทินนาเถรีกล่าว (แก่วิสาขอุบาสก) ว่า "ดูกรอาวุโส ปัจจัยแห่งการเข้าอนิมิตตาเจโตวิมุติมี ๒ คือ ไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑ มนสิการถึงแต่ธาตุอันไม่มีนิมิต (คือนิพพาน) ๑ * ดังนี้ ส่วน (ต่อไป) นี้ เป็นลำดับการเข้าในการเข้าผลสมาบัตินี้ ความว่า พระอริยสาวกผู้มีความประสงค์ด้วยผลสมาบัติ พึงไปในที่ลับ (คน) ปลีกตัวอยู่แล้ว (ทำวิปัสสนา) เพ่งพิจารณาสังขารโดยวิปัสนาญาณ มีอุทยัพพยญาณเป็นต้น จิตของพระอริยสาวกผู้มีวิปัสนาญาณตามลำดับ เป็นไปแล้ว ย่อมแนบแน่นในนิโรธ โดยเป็นผลสมาบัติ ในลำดับแห่งโคตรภูญาณ อันมีสังขารเป็นอารมณ์ ก็แลในการเข้าผลสมาบัตินี้เพราะความที่พระอริยสาวกนั้นน้อม (จิต) ไปเพื่อผลสมาบัติ จึงผลเท่านั้นเกิดขึ้น แม้แก่พระเสขะ มรรคหาเกิดขึ้นไม่ ส่วนอาจารย์เหล่าใดกล่าว่า "พระโสดาบันประสงค์ว่าจักเข้าผลสมาบัติ ตั้งทำวิปัสสนาไปก็เป็นพระสกทาคามี พระสกทาคามีเล่า...ตั้งทำวิปัสสนาไปก็เป็นพระอนาคามี" ดังนี้ อาจารย์เหล่านั้นควรถูกว่ากล่าวว่า "เมื่อเป็นอย่างนั้น พระอนาคามี (ตั้งทำวิปัสนาไป) ก็จักเป็นพระอรหันต์พระอรหันต์... ก็จักเป็นพระปัจเจกพุทธ และพระปัจเจกพุทธ...ก็จักเป็นพระพุทธเจ้าได้ละซิ" เพราะเหตุนั้น คำของอาจารย์เหล่านั้นนั่นจึงไม่ควรถือเอาสักหน่อย อนึ่ง คำของอาจารย์เหล่านั้น เป็นอันถูกปฏิเสธด้วยอำนาจพระบาลี (เรื่องโคตรภูธรรม ๑๐ ที่กล่าวแล้ว ซึ่งแยกวิปัสนาสำหรับมรรคและสำหรับผลเป็นคนละอย่าง) ด้วย แม้เพราะเหตุนี้ จึงไม่ควรถือเอา ควรถือเอาแต่นี่เท่านั้น คือ "ผลเท่านั้นเกิดขึ้นแม้แก่พระเสขะ มรรคหาเกิดขึ้นไม่๒ ผล (ที่เกิดขึ้น) เล่า ถ้ามรรคที่พระอริยบุคคลผู้นั้นได้บรรลุเป็นปฐมฌานิกมรรค (มรรคมีปฐมฌาน) ก็เป็นปฐมฌานิกผลเหมือนกัน เกิดขึ้นแก่พระอริยบุคคลผู้นั้นถ้ามรรคเป็นทุติยฌานิกะเป็นต้น ฌานิกะใดฌานิกะหนึ่ง ผลก็เป็นทุติยฌานิกะเป็นต้น ฌานิกะใดฌานิกะหนึ่งเหมือนกัน" ฯลฯ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ