เอโกทิภาวศัพท์..ธรรมเอก [มหาวิภังค์]

 
JANYAPINPARD
วันที่  16 ก.ย. 2552
หมายเลข  13549
อ่าน  2,839

[เล่มที่ 1] อรรถพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒๖๐

อธิบาย เอโกทิภาวศัพท์ ในบทว่า เอโกทิภาวํ นั้น มีอรรถโยชนาดังต่อไปนี้ :-

สมาธิชื่อว่า เอโกทิ เพราะอรรถว่า เป็นธรรมเอกผุดขึ้น อธิบายว่า ชื่อว่าเป็นธรรมที่เลิศ คือธรรมประเสริฐที่สุด ผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารไม่ผุดขึ้น จริงอยู่แม้คนที่ประเสริฐที่สุด เข้าก็เรียกว่า เป็นเอกในโลก อีกอย่างหนึ่ง จะกล่าวว่าสมาธิที่เว้นจากวิตกและวิจาร ชื่อว่าเป็นธรรมเอก คือไม่สหาย ดังนี้บ้างก็ควร อีกบรรยายหนึ่ง สมาธิ ชื่อว่า อุทิ เพราะอรรถว่า ย่อมยังสัมปยุตธรรมให้ผุดขึ้น อธิบายว่า ให้ตั้งขึ้น สมาธินั้น เป็นเอก เพราะอรรถว่า ประเสริฐและผุดขึ้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า เอโกทิ คำว่า เอโกทิ นั่น เป็นชื่อของสมาธิ ทุติยฌาน ย่อมยังสมาธิที่ชื่อว่า เอโกทิ นี้ ดังกล่าวนี้ให้เกิดคือให้เจริญ เหตุนั้น ทุติยฌานนี้ จึงชื่อว่า เอโกทิภาพ ก็เพราะสมาธิที่ชื่อว่า เอโกทิ นี้นั้นย่อมมีแก่ใจ หามีแก่สัตว์ แก่ชีวะไม่ ฉะนั้น ทุติยฌานนั่นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เจตโส เอโกทิภาวํ (เป็นเอโกทิภาพแห่งใจ)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 21 พ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ก.ไก่
วันที่ 4 ก.พ. 2565

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
unclethamma
วันที่ 7 ธ.ค. 2565

สาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ