อบรมอย่างไร...เข้าใจอะไร?

 
พุทธรักษา
วันที่  17 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10709
อ่าน  1,368

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


สนทนาธรรม ณ ถนนสุสานประตูหายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร พ.ศ. ๒๕๔๔

ท่านพระภิกษุ หลังจากฟังแล้ว เข้าใจแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่จะมีลำดับของการอบรมอธิศีล อธิจิตต อธิปัญญา โดยลำดับ

ท่านอาจารย์ เป็นการฟังที่ยังไม่เข้าใจถ้าเป็นการฟังที่เข้าใจขึ้นๆ จะรู้ว่า การอบรม เป็นอย่างไร เจ้าค่ะ

ท่านพระภิกษุ อย่างไร เป็นลำดับอย่างไร

ท่านอาจารย์ ต้องฟัง จนกระทั่งมีความเข้าใจใน "ลักษณะ" ของสภาพธรรมจนกว่าจะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ "ลักษณะ" ของสภาพธรรม "ขณะนี้"ไม่มีใครสามารถบังคับให้สติปัฏฐานเกิดได้เพราะ "ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา" สิ่งนี้ ลืมไม่ได้เลย เจ้าค่ะ

ถ้าไม่มี โสตปสาท (โสตปสาทรูป) หรือว่า มีโสตปสาท แต่ เสียง (สัททรูป) ไม่กระทบโสตปสาทจิตได้ยิน (โสตวิญญาณจิต) ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เป็นต้น

ฉะนั้น แม้ว่าขณะนี้จะเป็นธรรมะทั้งหมดไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นธรรมะทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตายแต่ถ้า "ความรู้-ความเข้าใจ" ไม่พอ ก็หลงลืมสติต่อไป จนกว่าจะมีการฟังอีก เข้าใจอีกจนกระทั่งเหตุปัจจัยถึงพร้อมที่สติปัฏฐานจะเกิด พร้อมกับสัมมาทิฏฐิ

สติปัฏฐาน คือ มรรคมีองค์ ๘ ปกติสติปัฏฐาน เกิดกับมรรคมีองค์ ๕ คือ ต้องเกิดพร้อมกับสัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาสังกัปปะ ก็ทราบได้ว่า ขณะนั้น "ไม่ใช่เรา" ที่ไปตั้งใจให้สติเกิดแต่เป็นเพราะมีปัจจัย (ข้างต้น) สติก็ระลึก

สติ จะระลึกอะไร ก็แล้วแต่ (ไม่เลือกอารมณ์ที่ปรากฏ) เป็นสติปัฏฐานทั้งนั้น (ต้องไม่ลืมว่า สติปัฏฐาน มีปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์) สิ่งที่มีจริงเท่านั้น นะเจ้าคะ เป็นสติปัฏฐาน (ที่ตั้งให้เกิดสติ) ได้ทั้งหมดและสิ่งที่มีจริง มีทาง (ทวาร) ปรากฏได้ ๖ ทางคือทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

ต้องเป็นมี "สภาวะลักษณะ" คือ การเกิดดับ จึงจะเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าเป็นเรื่องราวบัญญัติ ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง (เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานไม่ได้) ฉะนั้น ต้องเข้าใจถูก ในความต่างของ ปรมัตถธรรม กับบัญญัติ

ถ้าไม่เข้าใจความต่าง ของปรมัตถธรรม และบัญญัติก็จะเกิดความสับสน ปะปนกันและเป็นแต่ "ความคิดนึก" เจ้าค่ะ


ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 18 ธ.ค. 2551

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
vikrom
วันที่ 18 ธ.ค. 2551

ปกติสติปัฏฐาน เกิดกับมรรคมีองค์ ๕ แต่ถ้าสติเกิด แต่ปัญญาไม่เกิดได้ไหมครับ จะเรียกว่ามรรคมีองค์ ๔ หรือเปล่าครับ

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
bauloy
วันที่ 18 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ....
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
choonj
วันที่ 18 ธ.ค. 2551

ที่แรกๆ ก็ไม่ค่อยจะเชื่อนะครับที่ว่าฟังอย่างเดียวเป็นการอบรม จึงคอยหาทางต่างๆ ที่เคยมีประสพการและเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ แต่พอฟังไปๆ เป็นปีก็รู้สึกถึงการเปลียนแปลง จึงเข้าใจว่าการฟังเป็นการอบรมมีอย่างเดียว ไม่มีวิธีอื่น และไม่ต้องหาทางอื่น ซึ่งไม่มี มีแต่การฟังให้เข้าใจอย่างเดียว ส่วนเข้าใจอะไร ก็เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังไง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Komsan
วันที่ 18 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 ธ.ค. 2551
ปกติสติปัฏฐานเกิดกับมรรคมีองค์ ๕ แต่ถ้าสติเกิด แต่ปัญญาไม่เกิดได้ไหมครับ จะเรียกว่ามรรคมีองค์ ๔ หรือเปล่าครับ ขอบคุณครับ

ขอแสดงความคิดเห็นดังนี้ค่ะ

จากการศึกษา ปกติสติปัฏฐาน เกิดกับมรรคมีองค์ ๕ คือ สัมมาทิฏฐิ (ปัญาเจตสิก) สัมมาวายามะ (วิริยเจตสิก) สัมมาสติ (สติเจตสิก) สัมมาสมาธิ (เอกัคคตาเจตสิก) สัมมาสังกัปปะ (วิตกเจตสิก)

เว้นวิรตีเจตสิก ๓ คือ (เว้นทุจริตทางกาย วาจา...ดูรายละเอียดด้านล่างค่ะ) สัมมาอาชีวะ (สัมมาอาชีวะเจตสิก) สัมมาวาจา (สัมมาวาจาเจตสิก) สัมมากัมมันตะ (สัมมากัมมันตเจตสิก)

วิรตีเจตสิกดวงใดดวงหนึ่ง จะเกิดร่วมด้วยในกรณีที่ขณะสติปัฏฐานเกิด มีการวิรัติทุจริตตอนนั้นด้วยในขณะนั้น เป็นมรรคมีองค์ ๖ เป็นต้นและจะเกิดพร้อมกัน เป็นมรรคมีองค์ ครบ ๘ เมื่อโลกกุตตรจิตเกิดเท่านั้น สติเกิด ปัญญาไม่เกิดร่วมก็มีค่ะ เช่น สติขั้นทาน ไม่มีปัญญาเกิดร่วม ในกรณีที เป็นเรา ที่กระทำทาน ถ้าปัญญาเกิดร่วมกับสติ...ไม่ใช่เรา...ที่กระทำทานค่ะ เป็นต้นค่ะ มรรคมีองค์ ๔ ไม่เคยได้ยินเลยค่ะ

ไม่ทราบท่านอื่นมีความเห็นว่าอย่างไรกันบ้างค่ะ

ขอเชิญร่วมสนทนา...หากมีข้อผิดพลาด กรุณาทักท้วงด้วยค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 ธ.ค. 2551

ข้อมูลพิ่มเติมเรื่อง วิรตีเจตสิก ๓ ค่ะ

สัมมากัมมันตะ

สมฺมา (ชอบ ถูก) + กมฺมนฺต (การงาน)

การงานชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากกายทุจริต ๓ อย่าง คือ

๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์

๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์

๓. งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

สัมมาวาจา

สมฺมา (ชอบ ถูก) +วาจา (คำพูด) คำพูดชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจให้เกิดการงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ อย่าง คือ

๑. งดเว้นจากการพูดปด

๒. งดเว้นจากการพูดส่อเสียด

๓. งดเว้นจากการพูดคำหยาบ

๔. งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

สัมมาอาชีวะ

สมฺมา (ชอบ ถูก) + อาชีว (การเลี้ยงชีพ)

การเลี้ยงชีพชอบ หมายถึง วิรตีเจตสิกดวงหนึ่งที่ทำกิจ ให้เกิดการงดเว้นจากมิจฉาชีพซึ่งเป็นไปทางกายหรือวาจาที่ทุจริต

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 ธ.ค. 2551

และมรรคมีองค์ ๕ คือ

สัมมาสติ

สมฺมา (ชอบ ถูก) + สติ (การระลึก)

การระลึกชอบ หมายถึง สติเจตสิกที่ระลึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม จนปัญญามีกำลังประจักษ์แจ้งสภาพธรรมไปตามลำดับ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้น สัมมาสติก็ระลึกที่ลักษณะของนิพพาน


สัมมาทิฏฐิ

สมฺมา (ชอบ ถูก) + ทิฎฺฐิ (ความเห็น)

ความเห็นถูก ความเห็นชอบ ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ซึ่งมีลักษณะที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาทิฎฐิมีหลายระดับ ตั้งแต่ กัมมสกตาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกเรื่องความมีกรรมเป็นของๆ ตน) ฌานสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับฌานจิต) วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูกที่เกิดกับวิปัสสนา ซึ่งขณะที่เป็นสติปัฏฐานก็เป็นมรรคมีองค์ ๕ แต่ขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้นประหาณกิเลสเป็นสมุจเฉท ก็เป็นมรรคมีองค์ ๘) เป็นต้น


สัมมาสมาธิ

สมฺมา (ชอบ ถูก) + สมาธิ (ความตั้งมั่น)

ความตั้งมั่นชอบ หมายถึง เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิต ในขณะที่สติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณเกิด สัมมาสมาธิทำจิตและเจตสิกอื่นให้ตั้งมั่นในอารมณ์คือ นามธรรม หรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ชัดลักษณะของนามรูปนั้นๆ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นสัมมาสมาธิก็ทำให้จิต และเจตสิกอื่นตั้งมั่นในอารมณ์คือนิพพาน


สัมมาสังกัปปะ

สมฺมา (ชอบ ถูก) + สงฺกปฺป (ความดำริ)

ความดำริชอบ หมายถึง วิตกเจตสิกที่ตรึกที่ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อสติจะได้ระลึก ปัญญาจะได้ศึกษาในลักษณะของนามรูป สัมมาสังกัปปะมีอาการ ๓ อย่าง คือ

๑. ดำริในการออกจากกาม

๒. ดำริในการไม่พยาบาท

๓. ดำริในการไม่เบียดเบียน


สัมมาวายามะ

สมฺมา (ชอบ ถูก) + วายาม (ความเพียร)

ความเพียรชอบ หมายถึง วิริยเจตสิกที่เกิดกับกุศลจิตที่เป็นไปพร้อมกับสติปัฏฐานและวิปัสสนาญาณ เป็นความเพียรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ajarnkruo
วันที่ 18 ธ.ค. 2551

ถ้าสติปัฏฐานขาดปัญญาซึ่งเป็นสัมมาทิฏฐิ ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน และเป็นมรรคไม่ได้ครับอย่าว่าแต่ ๔ เลย ๓ ๒ ๑ ก็ไม่ได้ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ไม่ควรลืมความหมายของคำว่า "มรรค" ครับ มรรคในที่นี้ไม่ใช่มิจฉามรรค แต่เป็นสัมมามรรค เป็นอริยมรรค เป็นหนทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ดำเนินรอยตามพระพุทธองค์ไปแล้ว สู่ความเป็นผู้ไกลจากกิเลส ดับทุกข์โทษภัยทั้งปวงได้หมดสิ้น ไม่มีการกลับมาเกิดอีก นี่ไม่ใช่หนทางที่จะไปถึงโดยไม่มีการเจริญขึ้นของปัญญา ถ้าขาดปัญญา ก็ถึงนิพพานไม่ได้แน่นอนครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
vikrom
วันที่ 19 ธ.ค. 2551

ความหมายของผมคงจะเป็นอันนี้ครับ

สติเกิด ปัญญาไม่เกิดร่วมก็มีค่ะ เช่น สติขั้นทาน ไม่มีปัญญาเกิดร่วม ในกรณีที เป็นเรา...ที่กระทำทาน ถ้าปัญญาเกิดร่วมกับสติ...ไม่ใช่เรา...ที่กระทำทานค่ะ เป็นต้นค่ะ

แต่เขาคงไม่เรียกว่ามรรค ตามความคิดเห็นที่ 10

ขอบคุณมากครับ

แต่ข้อความอันนี้ก็น่าสนใจนะครับ

สัมมาสมาธิทำจิตและเจตสิกอื่นให้ตั้งมั่นในอารมณ์ คือ นามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏ เพื่อที่ปัญญาจะได้รู้ชัดลักษณะของนามรูปนั้นๆ และเมื่อมัคคจิตเกิดขึ้นสัมมาสมาธิก็ทำให้จิต และเจตสิกอื่นตั้งมั่นในอารมณ์คือนิพพาน

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
wannee.s
วันที่ 19 ธ.ค. 2551

ขณะที่สติปัฏฐานเกิดต้องมีมรรค 5 เป็นอย่างน้อย หรือขณะที่มีวิรตีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ดวงใดดวงหนึ่งก็เป็นมรรค ๖ แต่ในขณะที่เป็นโลกุตตระมรรคมีองค์ ๘ จะเกิดขึ้นพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกันคือพระนิพพานค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
suwit02
วันที่ 19 ธ.ค. 2551

ที่นี่น่ารื่นรมย์

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 20 ธ.ค. 2551
อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 2 ปกติสติปัฏฐาน เกิดกับมรรคมีองค์ ๕ แต่ถ้าสติเกิด แต่ปัญญาไม่เกิดได้ไหมครับ จะเรียกว่ามรรคมีองค์ 4 หรือเปล่าครับ

ขอบคุณครับ

สติปัฏฐานเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์

จะเกิดโดยปราศจากปัญญาเจตสิกไม่ได้เลยค่ะ และปัญญาที่เกิดร่วมด้วยนั้น ต้องเป็นองค์มรรคที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
เซจาน้อย
วันที่ 21 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
vikrom
วันที่ 21 ธ.ค. 2551

ขอบพระคุณอีกครั้งครับคุณไตร

ไหนๆ ก็ถามแล้ว ขอถามอีกนิดหนึ่งครับ

1. คำว่า สติ กับ สติปัฏฐาน ต่างกันอย่างไรครับ

2. สติเจตสิก เกิดร่วมกับวิบากจิตเช่น สัมปฏิฉันนะ สันตีรณะ ได้ไหมครับ หรือว่าต้องเกิดที่ชวนะที่เดียวเท่านั้น

ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
เมตตา
วันที่ 21 ธ.ค. 2551

ขอร่วมสนทนาด้วยคนค่ะ ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขณะนั้นมีสติเกิดร่วมด้วยค่ะเช่นขณะที่เป็นไปในการให้ทาน การวิรัติงดเว้นการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ เป็นต้น และขณะที่จิตเป็นไปในความสงบ (สมถภาวนา) ขณะนั้นสติเกิดร่วมด้วยค่ะ แต่ไม่ใช่สติปัฎฐาน

สติที่เป็นขั้นสติปัฎฐานนั้น จะต้องเป็นจิตที่เป็นไปในการเจริญสติปัฎฐานรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงซึ่งก็คือการเจริญอริยมรรค์มีองค์ ๘ นั่นเอง สำหรับสติเจตสิกเกิดร่วมกับโสภณจิตทั้งหมด จะไม่เกิดร่วมกับอโสภณจิตค่ะ เพราะฉะนั้นสัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิตซึ่งเป็นอโสภณจิตจึงไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
ajarnkruo
วันที่ 22 ธ.ค. 2551

1. สติปัฏฐาน ๔ มีความหมายกว้างกว่าครับ

2. เกิดไม่ได้ครับ สติเป็นโสภณสาธารณเจตสิก เกิดกับโสภณจิตเท่านั้น ส่วนสัมปฏิจฉันนจิต กับ สันตีรณจิต เป็นอโสภณจิต ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย

โสภณจิต มีด้วยกัน 3 ชาติ ได้แก่ ชาติกุศล ๑ ชาติกิริยา ๑ ชาติวิบาก ๑ - ถ้าสติเกิดกับชวนจิต ปกติโดยทั่วไปสำหรับผู้ไม่ใช่พระอรหันต์ จิตนั้นเป็นชาติ กุศล หรือ ถ้าจิตที่เกิดขึ้นนั้น เป็นจิตที่เป็นผลจากการดับกิเลสแล้ว เรียกว่า ผลจิต เป็นชาติวิบาก สติก็เกิดร่วมด้วยได้ - สติที่เกิดกับจิตชาติกิริยา มีเฉพาะพระอรหันต์ เรียกว่า โสภณกิริยาจิต

- สติที่เกิดกับจิตชาติวิบาก เช่น ปฏิสนธิจิต ภวังคจิต และ จุติจิต ของผู้ที่เกิดในสุคติภูมิด้วยโสภณเหตุ ๒ คือ มี อโลภเจตสิก ๑ และ อโทสเจตสิก ๑ เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตในขณะเกิด ส่งผลให้ ภวังคจิต และ จุติจิต ของผู้นั้นในชาตินั้น เป็นจิตที่ประกอบด้วยเจตสิก ๒ ดวงนี้เช่นกัน ทำนองเดียวกันกับผู้ที่เกิดในสุคติภูมิ ด้วยโสภณเหตุ ๓ คือ มี อโลภเจตสิก ๑ อโทสเจตสิก ๑ อโมหเจตสิก (ปัญญา) ๑ เกิดร่วมกับปฏิสนธิจิตในขณะเกิด จึงเป็นปัจจัยให้ ภวังคจิต และ จุติจิต ของผู้นั้น ในชาตินั้นมีโสภณเหตุ ๓ นี้เช่นกันครับ เราเรียกจิตชาติวิบากที่มีสติเกิดด้วยร่วมว่า โสภณวิบากจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
choonj
วันที่ 22 ธ.ค. 2551

โสภณ อโสภณ ศึกษามาแล้วนานๆ เข้า ก็ลืมว่าต่างกันอย่างไร แต่พอได้อ่านกระทู้ได้ถูกเตือนก็จำได้ ในขณะที่ลืมและพยายามที่จะรู้ว่าต่างกันอย่างไร ก็เข้าใจว่าต้องเป็นธรรมที่เกียวข้องกับเหตุ ๖ พอคิดถึงเหตุ ๖ ก็จำได้ถึงความแตกต่าง ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
vikrom
วันที่ 22 ธ.ค. 2551

โอ้โห ยอดเยี่ยมมากครับ ละเอียดจริงๆ มี LINK ให้ค้นหาข้อมูลอีกด้วย

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
พุทธรักษา
วันที่ 22 ธ.ค. 2551

ขออนุโมทนาด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
pamali
วันที่ 29 มิ.ย. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ