ที่ว่าตาเห็น สภาพรู้ที่เกิดเป็นนาม?

 
neatbeh
วันที่  14 ธ.ค. 2551
หมายเลข  10672
อ่าน  3,380

ตาเห็น เห็นรูปที่ปรากฏ ตาเห็นรูปใช่ไหมครับ แล้วสภาพรู้ที่เกิดคืออะไร ทำไมเป็นนาม

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
neatbeh
วันที่ 14 ธ.ค. 2551

มาถามเพิ่มเพื่อให้ท่านผู้ตอบตอบได้สะดวกขึ้น คือตาเห็นรูป (เช่นขับรถมาเห็นรถคันอื่น ฯ ซึ่งผู้ถามก็เข้าใจว่ามีแสง (+อื่นๆ ) ซึ่งคือรูป) แต่เมื่อได้ฟังคำบรรยายธรรม ได้ยินว่าเมื่อตาเห็นรูป ก็เกิดสภาพรู้ซึ่งเป็นนาม ก็เลยไม่เข้าใจ

อีกคำถามนะครับปกติที่รู้ตัวง่ายสำหรับผู้ถามก็คือกระทบแข็ง (อ่อน/แข็ง) ก็รู้ว่าสิ่งที่กระทบคืออ่อน/แข็ง สิ่งที่กระทบ (กายประสาท) คือรูปใช่ไหม อารมณ์ที่ทราบว่าอ่อน/แข็ง คือนาม? นามในที่นี้คือจิต หรือเจตสิกอะไรครับ

สำหรับที่รู้มากหน่อยเรื่องการกระทบอ่อนแข็ง ปัจจุบันก็รู้แค่ว่ารู้อ่อนหรือแข็ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและมากขึ้นจึงได้รบกวนถามมาสองคำถามครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prachern.s
วันที่ 15 ธ.ค. 2551

ควรทราบความจริงว่าทุกขณะในชีวิตประจำวันคือ นามธรรมและรูปธรรมกำลังเป็นไปอยู่ สิ่งใดที่รู้ อาการรู้ ลักษณะรู้เป็นนาม ได้แก่จิตและเจตสิก สิ่งใดที่ไม่รู้อะไรเลยเป็น รูปทางตา สภาพที่เห็น หรือรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นนาม เป็นจิตและเจตสิก ส่วนสภาพที่ถูกรู้เป็นรูป ได้แก่สีสันวรรณะทั้งหลาย เป็นสภาพไม่รู้อะไร ทางทวารหู ก็เช่นกัน สภาพรู้ทางหู การได้ยิน เป็นนาม ส่วนเสียงที่มากระทบเป็นรูป ไม่ใช่สภาพรู้ ตลอดไปถึงทางกาย สิ่งที่กระทบกาย เย็น ร้อน อ่อนแข็ง เป็นรูป สภาพรู้เป็นนาม คือจิต และเจตสิก เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตขณะนั้นมีหลายประเภท เช่น ผัสส เวทนา สัญญา เจตนา เป็นต้น

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่...

นามธรรมรูปธรรม

รูป นาม มีอะไรบ้าง

นามธรรม

เมื่อเริ่มศึกษา ๔ ...รูปธรรมและนามธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
neatbeh
วันที่ 15 ธ.ค. 2551

ขอบคุณสำหรับคำตอบครับ แต่ก็ยังไม่กระจ่างครับ เมื่อตาเห็นรูป (เช่นรถยนต์) คือรูปธรรม แต่สภาพรู้ที่เกิดที่บอกว่าเป็นนามคืออะไรครับ (โสตวิญญาณธาตุหรือเปล่า) ถ้าใช่ก็พอจะเข้าใจว่าเห็นทางตาเกิดสภาพรู้เป็นนาม

ถ้าไม่ใช่ ขอเรียนถามเพื่อความเข้าใจคือตาที่เห็น (รถ) คือเห็นรูปธรรม หรือนามธรรมปัจจุบันเข้าใจว่า ตาเห็นรูปธรรมแล้วเกิดความรู้สึก (ขั้นคิด) ว่าเวทนาเป็นอุเบกขา หรืออื่นๆ ปัญหาที่ถามคือได้ยินจากเทปบรรยายธรรมว่าตาเห็นเกิดสภาพรู้ (สภาพรู้ที่ว่าคงเป็นนาม ไม่ใช่รูป) จึงได้มาเรียนถามครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ajarnkruo
วันที่ 15 ธ.ค. 2551

ขอเรียนถามดังนี้ เพื่อร่วมสนทนาด้วยนะครับ ความจริงแล้ว

1. ตาหรือจิต ที่ "เห็น"?

2. ที่ว่า "เห็น" นั้น เป็น โสตวิญญาณ หรือจักขุวิญญาณ?

3. ตาเห็นรูปธรรม (ที่ปรากฏทางตา) หรือ ว่า จิตเห็น เห็นรูปธรรม (ที่ปรากฏทางตา) ?

4. ตาเห็นเป็นรถยนต์ หรือ จิตเห็น เพียงเห็นเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา?

5. ตาเห็นจริงๆ ว่าเป็นรถยนต์ หรือ หลังเห็น จึงคิดว่า สิ่งที่เห็นเป็นรถยนต์?

คลิกฟังที่นี่ครับ....

องค์ ๔ ของการเห็น

จิตเห็นกับสติที่ระลึก

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
neatbeh
วันที่ 15 ธ.ค. 2551

1. ตาเห็น จิตรับรู้

2. เห็นนั้นต้องเป็นจักขุวิญาณธาตุ (ไม่ใช่โสต ฯ)

3. เหมือนข้อ 1 คือตาเห็นรูปธรรม จิตรู้รูปนั้น (จิตเห็น ตกลงมีไหมครับ)

4. เป็นจิตรับรู้ (ที่ผมเข้าใจจิตเห็นไม่มี มีแต่จิตรับรู้รูป)

5. ตาก็เห็นแต่หลังเห็นจึงคิดว่าเป็นรถยนต์)

ผิดถูกขอท่านผู้ถามชี้แนะ

แต่ที่ผมถามจริงๆ แล้วยังไม่ได้คำตอบตรงๆ คือการแยกรูปแยกนามที่ปรากฏทางจักษุ ส่วนไหนคือรูป ส่วนไหนคือนาม (จากตัวอย่างของการเห็นรถยนต์)

โปรดชี้แนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 15 ธ.ค. 2551

ตา เป็นรูปธรรม เรียกว่า จักขุปสาท (รูปธรรม) เห็น เป็นนามธรรม เรียกว่า จักขุวิญญาณ (นามธรรม) ตา และ เห็น เป็นสภาพธรรมคนละประเภทค่ะ

จากคำถาม

"ตาเห็น เห็นรูปที่ปรากฏ ตาเห็นรูปใช่ไหมครับ แล้วสภาพรู้ที่เกิดคืออะไร ทำไมเป็นนาม".

จากการศึกษา ทราบว่า ตาไม่ได้เห็นรูปค่ะ เพราะตาเป็นรูปธรรม รูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ เห็น เป็นนามธรรมค่ะ มีรูปธรรม (สี) เป็นอารมณ์ เห็นเป็นสภาพรู้

การเห็น (จักขุวิญญาณจิต) เกิดจาก การกระทบกัน (ผัสสเจตสิก) ระหว่าง ตา (จักขุปสาทรูป) และ สี (รูปารมณ์)

(ทั้งหมดข้างต้น ยังไม่ถึงวาระจิตที่คิดเป็นบัญญัติ คือเรื่องราว คือ รถยนต์ ค่ะ)

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ajarnkruo
วันที่ 16 ธ.ค. 2551

ขอตอบคำถามสุดท้ายก่อนนะครับ ในขั้นการฟัง การศึกษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจนั้น ในขั้นปริยัติท่านแสดงไว้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ (วัณณรูป) เป็นรูปธรรม เป็นสภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ แม้ว่าตนจะมีสีเขียว ก็ไม่รู้ว่าตนมีสีเขียว เป็นต้น สภาพที่สามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ในขณะนี้ (จักขุวิญญาณ) เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ อาการรู้ แม้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาจะมีสีอะไรก็ตาม ก็สามารถที่จะรู้แจ้งในสีนั้นๆ ได้

ขอเรียนถามกลับเพื่อสนทนาด้วยนะครับ

1. เหตุใดจึงสนใจการแยกรูป แยกนามที่ปรากฏทางจักษุครับ

ส่วนคำถามที่ถามด้านบน มุ่งเพียงที่จะทราบเหตุผลของคำตอบครับ ก็คงจะไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิดครับ เพียงแต่ว่า ถ้ายิ่งได้สนทนาธรรมกันมากขึ้น ก็ยิ่งที่จะได้คำตอบที่ถูกต้องขึ้น เป็นเหตุเป็นผลขึ้นเอง จากการอ่าน การสนทนา และการพิจารณาตามจากความเห็นของหลายๆ ท่านที่ได้ศึกษาพระธรรมมา ซึ่งหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจธรรมของผู้ร่วมสนทนาทุกๆ ท่านครับ

ถ้าไม่ว่าอะไร ขอเรียนถามเพิ่มเติมในความหมายต่อไปนี้ สามารถตอบได้ตามความเข้าใจของคุณ neatbeh ในแต่ละข้อนะครับ 1. ตา คือ อะไร?

2. ตาเป็นรูปหรือเป็นนาม?

3. ถ้าตาเป็นรูป เป็นรูปอะไร หรือ ถ้าตาเป็นนาม เป็นนามอะไร

4. รูป คือ อะไร?

5. นาม คือ อะไร?

6. ความจริงแล้ว เห็นรถยนต์จริงๆ ทันทีหรือต้องมีการเห็นสีมากมายก่อน แล้วจึงคิดว่าสีมากมายที่ได้เห็นแล้วนั้นเป็นรถยนต์?

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
neatbeh
วันที่ 16 ธ.ค. 2551

ขอบขอบพระคุณคุณพุทธรักษา และคุณ ajarankruo มากครับสำหรับคำตอบ พอที่เข้าใจมากขึ้น

ที่สนใจเรื่องการแยกรูปนามทางตา เพราะจากการฟังคำบรรยายธรรมมาระยะเวลาหนึ่งพอจะเข้าใจเรื่องเย็นร้อน อ่อนแข็ง ที่มาจากการกระทบกัน หรืออื่นๆ ของกายประสาทแต่พอมาทวารอื่น เช่นทางตา/หู/จมูก/ลิ้น ตอนแรกก็เข้าใจว่าตาเห็น (เห็นรูป ก็คือรูป) เข้าใจไปอีกว่าถ้าพอนึก (ไม่ใช่ระลึกรู้) สิ่งที่นึก (หรืออาจจะระลึก) ได้ก็คือนาม ทวารอื่นก็เช่นเดียวกัน ครั้นไปฟังเพิ่มเติมก็ไปติดกับคำว่าเรื่องสภาพรู้ของทางตาเป็นนาม ก็เลยไม่เข้าใจ จากคำตอบของท่านทำให้พอจะเข้าใจได้มากขึ้น

1 + 2 + 3. ตาเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยรูปที่เกิดขึ้น (มหาภูตรูป 4 + อื่นๆ + จักขุประสาท + ชีวินตรินทรีย์รูป) ตาเป็นรูปอะไร ไม่ทราบแล้วครับ ทราบแต่เป็นรูปธรรมที่มีรูปอื่นๆ ประกอบ

4. รูปคือปรมัตถธรรมที่ไม่รู้อารมณ์

5. จิต 89 เจตสิก 52 และนิพพาน

6. ไม่เห็นรถยนต์ทันที เห็นวรรณะ และต้องมีองค์ประกอบการเห็นตามที่ท่านแสดงไว้ในลิงค์ คคห. 4 จนกระทั่งจิตคิดเป็นบัญญัติว่าเป็นรถยนต์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 16 ธ.ค. 2551

คุณ neatbeh ครับ ถ้าประจักษ์ต้องไม่สงสัยครับ พระตถาตคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้จักทางประกาศทางให้ปรากฏ เป็นผู้ฉลาดในทาง เราเป็นผู้ดำเนินตามทางมาภายหลัง (พุทธสูตร) ผมขอแสดงความคิดเห็นในคำถามของคุณ"ตาเห็นรูปที่ปรากฏ...สภาพรู้ทำไมเป็นนาม" "เห็น" เป็นสภาพรู้ "รูป" เป็นสิ่งที่ถูกเห็นครับ คนละสภาพกันครับ ก็ทำนองเดียวกับอ่อน/แข็งที่คุณเข้าใจแหละครับ แต่ อ่อน/แข็ง แยกขาดกันกับ รู้อ่อน/แข็ง คุณสงสัยไหม? ถ้าสงสัยแสดงว่ายังไม่ประจักษ์ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
พุทธรักษา
วันที่ 16 ธ.ค. 2551

ขอแนะนำให้คุณ neatbeh ลองทบทวนรายละเอียดจากหนังสือปรมัตถธรรมสังเขปโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพราะในหนังสือเล่มนี้ ได้อธิบายเรื่องจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ .. ฯลฯ ไว้อย่างชัดเจนมากค่ะ

(ข้าพเจ้าเอง ก็ยังค่อยๆ อ่านอยู่เช่นกัน และยังอ่านไม่จบเลยค่ะ) แล้วถ้ามีเวลาก็มาร่วมกันสนทนาธรรมอีกนะคะเพื่อประโยชน์ คือความรู้ค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
neatbeh
วันที่ 17 ธ.ค. 2551

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำของทุกท่านครับ หนังสือปรมัตถ์ธรรมสังเขปมีอยู่ในมือมาสักปีสองปีแล้วครับ ฟังและอ่านประกอบไปได้ครึ่งหนึ่ง แต่เฉพาะฟังอย่างเดียวครบไปแล้ว 200 ตอนเศษ

ปัจจุบันเท่าที่พอจะเข้าใจก็เรื่องรู้อ่อน รู้แข็งแหละครับ เพราะว่าจากที่ไม่เคยเข้าใจก็พอจะเข้าใจสภาพอ่อน แข็ง ไม่ทราบว่าจะรู้ถูกต้องไหม ก็คือแค่รู้สภาพว่าอ่อนแข็ง เข้าใจว่าเกิดการกระทบสัมผัสทางกาย เข้าใจว่าการรู้อ่อน รู้แข้ง จากการกระทบกายประสาทนั้นเป็นนามไม่ใช่รูป (เช่นเมื่อนั่งบนเบาะรถยนต์เมื่อขับรถ หรือจับต้องสิ่งของ)

เรื่องทางตาก็เป็นไปดังที่ถาม พอจะเข้าใจมากขึ้น

เรื่องทางเสียง ตอนที่ระลึกรู้ ก็ว่าคือเสียง เสียงก็ดับไป แต่ถัดมาก็เป็นเรื่องนึกคิดแล้วว่าฟังอะไรอยู่ ก็เข้าใจเองอีกว่าเรื่องที่นึกก็นึกไป คงเป็นนาม

ทางจมูก พอได้กลิ่นอะไรที่ชัด ก็ระลึกกลิ่นนั้น แต่ไม่ได้ทราบหรอกครับ ว่าอะไรเป็นนามพอระลึกกลิ่นก็เลยไปที่ว่ากลิ่นเป็นรูป ได้กลิ่นดีก็เป็นวิบากดี ได้กลิ่นขยะหรือของเหม็นเน่าก็ว่าเป็นวิบากไม่ดี

ทางลิ้น ไม่ค่อยได้ระลึกอะไรมักจะเพลินไปกับรสอาหารมากกว่าว่า อร่อย ไม่อร่อย

ทางใจ ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องโลภะ โทสะหรือเปล่า จะมีขณะที่รู้ว่าเกิดความโลภก็พอรู้ว่าโลภะเกิด โทสะนี่จะชัดหน่อย ถ้าเกิดความขุ่นเคืองใจบางทีจะชัดมาก แต่ส่วนมากเกิดแล้วเข้ามารู้ตัว

ตอนนี้ไปมาคงแค่ถ้าระลึกก็คงระลึกรู้ เอาแค่สภาพรู้กับสภาพไม่รู้ แค่นั้นแหละครับเพราะผมเข้าใจไปว่าสภาพรู้ต้องเป็นนาม (ดังที่พูดไว้ใน คคห. ต้นๆ ) หลังจากอ่านๆ ไป ฟังๆ เทปไป ณ เวลานี้คงได้แค่สภาพรู้ กับสภาพไม่รู้ ปัจจุบันก็ดูเหมือนปนๆ ไปเช่นพอเกิดสภาพรู้ (ถ้าเข้าใจถูกต้อง) ก็เลยไปถึงเรื่องเวทนาบ้าง เรื่องเหตุบ้าง เรื่องวิบากบ้าง

ก็ขอคำแนะนำเพิ่มเติมว่าสิ่งที่เข้าใจ และเกิดขึ้นมาจะเป็นทางที่ถูกหรือไม่ประการใดนอกเหนือจากสิ่งที่ได้ถามมาแล้ว

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
พุทธรักษา
วันที่ 17 ธ.ค. 2551

ขอร่วมสนทนาดังนี้ค่ะจากข้อความที่อธิบายมา...ขอให้เข้าใจตรงกันเสียก่อนนะคะข้าพเจ้า ก็เพิ่งเริ่มศึกษา คงจะอธิบายได้ตามกำลังปัญญาเท่าที่มีอยู่เท่านั้นกรุณาอย่าคิดว่าเป็นคำตอบ เป็นความเห็นเท่านั้น.จึงขอความกรุณาท่านอื่นร่วมสนทนาด้วย หากมี่ข้อผิดพลาดประการใดค่ะ

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำของทุกท่านครับ หนังสือปรมัตถ์ธรรมสังเขปมีอยู่ในมือมาสักปีสองปีแล้วครับ ฟังและอ่านประกอบไปได้ครึ่งหนึ่ง แต่เฉพาะฟังอย่างเดียวครบไปแล้ว 200 ตอนเศษ

จุดเริ่มต้นที่ถูก ควร เข้าใจจริงๆ ก่อนว่าปรมัตถธรรม, ธรรมะ, ธาตุ คืออะไร นามธรรมคืออะไร รูปธรรมคืออะไร นามธรรมคืออะไรบ้าง แต่ละอย่างมีลักษณะอย่างไรคะ รูปธรรม มีลักษณะอย่างไร เกี่ยวข้องกับนามธรรมในลักษณะไหนคะ.

ปัจจุบันเท่าที่พอจะเข้าใจก็เรื่องรู้อ่อน รู้แข็งแหละครับ เพราะว่าจากที่ไม่เคยเข้าใจก็พอจะเข้าใจสภาพอ่อน แข็ง ไม่ทราบว่าจะรู้ถูกต้องไหม ก็คือแค่รู้สภาพว่าอ่อนแข็ง เข้าใจว่าเกิดการกระทบสัมผัสทางกาย เข้าใจว่าการรู้อ่อน รู้แข้ง จากการกระทบกายประสาทนั้นเป็นนามไม่ใช่รูป (เช่นเมื่อนั่งบนเบาะรถยนต์เมื่อขับรถ หรือจับต้องสิ่งของ) ความจริงแล้ว สิ่งที่มีจริงๆ นั้น มีปรากฏให้รู้ได้ ไม่ใช่แข็งหรืออ่อนทางกายอย่างเดียว.

ควรเข้าใจว่า สติเกิดได้ โดยไม่เลือกนะคะกรุณาลองพิจารณา จากชีวิตจริงๆ นะคะ

๑. ตอนเห็น มีอะไรปรากฏคะ?

๒. ตอนได้ยิน มีอะไรปรากฏคะ?

๓. ตอนได้กลิ่น มีอะไรปรากฏคะ?

๔. ตอนลิ้มรส มีอะไรปรากฏคะ?

๕. ตอนกระทบสัมผัส มีอะไรปรากฏคะ?

๖. ตอนคิดนึก มีอะไรปรากฏคะ.?

ตรงไหน เป็นนาม .ตรงไหน เป็นรูป คะ.? ข้อ ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ แต่ละทางปรากฏทางไหนบ้าง คะ.? ในชีวิตประจำวันของเรา นอกจากสิ่งที่ปรากฏข้างต้นนี้มีอะไร....ปรากฏให้รู้ได้บ้างคะ? จุดประสงค์ของการรู้ว่า ปรมัตถธรรม คือ ไม่ใช่นามธรรม ก็เป็นรูปธรรม (แยกโดยย่อ) คุณคิดว่า รู้อย่างนี้ เพื่ออะไรคะ? เป็นการสนทนาธรรมเพื่อประโยชน์ คือความเข้าใจค่ะ คำตอบมีอยู่ในการบรรยายธรรม ในหนังสือปรมัตถธรรมทั้งหมดค่ะ ถ้าพอจะมีเวลาค้นคว้า เพื่อทบทวน เฉพาะเรื่องที่สงสัยก่อน

มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง กล่าวว่าเราไม่สามารถ จำทุกอย่างในตำราได้ เพราะไม่มีทางจำได้หมด จำได้หมดแต่ไม่เข้าใจ ไม่นานก็ลืม เช่น คุณหมอสั่งยาให้คนไข้ ท่านไม่ได้จำว่า ยามีทั้งหมดกี่อย่างไม่ได้จำว่า ยาแต่ละอย่างรักษาโรคอะไรได้บ้าง แต่ท่านต้องทราบด้วยความเข้าใจว่าโรคแต่ละอย่าง ต้องรักษาด้วยยาอะไรบ้าง.

ขออนุโมทนาที่สนใจศึกษาพระธรรม การเริ่มต้นที่ถูก เหมือนการเดินทางไกล ที่ต้องรู้ว่าจุดหมายคืออะไรก่อนนะคะและการถึงจุดหมาย ต้องเดินอย่างไร จึงจะไม่หลงทางค่ะ ถ้าสหายธรรมท่านอื่น จะโปรดกรุณาแนะนำด้วย จักเป็นประโยน์อย่างยิ่ง เพราะตามปกติแล้วผู้ที่มีความเข้าใจที่มากกว่า ย่อมเกื้อกูลได้มากกว่าค่ะ


 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
พุทธรักษา
วันที่ 17 ธ.ค. 2551

อีกข้อความหนึ่งจากการอธิบายของท่านอาจารย์ลองอ่านดูนะคะ..

ถ้าไม่เข้าใจความต่างของ ปรมัตถธรรม และ บัญญัติก็จะเกิดความสับสน ปะปนกัน และเป็นแต่ "ความคิดนึก" เจ้าค่ะ ค่อยๆ พิจารณา ... แล้วสนทนาธรรมต่อนะคะ


อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
neatbeh
วันที่ 18 ธ.ค. 2551

ขอบพระคุณครับ

ยังรอฟังคำแนะนำเพิ่มเติมโดยเฉพาะเรื่องราวใน คคห. ที่ 11 ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
ajarnkruo
วันที่ 18 ธ.ค. 2551

อาศัยการศึกษาธรรม การสนทนาธรรมต่อไป แล้วความเข้าใจที่มากขึ้นก็จะช่วยตัดสินความถูกต้องในเรื่องต่างๆ สภาพธรรมต่างๆ ที่ปรากฏตามระดับขั้นของปัญญาได้ครับ ถ้าความเห็นถูกมีเพิ่มขึ้นในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ ปัญญาก็จะทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น ทำให้กุศลธรรมประการต่างๆ เจริญขึ้น ทำให้เป็นผู้ที่แกล้วกล้าอดทน อาจหาญ ร่าเริง ไม่หวั่นไหวไปกับโลกธรรมได้มากขึ้นครับ แต่ก็เป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ ไม่ควรทอดทิ้งการฟังพระธรรม การพิจารณาเหตุผลของธรรม การเป็นผู้ตรง และน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ตามกำลังของปัญญาต่อไป เพราะหนทางนี้ยังคงอีกไกลแสนไกล แต่ถึงแน่นอนถ้าเหตุสมควรแก่ผลครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Sam
วันที่ 19 ธ.ค. 2551

อ้างอิงจาก : ความคิดเห็นที่ 14 โดย neatbeh

ขอบพระคุณครับ

ยังรอฟังคำแนะนำเพิ่มเติมโดยเฉพาะเรื่องราวใน คคห. ที่ 11 ครับ

ประโยชน์สูงสุดของการศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรม คือ ปัญญา ซึ่งควรเข้าใจว่าปัญญามีหลายระดับขั้น และในแต่ละระดับขั้นก็มีกำลังน้อยไปถึงมากแต่งต่างกันมากมายจริงๆ

ปัญญาขั้นต้น คือ ปัญญาขั้นการฟัง ซึ่งก็คือความเข้าใจอันเกิดจากการฟัง (รวมไปถึงการอ่าน การสนทนา ฯลฯ) บางท่านฟังแล้วเข้าใจบ้างเล็กน้อย บางท่านฟังแล้วก็เข้าใจมาก ซึ่งความเข้าใจจากการฟังเป็นการแสดงถึงผลจากการสั่งสมมาในอดีตด้วยครับ ไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น และนับไม่ได้ว่าฟังมากี่เดือน กี่ปี หรือกี่เล่ม กี่บท แต่หากปัญญาขั้นฟังนี้จะมั่นคงได้ต้องฟังมากพิจารณามากจริงๆ

เมื่อ ปัญญาขั้นการฟังมั่นคงขึ้น คือ มีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้นในพระธรรม ที่ได้ฟังปัญญาระดับที่สูงขึ้นคือการระลึกรู้สภาพธรรมจึงเริ่มเกิดขึ้นทำกิจรู้รูปและนามตามความเป็นจริง สอดคล้องกับความเข้าใจขั้นฟังที่มั่นคงเป็นพื้นฐาน การระลึกรู้นี้เป็นกิจของปัญญาครับ ไม่ใช่เราระลึกตามความต้องการด้วยความเป็นตัวตน ต้องเป็นผู้ตรงจริงๆ ที่จะรู้ว่า ความเข้าใจจากการฟังพระธรรมมากพอ และมั่นคงพอ ที่จะทำให้สติพร้อมปัญญาระลึกรู้สภาพธรรมได้หรือไม่ ไม่ใช่เป็นเพียงการคิดว่าเรากำลังระลึก

ปัญญาขั้นสูง คือ ปัญญาที่รู้ชัด หรือประจักษ์แจ้ง ปัญญาขั้นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่รู้ว่าสภาพธรรมไม่ใช่เรื่องราวอันเกิดจากความนึกคิด แต่รู้อย่างชัดเจนว่า รูปธรรมเป็นรูปธรรมอย่างไร ต่างจากนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้อย่างไร และจะค่อยๆ พัฒนาเป็นความรู้แจ้งในความเป็นปัจจัยของธรรมะ รู้แจ้งในไตรลักษณ์ ฯลฯ จนรู้แจ้งอริยสัจธรรมในที่สุดครับ

ในอัตภาพนี้ เราได้เกิดเป็นมนุษย์ และได้ฟังพระธรรมอันประเสริญก็นับได้ว่าไม่สูญเปล่า อย่างไรก็ดี ผู้ศึกษาธรรมจะต้องซื่อสัตย์ต่อความรู้ของตนครับ โดยรู้ว่าปัญญาที่มีในขณะนี้เป็นขั้นฟัง ขั้นระลึกรู้ หรือขั้นประจักษ์แจ้ง และต้องอาศัยกัลยาณมิตรผู้รู้เป็นผู้คอยแนะนำต่อไปครับ

ขอให้คุณ neatbeh ค่อยๆ ฟังธรรมต่อไป ไม่ต้องรีบร้อนไปทำอะไร เพราะหากฟังธรรมขณะนี้ยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่มั่นคง (ยังไม่แน่ใจ) ปัญญาขั้นอื่นก็ไม่อาจเกิดขึ้นทำกิจได้ ในทางตรงกันข้ามหากปัญญาขั้นการฟังมั่นคงดีแล้ว ก็ไม่อาจมีสิ่งใดมาห้ามปัญญาขั้นสูงที่จะเกิดขึ้นทำกิจได้ ดังเช่น เหล่าสาวกในสมัยพุทธกาลที่สั่งสมความเข้าใจและความรู้มาแล้วในอดีตชาติ เมื่อได้ฟังธรรมะเพียงสั้นๆ ก็บรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
จำแนกไว้ดีจ๊ะ
วันที่ 19 ธ.ค. 2551

ความเห็นที่ ๑๑ ผมมาอ่านถ้าไม่แสดงความคิดเห็นก็ไม่ถือว่าเป็นสหายธรรม รูป-นาม ถึงแยกก็ปนกันอยู่ เหมือนน้ำหลายสายปนกันในมหาสมุทรรู้อ่อนรู้แข็ง สภาพที่อ่อนแข็งก็ปนกับสภาพที่รู้อ่อนแข็งรู้อ่อนปรากฏแล้ว แต่แยกไม่ได้ อ่อนเป็นอย่างไร รู้อ่อนเป็นอย่างไร

สหายธรรมก็กระหายอยากที่จะรู้ ค้นคว้า หาต่อไป ว่าจะทำอย่างไรบ้าง จะปฏิบัติอย่างไรบ้าง ถามว่า รู้ที่วิถีจิตไหนบ้าง ทางปัญจทวารหรือ ทางมโนทวารหรือ ถามอย่างนี้เรื่อยไป ถามสหาย ธรรมๆ ก็บอกว่าให้ไปอ่านเรื่องนั้น ให้คลิ๊กไปที่นั้น เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
neatbeh
วันที่ 19 ธ.ค. 2551
ขอบคุณทุกท่านครับที่สละเวลามาแสดงความคิดเห็น ในเรื่องนี้คงไม่มีคำถามที่จะถามต่อล่ะครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
pornpaon
วันที่ 28 ธ.ค. 2551

มิตรดีเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น

การสนทนาซักถามจากท่านผู้รู้และสหายธรรมทั้งหลาย เป็นเรื่องควรทำ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตและกุศลวิริยะของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
neatbeh
วันที่ 24 พ.ย. 2553

ด้วยเวลาที่ผ่านไป กลับมาอ่านกระทู้เดิมที่เคยตั้งคำถามไว้พบว่ามีประโยชน์ต่อตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ขอบคุณทุกท่านที่ได้กรุณาตอบคำถามต่างๆ ไว้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
chatchai.k
วันที่ 28 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ