สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ 006


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    สนทนาธรรมที่รัฐสภา ตอนที่ ๖

    วันจันทร์ที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๕


    อ.สุภีร์ ฉะนั้น ไม่ว่าจะชาตินี้ก็ดี ไม่ว่าจะชาติไหนๆ ก็ดี ไม่มีคนเกิด ไม่มีสัตว์เกิด มีจิต เจตสิก รูปเกิด มีขันธ์เกิด ความจริงเป็นเช่นนี้ ฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงขันธ์ ๕ เราอาจจะงงไปกับศัพท์ แต่จริงๆ แล้วขันธ์ ๕ ก็นั่งอยู่ที่นี่แล้วก็มีการเห็น มีการได้ยินอะไรอย่างนี้ สิ่งเหล่านี้เป็นขันธ์ ๕ ทั้งหมด ต่อไปที่มีคำถามว่านอกจากมีขันธ์ ๕ แล้วก็ยังมีอุปาทานขันธ์ ๕

    คำว่า อุปาทาน หมายถึงความยึดมั่นถือมั่น อุปาทานขันธ์ก็คือขันธ์ที่ถูกยึดมั่นถือมั่น ขันธ์นี้เราก็ทราบมาแล้วใช่ไหมว่าเป็นจิต เจตสิก รูปขณะนี้นั่นเอง แล้วขันธ์ที่เป็นที่ยึดมั่นถือมั่นของกิเลสของเรานั้นเรียกว่าอุปาทานขันธ์ การยึดมั่นถือมั่นอาจจะยึดมั่นถือมั่นด้วยการเห็นผิด หรือว่ายึดมั่นถือมั่นด้วยความชอบอะไรก็ตาม แต่ขันธ์ก็คือสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นเป็นปัจจุบัน ดับไปเป็นอดีต และจะเกิดขึ้นต่อไปอีกในอนาคต ซึ่งในขันธ์ ๕ นี้ รูปขันธ์เป็นขันธ์ ๑ นามขันธ์มี ๔ ขันธ์ นามขันธ์ ก็คือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงขันธ์ ๕ นี้เพราะว่าแสดงคล้อยตามอัธยาศัยของสัตว์โลก ผู้ที่จะฟังพระธรรมแล้วเข้าใจได้เพราะเห็นว่าสัตวโลกหรือว่าเราเองนี้ ขณะที่ยังไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรมก็ยึดติดหรือติดข้องอยู่กับขันธ์ ๕ นี้ ข้องอยู่กับรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ฉะนั้นพระองค์จึงแสดงคล้อยตามการยึดติดของบุคคลที่ได้ฟังพระธรรม รูปที่ดีๆ ใครจะไม่ติด ใช่ไหม เสียงที่ดีๆ ใครไม่ผิดบ้าง นี่เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันสำหรับบุคคลที่ยังไม่ได้ยินได้ฟังพระธรรม หรือได้ยินได้ฟังพระธรรมแล้วก็ยังติด นี้เป็นความจริง ไม่มีใครไม่ชอบรูปที่ดี ไม่มีใครที่ไม่ชอบเสียงที่ดี อาหารก็ต้องอร่อยอร่อย ใช่ไหม อาจจะไกลสักนิดหนึ่ง กิโลเมตรหนึ่งก็ไป เพราะอร่อย ฉะนั้นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมคล้อยตามอัธยาศัยของผู้ฟังคล้อยตามสิ่งที่ผู้ฟังติดอยู่นั่นเอง นี้เป็นอย่างที่หนึ่ง ก็คือรูปขันธ์ ต่อไปเป็นนามขันธ์ ๔ ก็คือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ เวทนาเป็นเรื่องที่ใหญ่มากสำหรับชีวิตประจำวันของเรา ถ้าเป็นเวทนาที่ไม่ดี ก็ไม่ชอบใช่ไหม ที่เรียกว่าโทมนัสเวทนาหรือทุกขเวทนา การเห็นบุคคลที่ไม่ชอบ หรือว่าการสูญเสียสิ่งต่างๆ ไปก็เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์ หรือว่าโทมัสเวทนาซึ่งทุกท่านก็คงไม่ชอบ เวทนาเหล่านี้ ไม่ต้องการ ไม่อยากจะได้ ส่วนสุขเวทนา และโสมนัสเวทนาเป็นเวทนาที่ชอบ เวทนาที่อยากได้ แสวงหา ที่เราแสวงหาหรือติดกันมากมายในชีวิตประจำวันก็คือแสวงหาที่จะไม่ต้องทุกข์ไม่ต้องโทมนัส แสวงหาที่จะได้สุขโสมนัส ถ้าไม่ได้สุขโสมนัส ได้เพียงอุเบกขาก็ยังดี อย่างไรก็ขออย่าให้มีทุกข์กับโทมนัส แต่จริงจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นขันธ์ ๕ เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีทุกข์ และโทมนัสสำหรับในชีวิตประจำวัน เพราะว่าขันธ์ ๕ เกิดเพราะเหตุปัจจัย ใช่ไหม แต่เราก็ยังติดสุขเวทนากับโสมนัสเวทนา แสวงหาแต่สิ่งนี้ แล้วก็แสวงหาหนทางที่จะพ้นจากทุกขเวทนา และโทมนัสเวทนา แม้ไม่ได้สุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนาก็ขอเพียงอุเบกขาเวทนา เวทนาที่เฉยๆ ธรรมดาธรรมดา นี่ก็เป็นความติดความข้องในชีวิตประจำวันของเรา นี่จึงเป็นขันธ์หนึ่ง นี้เป็นเวทนาขันธ์ ต่อไปเป็นสัญญาขันธ์ สัญญาเป็นความทรงจำ ก็เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากรูปขันธ์ และเวทนาขันธ์นั่นเอง ไปที่นั่นที่นี่แล้วจะได้สุข และโสมนัส จำไว้ ที่โน่นที่นี่มีรูปสวยๆ จำไว้แล้วไปบ่อยๆ ติดใช่ไหมก็เป็นเรื่องของสัญญา เป็นธรรมดาในชีวิตประจำวัน ที่โน่นร้านชื่อนั้นอาหารอร่อย ต้องไป จำไว้ เป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันซึ่งบุคคลที่เข้าใจเรื่องขันธ์ ๕ ก็จะเห็นว่าพระหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน นี้เป็นนามขันธ์ที่สอง

    กล่าวไปแล้วสองขันธ์ ก็คือเวทนาขันธ์ และสัญญาขันธ์ ต่อไปเป็นสังขารขันธ์ สังขารขันธ์ก็เป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่งให้เกิดกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เวลาได้รับสุขเวทนา ทุกขเวทนา ก็เป็นกุศลบ้างเป็นอกุศลบ้างก็คือรู้สึกชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง ใช่ไหม ก็เป็นธรรมดาโทสะบ้าง โลภะบ้าง ชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ก็เป็นโลภะ ถ้าเป็นโดยชื่อของภาษาธรรมก็คือโลภเจตสิก ถ้าไม่ชอบสิ่งนั้น โกรธ มีความไม่พอใจเกิดขึ้นก็เป็นโทสเจตสิก สิ่งเหล่านี้เป็นสังขารขันธ์ก็คือสภาพที่ปรุงแต่งจิตให้เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้างในชีวิตประจำวัน สังขารเป็นสภาพธรรม หรือว่าเป็นเจตสิกที่ปรุงแต่งให้บุคคลนั้นเป็นคนใจดีบ้าง เป็นคนใจไม่ดีบ้าง เป็นคนชอบทำอะไรที่ช่วยเหลือคนอื่น บางคนก็ไม่ค่อยสนใจชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นสังขารขันธ์ ทุกคนชอบความสุขแต่บางคนชอบความสุขแต่ไม่เคยช่วยคนอื่นก็ได้ ใช่ไหม บางคนชอบความสุขแต่ชอบช่วยเหลือคนอื่น การชอบความสุขนี้เป็นการติดในเวทนาขันธ์ ส่วนการเป็นคนใจดี ไม่ดี อะไรต่างๆ นั้นเป็นสังขารขันธ์ สำหรับวิญญาณขันธ์ เป็นชื่อของจิตซึ่งขันธ์ทั้ง ๓ ที่กล่าวไปแล้วคือเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เวลามีการเห็นแล้วเกิดโกรธเกิดอะไรอย่างนั้น เป็นลักษณะการทำงานของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิต จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์เท่านั้น เพราะเหตุไรจึงบอกว่าเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ หรืออาจจะใช้คำว่ารู้แจ้งอารมณ์ เพราะเหตุว่าเวลาที่ทุกท่านมองไป สิ่งที่ปรากฏทางตาแล้วก็มีจิตเห็นเกิดขึ้นเห็น สามารถคิดเรื่องสิ่งที่เห็นได้ละเอียดขนาดไหนก็ได้ เป็นเส้นตัดกันต่างๆ เป็นดอกไม้ชนิดต่างๆ เป็นผีเสื้อได้หมด ฉะนั้น จิตนี้เป็นใหญ่มากในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทางตา สามาารถเห็นรายละเอียดได้ทุกอย่าง สามารถที่จะให้เราคิดสิ่งที่เห็นได้ ไม่ว่าจะเป็นสีสันวรรณะที่ประหลาดขนาดไหน หรือว่าวิจิตรพิสดารขนาดไหน จิตเห็นรู้รายละเอียดทั้งหมด อยู่ที่ว่าจะคิดเรื่องนั้นๆ หรือไม่ ฉะนั้นเวลาเห็นแล้ว เมื่อมีความสนใจในเรื่องนั้น คิดในเรื่องนั้นก็สามารถคิดรายละเอียดของเรื่องนั้นๆ ได้ทุกประการ ฉะนั้นจิตจึงมีลักษณะที่รู้แจ้งอารมณ์ หรือว่าเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เสียงก็เช่นเดียวกัน เสียง จิตที่ได้ยินเสียง เมื่อเสียงปรากฏ จิตที่ได้ยินเสียง รู้แจ้งเสียง จนสามารถทำให้จิดต่อๆ มา คิดเรื่องเสียงนั้นว่าเป็นเสียงด่า เป็นเสียงชม เป็นเสียงอะไรมากมาย นี้เป็นความหมายของขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็คือจิต เจตสิก รูป ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไปเรื่อยเรื่อย

    ฉะนั้นขันธ์ ๕ ในอนาคตมีด้วย ที่บอกว่าขันธ์ ๕ เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคตนี้ ความหมายก็คือว่า ไม่ว่าจะเป็นอดีตก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นอนาคตก็ตามก็เป็นเรื่องของขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นเมื่อได้เหตุปัจจัย ไม่มีคนเกิด ไม่มีสัตว์เกิด เมื่อขันธ์ ๕ เกิด ทำหน้าที่การงานแล้วก็ดับไปเราก็สมมติเรียกกันแต่ละนาทีแต่ละบุคคลไปใช่ไหม ขันธ์ ๕ นี้ทำหน้าที่บิดามารดาก็เรียกชื่อเรียกหน้าที่เรียกอะไรไปตามความเหมาะสม แต่จริงๆ ก็คือ ขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปไปเรื่อยเรื่อย ไม่มีการย้อนกลับมา ทุกท่านจะย้อนกลับไป สองวันที่แล้วนี้ไม่สามารถเป็นไปได้ ขันธ์ ๕ เกิดแล้วมีแต่ไป ไป ไป อย่างเดียว ความจริงคือเช่นนี้ ขันธ์ ๕ ที่ยึดมั่นถือมั่นเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ๕

    ผู้ฟัง ขอบคุณ อ.สุภีร์ที่ได้กรุณาให้ความเข้าใจขันธ์ ๕ ซึ่งก็เป็นสภาพธรรมที่กำลังมีจริงปรากฏอยู่จริงเดี๋ยวนี้ที่ทุกๆ ท่าน และสำหรับอุปาทานขันธ์นั่นก็คือขันธ์ ๕ ที่เป็นอารมณ์ของการยึดถือเพราะว่าอุปทานคือการยึดถือ ในชีวิตประจำวันของทุกๆ ท่าน ทุกท่านคงไม่ปฏิเสธว่าท่านมีภาระมากมายเหลือเกินไม่ว่าจะเป็นภาระในเรื่องของครอบครัวก็ตาม หรือว่าภาระในเรื่องของหน้าที่การงาน หรือภาระในเรื่องที่จะต้องบริหารร่างกายชีวิตให้เป็นไปในชีวิตประจำวันแต่ละวัน พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในข้อความตอน หนึ่ง ในพระสูตร คือพระสูตรนี้ว่าขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระแล และผู้แบกภาระคือบุคคล การถือภาระเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ในโลกการวางภาระเสียได้เป็นสุข บุคคลวางภาระหนักเสียได้แล้ว ไม่ถือภาระอื่นถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากแล้วเป็นผู้หายหิวดับรอบแล้วดังนี้ พระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ที่สุดตรัสถึงสูงสุดคือพระอรหันต์ เพราะว่าพระอรหันต์เป็นผู้ถอนตัณหาพร้อมทั้งมูลรากแล้วเป็นผู้หายหิวดับรอบแล้ว แต่ขอความพระดำรัสที่ได้อัญเชิญมาในตอนต้นที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่าขันธ์ ๕ ชื่อว่าเป็นภาระแล ในฐานะที่เราก็ยังไม่ถึงระดับของพระอรหันต์ การที่เรามีชีวิตประจำวันในแต่ละวันดำเนินไปดำเนินไปนี้ ได้กล่าวแล้วว่ามีภาระอะไรต่างๆ มากมายเหลือเกิน แต่ภาระเหล่านั้นก็คือ ขันธ์ ๕ ที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัส ใคร่ขอเรียนถามว่า ทำไมขันธ์ ๕ จึงชื่อว่าเป็นภาระ

    อ.สุภีร์ คำว่าภาระนั้น หมายถึงสิ่งที่ต้องนำไป ก็เหมือนกับในภาษาไทยเวลาเราใช้ เวลาเรามีภาระหมายถึงว่างานการต่างๆ นั้นเราต้องนำไป หรือว่าต้องทำให้เสร็จ ขันธ์ ๕ ก็เช่นเดียวกัน ตอนเช้าเราตื่นขึ้นมาทำไม ตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะเห็น ตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะได้ยิน ตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และคิดนึกเรื่องราวต่างๆ ของขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย นี่คือภาระ ถ้าพูดถึงภาระเราก็คงจะคิดไปถึงการงานที่หนักเหลือเกินในชีวิตประจำวัน แต่จริงจริงแล้ว การงานอะไรต่างๆ เหล่านั้น มีไม่ได้ถ้าไม่มีขันธ์ ๕ ถ้าไม่มีจิตที่คิด ถ้าไม่มีการเห็นที่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีการได้ยิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็มีไม่ได้ เย็นนี้ทุกท่านก็จะเป็นนอน นอนแล้วก็หลับไป ตื่นมาพรุ่งนี้เช้า ตื่นมาก็เห็นเหมือนเดิม ได้ยินเหมือนเดิม ได้กลิ่นเหมือนเดิม ลิ้มรสเหมือนเดิมกระทบสัมผัสเหมือนเดิมแล้วก็คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่เห็น เรื่องราวของสิ่งที่ได้ยินเรื่องราวของสิ่งที่ได้กลิ่น เรื่องราวของสิ่งที่ลิ้มรส เรื่องราวของสิ่งที่กระทบสัมผัส เช่นเดิมเหมือนกับทุกวันที่ผ่านมา สิ่งนี้คือภาระ ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า ขันธ์ ๕ เป็นภาระหนัก ทุกท่านเมื่อได้เห็นสิ่งที่ดี ก็อาจจะไม่คิดอะไรมาก ถ้าได้เห็นสิ่งที่ไม่ดี บางท่านอาจจะคิดว่าทำไมต้องได้เห็นสิ่งที่ไม่ดี ทำไมต้องได้ยินเสียงเพื่อนบ้านด่ากัน หรือว่าเสียงอะไรที่ทำร้ายความรู้สึก แต่จริงจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นภาระ เพราะว่าต้องเห็นสิ่งเหล่านี้ เพราะว่าต้องได้ยินสิ่งเหล่านี้ ทุกๆ วันก็เป็นเช่นนี้ ชาติต่อไปก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนกับที่ผ่านมาแล้วทุกๆ วัน เหมือนกับขณะนี้ที่กำลังจะผ่านไปอีก สิ่งเหล่านี้เป็นภาระที่พระหัตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้

    ผู้ฟัง ขอบคุณค่ะ ที่พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่าขันธ์ ๕ ชื่อว่าภาระ อ, สุภีร์ก็ได้ขยายความไปแล้ว ทีนี้พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่าผู้แบกภาระคือบุคคล แล้วบุคคลนั้นก็ย่อมแบกหรือถือภาระด้วยตัณหา เพราะว่าเราได้แบกภาระมาตั้งแต่ถือปฏิสนธิ การวางขันธ์ ๕ ไม่ใช่จะวางง่ายๆ เหมือนกับวางของที่หิ้วมา ใช่ไหม เพราะด้วยความที่เรายึดถือขันธ์ ๕ มาเป็นเวลาเนิ่นนาน ไม่ว่าจะกี่แสนโกฏกัปป์ ยึดถือมานาน แบกมานาน จากภพหนึ่งสู่อีกภพหนึ่ง พอได้ปฏิสนธิใหม่ก็แบกขันธ์ ๕ ต่อไปเรื่อยๆ ทุกภพทุกชาติ การที่จะวางภาระคือขันธ์ ๕ ลงได้ก็จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้นการที่จะศึกษาทำความเข้าใจเรื่องของขันธ์ ๕ เราได้ทราบกันแล้วว่าปรมัตถ์ธรรม ๓ คือจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ และรูปปรมัตถ์ จำแนกเป็นขันธ์ ๕ ดังที่ได้กล่าวมาในตอนต้น เพราะฉะนั้นจิตปรมัตถ์เป็นวิญญาณขันธ์ ก็ได้ทราบกันแล้ว เป็นส่วนของวิญญาณคือจิต วิญญาณหรือจิตนี้เป็นศัพท์ที่มีความหมายเดียวกันก็คือเป็นคำที่แสดงถึงสภาพรู้ รู้อะไร ก็คือรู้อารมณ์นั่นเอง เพราะฉะนั้นเราจะขอสนทนากันในเรื่องของ ขันธ์ ขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ คือวิญญาณขันธ์ที่เป็นจิตปรมัตถ์ก่อน ซึ่งเรื่องของจิตนี้ ในพระสูตรสูตรหนึ่ง ก็มีเทวดาไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า โลกอันอะไรย่อมนำไป อันอะไรหนอย่อมเสือกใสไฟ โลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คืออะไร พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสตอบว่า โลกอันจิตย่อมนำไป อันจิตย่อมเสือกใส่ไปโลกทั้งหมดเป็นไปตามอำนาจของธรรมอันหนึ่ง คือจิต ขอให้อาจารย์ได้กรุณาให้คำอธิบายคำว่าโลก หรือโลกะ

    อ. สุภีร์ ความหมายของคำว่า โลก คำว่าโลก โดยศัพท์จริงๆ แล้วมีความหมาย ๒ อย่าง คือแปลว่ามองเห็นได้อย่างหนึ่ง แปลว่า แตกสลายอย่างหนึ่ง สำหรับโลกที่แปลว่าแตกสลาย ก็คือโลกที่เป็นสังขารโลก สังขารโลกก็คือจิต เจตสิก รูป หรือขันธ์ ๕ นี้เอง เห็นเมื่อสักครู่นี้ดับไปแล้ว ใช่ไหม เห็นเมื่อสักครู่เป็นโลก เพราะว่าเกิดแล้วดับได้ยินเมื่อสักครู่นี้ก็ดับไปแล้ว ได้ยินเป็นโลก เพราะว่าเกิดแล้วดับ สิ่งที่เกิดแล้วดับเรียกว่าโลก เป็นชื่อของสังขารโลกซึ่งก็คือเป็นชื่อของจิต เจตสิก รูป หรือขันธ์ ๕ ที่เราได้สนทนากันไปแล้ว นี้เป็นโลกอย่างหนึ่ง ความหมายของคำว่าโลกอีกความหมาย หนึ่งก็คือ สิ่งที่มองเห็น สิ่งที่เรามองเห็นเป็นโลก อย่างโลกของเราสมมติกันว่ากลมกลม หรือว่าดวงจันทร์กลม ดวงอาทิตย์ก็กลม อย่างโลกของเรา ก็เป็นที่อาศัยของมนุษย์ และก็สัตว์เดรัจฉานที่เราพอมองเห็นได้ บางชนิดก็ยังไม่สามารถมองเห็นได้อาจจะอยู่ในทะเลหรืออะไรก็ตาม อย่างนี้เรียกว่าโอกาสโลก โลกที่เป็นที่อยู่ของหมู่สัตว์ โลกอีกประการหนึ่ง ก็คือสัตวโลก สัตว์โลกก็คือ จิต เจตสิก รูปทั้งหลายที่เกิดด้วยกรรมที่แตกต่างกัน คำว่าสัตว์โลกจึงมีความหมายว่าเป็นที่ดูบุญ และบาป และผลของบุญ และบาป เพราะเห็นว่าโลกของแต่ละคนแต่ละคนก็มีแต่ละหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัสซึ่งเป็นผลของบุญ และบาปแล้วก็จะมีการทำบุญ และบาปต่อ อย่างในมนุษย์เรา แม้แต่ทุกท่านที่นั่งอยู่ขณะนี้ ก็เป็นจิตเจตสิกรูป หรือว่าเป็นขันธ์ ๕ ที่เกิดมาจากกรรมที่แตกต่างกัน แต่ละท่านนี้ ไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้เลย เห็นคนละอย่างไ ด้ยินคนละอย่าง ขณะนี้เหมือนกับว่าหลายๆ ท่านเห็นเหมือนกัน ใช่ไหม แต่จริงจริงแล้วด้วยความรวดเร็วของจิตจะไม่มีทางที่จะเหมือนกันได้ ขณะที่ท่านหนึ่ง เห็นอีกท่านหนึ่ง อาจจะกำลังคิดอยู่ ขณะที่ท่านหนึ่ง กำลังเห็นท่านนึงอาจจะกำลังได้ยิน ด้วยความรวดเร็วของจิตก็เหมือนกับว่า ได้ยินพร้อมกันได้เห็นอะไรพร้อมกัน แต่จริงจริงแล้ว แต่ละคนก็แต่ละหนึ่ง โลกของแต่ละคนแต่ละคนนั้นเหมือนว่ามีอะไรมากมายเหลือเกิน โลกเมื่อกล่าวโดยจริงๆ แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะปรากฎได้ก็เพราะว่ามีโลก ๖ โลกก็คือ โลกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ บางท่านอาจจะนั่งแถวหน้า โลกข้างหลังไม่ปรากฏ เพราะว่าไม่เห็น มีเฉพาะข้างหน้าเท่านั้นที่ปรากฏ ข้างหลังนี้ไม่มีอะไร แต่ก็อาจจะได้ยินเสียงบ้างก็คิดไปว่ามีคนอยู่ข้างหลัง แต่นั่นเป็นโลกของความคิด ซึ่งจริงจริงแล้วบุคคลที่นั่งอยู่ข้างหลังอาจจะลุกหนีไปแล้วก็ได้ ฉะนั้นโลกของแต่ละคนจึงมีแต่ละหนึ่ง เมื่อเราทุกข์เราก็ทุกข์คนเดียว เมื่อสุขก็สุขคนเดียว เวลาเรามีความทุกข์ มีอะไร

    ปกติในชีวิตประจำวันก็คือเราจะหาคล้ายๆ กับว่าเป็นที่พูดคุย หรือว่าเป็นการปรับทุกข์ หรือว่าช่วยเหลืออะไรกันใช่ไหม แต่จริงๆ แล้วทุกอย่างอยู่ที่โลกของเรา โลกของคนบางคนมีแต่ความเมตตากรุณาพร้อมที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่น โลกของบุคคลนั้นก็จะสวยงาม และก็น่าอยู่ ถ้าตรงกันข้ามจากบุคคลนี้ โลกของบุคคลนั้นก็ไม่น่าอยู่ไม่น่าชอบใจเท่าไหร่ ฉะนั้นแต่ละคนจะรู้จักโลกก็รู้จักที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่กระทบสัมผัส และที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ จึงเป็นการรู้จักโลก เราอาจจะรู้จักโลกว่ามีสัณฐานเป็นกลมกลม ระยะดวงอาทิตยห่างจากโลกเท่าไหร่ ดวงจันทร์ห่างจากโลกเท่าไหร่ จากการที่นักวิทยาศาสตร์เขาได้วัดมาแล้วเราก็ศึกษากันมา ใช่ไหม สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่มีโลกทางตาแล้วก็ไม่ได้คิดสิ่งที่เห็น สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็จะไม่มี ฉะนั้น โดยความหมายของคำว่าโลกนี้มีอยู่ ๓ อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วก็คือ หนึ่ง สังขารโลกโลกคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วดับไป สอง โอกาสโลก สถานที่ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์บุคคลที่เกิดเพราะกรรมต่างๆ กัน และประการที่ ๓ ก็คือสัตวโลกก็คือสัตว์บุคคลต่างๆ ที่เกิดเพราะกรรมแตกต่างกัน ซึ่งโลกทั้ง ๓ อย่างนี้ จริงๆ แล้วก็เริ่มมาจากสังขารโลกนั่นเอง สังขารโลกก็คือจิตเจตสิกรูป หรือว่าขันธ์ ๕ ที่มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ที่แปลว่าโลกคือการแตกดับ สิ่งที่แตกดับเป็นสังขารโลก จิตเจตสิกรูปที่เกิดเพราะกรรมต่างๆ กัน แล้วแต่ละคนก็แต่ละโลก ใช่ไหม โลกของบุคคลนี้เป็นเช่นนี้ โลกของคนนี้ใจดี โลกของคนนี้ใจไม่ค่อยดีเท่าไหร่ คนนี้ชอบช่วยเหลือคนอื่น คนนี้ไม่ค่อยชอบช่วยเหลือคนอื่น เหล่านี้เป็นสัตวโลก ในมนุษย์ของเรานั้นเป็นภูมิที่อยู่ของสัตว์เดรัจฉานด้วย พวกสุนัข แมว ปลา หรืออะไรต่างๆ เหล่านั้นก็มาจากกรรมกรรมหนึ่งของเขา มนุษย์เราแต่ละคนก็มาจากกรรมกรรมหนึ่ง เรียกว่าสัตวโลก และสถานที่ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตวโลก เรียกว่าโอกาสโลก ซึ่งในสถานที่มนุษย์โลกของเราที่เป็นกลมกลมของเรานี้ก็เป็นที่อยู่ของมนุษย์ ใช่ไหม แล้วก็สัตว์เดรัจฉานอย่างนี้เป็นโอกาสโลก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 6
    10 พ.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ