ธาตุ ตอนที่ ๑


    ท่านอาจารย์ ในคราวก่อนก็มีท่านผู้ฟังที่ถามหลังจากที่บรรยายแล้ว ซึ่งคำถามของท่านผู้ฟังไม่ว่าจะเป็นคำถามใดๆ ก็เป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟังทุกท่าน แล้วในระยะนี้ก็มีท่านผู้ฟังซึ่งคงจะเพิ่งเริ่มได้ฟังรายการนี้ เพราะว่าจากการสอบถามก็ทราบว่าเพิ่งได้ฟังประมาณไม่กี่ครั้งก็มี เพราะฉะนั้น ถ้าท่านที่ได้รับฟังใหม่มีคำถาม คำถามนั้นจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟังเก่าด้วย เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหมดนั้นต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตามเมื่อมีความเข้าใจเรื่องธรรมแล้ว จะไม่พ้นจากชีวิตประจำวัน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสิ่งที่มีในขณะนี้และพิสูจน์ได้

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นธรรมเรื่องใด เป็นคำถามเรื่องใด ก็ต่อกันทั้งหมดในพระไตรปิฏก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ฟังนานแล้ว หรือผู้ที่เพิ่งรับฟัง ก็จะทำให้เข้าใจธรรมเรื่องนั้นๆ ชัดเจนขึ้น โดยที่ว่าไม่ต้องเกรงว่า ถ้าเป็นคำถามของท่านผู้ฟังใหม่จะทำให้ท่านผู้ฟังเก่าเบื่อ ซึ่งความจริงจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้ฟังเก่าด้วย

    ท่านอาจารย์ ในคราวก่อน มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านถามถึงเรื่องของวิญญาณธาตุ ซึ่งท่านผู้ฟังใหม่ก็สามารถฟังเรื่องของวิญญาณธาตุได้ และท่านผู้ฟังเก่าที่รู้เรื่อง ของจิตแล้วก็สามารถฟังเรื่องวิญญาณธาตุเป็นการทบทวนได้ โดยพิจารณาให้ ละเอียดขึ้นถึงสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ เพราะถ้าไม่ได้รับฟังบ่อยๆ ก็ทำให้หลงลืมที่จะพิจารณา ไม่เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ท่านผู้ฟังท่านนั้นถามถึงความต่างกันของวิญญาณธาตุ มโนธาตุ และ มโนวิญญาณธาตุ

    ถ้าพูดถึงเรื่องของวิญญาณ ก็คือเรื่องของจิตใจ เพราะจะใช้คำว่า จิต ก็ได้ หรือที่ภาษาไทยเราใช้คำว่า ใจ หรือบางท่านก็ใช้คำว่า วิญญาณ แต่ท่านที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจะเข้าใจคำว่า วิญญาณ ผิด คือ คิดว่าวิญญาณมีหลังจากที่ ตายแล้วเท่านั้น โดยไม่รู้ว่า คำว่า วิญญาณ ก็ดี หรือคำว่า จิต ก็ดี มีความหมายเหมือนกัน คือ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้เอง มีวิญญาณ แต่ถ้ารู้เพียงสั้นๆ อย่างนี้ว่า มีวิญญาณ มีจิต ก็ไม่สามารถละคลายการยึดถือวิญญาณหรือจิตว่าเป็นตัวตน เป็นเรา ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพระธรรมเรื่องของสภาพธรรม แม้ในเรื่องของจิต หรือเจตสิก หรือรูป ตลอด ๓ ปิฎกใน ๔๕ พรรษา เป็นธรรมประการต่างๆ ทั้งในพระสูตรบ้าง ในพระอภิธรรมบ้าง ซึ่งบางท่านที่ได้ศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะอาจจะคิดว่า เรื่องของวิญญาณธาตุ มโนธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ มีในพระอภิธรรมเท่านั้น แต่ความจริงแม้ในพระสูตร พระผู้มีพระภาคก็ทรงแสดง

    ซึ่งข้อความใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ธาตุสังยุต นานัตตวรรคที่ ๑ ธาตุสูตร ข้อ ๓๓๓ มีว่า

    ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก ภิกษุทั้งหลาย แล้วได้ตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความต่างแห่งธาตุแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งใจฟัง จงกระทำไว้ในใจให้ดี เราจักกล่าว ณ บัดนี้

    ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

    อย่างนั้น พระเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ความต่างแห่งธาตุเป็นไฉน

    จักขุธาตุ รูปธาตุ จักขุวิญญาณธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพพธาตุ กายวิญญาณธาตุ มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ นี้เราเรียกว่า ความต่างแห่งธาตุ

    จบ ธาตุสูตรที่ ๑

    พระผู้มีพระภาคตรัสย่อสำหรับผู้ที่สามารถพิจารณาธรรมและเข้าใจธรรม ในขณะนั้น และในขณะนี้ถ้าจะนับดูตามจำนวนที่ได้เคยศึกษามาเรื่องของธาตุ ๑๘ ในพระสูตรนี้ก็ครบที่ว่า

    จักขุธาตุ ๑ รูปธาตุ ๑ จักขุวิญญาณธาตุ ๑ ทางตา ๓ ธาตุ

    โสตธาตุ ๑ สัททธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑ ทางหู ๓ ธาตุ

    ฆานธาตุ ๑ คันธธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑ ทางจมูก ๓ ธาตุ

    ชิวหาธาตุ ๑ รสธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ ทางลิ้น ๓ ธาตุ

    กายธาตุ ๑ โผฏฐัพพะธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑ ทางกาย ๓ ธาตุ

    รวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๑๕ ธาตุ

    นอกจากนั้นก็มีมโนธาตุ ๑ ธรรมธาตุ ๑ มโนวิญญาณธาตุ ๑ อีก ๓ ธาตุ รวมเป็น ๑๘ ธาตุ

    ธรรมทั้งหมดถ้าไม่กล่าวโดยนัยของธรรม จะกล่าวโดยนัยของธาตุก็ได้ เพราะคำว่า ธาตุ หรือคำว่า ธรรม ก็คือสภาพธรรมที่มีจริง

    และถ้ากล่าวว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ปัญญาควรพิจารณาตั้งแต่ต้นว่า ไม่ควรยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นเรา หรือว่าเป็นตัวตน ถ้าเข้าใจความหมายของธรรมหรือเข้าใจลักษณะของธาตุจริงๆ

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดง จะแสดงเรื่องของธรรมดา ธรรมชาติ แต่ปัญญาของผู้ฟังจะต้องใคร่ครวญ พิจารณา ไตร่ตรอง ระลึก ศึกษา จนกระทั่งสามารถเข้าใจแม้เพียงคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสสั้นๆ ว่า ธรรม หรือธาตุ ให้รู้จริงๆ ว่า เป็นธาตุ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    ไม่ใช่เพียงแต่จำชื่อว่าธาตุ ๑๘ มีอะไรบ้างแล้วก็จบ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ตราบใดที่ยังไม่รู้ลักษณะของธาตุว่าเป็นธาตุ ตราบนั้นยังไม่จบ และก็มีธรรมที่จะ ให้พิจารณา

    ธาตุ ๑๘ เป็นวิญญาณธาตุ ๗

    สำหรับธาตุ ๑๘ ขอกล่าวถึงตามลำดับ คือ

    จักขุธาตุ ได้แก่ จักขุปสาทรูป ซึ่งขณะนี้ทุกคนมี เป็นธาตุ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครสามารถบันดาลให้ธาตุเหล่านี้เกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะ ให้จักขุธาตุซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมเกิด รูปที่เกิดเพราะกรรมซึ่งเป็นจักขุธาตุในขณะนี้ก็เกิด ตราบใดที่กรรมยังไม่หมดก็จะทำให้จักขุธาตุเกิด จนกว่าเมื่อไรจักขุธาตุไม่เกิด เมื่อนั้นก็ตาบอด ไม่มีปัจจัยทำให้เกิดการเห็น

    เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ถ้าพิจารณาถึงสภาพธรรม อย่างหนึ่งซึ่งเป็นรูปธาตุ ซึ่งมีจริง อยู่ที่กลางตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และที่รู้ว่ามีจักขุธาตุซึ่งเป็นปสาทรูปแน่นอน ก็คือในขณะนี้มีรูปธาตุกระทบและปรากฏ เป็นเครื่องยืนยันให้รู้ว่า จักขุธาตุมี รูปธาตุมี จักขุวิญญาณธาตุมี

    ในขณะนี้ พิจารณา ถ้าขณะใดที่กำลังพิจารณาและค่อยๆ เข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมขึ้น นั่นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะทำให้สามารถเข้าใจธรรม ไม่ใช่ เพียงคำที่พระผู้มีพระภาคตรัส แต่ธรรมซึ่งเป็นสภาพธรรม เป็นสภาวธรรมที่มี ลักษณะจริงๆ ที่สามารถเข้าใจได้หลังจากที่ได้ฟังพระธรรมและพิจารณาแล้ว

    จักขุธาตุ รูปธาตุ และจักขุวิญญาณธาตุคือจิตเห็น ในขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ล้วนเป็นธาตุแต่ละอย่าง ๓ ธาตุ ไม่ใช่ธาตุเดียวกัน จักขุธาตุ ไม่ใช่รูปธาตุ ไม่ใช่จักขุวิญญาณธาตุ

    เพียงแค่เห็น ก็มีมากมายที่ปัญญาจะต้องเจริญขึ้น ที่จะต้องศึกษา จนกระทั่ง รู้จริงๆ มิฉะนั้นแล้วเห็นตลอด วันนี้ก็มากมายหลายครั้ง และหลังจากนั้นมีการตรึก นึกคิด ซึ่งความคิดทุกขณะนั้นก็เกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย ไม่รู้เลยตลอดมา ต่อเมื่อได้ฟังธรรมและค่อยๆ พิจารณาให้เข้าใจขึ้น แต่ในขณะที่กำลังพิจารณา เรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่ในขณะที่สติระลึกและรู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งในขณะที่ สติระลึกและค่อยๆ รู้ลักษณะสภาพธรรมนั่นเอง จะเป็นการเริ่มรู้ตรงลักษณะของ ธรรมที่เป็นธาตุ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มิฉะนั้นก็จะเป็นการพูดเรื่องธาตุ แต่ไม่รู้ลักษณะของธาตุแท้ๆ ธาตุจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งเป็นรูปธาตุและนามธาตุ ในขณะที่กำลังเห็น

    ต่อไป ทางหู ๓ ธาตุ คือ โสตธาตุ ๑ สัททธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑

    ทางจมูก ๓ ธาตุ คือ ฆานธาตุ ๑ คันธธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑

    ทางลิ้น ๓ ธาตุ คือ ชิวหาธาตุ ๑ รสธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑

    ทางกาย ๓ ธาตุ คือ กายธาตุ ๑ โผฏฐัพพธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑

    ก็เป็นสภาพธรรมในขณะนี้

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะลิ้มรส ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นธาตุทั้งหมดแต่ละธาตุๆ ซึ่งจะรู้ได้ถูกต้องตามความเป็นจริงเมื่อสติระลึกที่ธาตุนั้นๆ จึงจะรู้ว่า แต่ละธาตุมีลักษณะเฉพาะของธาตุนั้นๆ ซึ่งไม่ปะปนกัน และไม่ใช่ธาตุประเภทเดียวกัน

    สำหรับทางใจ มีมโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ

    แสดงให้เห็นว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้ผู้ที่ฟังแล้ว แต่ยังไม่เข้าใจ ได้พิจารณาต่อไปอีก ฟังต่อไปอีก จนกว่าจะเข้าใจขึ้น เพราะถ้าพระองค์ตรัสเพียงว่า มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ ก็ไม่ทราบว่าหมายความถึงอะไร ทราบแต่ว่าวิญญาณธาตุมี เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ รูปธาตุมี ไม่ใช่ธาตุรู้ ไม่ใช่สภาพรู้ ก็เท่านั้น แต่ไม่ได้ละการยึดถือสภาพนั้นๆ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น จึงต้องฟังเรื่องธาตุต่อไป พร้อมทั้งเรื่องอื่นๆ ในพระไตรปิฎก ก็ต่อกันทั้งหมด ไม่ได้แยกกันเลย

    สารัตถปกาสินี อรรถกถา ธาตุสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า

    พึงทราบวินิจฉัยในธาตุสูตรที่ ๑ แห่งนานัตตวรรค ดังต่อไปนี้

    ความที่ธรรมมีสภาพต่างกันได้ชื่อว่าธาตุ เพราะอรรถว่า เป็นสภาวะ กล่าวคือ มีอรรถว่า มิใช่สัตว์ และอรรถว่า เป็นของสูญ ดังนี้ ชื่อว่าความต่างแห่งธาตุ

    ไม่มีธาตุใดเลยที่จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่มีธาตุใดเลยที่เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วจะไม่ดับไป หมดไป เพียงแต่เมื่อไม่รู้ชัด ในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ก็ยังมีความเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมเหล่านั้นว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ต่อเมื่อใดแยกออกเป็นแต่ละธาตุโดยละเอียด ทั้งๆ ที่กำลังนั่งอยู่ ปัญญาก็สามารถค่อยๆ เข้าใจ และแยกธาตุแต่ละธาตุที่มีที่ตัว ออกเป็นแต่ละส่วน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ในบทเป็นต้นว่า จกฺขุธาตุ ความว่า จักขุปสาท ชื่อว่าจักขุธาตุ รูปารมณ์ ชื่อว่ารูปธาตุ จิตที่มีจักขุปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่าจักขุวิญญาณธาตุ

    เพิ่มความละเอียดขึ้นอีก

    ข้อความที่ว่า จิตที่มีจักขุปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่าจักขุวิญญาณธาตุ แสดงให้เห็นว่า จิต ๘๙ ประเภท แยกออกเป็นวิญญาณธาตุ ๗ คือ จักขุวิญญาณธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑ มโนธาตุ ๑ และมโนวิญญาณธาตุ ๑

    จิตมีปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป และทำกิจการงานหน้าที่ต่างกัน การที่จะเห็นว่าไม่ใช่ตัวตนต้องเข้าใจละเอียดขึ้น เช่น จิตที่มีจักขุปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่า จักขุวิญญาณธาตุ เพียงแค่นี้ผู้ที่ศึกษาก็เข้าใจได้แล้วว่า จิตอื่นนอกจากนี้ไม่ใช่ จักขุวิญญาณธาตุ ต้องเฉพาะจิตที่มีจักขุปสาทเป็นที่อาศัย ๒ ดวงเท่านั้น คือ จักขุวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง และจักขุวิญญาณอกุศลวิบาก ๑ ดวง เพราะว่า วันหนึ่งๆ เห็น ถ้าจะใช้ภาษาบาลีก็คือจักขุวิญญาณธาตุทำกิจเห็น จิตอื่นไม่ได้ทำ กิจเห็นเลย เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นจักขุวิญญาณธาตุ และยังแสดง ให้เห็นว่า จักขุวิญญาณธาตุนี้ เพียงอาศัยจักขุปสาทรูปเกิดขึ้นทำกิจเห็นและดับไป

    เมื่อไรที่ปัญญารู้อย่างนี้ เมื่อนั้นจะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หมดความสงสัย ...

    ต้องรู้ว่าเป็นเพียงชั่วขณะที่ธาตุชนิดหนึ่งซึ่งอาศัยจักขุปสาทรูปเกิดขึ้นทำกิจเห็น และดับไป

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2051

    นาที 19:14

    ถ้ากล่าวถึงวิญญาณธาตุ ๗ ก็ได้แก่ จักขุวิญญาณธาตุ ๑ โสตวิญญาณธาตุ ๑ ฆานวิญญาณธาตุ ๑ ชิวหาวิญญาณธาตุ ๑ กายวิญญาณธาตุ ๑ และที่พิเศษต่างไป คือ มโนธาตุ ๑ กับมโนวิญญาณธาตุ ๑ รวมเป็นวิญญาณธาตุ ๗ ซึ่งทุกคนกำลังมี อยู่ครบในขณะนี้ แต่แยกไม่ออก จึงต้องอาศัยการฟัง เพื่อจะได้เข้าใจ

    จักขุวิญญาณธาตุ คงจะไม่มีข้อสงสัย ต่อไปก็ข้อความโดยนัยเดียวกัน เพื่อให้ท่านผู้ฟังระลึกได้และพิจารณา และไม่ลืม โดยฟังบ่อยๆ นั่นเอง

    โสตปสาท ชื่อว่าโสตธาตุ

    โสตปสาทเป็นรูป เกิดขึ้นเพราะกรรม เป็นรูปพิเศษที่สามารถกระทบเฉพาะเสียงอย่างเดียว กระทบรูปอื่นไม่ได้เลย

    สัททารมณ์ ชื่อว่าสัททธาตุ

    เสียงเป็นอารมณ์เมื่อกระทบกับโสตปสาท และโสตวิญญาณเกิดขึ้นได้ยิน เสียงนั้น เสียงนั้นจึงจะเป็นสัททารมณ์ เสียงอื่นซึ่งจิตไม่ได้ยินไม่ใช่สัททารมณ์ สัททะเป็นเสียง จะเปลี่ยนสภาพของเสียงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่เมื่อเสียงนั้นไม่ได้เป็นอารมณ์ของจิต คือ โสตวิญญาณไม่ได้เกิดขึ้นได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นจึงไม่ใช่สัททาอารมณ์ แต่โดยความเป็นธาตุก็เป็นสัททธาตุนั่นเอง

    จิตที่มีโสตปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่าโสตวิญญาณธาตุ

    สำหรับโสตวิญญาณธาตุมี ๒ ดวง ได้แก่ โสตวิญญาณกุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง ถ้าพูดภาษาไทยธรรมดาๆ ก็คือ ได้ยินขณะใด ขณะนั้นเป็นเพียงโสตวิญญาณธาตุซึ่งเป็นจิตที่มีโสตปสาทเป็นที่อาศัย

    จะมีใครบันดาลหรือใครสร้างได้ไหม โสตวิญญาณธาตุในขณะนี้กำลังได้ยิน มีโสตปสาทรูปจึงมีจิตนี้เกิดขึ้น คือ ต้องเกิดที่โสตปสาทรูปจึงจะทำกิจได้ยิน คือสวนกิจได้ และเพียงชั่วขณะที่ทำกิจได้ยินแล้วก็ดับ นี่คือความเป็นอนัตตาของ สภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    สำหรับธาตุต่อไปทางจมูก

    ฆานปสาท ชื่อว่าฆานธาตุ คันธารมณ์ ชื่อว่าคันธธาตุ จิตที่มีฆานปสาท เป็นที่อาศัย ชื่อว่าฆานวิญญาณธาตุ

    เวลาที่ได้กลิ่น ให้ทราบว่า ไม่ใช่ตรงอื่น แต่ต้องตรงฆานปสาทรูป เวลานี้ไม่มีใครสามารถจับกระทบสัมผัสหรือมองเห็นฆานปสาทรูปได้ แต่จะรู้ว่ามีฆานปสาทรูป ก็ชั่วในขณะที่กำลังได้กลิ่นเท่านั้น แต่เวลาที่ไม่มีการได้กลิ่น จะมีใครสามารถรู้ ฆานปสาทรูปได้ไหม ในขณะนี้ ทุกคนมี แต่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน จมูกทั้งจมูกไม่ใช่ ฆานปสาทรูป ฆานปสาทรูปเป็นปสาทรูปภายในจมูกซึ่งสามารถกระทบเฉพาะ กลิ่นเท่านั้น และจะรู้ได้เพียงชั่วขณะที่กำลังได้กลิ่น แต่แม้กระนั้นตามความเป็นจริง ในขณะที่กลิ่นปรากฏซึ่งบ่อยๆ เช่น กลิ่นพวงมาลัยดอกมะลิก็กระทบ และได้กลิ่น แต่ขณะนั้นปัญญาเกิดหรือไม่เกิด เพราะว่าตามปกติแล้วชินกับอวิชชาที่จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ชินกับปัญญาและสติที่จะระลึกและรู้ลักษณะที่ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ของสภาพธรรมในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าทางตาจะเห็น ทางหูจะได้ยิน ทางจมูกจะได้กลิ่น ยังไม่ชินกับการที่สติจะระลึกได้ แต่อาศัยการฟังบ่อยๆ และสติซึ่งเป็นอนัตตาก็อาจจะเกิดระลึกในขณะหนึ่งขณะใด ทางหนึ่งทางใด แม้ในขณะนี้เอง เวลาที่ได้กลิ่นจริงๆ ในขณะนั้น ก็จะมีกลิ่นเท่านั้นที่กำลังปรากฏ

    กลิ่นมาจากไหนในขณะที่กลิ่นกำลังปรากฏ มองไม่เห็นเลย แต่ความจำ ก็จำว่า กลิ่นพวงมาลัยดอกมะลิ เพราะว่าเป็นกลิ่นมะลิ แต่จริงๆ แล้วกลิ่นนั้นมา จากไหน กลิ่นนั้นเพียงเกิดขึ้นกระทบจมูก เพราะฉะนั้น ต้องมีปัจจัยจึงทำให้เกิดกลิ่น และต้องอาศัยวาโยธาตุคือธาตุลมที่จะทำให้ได้กลิ่นนั้นด้วย มิฉะนั้นแล้วกลิ่นก็ ไม่กระทบจมูก ไม่มีการรู้กลิ่นในขณะนั้น

    ด้วยเหตุนี้ในขณะที่แม้กลิ่นกำลังปรากฏ ที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ไปสืบสาวราวเรื่องของกลิ่น แต่ขณะนั้นมีลักษณะของกลิ่นปรากฏ เพราะว่ากำลังรู้กลิ่น จึงสามารถพิจารณารู้ลักษณะของกลิ่น แต่ไม่ใช่ไปคิดนึกว่า นี่เป็นกลิ่นมะลิลอยมาจากพวงมาลัยดอกมะลิในพานหรือในภาชนะอื่นใด เพราะว่า ในขณะนั้นจริงๆ ไม่มีภาชนะที่ใส่ดอกมะลิ เพียงแต่มีกลิ่นเท่านั้นที่กระทบกับฆานปสาท เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงในขณะนั้นก็คือว่า ในขณะนั้นตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่มี ในขณะที่กำลังได้กลิ่น มีเฉพาะกลิ่นกับสภาพที่กำลังรู้กลิ่น และโดยการศึกษาทราบว่า ขณะนั้นมีฆานปสาทซึ่งเป็นรูปที่เกิดเพราะกรรมด้วย แม้ไม่ได้ปรากฏ เพราะว่ากลิ่นปรากฏ และมีสภาพที่กำลังรู้กลิ่น

    ในขณะนั้นด้วยปัญญาที่เคยฟังมาแล้วว่า จิตที่มีฆานปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่าฆานวิญญาณธาตุ รู้ได้เลยว่า ขณะนั้นสภาพรู้อยู่ตรงฆานปสาทและเกิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยจึงรู้กลิ่นที่กระทบฆานปสาทในขณะนั้นแล้วดับ เพียงชั่วขณะหนึ่ง ในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะพิจารณาได้โดยสติระลึกทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และเมื่อมีความคุ้นเคยกับการที่ปัญญาจะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นก็จะรู้ได้ว่า ตลอดชีวิต หรือทุกขณะ ไม่ต้องรอ และไม่ต้องหวัง เพราะว่ามีสภาพธรรมเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัยทุกขณะ ไม่มีใครต้องทำอะไรเลยสักอย่าง

    เห็นในขณะนี้ก็มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว ได้ยินในขณะนี้ก็มีเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ว่าต้องอาศัยการฟังพระธรรมให้มากพอที่สติจะค่อยๆ คุ้น ค่อยๆ ชินกับการ ที่จะพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ตามความเป็นจริง

    ทวารต่อไป หรือว่าธาตุต่อไป คือ

    ชิวหาปสาท ชื่อว่าชิวหาธาตุ รสารมณ์ ชื่อว่ารสธาตุ จิตที่มีชิวหาปสาท เป็นที่อาศัย ชื่อว่าชิวหาวิญญาณธาตุ

    ข้อความธรรมดาดูไม่ตื่นเต้น แต่เป็นความจริง และจะรู้ความจริงในขณะที่กำลังลิ้มรส ไม่ให้ลิ้มรสไปเปล่าๆ โดยปัญญาไม่เกิด เพราะว่าการลิ้มรสเปล่าๆ โดยปัญญาไม่เกิดนั้น นานแสนนานมาแล้วในสังสารวัฏฏ์ เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มใหม่ ที่จะต้องเป็นผู้ไม่ท้อถอยในการที่สติและปัญญาจะระลึกและรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ โดยเมื่อมีการฟังเพิ่มขึ้นเท่านั้นจึงจะเป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ แต่ไมใช่ว่าจะทำ หรือจะรู้ หรือจะดู ซึ่งในขณะที่คิดก็เป็นเรา เป็นตัวตนตลอดที่จะทำ ไม่ใช่รู้ว่า สติเป็นอนัตตา ขณะใดที่สติเกิด สติก็ทำกิจระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงแต่ฟังพระธรรมและรู้ว่า ชิวหาวิญญาณ ๒ ดวง คือ กุศลวิบาก ๑ ดวง อกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นจิตที่มีชิวหาปสาทเป็นที่อาศัยเกิดขึ้นลิ้มรสและดับไป เมื่อรู้เพียงว่าเป็นจิตเกิดขึ้นทำกิจการงาน จะเบื่อบ้างไหม ก็ยังไม่เบื่อ เพราะว่าอย่างไรๆ ก็เบื่อยาก ไม่มีทางเลย นอกจากปัญญาจะเพิ่มขึ้น สมบูรณ์ขึ้นตามลำดับจริงๆ

    ท่านที่หน่ายหรือท่านที่คลายความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ดูเหมือนกับว่าท่านฟังข้อความสั้นๆ และไม่นานท่านก็รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ให้ทราบว่า กว่าจะถึงขั้นนั้น ระดับนั้นจริงๆ ต้องเป็นปัญญาของตนเองซึ่งค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และตราบใดที่ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณแท้ๆ จริงๆ ก็ยังไม่ใช่เป็นความหน่ายโดยที่รู้ว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล เป็นแต่เพียงความคิดชั่วขณะบางครั้งบางคราวเท่านั้นเอง ซึ่งไม่มีกำลังพอที่จะละ การยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้

    ธาตุต่อไป ทางกาย

    กายปสาท ชื่อว่ากายธาตุ โผฏฐัพพารมณ์ ชื่อว่าโผฏฐัพพธาตุ จิตที่มีกายปสาทเป็นที่อาศัย ชื่อว่ากายวิญญาณธาตุ

    กายวิญญาณธาตุ ก็ได้แก่ กายวิญญาณ ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง

    นี่เป็นจิตโดยย่อในชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งท่านที่ได้ศึกษามาแล้วโดยละเอียด ท่านก็แจกได้ว่า ในจิต ๘๙ ดวง เป็นวิญญาณธาตุ ๑๐ ดวง เป็นมโนธาตุ ๓ ดวง ที่เหลือเป็นมโนวิญญาณธาตุ เท่านี้เอง โดยการฟังเท่านั้น แต่โดยความเป็นจริง จะต้องรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ข้อความต่อไปมีว่า

    มโนธาตุ ๓ ชื่อว่ามโนธาตุ

    นี่เป็นข้อความในอรรถกถา ซึ่งท่านที่ได้ศึกษาแล้วก็ทราบว่า มโนธาตุ ๓ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ดวง และสัมปฏิจฉันนจิต ๒ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๑ ดวง เป็นมโนธาตุ ๓ เพราะว่าสามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๕ อารมณ์

    สำหรับวิญญาณธาตุแต่ละวิญญาณธาตุ เช่น จักขุวิญญาณธาตุ จะมีสี เป็นอารมณ์เท่านั้น จะมีเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ไม่ได้ สำหรับ โสตวิญญาณธาตุ คือ จิตได้ยิน ก็มีเสียงเป็นอารมณ์เท่านั้น จะมีสี มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ไม่ได้ สำหรับฆานวิญญาณธาตุก็เป็นชั่วขณะที่กำลัง ได้กลิ่นเท่านั้น ฆานวิญญาณธาตุจะรู้เสียง รู้สี รู้รส รู้โผฏฐัพพะไม่ได้ สำหรับ ชิวหาวิญญาณธาตุก็เป็นชั่วขณะที่กำลังลิ้มรส จิตที่กำลังลิ้มรสไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย นี่ก็แสดงให้เห็นถึง ความรวดเร็วของการเกิดดับของจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    สำหรับกายวิญญาณธาตุ ในขณะนี้ มีการกระทบสัมผัสสิ่งที่เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ไม่ใช่ตัวตน เป็นกายวิญญาณธาตุ รู้แข็งตรงไหน กายวิญญาณธาตุอาศัยกายปสาทรูปเกิดรู้แข็งตรงนั้นและดับตรงนั้น จึงไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

    ข้อความต่อไป

    ขันธ์ ๓ มีเวทนาเป็นต้น (หมายถึงเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์นั่นเอง) สุขุมรูป และนิพพาน ชื่อว่าธรรมธาตุ มโนวิญญาณแม้ทั้งหมด ชื่อว่า มโนวิญญาณธาตุ

    ก็ในข้อนี้ ธาตุ ๑๖ อย่าง เป็นกามาวจร ธาตุ ๒ สุดท้าย เป็นไปในภูมิ ๔

    นี่เป็นเรื่องการศึกษาปริยัติ ซึ่งท่านที่ได้ศึกษาแล้วสามารถเข้าใจได้ ในเมื่อ รู้เรื่องวิญญาณธาตุ ๕ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็เพิ่มความรู้เรื่องมโนธาตุ ๓ ซึ่งได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ สัมปฏิจฉันนจิต ๒ เป็นมโนธาตุ ๓ เพราะว่าสามารถรู้อารมณ์ได้ ๕ อารมณ์ ส่วนจิตที่เหลือเป็นมโนวิญญาณธาตุ เพราะสามารถรู้อารมณ์ทางใจได้ และสำหรับธรรมธาตุนั้นก็ได้ทั้งรูปและนาม

    จิตเป็นอะไร ก่อนที่จะรู้ว่าจิตอยู่ที่ไหน

    จิตเป็นสภาพรู้

    ทางตาที่กำลังเห็น จิตเห็นเกิดที่จักขุปสาท ขณะที่คิดคำว่า เกิดจากมันสมอง เป็นจิตที่คิด ไม่ใช่จิตที่เห็น เพราะฉะนั้น ที่เกิดของจิตมี ๖ ที่ คือ

    จักขุปสาทรูป เป็นที่เกิดของจักขุวิญญาณขณะที่เห็น

    โสตปสาทรูป เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณขณะที่ได้ยิน

    ฆานปสาทรูป เป็นที่เกิดของฆานวิญญาณขณะที่กำลังได้กลิ่น

    ชิวหาปสาทรูป เป็นที่เกิดของชิวหาวิญญาณขณะที่กำลังลิ้มรส

    และขณะที่กำลังรู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวตรงไหน กายวิญญาณอาศัยปสาทรูปเกิดที่ตรงนั้นและดับไป

    นอกจากนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตอื่นนอกจากนี้เกิดที่หทยวัตถุ

    ผู้ฟัง เรื่องที่อาจารย์บรรยายมา วิญญาณธาตุ ๗ ก็เกี่ยวกับการ เจริญสติปัฏฐานที่อาจารย์พูดอยู่เสมอๆ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนั่นเอง อย่างรูปธาตุก็คือสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าคนที่ไม่ได้อ่านหนังสืออภิธัมมัตถสังคหะ จะคิดว่าพูดบาลีมาก นอกเหนือจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งความจริงเป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจทั้งนั้นเลย

    ท่านอาจารย์ บางท่านได้อ่าน แต่ก็ยังไม่หมดความสงสัย นอกจากจะพิจารณา ธรรมนั้นจริงๆ อย่างถ้าจะกล่าวว่า จักขุวิญญาณธาตุ ก็พูดตามได้ เป็นธาตุที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนี้เอง

    เพราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังและเข้าใจแล้วด้วย แล้วแต่ว่าจะสามารถรู้ลักษณะของ สภาพธรรมใด อย่างมโนธาตุ ๓ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิตและสัมปฏิจฉันนจิต ไม่มีใครสามารถรู้ได้

    แต่สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ ต่างกับจิตที่เห็น รูปารมณ์เป็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นรูป เป็นเพียงรูปที่กระทบตาและดับอย่างรวดเร็ว นี่คือการที่จะต้องติดตามพระธรรม ด้วยการอบรมเจริญปัญญาระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วย มิฉะนั้นแล้วก็เป็นแต่ความเข้าใจเรื่องชื่อว่า มโนธาตุ ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิตและสัมปฏิจฉันนจิต และจิตที่เหลือนอกจากจิต ๑๓ ดวงนี้แล้วเป็นมโนวิญญาณธาตุ ก็เป็นการจำชื่อเท่านั้น แต่ไม่สามารถรู้จริงๆ แม้คำว่า ธาตุ หรือลักษณะของธาตุที่ไม่ใช่ตัวตนนั้นเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมปัญญาต่อไป

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 2052

    นาที 39:12


    หมายเลข 55
    10 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ