อานาปานสติ ๓


    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยในเรื่องนี้ไหม

    . เท่าที่ศึกษาเล่าเรียนมา อานาปานสติ จะเป็นอานาปานสติสมาธิก็ได้ หรือเป็นสติปัฏฐานก็ได้ มีข้อความตอนหนึ่งซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้กล่าวกับ พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมอย่างหนึ่งคืออานาปานสติสมาธิแล เมื่อทำให้เกิดขึ้น ทำให้มากขึ้น จะทำให้สติปัฏฐาน ๔ เต็มบริบูรณ์ ข้อความนี้ทำให้คิดว่า ต้องเจริญอานาปานสติสมาธิก่อน จึงจะทำให้สติปัฏฐาน ๔ เต็มบริบูรณ์ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย อานาปานสติสมาธิในที่นี้

    ท่านอาจารย์ อานาปานสติสมาธิในที่นี้ ต้องเป็นกุศลหรืออกุศล ต้องเป็นมิจฉาสมาธิหรือสัมมาสมาธิ

    . ต้องเป็นสัมมาสมาธิแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ ในขณะนั้น สติปัฏฐานก็เกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเป็นอานาปานสติสมาธิก็ได้ รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

    . อานาปานสติสมาธิ ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ใช่ แต่ต้องเป็นสัมมาสมาธิ

    ข้อสำคัญที่จะพิจารณาเรื่องของสมาธิ คือ มีมิจฉาสมาธิด้วย ไม่ใช่มีแต่สัมมาสมาธิ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสัมมาสมาธิ คือ ผู้ที่รู้ว่ามิจฉาสมาธิคืออย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่ไม่สนใจในเรื่องของมิจฉาสมาธิ เพียงแต่ได้ยินคำว่า สมาธิ และอยากจะทำ จะไม่รู้เลยว่า ที่กำลังทำนั้นเป็นมิจฉาสมาธิหรือเป็นสัมมาสมาธิ

    การกระทำใดๆ ก็ตาม ที่กระทำไปด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ใช่สมถภาวนา เพราะว่าสมถภาวนา คือ การอบรมจิตให้สงบขึ้น ต้องเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์ คือ ต้องประกอบด้วยปัญญา ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา สติสัมปชัญญะจะ ไม่สามารถระลึกได้ว่า จิตในขณะนั้นที่เป็นกุศลต่างกับขณะที่เป็นอกุศลอย่างไร ถ้า ไม่มีความเข้าใจถูก ย่อมไม่สามารถให้จิตสงบยิ่งขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ว่า ขณะไหนเป็นมิจฉาสมาธิ ขณะนั้นสมาธิที่ทำก็เป็นมิจฉาสมาธิได้

    ผู้ที่จะเป็นสัมมาสมาธิ คือ ผู้ที่รู้ว่ามิจฉาสมาธิต่างกับสัมมาสมาธิอย่างไร ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิแล้ว ไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยเลย เพียงแต่ต้องการให้จิตตั้งมั่น จดจ่อที่หนึ่งที่ใดด้วยความไม่รู้ ด้วยความต้องการและมีความตั้งมั่นขึ้น ขณะนั้นต้องเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะว่าไม่รู้สภาพของจิตที่สงบที่เป็นกุศล ซึ่งจะสงบยิ่งขึ้นได้ ด้วยปัญญาที่พิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ทำให้จิตสงบขึ้นๆ ไม่ใช่เพียงแต่ต้องการให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 318

    นาที 03:48

    เรื่องของอานาปานสติ หรืออานาปานสติสมาธิ ความยากคงจะเป็นพยัญชนะภาษาบาลีที่ทำให้รู้สึกว่า เป็นเรื่องพิเศษ หรือเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ถ้าเข้าใจว่า อานาปาน คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกซึ่งมีอยู่เป็นปกติ สติที่ระลึกที่ลมหายใจ ก็ชื่อว่าอานาปานสติสมาธิ และเมื่อมีความตั้งมั่นสงบขึ้น อานาปานสตินั้นก็ปรากฏลักษณะของสมาธิ คือ ความสงบที่ตั้งมั่น แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจจริงๆ จะต้องรู้ว่า ในขณะนี้สติเกิดขึ้น ระลึกที่ลมหายใจจริงๆ หรือเปล่า หรือไม่ใช่ลมหายใจ เพราะว่าลมหายใจเป็นรูปธรรมซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ตราบใดที่ยังมีจิต และไม่ใช่อยู่ ในครรภ์ ไม่ใช่ดำน้ำ ไม่ใช่จตุตถฌานเหล่านี้ จิตนั้นๆ จะเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดขึ้น มีรูปลมหายใจที่กระทบที่ช่องจมูกด้วย นั่นเป็นรูปที่เกิดขึ้นเพราะจิต

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังมีชีวิตอยู่ ก็มีลมที่เกิดเพราะจิต กระทบเกิดขึ้น ที่ไหน ดับที่นั่น การที่สามารถระลึกลักษณะของรูปลมหายใจที่ยังไม่ดับ และก็รู้ในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นลักษณะของสติปัฏฐาน เพราะว่า รู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม และรู้สภาพที่เกิดขึ้นและดับไป แต่ถ้าเป็นสมถภาวนา ไม่รู้ในสภาพที่เป็นรูปธรรม แต่รู้ว่าลมหายใจเป็นสภาพธรรมที่เป็นแต่เพียงกายสังขาร คือ ทำให้รูปร่างกายดำรงอยู่ได้ ถ้าขาดลมหายใจ คนนั้นก็ไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะว่าลมหายใจเป็นรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ลมหายใจจึงเป็นเครื่องแสดง ให้รู้ว่า จิตยังคงเกิดดับสืบต่ออยู่ ทำให้รูปนี้ปรากฏที่ช่องจมูกหรือเบื้องบนริมฝีปาก

    เพราะฉะนั้น ชีวิตที่เข้าใจว่า ใหญ่โต มั่นคงแข็งแรง มีความยินดีพอใจเต็มที่ มีทรัพย์สมบัติ มีความรู้มีความสามารถต่างๆ แท้ที่จริงแล้วเป็นแต่เพียงรูปธรรมที่เกิดขึ้นเพราะมีจิตเป็นสมุฏฐานที่ลมหายใจเท่านั้นเอง ก็จะละคลายการที่เคยสำคัญ ยึดมั่นในสิ่งต่างๆ และเห็นความบอบบางของชีวิตว่า ชีวิตขึ้นอยู่กับเพียงลมหายใจแผ่วๆ เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรที่มากกว่านี้เลย และถ้าพิจารณาชีวิตที่ขึ้นอยู่กับลมหายใจแผ่วๆ จะเห็นความไม่มั่นคงของทุกสิ่งทุกอย่างที่กระทบกับตาบ้าง หูบ้าง จมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้างด้วย

    นั่นคือ การประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็น สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น ไม่มีอะไรพิเศษต่างหากที่แยกออกไป แต่ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคมีผู้ที่พยายามจะดับกิเลส แต่เมื่อไม่ได้สะสมบารมีที่จะเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็สามารถเพียงแต่อบรมสมถภาวนาจนกระทั่งจิตสงบ ถึงขั้นอัปปนาสมาธิเป็นฌานจิตตามลำดับขั้น โดยอาศัยลมหายใจเป็นอานาปานสติสมาธิ หรืออาศัยสมถกัมมัฏฐานอื่นๆ เท่านั้นเอง แต่เวลาที่ได้ยินชื่อก็อยากจะทำด้วยความไม่รู้ ก็เริ่มต้นด้วยความไม่รู้ว่า การที่ความสงบของจิตจะเกิดขึ้นมั่นคงยิ่งขึ้น โดยอาศัยลมหายใจนั้น จะต้องเป็นกุศลจิตอย่างไร ก็เพียงแต่มีความต้องการนำ ที่จะให้จิตตั้งมั่น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่ใช่มหากุศลญาณสัมปยุตต์

    มิจฉาสมาธิทุกอย่างเป็นโลภมูลจิต ถ้ามีความยึดมั่นในข้อปฏิบัตินั้นว่า จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ คือ เกิดร่วมกับความเห็นผิด

    . ผู้ที่เจริญมิจฉาสมาธิ จะมีโอกาสได้ถึงฌานไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ หมายความว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่สัมมาสมาธิ

    . ก็ไม่มีโอกาส

    ท่านอาจารย์ ไม่มี

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1469



    หมายเลข 47
    13 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ