แนวทางการดำเนินชีวิตที่ดี ตอนที่ 5


    แนวทางการดำเนินชีวิตที่ดี ๕

    สำหรับเรื่องความประมาทในการฟังพระธรรม และในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่มีแต่เฉพาะสมัยนี้ เพราะเหตุว่าธรรมทั้งหลายย่อมเป็นไปตามการสะสม ถ้าเป็นผู้ประมาทในการฟังพระธรรม ก็เป็นไปตามกำลังของกิเลส ซึ่งไม่มีใครจะบังคับบัญชาได้ทุกกาลสมัย แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ทั้งๆ ที่บุคคลในสมัยนั้นมีโอกาสได้ไปเฝ้า ได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ แต่ก็มีผู้ที่ประมาท ไม่ไปเฝ้าเพื่อฟังพระธรรม

    ข้อความในอรรถกถา ชนสันธชาดก มีว่า

    เมื่อพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน มีพระพุทธประสงค์จะประทานโอวาทแก่พระเจ้าโกศล ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า ทส ขลุมานิ ฐานานิ ดังนี้.

    ครั้งนั้นพระเจ้าโกศลทรงมัวเมาด้วยอิสริยยศ หมกมุ่นอยู่ในความสุขที่เกิดแต่กิเลส ไม่ปรารถนาจะตัดสินคดี แม้การบำรุงพระพุทธเจ้าก็ทรงลืมเสีย.

    วันหนึ่งพระองค์ทรงระลึกถึงพระผู้มีพระภาค แล้วทรงดำริว่า จักถวายบังคมพระศาสดา เมื่อเสวยกระยาหารเช้าแล้ว เสด็จขึ้นพระราชยานไปพระวิหาร ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง

    ลำดับนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสกะพระราชาว่า มหาบพิตร นานมาแล้วพระองค์มิได้เสด็จมา เพราะเหตุไร.

    พระเจ้าโกศลทูลว่า เพราะข้าพระองค์มีราชกิจมาก พระเจ้าข้า ไม่มีโอกาสที่จะมาเฝ้าพระองค์.

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มหาบพิตร เมื่อพระพุทธเจ้าผู้สัพพัญญู ผู้ให้โอวาทเช่นเรา อยู่ในวิหารที่ใกล้ ไม่ควรที่พระองค์จะประมาท วิสัยพระราชาต้องไม่ประมาทในราชกิจทั้งหลาย ดำรงพระองค์เสมอด้วยมารดาบิดาของชาวแว่นแคว้น ละอคติเสียครองราชสมบัติโดยทศพิธราชธรรม จึงจะควร เพราะเมื่อพระราชาประพฤติธรรม แม้บริษัทของพระองค์ก็ประพฤติธรรม ข้อที่เมื่อเราตถาคตสั่งสอนอยู่ พระองค์ครองราชสมบัติโดยธรรมนั้นไม่น่าอัศจรรย์ แต่บัณฑิตทั้งหลายในอดีตกาล แม้ไม่มีอาจารย์สั่งสอนก็ยังตั้งอยู่ในสุจริตธรรม ๓ ประการ แสดงธรรมแก่มหาชนตามความรู้ของตน พาบริษัทไปสวรรค์ได้.

    พระเจ้าโกศลทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรื่องในอดีตว่า

    ในอดีตกาล เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงพระนามว่า ชนสันธะ เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระองค์รับสั่งให้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนครทั้ง ๔ ด้านที่กลางพระนครและที่ประตูพระราชวัง ทรงบริจาคพระราชทรัพย์วันละหกแสน ทรงสงเคราะห์โลกด้วยสังคหวัตถุ ๔ รักษาศีล ๕ อยู่จำอุโบสถ ครองราชสมบัติโดยธรรม.

    บางครั้งบางคราวก็ให้ชาวแว่นแคว้นมาประชุมกัน แล้วแสดงธรรมว่า ท่านทั้งหลายจงให้ทาน จงสมาทานศีล จงประพฤติธรรม จงประกอบการงานและการค้าขายโดยธรรม เมื่อเป็นเด็กจงเรียนศิลปวิทยา จงแสวงหาทรัพย์ อย่าคดโกงชาวบ้าน อย่าทำความส่อเสียด อย่าเป็นคนดุร้ายหยาบช้า จงบำรุงมารดาบิดา มีความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล พระองค์ได้ทำมหาชนให้ตั้งอยู่ในสุจริตธรรม.

    ดูเป็นเรื่องธรรมดาๆ ดูเป็นชีวิตประจำวัน แต่ธรรมคือชีวิตประจำวัน และก็จะเห็นได้ว่า แม้ว่าเป็นข้อความธรรมดา แต่การที่จะประพฤติปฏิบัติตามต้องเข้าใจในเหตุในผล และในคุณในโทษของกุศลธรรมและอกุศลธรรม

    พระโพธิสัตว์ทรงพระนามว่า “ชนสันธะ” ทรงแสดงธรรมแก่มหาชนว่า เหตุที่จะทำให้จิตเดือดร้อนนั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ เมื่อบุคคลไม่ทำเสียในกาลก่อนแล้ว ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง.

    เรื่องเดือดร้อนใจ ไม่มีใครที่เกิดมาแล้วจะไม่มี ทุกคนที่เกิดมาแล้วย่อมมีความเดือดเนื้อร้อนใจ แล้วแต่ว่าจะมากหรือจะน้อย แล้วเป็นไปในเรื่องใด แต่สำหรับธรรมที่ทำให้จิตเดือดร้อนนั้นมีอยู่ ๑๐ ประการ เมื่อไม่ทำในกาลก่อน ก็ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง คือ

    บุคคลเมื่อยังเป็นหนุ่ม ไม่ทำความพยายามยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น ครั้นแก่ลงหาทรัพย์ไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้แสวงหาทรัพย์ไว้.

    ศิลปะที่สมควรแก่ตน บุคคลใดไม่ได้ศึกษาไว้ในกาลก่อน บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราไม่ได้ศึกษาศิลปะไว้ก่อน ผู้ไม่มีศิลปะย่อมเลี้ยงชีพลำบาก.

    ผู้ใดเป็นคนโกง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนโกง ส่อเสียด กินสินบน ดุร้าย หยาบคายในกาลก่อน.

    ผู้ใดเป็นคนฆ่าสัตว์ ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนฆ่าสัตว์ หยาบช้า ทุศีล ประพฤติต่ำช้า ปราศจากขันติ เมตตาและเอ็นดูสัตว์ในกาลก่อน.

    ผู้ใดคบชู้ในภรรยาผู้อื่น ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า หญิงที่ไม่มีใครหวงแหนมีอยู่เป็นอันมาก ไม่ควรที่เราจะคบหาภรรยาผู้อื่นเลย.

    คนตระหนี่ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนข้าวและน้ำของเรามีอยู่มากมาย เราก็มิได้ให้ทานเลย.

    ลองพิจารณาดูว่า แต่ละท่านเดือดร้อนเพราะเหตุต่างๆ เหล่านี้บ้างหรือไม่

    ข้อต่อไป พระเจ้าชนสันธะกล่าวว่า

    ผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราสามารถพอที่จะเลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่เฒ่าชราได้ ก็ไม่ได้เลี้ยงดูท่าน.

    ผู้ไม่ทำตามโอวาทบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราได้ดูหมิ่นบิดาผู้เป็นอาจารย์สั่งสอน ผู้นำรสที่ต้องการทุกอย่างมาเลี้ยงดู.

    ผู้ไม่เข้าใกล้สมณพราหมณ์ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้ไปมาหาสู่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล เป็นพหูสูตเลย.

    ผู้ใดไม่ประพฤติสุจริตธรรม ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ ย่อมเดือดร้อนภายหลังว่า สุจริตธรรมที่ประพฤติแล้ว และสัตบุรุษอันเราไปมาหาสู่แล้ว ย่อมเป็นความดี แต่เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้ประพฤติสุจริตธรรมไว้เลย.

    ผู้ใดย่อมปฏิบัติเหตุเหล่านี้โดยอุบายอันแยบคาย ผู้นั้นเมื่อกระทำกิจที่ควรทำ ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลังเลย.

    ฟังดูเป็นเรื่องไม่ยากนะคะ ง่ายกว่าการศึกษาเรื่องจิตประเภทต่างๆ เจตสิกประเภทต่างๆ รูปประเภทต่างๆ แต่นี่เป็นชีวิตจริงๆ ที่จะให้ทุกท่านได้พิสูจน์โดยละเอียดว่า ได้ทำกระทำเหตุที่ทำให้ต้องเดือดร้อนใจในภายหลังบ้างไหมบ้างหรือเปล่า เพราะเหตุว่าการเข้าใจเรื่องจิตก็ดี เจตสิกก็ดี รูปก็ดีทั้งหมด การเข้าใจซึ่งเป็นปัญญานั่นเอง จะเป็นแสงสว่างที่จะชี้หนทางถูกและผิดที่จะประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แล้วสามารถดำเนินไปในทางที่เป็นกุศลทุกๆ เหตุการณ์

    ข้อความตอนท้ายมีว่า

    พระโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่มหาชนโดยนัยนี้ ทุกๆ กึ่งเดือน.

    แม้มหาชนก็ตั้งอยู่ในโอวาทของพระองค์ บำเพ็ญฐานะ ๑๐ ประการเหล่านั้นบริบูรณ์ แล้วได้ไปสวรรค์.

    พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า

    ดูกรมหาบพิตร โบราณกบัณฑิตไม่มีอาจารย์ แสดงธรรมตามความรู้ของตน พามหาชนไปสวรรค์ได้อย่างนี้.

    แล้วทรงประชุมชาดกว่า

    บริษัทในครั้งนั้น ได้มาเป็นพุทธบริษัทในครั้งนี้ ส่วนพระเจ้าชนสันธราช ได้มาเป็นเราตถาคตแล.

    พุทธบริษัทที่ฟังในครั้งโน้น ก็จะมาฟังธรรมในครั้งนี้ และก็จะฟังธรรมในครั้งต่อๆ ไป เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเป็นเรื่องชีวิตจริงๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกๆ ชาติ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรม และทรงแสดงธรรมเพื่อให้ผู้ที่ได้ฟังเข้าใจสภาพธรรม เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ในทุกๆ ชาติ

    เพราะเหตุว่าพระนิพพานนี่แสนไกล ถ้าใครคิดที่จะบรรลุถึงพระนิพพาน จะคิดถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม จะคิดถึงการประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จะรู้ได้ว่า ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถประจักษ์ได้อย่างรวดเร็ว

    เพราะฉะนั้นก็ยังเป็นอีกไกลมากทีเดียว แต่ว่าถ้าเข้าใจธรรมแล้วได้ประพฤติปฏิบัติทุกชาติ ก็จะทำให้ปัญญาเริ่มอบรมเจริญขึ้น เพราะเหตุว่าเป็นความจริงที่เมื่อเกิดมาแล้ว ทุกคนก็ยังมีกิเลส ในชีวิตประจำวันจะเห็นได้จริงๆ ว่า ยังเป็นไปตามกำลังของกิเลส ที่จะไม่ให้กิเลสเกิดเลยในวันหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นหนทางเดียวที่ทำให้กิเลสค่อยๆ ลดกำลังลง ก็คือไม่ทอดทิ้งการศึกษา การฟังพระธรรม การพิจารณาพระธรรมโดยละเอียด เพื่อที่จะให้เกิดปัญญาที่สามารถระลึกได้ รู้ลักษณะของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ

    ซึ่งการดำเนินชีวิตในแต่ละวันก็ย่อมแสดงถึงการที่เคยได้ฟังพระธรรม การได้พิจารณาพระธรรม และการเข้าใจธรรมในอดีตด้วย

    ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความที่พระเจ้าชนสันธะได้ตรัสอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาโดยละเอียดขึ้นถึงเหตุที่ทำให้จิตเดือดร้อน ๑๐ ประการ คือ

    บุคคลเมื่อยังเป็นหนุ่ม ไม่ทำความพยายามยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น ครั้นแก่ลงหาทรัพย์ไม่ได้ ย่อมเดือดร้อนภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้แสวงหาทรัพย์ไว้.

    ท่านที่มีความลำบากในวัยชรา ก็คงจะเห็นจริงว่า ที่ท่านต้องลำบากในยามชรานั้น ก็เป็นเพราะเหตุว่าเมื่อยังเป็นหนุ่ม ไม่ทำความพยายามยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยที่สามารถทำกิจการงาน ก็ควรจะมีชีวิตต่อไปในโลก ด้วยความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม ถ้าชีวิตประจำวันไม่สามารถดำเนินไปด้วยดี บางท่านไม่มีเวลาให้การศึกษาพิจารณาธรรมเลย บางทีท่านก็มีกิจธุระต้องกระทำมาก เพราะฉะนั้นเวลาที่จะศึกษาธรรมก็น้อย แต่ให้เห็นว่า นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่ว่าบางท่านไม่ต้องมีความลำบากในการเลี้ยงชีพเลย แต่กระนั้นก็ยังมีกำลังของกิเลสที่ทำให้ไม่สนใจที่จะศึกษาพระธรรมมากขึ้น

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กว่าจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ทุกคนต้องพิจารณาละเอียดถึงชีวิตของตนเองตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เดือดร้อนใจในภายหลังได้ แม้แต่ในเรื่องตอนที่สามารถทำกิจการงาน แต่ก็ไม่พยายามยังทรัพย์ให้เกิดขึ้น

    ประการต่อไปคือ

    สิปปะที่สมควรแก่ตน บุคคลใดไม่ได้ศึกษาไว้ในกาลก่อน บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราไม่ได้ศึกษาสิปปะหรือศิลปะไว้ก่อน ผู้ไม่มีศิลปะย่อมเลี้ยงชีพลำบาก.

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงชีวิตประจำวันว่า ควรจะขยัน และสนใจที่จะมีความรู้ มีความสามารถในเรื่องต่างๆ เพราะเหตุว่าความรู้ความสามารถทุกอย่าง ย่อมเป็นประโยชน์ แม้ในเรื่องการทำอาหารอร่อย การเย็บปักถักร้อย การเกษตร การกสิกรรมต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตดำเนินไปด้วยความราบรื่นได้ ในเมื่อเป็นผู้มีสิปปะ หรือเป็นผู้มีความสามารถ

    ประการต่อไป คือ

    ผู้ใดเป็นคนโกง ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนโกง ส่อเสียด กินสินบน ดุร้าย หยาบคายในกาลก่อน.

    เมื่อไม่เกี่ยวกับการดำรงชีพหรือการอาชีพ ก็จะเห็นได้ว่า ต่อไปก็เป็นเรื่องของกิเลสนั่นเอง คือ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่สุจริตย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เคยโกง หรือเคยส่อเสียด เคยกินสินบน เคยดุร้าย เคยหยาบคายในกาลก่อน เพราะเหตุว่าขณะใดที่โกง กำลังทำทุจริต ขณะนั้นย่อมไม่เห็นโทษ แต่โทษของทุจริตย่อมมี ไม่มีใครสรรเสริญ และผลของทุจริตนั้นก็ย่อมเป็นไปตามกรรม แล้วแต่ว่าจะได้รับผลของทุจริตในชาติปัจจุบันหรือในชาติต่อๆ ไป

    ประการต่อไป

    ผู้ใดเป็นคนฆ่าสัตว์ ผู้นั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราเป็นคนฆ่าสัตว์ หยาบช้า ทุศีล ประพฤติต่ำช้า ปราศจากขันติ เมตตาและเอ็นดูสัตว์ในกาลก่อน.

    เรื่องของศีล ๕ จะสมบูรณ์ได้เมื่อเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้นถ้าใครได้ทำทุจริตกรรมประการใดๆ แม้แต่เป็นผู้ฆ่าสัตว์ จะเป็นสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควร ก็ย่อมเดือดร้อน หรือเวลาที่เห็นคนอื่นบาดเจ็บ ได้รับภัยอันตราย ขณะนั้นก็ไม่รู้จนกว่าตนเองจะเจ็บอย่างนั้น จึงสามารถจะรู้ว่า ความปวดเจ็บทรมานของคนอื่นนั้นมากมายแค่ไหน ถ้าไม่ถูกกับตัวเอง ก็ไม่สามารถรู้ได้ แต่ถ้าตนเองกำลังได้รับผลของกรรมซึ่งเป็นอกุศลที่ได้กระทำไว้ เมื่อนั้นก็จะระลึกถึงบุคคลที่ท่านเองครั้งหนึ่งอาจจะทำกรรมนั้น หรืออาจจะเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อยใดๆ ก็ตามที่ได้เคยฆ่า เคยประทุษร้าย และไม่เคยรู้สึกว่า ความรู้สึกเจ็บปวดของสัตว์นั้นเป็นอย่างไร จนกว่าเมื่อท่านเป็นผู้ที่ได้รับผลของกรรมนั้น ก็จะรู้ได้ว่า การที่ได้รับความรู้สึกปวดเจ็บนั้นก็เป็นเพราะเป็นคนฆ่าสัตว์ หยาบช้า ทุศีล ประพฤติต่ำช้า ปราศจากขันติ ปราศจากเมตตาและเอ็นดูสัตว์ในกาลก่อน

    ประการต่อไปคือ

    ผู้ใดคบชู้ในภรรยาผู้อื่น ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า หญิงที่ไม่มีใครหวงแหนมีอยู่เป็นอันมาก ไม่ควรที่เราจะคบหาภรรยาผู้อื่นเลย.

    สังสารวัฏยาวนานมากทั้งอดีตที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งไม่มีใครจำได้เลยว่า จะเคยทำอย่างนี้หรือเปล่า และขณะปัจจุบันชาตินี้อาจจะไม่ได้ทำ และสำหรับชาติหน้าต่อไปตราบใดที่ยังไม่บรรลุถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคล ก็จะมีการล่วงศีลได้

    เพราะฉะนั้นทุกข้อเป็นสิ่งที่ควรจะระลึกได้เมื่อมีเหตุการณ์นั้นๆ ที่จะให้อกุศลนั้นๆ เป็นไป

    ประการต่อไปคือ

    คนตระหนี่ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนข้าวและน้ำของเรามีอยู่มากมาย เราก็ไม่ได้ให้ทานเลย.

    บางคนพอทรัพย์สมบัติสูญไปก็เกิดเสียดายว่า รู้อย่างนี้ก็ให้ทานเสียดีกว่า แต่ตอนที่ยังไม่สูญก็ไม่เคยคิดที่จะให้ ต่อเมื่อใดที่สูญทรัพย์สมบัติไป ก็เกิดความคิดว่า รู้อย่างนี้ก็ให้ทานเสียดีกว่า หรือขณะที่มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้รับสิ่งนั้น ก็จะเห็นได้ถึงความต่างกันของคนซึ่งบางทีเมื่อต้องการสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้นทันที แต่บางคนเพราะเหตุใดต้องการด้วยกัน แต่อีกคนหนึ่งได้ อีกคนหนึ่งไม่ได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความต่างกันว่า คนที่เมื่อปรารถนาสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น ก็ต้องเป็นคนที่เคยให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่นในยามที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลนั้นปรารถนาสิ่งใด ผลของกุศลนั้นก็คือว่า ทำให้ได้สิ่งที่ปรารถนา ตรงกันข้ามกับบางคน ปรารถนาแล้ว หวังแล้ว คอยไป ก็ไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ

    มีท่านผู้หนึ่งเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ลูกของท่านยังเล็ก ท่านมีวิธีสอนลูกตั้งแต่ครั้งที่ยังจูงมือลูกไปโรงเรียน ซึ่งแสดงว่าขณะนั้นลูกของท่านยังเล็กมาก ท่านก็ชี้ให้ดูความต่างกันของบุคคลแต่ละคน บางคนก็มีฐานะดี บางคนก็ยากจน ท่านก็ถามลูกว่า เห็นไหมว่า ๒ คนนี่ต่างกัน แล้วแสดงถึงเหตุด้วยว่า เหตุที่จะทำให้ทั้ง ๒ คนต่างกัน เพราะเหตุว่าผู้หนึ่งต้องมีจิตใจดี เคยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเคยสละวัตถุที่เป็นประโยชน์ให้บุคคลอื่น ส่วนอีกบุคคลหนึ่งซึ่งยากจน ก็ต้องไม่เคยให้ทานมาในอดีต เพราะฉะนั้นก็เป็นการสอนเด็กตั้งแต่เล็กให้เป็นผู้สามารถเห็นใจและเข้าใจในเหตุในผลว่า การที่ฐานะของบุคคลต่างกัน เพราะเหตุใด และควรที่จะมีจิตใจอ่อนโยน เอื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้ที่ขัดสนยากไร้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่ดี

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้ไม่เลี้ยงดูมารดาบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราสามารถพอที่จะเลี้ยงดูมารดาและบิดาผู้แก่เฒ่าชราได้ ก็ไม่ได้เลี้ยงดูท่าน.

    ผู้ที่มารดาบิดายังมีชีวิตอยู่ ก็ทราบว่า วันหนึ่งท่านจะต้องจากไป แต่ว่าถ้าไม่เลี้ยงดูท่านในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ คือ เป็นผู้ไม่เห็นคุณของมารดาบิดา เพราะฉะนั้นผู้นั้นจะเห็นคุณของบุคคลอื่นได้อย่างไร แม้แต่บิดามารดาซึ่งเลี้ยงดู ให้ทุกสิ่งทุกอย่างมา ให้ความสุขสบายมาตั้งแต่เกิด ผู้นั้นก็ยังไม่เห็นคุณ ยังไม่ทำกตเวที ตอบแทนคุณของท่าน เพราะฉะนั้นจะคิดถึงคุณของบุคคลอื่นก็คงจะยาก เพราะแม้แต่คุณของบิดามารดาก็ไม่เห็น

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้ไม่ทำตามโอวาทบิดา ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เราได้ดูหมิ่นบิดาผู้เป็นอาจารย์สั่งสอน ผู้นำรสที่ต้องการทุกอย่างมาเลี้ยงดู.

    นี่เป็นชีวิตประจำวันที่จะต้องพิจารณาแม้แต่การไม่ทำตามโอวาทบิดา คงจะไม่มีใครรักลูกเท่ากับมารดาบิดา เพราะฉะนั้นโอวาทของบิดาก็คือใคร่จะให้บุตรได้เห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์และกระทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ว่าบุตรที่ได้ชื่อว่า ดูหมิ่นบิดาผู้เป็นอาจารย์สั่งสอน ก็คือในขณะที่ไม่ทำตามโอวาท จึงชื่อว่า ดูหมิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าคิด ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าท่านกล่าวว่า ท่านเคารพหรือนับถือบุคคลนั้น แต่ว่าไม่ได้ทำตามจริงๆ จะชื่อว่า เคารพนับถือได้ไหม แม้แต่พระรัตนตรัย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็ต้องเป็นผู้พิจารณาและมีความตั้งใจที่จะประพฤติปฏิบัติตาม เพียงแต่ว่ายังไม่สามารถปฏิบัติตามได้ทั้งหมด เพราะเหตุว่ายังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ แต่ไม่ใช่ท่านมีความคิดว่า ท่านจะไม่ปฏิบัติได้ หรือปฏิบัติตามไม่ได้ แต่ควรคิดว่า จะพยายามปฏิบัติตามมากที่สุดที่จะกระทำได้ แม้ว่าบางครั้งไม่สามารถกระทำได้ เพราะเหตุว่ายังเป็นผู้มีกิเลสอยู่

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้ไม่เข้าใกล้สมณพราหมณ์ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้ไปมาหาสู่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล เป็นพหูสูตเลย.

    เพราะว่าบางคนก็บอกว่า คอยไว้ก่อน อายุมากๆ ก็จะศึกษาพระธรรม เวลาที่อายุมากแล้ว ก็อาจจะเดือดร้อนใจว่า เมื่อก่อนเราไม่ได้ไปมาหาสู่สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้มีศีล เป็นพหูสูตเลย เพราะเหตุว่าถ้าไม่ไปเข้าใกล้ท่านเหล่านั้น คือ ไม่ได้ฟังธรรมหรือฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์ ก็อาจจะเข้าใจอกุศลธรรมเป็นกุศลธรรม มีความเห็นผิด ไม่ใช่มีความเห็นถูกก็ได้ หรือแม้ว่าเป็นผู้มีความเห็นถูก ก็มีความเข้าใจเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถเข้าใจโดยละเอียด โดยกว้างขวาง โดยลึกซึ้งได้ หรือว่าบางทีแม้จะมีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมแล้ว แต่ก็ไม่ทันต่ออกุศลที่เกิดขึ้น อย่างเรื่องของความกังวล หลายท่านอาจจะไม่ได้พิจารณาว่า เรื่องที่ท่านกังวล บางครั้งไม่เกี่ยวกับตัวท่าน ครอบครัวท่าน การงานท่าน หรือความลำบากยุ่งยากในกิจการงานของท่านเลย แต่ท่านกลับไปกังวลเรื่องของคนอื่น และก็กังวลโดยที่ไม่น่าจะกังวลเลย คือ คนอื่นก็มีความประพฤติทำการงานสุจริตเป็นไปต่างๆ แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์กังวลว่า ทำไมคนนี้ไม่ทำอย่างนั้น ในขณะนั้นลองพิจารณาจริงๆ ว่า มีความสำคัญตนแอบแฝงอยู่หรือเปล่าในการคิดถึงการกระทำของคนอื่น

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจพระธรรมจริงๆ เรื่องของบุคคลอื่นเป็นเรื่องที่ท่านช่วยไม่ได้เลยที่จะไปแก้ไข เพราะเหตุว่าแต่ละคนย่อมเป็นไปตามการสะสม แต่สำหรับตัวท่านเองเท่านั้นได้กระทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้วหรือยัง เท่านั้นเอง กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและบุคคลอื่น ไม่ได้ทำสิ่งที่เป็นโทษต่อตนเองและคนอื่นแล้วหรือยัง เท่านั้นเอง วันหนึ่งๆ ถ้าจะคิดถึงกิจที่ควรทำของตนเอง ก็ย่อมเป็นประโยชน์มากกว่าไปกังวล และในขณะนั้นก็ไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นมานะ ความสำคัญตนนั่นเอง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้ใดไม่ประพฤติสุจริตธรรม ไม่เข้าไปนั่งใกล้สัตบุรุษ ย่อมเดือดร้อนในภายหลังว่า สุจริตธรรมที่ประพฤติแล้ว และสัตบุรุษอันเราไปมาหาสู่แล้ว ย่อมเป็นความดี แต่เมื่อก่อนนี้เราไม่ได้ประพฤติสุจริตธรรมไว้เลย.

    ข้อ ๑๖๖๐ มีข้อความว่า

    ผู้ใดย่อมปฏิบัติเหตุเหล่านี้โดยอุบายอันแยบคาย ผู้นั้นเมื่อกระทำกิจที่บุรุษควรทำ ย่อมไม่เดือดร้อนใจในภายหลังเลย.

    ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ ก่อนจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม การที่สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ต้องรู้ทั่ว ถ้ายังรู้ไม่ทั่ว ก็ละไม่ได้ เมื่อเข้าใจลักษณะของสติ สติปัฏฐาน คือ ขณะที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นขณะที่กังวลหรือไม่กังวล ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ถ้าขณะนั้นปัญญาไม่รู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็จะต้องอบรมสติที่ระลึกแล้วเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมไปตลอด ไม่ว่าเหตุการณ์ใดๆ จะเกิดขึ้นในแต่ละภพ แต่ละชาติ

    เพราะฉะนั้นบางท่านจะสังเกตได้ว่า แม้แต่ตัวท่านเองหรือบุคคลอื่นก็ตาม ผู้ใดที่ได้สะสมความคิดถูก ความเห็นถูก ความเข้าใจสภาพธรรมถูก คนนั้นคิดไม่ดีไม่เป็น คิดอิจฉาไม่เป็น ดีไหมคะ คิดดูหมิ่นคนอื่นไม่เป็น คิดยกตนข่มคนอื่นก็ไม่เป็น คิดเมตตาเป็น คิดกรุณาเป็น คิดเห็นใจเป็น คิดเข้าใจเป็น คิดช่วยเหลือเป็น

    เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะเห็นความต่างกันของการสะสมว่า ถ้าท่านอยากจะเป็นบุคคลใด ก็สะสมการเป็นบุคคลนั้น โดยสติเกิดระลึกทันที เห็นโทษทันที เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลได้ทันที


    หมายเลข 109
    14 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ