แนวทางการดำเนินชีวิตที่ดี ตอนที่ 3


    แนวทางการดำเนินชีวิตที่ดี ๓

    พระพุทธเจ้าทรงแสดงโทษของผู้ไม่มีหิริ ไม่มีความละอายในอกุศลว่า เป็นมิตรที่ไม่ควรคบ ข้อความใน ปรมัตถโชติกา อรรถกถา ขุททกนิกาย สุตตนิบาต จุลวรรคที่ ๒ หิริสูตรที่ ๓ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับดาบสผู้ไปทูลถามปัญหา ๔ ข้อ เพื่อเป็นธรรมบรรณาการแก่พระองค์ เพราะดาบสนั้นคิดว่า การที่จะไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคอย่างเปล่าๆ หาควรไม่ และคิดว่าควรจะนำสิ่งใดไป และเมื่อพิจารณาแล้วก็เห็นว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายหาทรงหนักในอามิสไม่ เอาเถอะ เราจะนำธรรมบรรณาการไป จึงได้แต่งปัญหา ๔ ข้อ ไปทูลถามพระผู้มีพระภาค

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ดาบสนั้นเป็นผู้ฉลาด เพราะรู้ว่า การที่จะไปเฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่ใช่ไปเปล่าๆ หรือเพื่อเล่นเฉยๆ แต่ควรจะเป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดก็คือ ปัญหาธรรม มีธรรมเป็นบรรณาการ

    ดาบสนั้นได้แต่งปัญหา ๔ ข้อ ไปทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ๑. มิตรเช่นไร ไม่ควรคบ

    ๒. มิตรเช่นไร ควรคบ

    ๓. ความพยายามเช่นไร ควรประกอบ

    ๔. รสอะไร เลิศกว่ารสทั้งหลาย

    คนเราคงจะอยู่ในโลกคนเดียวไม่ได้ ต้องมีมิตรแน่นอน แต่ดาบสนั้นก็ใคร่จะรู้ว่า มิตรประเภทใดมีลักษณะอย่างไร ควรคบ และมิตรอย่างไรไม่ควรคบ

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของมิตรที่ไม่ควรคบ คือ ผู้ไม่มีหิริ คือ ผู้ไม่ละอายอกุศลธรรม

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    คนไม่มีหิริ ย่อมเกลียดความละอาย ย่อมเห็นราวกับว่า ของไม่สะอาด เพราะเหตุนั้นบุคคลจึงไม่คบ คือ ไม่เข้าไปใกล้ชิดซึ่งบุคคลผู้ไม่มีหิรินั้น และนอกจากนั้นพระองค์ก็ได้ทรงแสดงลักษณะของมิตรเทียม คือ ผู้ที่กล่าวว่าเป็นเพื่อน แม้ชีวิตก็ย่อมสละเพื่อมิตรได้ แต่ก็ไม่เอื้อเฟื้อกระทำสิ่งใดเพื่อมิตรนั้นเลย และยิ่งกว่านั้นยังทำความเสื่อมเสียแก่ผู้ที่ตนกล่าวว่าเป็นมิตรด้วยอีก

    คือไม่ทำตามที่พูดและสงเคราะห์ในสิ่งที่หาประโยชน์ไม่ได้ คือ พูดถึงแต่สิ่งที่ล่วงไปแล้ว และสิ่งที่ยังมาไม่ถึง

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ผู้ใดหวังแต่ความแตกร้าวเท่านั้น ย่อมแสวงหาซึ่งโทษเท่านั้นอย่างนี้ว่า สิ่งใดก็ตามที่บุคคลกระทำแล้วด้วยไม่มีสติ ด้วยไม่มีมนสิการ หรือไม่ได้กระทำด้วยความไม่รู้ บุคคลนั้นจะติเตียนเราเมื่อใด เมื่อนั้นเราจะโต้ตอบเขา ด้วยการกระทำนั้นดังนี้ มิตรนั้นบุคคลไม่ควรคบ

    คือเป็นผู้ไม่ให้อภัยมิตร ถึงแม้มิตรจะกระทำสิ่งใดที่ผิดพลาด แต่ผู้ที่ไม่ใช่มิตรก็จะแสวงหาซึ่งโทษนั้นแล้วก็ไม่อภัยให้ แต่สำหรับผู้ที่เป็นมิตรที่ควรคบนั้นก็ตรงกันข้าม คือ

    ก็มิตรใดเมื่อผู้อื่นกล่าวเหตุตั้ง ๑๐๐ อย่าง ๑,๐๐๐ อย่าง ก็ไม่แตกกัน มิตรนั้นแลควรคบ เพราะเป็นผู้รู้ใจจริงๆ ของเพื่อนว่า เป็นเพื่อน ไม่เพียงแต่ฟังคำของคนอื่น

    วันหนึ่งๆ โลภะ โทสะจะเกิดเพราะมิตรมากไหมคะ เพราะบุคคลที่คบหาสมาคมกัน

    เพราะฉะนั้นผู้ฉลาดจริงๆ หิริโอตตัปปะเกิดเมื่อรู้จิตของตนเองว่า ในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ในขณะที่กำลังมีเรื่องราวของมิตรเกิดขึ้น

    การที่ไม่คบ ไม่ใช่ว่าไม่ให้เมตตา ยังคงมีเมตตาต่อบุคคลนั้นได้ เพียงแต่ไม่ใกล้ชิด เพราะเหตุว่าจะทำให้เกิดโทษภัยสำหรับผู้นั้นด้วย

    แม่ชี ถ้าเราต้องอยู่กับคนที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ เราควรจะทำอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ มีเมตตาค่ะ

    แม่ชี ถ้าเมตตาไม่เกิดล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ เมตตาไม่เกิด ก็เป็นอกุศลของเรา

    แม่ชี แล้วจะทำอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ คือคิดถึงอกุศลของเขา เลยลืมอกุศลของเรา แต่ถ้าเป็นผู้ฉลาดจริงๆ สติจะเกิดระลึกรู้จิตที่กำลังคิดในขณะนั้นว่า คิดถึงบุคคลนั้นด้วยเมตตาหรือเปล่า เขาไม่ดีนั้นเรื่องของเขา ถ้าจิตของเราไม่ดีด้วยในขณะที่คิดถึงเขา ขณะนั้นก็ไม่ดีทั้งคู่ แต่ถ้าความไม่ดี จิตไม่ดีเป็นเรื่องของเขา แต่เรามีเมตตาต่อบุคคลนั้นได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศลจิตของเราที่เห็นโทษว่า ถ้าไม่เมตตาขณะใด ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

    ใครไม่ดีนั้น เรื่องของคนอื่นทั้งหมด ถ้าสามารถจะอนุเคราะห์เกื้อกูลได้ ควรทำ แต่ถ้าไม่สามารถอนุเคราะห์เกื้อกูลได้ แม้ว่าจะไม่ใกล้ชิด แต่ก็มีเมตตาได้

    การใกล้ชิดอาจจะทำให้เกิดอกุศลมากมายเพิ่มขึ้น แต่ว่าถ้าไม่ใกล้ชิดและมีเมตตา เวลาถึงกาลที่จะอนุเคราะห์ก็อนุเคราะห์ด้วยเมตตาได้

    สำหรับผู้ที่เจริญเมตตา แม้ว่าผู้ผิดจะไม่ขอโทษ แต่ก็เมตตาได้ ผู้นั้นเป็นผู้มีปกติอยู่ด้วยเมตตา

    เรื่องของคนอื่นเป็นเรื่องของคนอื่น จะขอโทษหรือไม่ขอโทษ แต่ผู้ที่มีเมตตาก็ยังมีเมตตาต่อบุคคลนั้นได้


    หมายเลข 109
    14 พ.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ