ประโยชน์สองฝ่าย


    ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้ว ประโยชน์ตนคืออะไร และประโยชน์ผู้อื่นคืออะไร บางคนก็เสียสละทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีงาม เป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนอื่น แต่ขณะนั้นรู้หรือเปล่าว่า มีอกุศลแทรกคั่น ถ้าที่คุณนิรันดร์พูดถึงการไปช่วยหยอดตาให้คนตาบอด ระหว่างที่ไปก็ลำบาก คิดว่า ทำไมต้องเป็นตน ประโยชน์ตนอยู่ที่ไหน ประโยชน์คนอื่นมี ไปหยอดตาให้เขา แต่ความจริงขณะนั้นกุศลจิตที่เกิดก็เป็นธรรมอยู่ดี แต่อกุศลที่เกิดคิดอย่างนั้น ก็เป็นอกุศลที่เป็นธรรมฝ่ายไม่ดี ถ้าตัดอกุศลที่ไม่ดีออก เข้าใจถูกต้องว่า ขณะนั้นเป็นโอกาสที่ได้ช่วยคนอื่น คิดผิดกันแล้วใช่ไหมคะ แทนที่ทำไมต้องเป็นเราลำบาก ที่เข้าใจว่าเป็นเราหรือทำไมต้องเป็นเรา ก็ยังมีโอกาสได้ทำสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่ลืมว่า ช่วยคนอื่น เห็นชัดว่าช่วยเขา แต่ช่วยตัวเองไม่ให้เกิดอกุศลหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมว่า เกิดคนเดียว ตายคนเดียว กรรมที่ได้กระทำแล้วก็ของตนคนเดียว มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นทายาท คนอื่นจะมารับผลของกรรมของเราไม่ได้เลย

    เพราะฉะนั้น ระหว่างที่ไม่ว่าจะทำเพื่อประโยชน์ของใครก็ตาม ต้องไม่ลืมประโยชน์ของตัวเองว่า ขณะนั้นต้องเป็นกุศล มิฉะนั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไรอะไรเลย

    อ.กุลวิไล เพราะฉะนั้น ไม่มีผู้ใดทำร้ายจิตได้ นอกจากกิเลสของตนเอง

    ท่านอาจารย์ นามธาตุ จะเอาอะไรไปทำลายคะ ถ้าไม่มีปัญญา กุศลเจริญไม่ได้เลย แต่ถ้ามีปัญญาจริงๆ ขณะนั้นจิตเป็นอะไร ใครกำลังเป็นอกุศล คนที่ว่าเป็นอกุศลแน่นอน ถ้าไม่เป็นอกุศล จะมาว่าคนอื่นไหมคะ ก็ไม่ว่า เพราะฉะนั้น คนว่า จิตเป็นอกุศลแล้ว แล้วคนฟังก็โกรธด้วย ก็อกุศลต่ออกุศล แล้วใครจะดีกว่าใครได้ แต่ถ้ารู้ว่า เขาว่า แล้วไม่โกรธ แล้วมีเมตตา ผู้นั้นทำประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ประโยชน์ตนเองก็ไม่โกรธ แล้วยังไม่ทำให้ความโกรธของเขาเพิ่มขึ้นมากอีกด้วย

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่า กุศลเวลาเกิดแล้ว ไม่ได้ทำร้ายหรือให้โทษเลย แต่อกุศล ตรงกันข้าม ไม่ทำร้ายคนอื่น ก็ทำร้ายจิตใจของตัวเอง ซึ่งคนอื่นทำร้ายไม่ได้ แล้วจะเสียเวลาทำอันตรายตัวเองทำไม ไม่มีใครทำร้าย จะไปบอกว่าคนนั้นคนนี้ทำร้ายเราก็ไม่ได้ ทำเอง ทำร้ายตัวเอง นี่เป็นขั้นหนึ่งที่จะไม่โกรธ แล้วถ้ามีเมตตาต่อคนที่ว่า ก็ยิ่งดี ทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่ใช่เป็นการทำร้ายเขา แต่ดีต่อเขาเสมอ ก็สามารถทำให้เขาเข้าใจถูก และเป็นคนดีได้

    ถ้าจะคิดค่าของเวลา เสียเวลาโกรธไหมคะ ไม่เห็นได้อะไรเลย


    หมายเลข 9686
    19 ก.พ. 2567