ไหว้ข้าว ไหว้โคเป็นความเห็นผิด


    ผู้ฟัง ประเด็นที่ผมพิจารณาก็คือว่าเมื่อสักครู่เราพูดถึงว่าเราบูชาบุคคล หรือว่าเราบูชาความดีซึ่งอาจจะไม่มีสภาพจิต ถึงแม้พ่อแม่เราตายไปแล้ว เราก็ยังบูชากราบไหว้อยู่ ที่นี้ผมพูดถึงข้าวหรือน้ำที่ว่า อาจจะหมายความว่าไม่มีจิต เป็นความดีของข้าวของน้ำ

    อ.อรรณพ แต่จริงๆ น่าพิจารณาก็คือตอนเด็กๆ ผมก็มีพี่ ลูกผู้พี่ เวลารับประทานอาหารเสร็จก็จะยกมือไหว้ข้าวตลอด ก่อนรับประทานข้าว และหลังรับประทานข้าว ผมก็มีความรู้สึกนอบน้อม ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจแต่ก็ทำๆ ตามไปบ้าง แต่พอเราศึกษาธรรมเราเข้าใจ เราก็ต้องพิจารณาว่าเราไหว้อะไร ซึ่งจริงๆ แล้วการระลึกถึงคุณก็อย่างหนึ่ง แต่การที่บางทีเราทำอะไรโดยที่ไม่ได้ประกอบด้วยเหตุผลจริงๆ ก็อีกอย่างหนึ่ง เราก็ทำตามๆ กันไป และเราก็คิดว่าเป็นผู้ที่สำนึกถึงบุญคุณ

    ท่านอาจารย์ ไหว้ตอไม้ก็มีไม่ใช่หรือ ก็ไหว้ทั้งนั้นเลย ก็ไม่รู้จะไหว้เพราะอะไรก็ตามแต่ๆ ว่าเราต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้ที่เห็นถูกเราอาจจะเกิดชาตินี้เป็นอย่างนี้ ชาติหน้าเราจะไปเกิดที่ไม่มีข้าวก็ได้ใช่ไหม ไม่ต้องมานั่งไหว้ข้าวอย่างที่ใครๆ บอกให้เราไหว้ไป เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ว่าความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เราศึกษาธรรม เราต้องตรงต่อสภาพธรรมจริงๆ เพื่อที่ว่าสะสมสืบต่อไปที่จะเห็นถูก มิฉะนั้นแล้วเพียงแค่อย่างนี้ยังเห็นผิด แล้วยิ่งกว่านี้จะเห็นถูกได้อย่างไร ที่ละเอียดกว่านี้ ลึกซึ่งกว่านี้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นสิ่งที่ตรงจริงๆ

    ผู้ฟัง ผมพอเข้าใจว่ามิจฉาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ ผมเข้าใจว่าไปไหว้ของพวกนี้ไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ แต่ว่าบางทีทำให้เรา โดยเฉพาะชาวนา ชีวิตทั้งชีวิตเขาผูกพันอยู่กับข้าวกับน้ำจริงๆ หรือแม้กระทั่งบางแห่งบุญคุณของโค กระบือที่ไถนาให้เขา เขาก็ยังบูชา

    ท่านอาจารย์ ไหว้โค

    ผู้ฟัง ก็ไม่ถึงกับไหว้ คือระลึกถึงบุญคุณของเขา อย่างนี้ก็ทำให้ใจเราอ่อนโยน

    ท่านอาจารย์ คือเราคิดอะไรก็ได้ แต่เราต้องดูตามความเป็นจริงจากพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ แม้ในกาลนั้นมีพระภิกษุหรือใครที่ไหว้ข้าวบ้างหรือเปล่า ถ้าไหว้ๆ ด้วยความเห็นถูกหรือไหว้ด้วยความเห็นผิด เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง ทุกอย่างต้องอาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เพราะว่าเราจะเกิดอีก เราไม่รู้ว่าจะเกิดที่ไหน เป็นใคร แต่อย่างน้อยที่สุดก็สะสมความเห็นถูกตามความเป็นจริงตามเหตุตามผล

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126


    หมายเลข 9128
    26 ม.ค. 2567