เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมทีละหนึ่ง


    ผู้ฟัง สรุปแล้วก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ไม่ค่อยเข้าใจว่าจะละกิเลสได้ยังไงไหม ถ้าปัญญาเกิดก็ละกิเลสได้ ปัญญาขั้นฟังไม่สามารถละกิเลสได้ แม้ขณะนี้ก็รู้ว่ามีเจตนาเจตสิก แต่เกิดแล้วดับแล้วทั้งหมดโดยกำลังฟังเรื่องของเจตนาเจตสิก ที่จริงเรื่องของโลภะเป็นสภาพที่บางครั้งก็เกิดร่วมกับทิฏฐิ ไม่ใช่ตลอดเวลา และบางครั้งก็เกิดร่วมกับมานะเป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ทิฏฐิ สำหรับทิฏฐิเจตสิก (ความเห็นผิด) สามารถที่จะดับได้ด้วยโสดาสปัตติมรรคจิตคือรู้แจ้งอริยสัจจธรรมขั้นแรกเป็นพระโสดาบัน ก็จะดับความเห็นผิดทั้งหมดเลย เพราะสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะว่าไม่มีขณะไหนที่จะพ้นจากสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นพระโสดาบันจะสงสัยในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏกับสภาพที่กำลังเห็นไหม เป็นไปไม่ได้เลย และการที่จะเป็นอย่างนั้นได้ก็จะต้องอาศัยการฟัง และการรู้โดยการรู้ขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่สติเกิดอันนี้เป็นขั้นต้น และขณะที่ปัญญาค่อยๆ เข้าใจขึ้นลักษณะของสภาพธรรม ก็จะเห็นว่าไม่ใช่เข้าใจชัดเจนอย่างประจักษ์แจ้งที่เป็นวิปัสสนาญาณ แต่ว่าจากการฟังเข้าใจก็มีจุดเริ่มต้นที่จะค่อยๆ อบรม มิฉะนั้นแล้วจะตั้งต้นเมื่อไหร่ จะอบรมได้ยังไง ก็เพียงขั้นฟังเท่านั้นเอง แต่ขณะใดที่ฟังแล้วก็มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าขณะนี้เป็นสภาพธรรม และก็มีลักษณะแต่ละทาง เช่นทางตาในขณะนี้ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง พอถึงทางหูก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นขณะที่ไม่มีเรื่องอื่นเลย แต่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แล้วก็เริ่มใส่ใจ เข้าใจ ซึ่งขณะนั้นก็มีสติซึ่งกำลังรู้ตรงลักษณะนั้น และก็เริ่มเห็นถูกตามที่ได้ฟังทีละเล็กทีละน้อยตามที่ได้อบรม เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นพระโสดาบันจะไม่เป็นอย่างนี้หรือ จะไม่มีการตั้งต้นอย่างนี้หรือ ถ้าไม่มีการตั้งต้นอย่างนี้จะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมได้อย่างไร ในเมื่อยังเต็มไปด้วยความไม่รู้ และยังสงสัย

    เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าขณะนี้ถ้าสงสัยการเกิดดับของสิ่งที่ปรากฏ สงสัยลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ สงสัยสภาพเห็นที่กำลังเห็น ก็แสดงให้เห็นว่าความสงสัยนี้จะต้องค่อยๆ ละคลายไป ไม่ใช่ยังเต็มอยู่อย่างเดิม แต่กว่าที่จะละคลายก็จะรู้ว่าก็จะต้องเริ่มที่จะค่อยๆ เข้าใจทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นพระโสดาบันเป็นผู้ที่มีความเห็นถูกขั้นประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม และอริยสัจจธรรม จะไม่มีความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรม แต่ยังมีมานะ ความสำคัญตน ซึ่งก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิตได้ ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องเข้าใจถูกต้องว่าสภาพธรรม อย่างมานะเจตสิกจะไม่เกิดกับโทสมูลจิตเลย สภาพธรรมที่เป็นเหตุใหญ่ๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยที่เป็นฝ่ายอกุศลก็มีโลภะ โทสะ โมหะ แต่ว่าเมื่อเกิดแล้วเป็นจิตที่มีโลภะเกิดร่วมด้วยเป็นโลภมูลจิต ถ้ามีโทสะเกิดร่วมด้วยเป็นโทสมูลจิต ถ้าไม่มีโลภะ โทสะ เกิดร่วมด้วย แต่ขณะนั้นเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศลประเภทที่เป็นโมหมูลจิต

    เพราะฉะนั้นก็ต้องเข้าใจในขณะที่ต่างกันเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต มีอกุศลประเภทใดเกิดร่วมด้วย ซึ่งก็คงจะได้กล่าวถึง แต่ว่าสำหรับโลภมูลจิตที่กล่าวถึงว่ามีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยเมื่อไหร่ ก็จำแนกโลภะนั้นว่าเป็นประเภทหนึ่งคือเป็นโลภมูลจิต

    ที่ใช้คำว่า “ทิฏฐิคตสัมปยุตต์” ในภาษาบาลี หมายวามว่ามีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าขณะนั้นไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ในภาษาบาลีก็ใช้คำว่า “ทิฏฐิคตวิปปยุตต์” หมายความว่าไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะใดที่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วย บางกาลก็จะมีมานะเจตสิกเกิดร่วมด้วย ความสำคัญตน ถ้าไม่ใช้ภาษาบาลี แต่เป็นสภาพธรรมที่รู้สึกว่าตัวเองสำคัญมีไหม ไม่ต้องเรียกว่ามานะ แต่กำลังมีความรู้สึกกระด้าง และก็มีความรู้สึกสำคัญ บางคนบอกว่าขณะนั้นเขารู้สึกไม่สบายใจ เวลาที่มีความสำคัญตนเกิดขึ้นจะกระสับกระส่ายกระวนกระวายอาจจะมีการเปรียบเทียบความรู้สึกขณะนั้นไม่สบายใจ ก็เลยเข้าใจว่ามานะเจตสิกหรือสภาพนั้นๆ ที่มีความสำคัญตนเกิดร่วมกับโทสะ แต่ความจริงไม่ได้ นี่เป็นสิ่งที่จากการศึกษาจะเห็นความต่างกันว่าเราไม่สามารถจะคิดเอง เข้าใจเอง แต่จะเห็นความเกิดดับที่สืบต่ออย่างใกลชิดจนกระทั่งแยกไม่ออก ก็เหมือนกับขณะเห็นก็มีได้ยินด้วย ทั้งเห็นด้วย ทั้งได้ยินด้วย แต่ความจริงขณะที่เห็นเป็นขณะหนึ่งต้องดับไปก่อน และขณะที่ได้ยินจึงเกิดได้ แต่ระหว่างจิตเห็นจิตได้ยินก็มีจิตเกิดดับคั่นมากมายด้วย นี่ก็แสดงให้เห็นว่าความไม่รู้ของเราไม่รู้มากมายจริงๆ แล้วการศึกษาก็จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจขึ้น แม้แต่ความเข้าใจที่ว่าความสำคัญตนจะไม่เกิดกับโทสมูลจิต แต่จะเกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้น

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127


    หมายเลข 9132
    26 ม.ค. 2567