ฟังจนรู้จักตัวธรรม


    ผู้ฟัง คนที่เห็นผิด พื้นฐานของสภาพธรรมขณะนั้นเป็นโลภะ แต่คนที่เขาเห็นถูก เขามีเหตุผลด้วยปัญญา แต่คนเห็นผิดนั้นมีเหตุผลด้วยโลภะ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นการฟังธรรมก็คือการฟังธรรมจริงๆ ใครจะพูดก็ไม่สำคัญเลย ชื่ออะไรก็ไม่สำคัญ จะศึกษามามากน้อยกว่ากันยังไงก็ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่คำที่คนนั้นพูด ทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่ถูกต้องในขณะนี้ได้ อันนั้นเราก็ต้องอาศัยการพิจารณาของเราเอง

    ผู้ฟัง เราก็บอกว่าเรามีกัลยาณมิตร แต่กัลยาณมิตรที่เขามีปัญญา แต่คนที่เขาเห็นผิดเขาก็เรียกกัลยาณมิตรเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ คำก็ไม่สำคัญ ความคิดของคนอื่นก็ไม่สำคัญ แต่ความเข้าใจของเราจะเป็นสิ่งที่สะสมสืบต่อไปในสังสารวัฏฏ์ซึ่งก็อีกยาวนานค่อยๆ สะสมความเห็นถูกด้วยความละเอียด ด้วยความรอบคอบเท่าที่จะกระทำได้ ทุกคนก็ต้องช่วยตัวเองมีตัวเองเป็นที่พึ่ง มีความเข้าใจของตัวเองที่ถูกต้อง ถ้าผิดก็ทิ้งไป ก็ได้ยินบางท่านก็กล่าวว่าก็มีโลภะออกมากมายอย่างนี้ แล้วก็จะไปเกิดปัญญาได้อย่างไร คำพูดอย่างนี้ก็มี แต่จริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องของความละเอียด ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีแต่โลภะ แล้วก็ไม่ได้ฟังธรรมเลยจะไปมีปัญญาได้ แต่ว่าแม้แต่คนที่กำลังฟังธรรมก็มีโลภะ แต่ก็มีความเห็นถูกทีละเล็กทีละน้อยที่สามารถจะรู้ได้ว่าขณะใดเป็นกุศลขณะใดเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น แม้แต่ฟังธรรมหรืออ่านพระไตรปิฎก ก็อาจจะผ่านข้อความที่เรื่องที่ว่าถ้ายังถูกกลุ้มรุมด้วยกิเลสทั้งหลาย สติปัญญาก็เจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้นบางท่านก็มีอัธยาศัยที่จะออกจากเรือนบ้างหรือแม้แต่เป็นภิกษุไปสู่ที่สงบสงัดบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ขณะนั้นใครก็ตามที่มีการกระทำอย่างนั้นเกิดขึ้นต้องเป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น แล้วก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นไปตามการสั่งสมซึ่งเป็นอนัตตา ไม่ใช่มีความเป็นตัวเราที่จะทำด้วยความหวังด้วยความไม่รู้ ด้วยความต้องการ แต่เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่ฟังต้องฟังโดยละเอียดโดยรอบคอบ และจะต้องพิจารณาจริงๆ ว่าในขณะนี้เองที่เราศึกษาธรรมยังไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แล้วเราก็จะไปสู่ที่หนึ่งที่ใดด้วยความหวัง หรือว่าเรามีการที่จะเข้าใจถูกต้องว่าขณะนี้ทุกขณะถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด ไม่รู้ลักษณะที่ปรากฏจะอยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องละเอียดจริงๆ และก็การศึกษาธรรมเพื่อการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะพูดเรื่องโลภะ เรื่องโทสะ เรื่องจิต เรื่องเจตสิกก็ตาม ฟังแล้วฟังอีก แล้วสภาพธรรมก็เป็นอย่างนั้นแหล่ะคือเป็นจิต และเจตสิกนั่นเองซึ่งกำลังทำกิจการงาน แต่ก็ยังต้องฟังต่อไปเพื่อที่จะให้ถึงกาลที่เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังฟัง

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127


    หมายเลข 9131
    26 ม.ค. 2567