ฟังบ่อยๆ จะทำให้ค่อยๆ รู้ขึ้น -พฐ.127


    ท่านอาจารย์ แต่ว่าในครั้งอดีตก่อนการตรัสรู้ และการทรงแสดงธรรม ก็มีการบูชาด้วยข้าวปายาส ด้วยเนยใส ตามความคิดความเห็นของพวกพราหมณ์ เพราะว่าพระพุทธศาสนาก็อยู่ในประเทศที่นับถือศาสนาพราหมณ์ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็มีการกระทำอย่างนั้นมาแล้วในอดีต แต่ผู้นั้นจะมีความเห็นถูกหรือเปล่า และเวลาที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงธรรม ทรงแสดงให้ทำสิ่งซึ่งไม่เข้าใจหรือว่าเต็มไปด้วยความหวังหรือว่าต้องการผล หรือว่าเห็นผิดหรือเปล่า หรือรู้ว่าอาหารเทวดาบริโภคไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เทพ และแก่บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วก็คือทำกุศล และอุทิศส่วนกุศลให้ เป็นประโยชน์ทั้งผู้ที่เราได้ทำกุศล เช่นถวายอาหารพระ แล้วก็อุทิศส่วนกุศลให้ก็เป็นประโยชน์ แต่ว่าถ้าจะเอาอาหารไปบูชาเทพๆ ไม่บริโภคแน่ ไม่ทราบว่ามีข้อสงสัยอะไรหรือเปล่าเพราะว่าจริงๆ แล้วก็คือทุกขณะก็เป็นธรรมที่ยากที่จะรู้ที่จะเข้าใจ ถ้าไม่ได้อาศัยการฟังพระธรรม แต่เมื่ออาศัยแล้วขั้นฟัง ก็ไม่ใช่หมายความว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้

    เพราะฉะนั้นการฟังบ่อยๆ ก็เป็นทางที่จะทำให้ค่อยๆ ซึบซับความรู้ความเข้าใจว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่เรากำลังศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจ อย่างเวลาที่พูดถึงเรื่องโลภมูลจิต แค่จิตเป็นแต่เพียงชื่อหรือว่าขณะนี้สามารถที่จะรู้ลักษณะสภาพที่กำลังเห็น หรือสภาพที่กำลังคิดนึก หรือสภาพที่กำลังได้ยิน ซึ่งตั้งแต่เกิดจนตายไม่เคยขาดจิตเลย

    เพราะฉะนั้นทุกขณะที่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ ก็รู้ได้เมื่อได้ฟังบ่อยๆ ว่าขณะนั้นเพราะมีธาตุรู้หรือสภาพรู้นั่นเองที่กำลังเห็น หรือว่ากำลังได้ยิน กำลังคิดนึกสิ่งต่างๆ โลกจึงได้ปรากฏได้เพราะมีสภาพรู้ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าสิ่งที่มีแสดงไว้มากมายในพระไตรปิฎก ก็เป็นความหลากหลายของสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ แต่เมื่อประมวลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความเห็นผิดในเรื่องใดก็ตาม ในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติผิดหรือว่าวาจาที่ผิดก็ต้องมาจากความเห็นผิดซึ่งถ้าไม่ได้ศึกษาแล้ว เราก็จะเห็นได้ว่ามีคำพูดที่เราได้ยินได้ฟังวันหนึ่งๆ บ่อย แต่ว่าเราสามารถที่จะรู้ และเข้าใจได้ไหมว่าคำพูดนั้นเป็นคำพูดที่เกิดจากความเห็นถูกหรือว่าเกิดจากความเห็นผิด แต่ถ้าได้ฟังเรื่องของความเห็นผิด แล้วก็มีความเห็นถูกว่าสิ่งนั้นผิดก็สามารถที่จะรู้ได้ว่าบุคคลนั้นต้องมีความเห็นผิดจึงได้กล่าวคำนั้น แล้วความเห็นผิดก็มีมากมายในชีวิตประจำวันอย่างที่ได้กล่าวถึงแล้ว ความเห็นผิดว่าทานไม่มีผล เป็นต้น หรือว่าการกระทำก็ไม่ให้ผลทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม ก็มีความเห็นผิดหลากหลายในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงความเห็นผิดในหนทางประพฤติปฏิบัติที่จะทำให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องละเอียดที่เมื่อฟังแล้วก็พิจารณาว่าเราสามารถที่จะศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมได้แค่ไหน ก็คือเมื่อได้ฟังแล้วก็มีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง และก็เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันด้วยมิฉะนั้นก็เป็นความเข้าใจสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังในหนังสือที่เราอ่าน จากที่เราได้ฟังตามที่ต่างๆ แต่เวลาที่สภาพธรรมเกิดขึ้นจริงๆ ไม่รู้ เพราะฉะนั้นการฟังทั้งหมดก็เป็นปัจจัยที่ทำให้สามารถค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ได้

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 127


    หมายเลข 9130
    26 ม.ค. 2567