เด็กๆ กับธรรม - รู้จักนามธรรม


    ท่านอาจารย์ อนิจจัง ไม่เที่ยง หมายความถึงเกิดดับ คำว่า “ไม่เที่ยง” หมายความถึงเกิด แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างในพระพุทธศาสนา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดปรากฏ จะต้องมีลักษณะ ๓ อย่าง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนที่เคยไปวัดต้องเคยได้ยิน แต่คนที่ไม่เคยก็ไม่ได้ยิน คุณยุ้ยเคยได้ยินไหมคะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่อาจจะไม่เคยรู้ความหมายแท้จริง ก็คิดคร่าวๆ ว่า เกิด แล้วก็แก่ แล้วก็เจ็บ แล้วก็ตาย นั่นคืออนิจจัง แล้วก็ทุกข์ด้วย และก็อนัตตาด้วย แต่ถ้ารู้ละเอียด ทุกขณะ รูปธรรมทุกชนิด กลิ่น เกิดปรากฏ แล้วก็หมด เสียง เกิดปรากฏ แล้วก็หมด รส กระทบลิ้นปรากฏ แล้วก็หมด เย็น กระทบกาย แล้วก็หมด คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดปรากฏ แล้วหมด หมดไปจริงๆ ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้นทุกคนเกิดมาต้องไป ไปจากเด็กเล็กๆ สู่ความเป็นเด็กโต สู่ความเป็นหนุ่มเป็นสาว สู่ความแก่ สู่ความเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วก็ตาย ไม่มีอะไรเหลือสักขณะเดียว

    เพราะฉะนั้นถ้าความจริงเป็นอย่างนี้ แล้วเรารู้เสียก่อน จะดีไหมคะ ดีกว่าไม่รู้เลย เมื่อวานนี้ก็มีโทรศัพท์มาจากเชียงใหม่ คนที่รู้จักกันเขาบอกว่า ลูกเขาอายุ ๑๙ ขับรถชนกำแพงเสียชีวิต ก่อนเสียชีวิตสมองตายไปก่อน แต่เมื่อเช้ามีคนหนึ่งตอนตีสี่ บังเอิญจะเปิดฟังวิทยุ แต่ยังไม่มีรายการธรรม ก็ปรากฏมีคนชับรถเบนซ์ชนกำแพงอีกเหมือนกัน รถเบนซ์ขาด ๒ ท่อน เสียชีวิต อายุ ๒๕

    เพราะฉะนั้นไม่มีใครจะรู้เลยว่า ใครจะจากไปเมื่อไร แต่จะจากไปโดยที่ไม่ได้ยินได้ฟัง เข้าใจชีวิต เรื่องธรรม เรื่องอะไรเลย แต่จากไปโดยการที่เริ่มจะเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ด้วยความรู้ความเข้าใจถูกในสิ่งที่อยู่รอบตัว รวมทั้งตัวเองด้วยว่า แท้ที่จริงเป็นอนัตตาอย่างไร ไม่ใช่ของเราอย่างไร ก็จะทำให้เราเป็นคนที่สะสมความรู้ที่ถูกต้องต่อไปอีก เพราะว่าถ้าไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงแสดง ใครก็คิดเรื่องนี้ไม่ได้ ที่จะกล่าวว่า ทุกอย่างที่มีจริง เป็นธรรม ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่งเป็นรูปธรรม อีกอย่างหนึ่งเป็นธรรมที่เป็นธาตุอีกชนิดหนึ่งซึ่งต่างกับรูป เพราะเหตุว่ารูปธรรมหมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ แต่ธาตุอีกชนิดหนึ่ง วิจิตรมาก แปลกประหลาดอัศจรรย์จริงๆ เพราะเหตุว่าเป็นธาตุที่รู้ ไม่เหมือนโต๊ะ เก้าอี้ ไม่เหมือนอะไรเลย แต่ทันทีที่ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นจะต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เช่นทางตาขณะนี้กำลังมองเห็นว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุว่ามีสภาพหรือธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็น แต่ถ้าไม่รู้ว่าเป็นธาตุหรือธรรมชนิดหนึ่ง ก็เป็นเรา แล้วเราเห็นมาตลอด ก็ไม่เคยรู้เลยว่า แท้ที่จริงสภาพที่กำลังเห็น ไม่ใช่รูป ไม่ใช่สิ่งหนึ่งซึ่งมีจริง แต่ไม่รู้อะไร แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งซึ่งสามารถเห็น สามารถได้ยิน สามารถได้กลิ่น สามารถลิ้มรส สามารถรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สามารถคิดนึกทรงจำเรื่องราวต่างๆ ได้

    นี่เป็นธาตุที่มีจริงๆ ที่ใช้คำว่า “ธาตุ” ก็คือธรรม หมายความว่าเราบังคับไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งที่จะเกิดเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น

    ความโกรธ ไม่เห็นมีใครชอบสักคน ใช่ไหมคะ ใช่นะคะ แต่เกิด บังคับได้ไหม บังคับไม่ได้ ความโกรธเป็นธรรมหรือเปล่าคะ

    ผู้ฟัง เป็นค่ะ

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมชนิดไหน เวลานี้เรามีธรรม ๒ อย่าง ประเภทใหญ่ๆ ต่างกันชนิดไม่เกี่ยวข้องกันเลย รูปธรรมคือสิ่งที่มีจริง ไม่สามารถจะรู้ จะเห็น จะคิด จะนึกอะไรได้เลย ส่วนธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นสภาพที่มีจริง แล้วต้องรู้ เกิดขึ้น แล้วไม่รู้ไม่ได้ ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้ อย่างเสียง รู้ว่าเสียงอะไร เพราะว่าสภาพนั้นเกิดขึ้นได้ยิน คือ สามารถจะรู้ว่า เสียงนั้นเป็นอย่างนั้น ต่างกับเสียงอื่น

    เพราะฉะนั้นความโกรธเป็นสภาพธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นค่ะ

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมอะไรคะ

    ผู้ฟัง สภาพธรรมที่รับรู้ได้

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรม ทีนี้จะให้ชื่อ แล้ว เมื่อกี้นี้มีรูปธรรม ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย แต่สภาพธรรมที่เป็นฝ่ายรู้ ส่วนรู้ ต้องรู้ คือ นามธรรม ภาษาไทยเราสับสน “นาม” แปลว่าชื่อ แต่ภาษาบาลี “นา - มะ” หมายถึงสภาพที่น้อมไปรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด หมายความต้องเกิด แล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้ไม่ได้ นั่นคือ “นามธรรม”

    มีอะไรสงสัยในเรื่องชื่อไหมคะ นามธรรมกับรูปธรรม ไม่เอาพริก กะปิ หอม กระเทียมมาเกี่ยวข้องนะคะ เอาแต่เฉพาะที่กำลังได้ยินได้ฟัง แล้วสามารถเข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าคุณยุ้ยเข้าใจ แล้วบอกมาว่ามีนามธรรมอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ชื่อคนค่ะ

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยว แล้วค่ะ นี่ไม่ใช่ภาษาไทย แล้วค่ะ เอาความหมายที่ว่า มีธรรม ๒ อย่าง ธรรมคือสิ่งที่มีจริง อย่างหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นก็เป็นรูปธรรม ไม่ว่าเป็นเสียงก็เป็นรูปธรรม เพราะไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดนึก ไม่จำ ไม่โกรธ แต่ว่านามธรรมเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับรูปธรรม คือ ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลย ไม่มีใครมองเห็นนามธรรม นามธรรมไม่มีกลิ่น ไม่มีรส แต่เกิดขึ้นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถจะรู้ จะเห็น จะจำ จะคิด จะนึก เพราะฉะนั้นให้ตัวอย่างมาอีกว่า อะไรเป็นนามธรรม ช่วยๆ กันทุกคนค่ะ อะไรเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง ความรู้สึกครับ

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกเป็นนามธรรม เพราะมีจริงๆ อะไรอีกคะ ตอบมาได้เยอะแยะเลย ชีวิตประจำวันทั้งหมดเป็นธรรม ความโลภเป็นนามธรรม อะไรอีกคะ ความหลงเป็นนามธรรม ไหนคะ จับต้องไม่ได้ เสียงจับต้องได้ไหมคะ เป็นรูปหรือเป็นนาม เป็นรูปธรรม

    เพราะฉะนั้นรูปธรรมในทางธรรม กินความหมายกว้างกว่าสิ่งที่เราเคยเข้าใจว่า นาฬิกาหรือภาพที่เขียนเป็นรูป ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง เพราะแต่ก่อนเข้าใจว่า รูปธรรมเป็นสิ่งที่จับต้องได้เฉยๆ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ความรู้อื่นทั้งหมดเราไม่สนใจเลย เราฟังอะไร เราจะต้องเข้าใจในสิ่งที่เฉพาะที่เราฟัง ธรรมมีกี่อย่างคะ

    ผู้ฟัง ๒ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ๒ อย่าง คือ รูปธรรมกับนามธรรม ที่มองไม่เห็นเป็นรูปได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง ที่มองไม่เห็น เป็นรูปธรรมก็ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าสิ่งนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้ สิ่งอะไรก็ตามแม้มองไม่เห็น แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ สิ่งนั้นเป็นรูปธรรม รส เราก็มองไม่เห็น ใครเห็นรสหวานบ้าง ใครเห็นรสเค็มบ้าง ไม่เห็นเลยใช่ไหมคะ แต่ว่ารสไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นรสเป็นรูปธรรม

    นี่คือความจริงแท้ๆ ถ้าเราไม่ใช้คำว่า “รูปธรรม” แต่รูปธรรมก็ยังมีจริงๆ ถ้าเราไม่ใช้คำว่า “นามธรรม” นามธรรมก็ยังมีจริงๆ แต่เราจำเป็นต้องใช้คำ เพื่อจะแยกให้รู้ว่า เราหมายความถึงอะไร แต่ให้รู้ว่า ธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีจริง แม้เราไม่เรียกชื่ออะไรเลย ก็มีจริงๆ บังคับให้ไม่มีได้ไหมคะ ธรรม ไม่ได้ มี แล้ว เกิด แล้ว มีจริงๆ จะเรียกชื่ออะไรหรือไม่เรียกชื่ออะไร ธรรมก็ยังคงเป็นธรรม ธรรมอย่างรูปธรรม เราจะเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง เปลี่ยนชื่อได้ค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับความหมายที่เราใช้มีความหมายเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ เปลี่ยนชื่อได้ แต่ลักษณะของธรรมเปลี่ยนไม่ได้ อย่าง “รูปธรรม” ภาษาไทย มาจากภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาอะไรก็เปลี่ยนไป เรียกอะไรก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของรูปธรรมไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เราพูดถึงธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะได้เลย เราจะเติมคำอีกคำหนึ่งคือ “ปรมัตถธรรม” ปรมัตถธรรม มาจากคำว่า “ปรม” หรือ “บรม” ในภาษาไทย บรม แปลว่า ใหญ่ “อรรถ” แปลว่า ความหมาย หรือลักษณะ เพราะเหตุว่าธรรม ที่เราจะกล่าวว่า หมายความถึงอย่างนี้ หมายความถึงอย่างนั้น ต้องมีลักษณะเฉพาะตัวที่เราจะกล่าวถึงได้

    ปรม + อรรถ + ธรรม รวมเป็น ปรมัตถธรรม อรรถ คือ ความหมายหรือลักษณะ ถ้าไม่มีลักษณะ เรากล่าวถึงความหมายไม่ได้เลย อย่างความโกรธ มีลักษณะอย่างไร อรรถ ความหมาย หรือลักษณะของความโกรธ ก็คือเป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง เวลาที่ไม่โกรธ ก็เฉยๆ สบายดี แต่พอโกรธ จิตใจเป็นอย่างไรคะ หยาบกระด้างจริงๆ ในขณะนั้น มีความรู้สึกไม่สบายใจเกิดขึ้น นั่นก็คือมีอรรถ มีลักษณะที่เราสามารถใช้ความหมาย อรรถ อธิบายความหมายลักษณะของสิ่งนั้นได้

    เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมก็คือ ธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะเหตุว่าธรรมอย่างไรก็เป็นธรรมอย่างนั้น เป็นปรมัตถธรรม และถ้าจะเพิ่มอีกชื่อหนึ่ง คือ อภิธรรม อภิ ก็แปลว่า ยิ่งใหญ่ เหมือนกัน ในพระไตรปิฎกจะมี ๓ ปิฎก คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก


    หมายเลข 8562
    9 ม.ค. 2567