เด็กๆกับธรรม - รู้จักบัญญัติ


    ท่านอาจารย์ มีใครสงสัยเรื่องนามธรรม รูปธรรมไหมคะ ถ้าสงสัยก็ถามได้ค่ะ

    ตี้   มีสิ่งที่ไม่สามารถจัดอยู่ใน ๒ ประเภทนี้ได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ มีค่ะ อย่างชื่อ ชื่อเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ชื่อ “ตี้” เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    ตอบ  ปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้แล้ว ถ้าเราพูดถึงปรมัตถธรรม เราหมายความถึงสิ่งที่มีจริง แต่ “ตี้” ไม่มี แต่เรียกนี่ว่า “ตี้” ให้รู้ว่า หมายความถึงคนนี้ ตรงนี้

    เพราะฉะนั้นมีอย่างหนึ่งซึ่งไม่มีจริงๆ ซึ่งถ้าไม่มีนามธรรม ไม่มีรูปธรรม ก็ไม่มีการเรียกอะไรหมดเลย จะไปเรียกอะไรล่ะคะ ไม่มีอะไรจะให้เรียก ใช่ไหมคะ แต่พอมีธรรมแล้ว จำเป็นต้องเรียก ไม่เรียกจะรู้ได้อย่างไร และคำที่เราใช้เรียก ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นคำ เป็นเพียงคำ ไม่ใช่สิ่งที่มีจริง เราเรียกคำนี้ว่า บัญญัติ หมายความว่าคำที่สมมติให้เข้าใจกันว่า หมายความถึงอะไร

    เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจปรมัตถธรรมจริงๆ ว่า ปรมัตถธรรมหมายความถึงธรรม คือธาตุ หรือสิ่งที่มีจริง ต้องมีจริงๆ มีจริงอย่างไร มีลักษณะเฉพาะของแต่ละอย่างให้รู้ว่าเป็นจริงอย่างนั้น ๆ อย่างความโกรธเป็นลักษณะหนึ่ง ความไม่โกรธมีไหมคะ

    ตี้   มีค่ะ

    ท่านอาจารย์ มี ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง เพราะฉะนั้นความโกรธก็เป็นปรมัตถธรรม  ความไม่โกรธก็เป็นปรมัตถธรรม แต่ถ้าไม่เรียกชื่อ ๒ อย่างนี้ เราก็แยกไม่ออกบอกไม่ถูก ไม่รู้จะหมายความถึงอะไร เพราะฉะนั้นเมื่อมีปรมัตถธรรมแล้วจึงมีบัญญัติ คือสมมติให้เข้าใจความหมายว่า คำนี้เราหมายความถึงอะไร

    เพราะฉะนั้นบัญญัติคือสิ่งที่ไม่มีจริงๆ แต่เพราะมีปรมัตถธรรม จึงมีบัญญัติ เพื่อให้เข้าใจว่า เราหมายความถึงอะไร ถ้าเข้าใจปรมัตถธรรมแล้ว บัญญัติง่ายมาก ไม่ต้องไปสงสัยอะไรเลย อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นบัญญัติทั้งหมด

    นาฬิกาเป็นปรมัตถธรรมหรือเป็นบัญญัติ เป็นบัญญัติ เพราะว่าไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส แต่เมื่อเราจะหมายความถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราก็รู้ว่า เรากำลังหมายความถึงอะไร

    ถ้าเข้าใจปรมัตถธรรม จะทราบว่าสิ่งที่มีจริง แยกอย่างใหญ่ๆ ก็คือ นามธรรมกับรูปธรรม แยกได้อีก แยกได้อีก แยกได้อีก แยกได้อีก จนละเอียดขึ้นๆ ๆ ๆ แต่ต้องไม่สับสน ความรู้ที่สำคัญที่สุด คือ พื้นฐาน ถ้าพื้นฐานไม่มั่นคง เราจะไม่เข้าใจธรรมเลย แต่เราคิดว่าเราเข้าใจ เพียงอ่าน เราคิดว่าเรารู้ แต่ความจริงถ้าเราไม่รู้จักว่าเป็นธรรม ถ้าเราไม่รู้ว่าเป็นปรมัตถธรรม ถ้าเราไม่รู้ว่าเป็นอภิธรรม เราจะไม่เข้าใจทั้ง ๓ ปิฎกเลย แต่เมื่อเราเข้าใจปรมัตถธรรมแล้ว อะไรทั้งหมดที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นบัญญัติ เป็นสิ่งที่เราสมมติ เป็นภาษาต่างๆ สำหรับให้เข้าใจว่า หมายความถึงปรมัตถ์อะไร

    ทีนี้เมื่อกี้เราก็มาถึงรูปธรรมกับนามธรรม มีใครยังสงสัยไหมคะในเรื่องรูปธรรมกับนามธรรม น้ำแข็งเป็นปรมัตถ์หรือเป็นบัญญัติคะ

    ตอบ  ชื่อก็เป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปรมัตถ์ จะมีบัญญัติไหมคะ

    ตอบ  ก็ยังไม่มี

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่ต่อไปจะรู้ว่า แม้ไม่มีปรมัตถ์ เราก็มีบัญญัติได้ เช่น พระราชา เป็นปรมัตถ์หรือเป็นบัญญัติ

    ตอบ  ถ้าเราใช้เรียกสิ่งนั้น ก็น่าจะเป็นบัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เป็นบัญญัติ ปรมัตถ์ที่เป็นพระราชา ไม่มีเลย ปรมัตถ์ก็คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  เห็น ได้ยิน สี เสียง กลิ่น รส นี่เป็นปรมัตถ์ แต่พระราชาไม่ใช่ปรมัตถ์ เพราะฉะนั้นพระราชาเป็นบัญญัติซึ่งไม่มีปรมัตถ์

    ถาม   ตาเป็นปรมัตถ์ เพราะว่า

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ อะไรที่มีจริงทั้งหมดเป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่ตาทั้งหมด เพราะว่าคนตาบอดก็ยังมีตาทั้งหมด แต่ไม่มีจักขุปสาท เพราะฉะนั้นจักขุปสาทเล็กแล้วก็เป็นรูปพิเศษ ที่ตัวของเรา รูปนี้มีกรรมเป็นสมุฏฐาน ทำให้เกิดขึ้น เฉพาะตรงกลางตา จักขุปสาทจะไม่อยู่ตรงแขน จะไม่อยู่ตรงอื่นเลย แต่ว่ากรรมจะทำให้รูปนี้เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับตลอดเวลา จนกว่าจะมีรูป คือ สีสันวัณณะกระทบกับจักขุปสาทเมื่อไร เมื่อนั้นก็จะเป็นปัจจัยทำให้มีสภาพรู้หรือธาตุรู้ คือ จิตเกิดขึ้น แล้วก็กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นถ้าเอารูปของใครๆออกหมดเลย ตรงไหนที่มีเห็น ตรงนั้นก็คือนามธรรม ซึ่งต้องอาศัยจักขุปสาทตรงนั้น

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เราจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่ไม่ใช่ตัวตน ต้องหมายความว่า ไม่มีตัวตนรวมอยู่ที่นั่น ถ้ายังมีตัวตน คือ เรายังจำว่าเป็นเรายังนั่งอยู่ที่นี่ แล้วจะบอกว่าไม่ใช่เรา เป็นไปไม่ได้ นอกจากคิดเอาเองว่าไม่ใช่เรา แต่การประจักษ์แจ้งก็คือว่า ตรงนั้นจะต้องไม่มีอะไรอื่นทั้งสิ้น แต่มีปัญญาที่สมบูรณ์ที่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นนามธาตุที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏเท่านั้น เพราะฉะนั้นตัวไม่มี มีแต่สภาพธรรมเฉพาะอย่างๆ ซึ่งเป็นจิตแต่ละอย่าง ทีละ ๑ ขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้นตัวตนรูปร่างอะไรก็หายไปหมด ไม่มี เมื่อไม่มีแล้ว ก็รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม นามธรรมก็เป็นเพียงแต่สภาพรู้หรือธาตุรู้

    เพราะฉะนั้นจึงต้องแยกธรรมออกเป็น ๒ ฝ่าย เด็ดขาด คือ นามธรรมเป็นนามธรรม  ไม่ใช่รูปธรรม รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม


    หมายเลข 8564
    10 ก.ย. 2558