เด็กๆกับธรรม - พระไตรปิฎก


    ท่านอาจารย์ ที่ใช้คำว่า “พระไตรปิฎก” ทุกคนเข้าใจเลยว่า หมายถึงคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระสงฆ์ในครั้งต่อๆมา หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ท่านก็สังคายนารวบรวมทำให้สะดวกในการศึกษา โดยแบ่งเป็น ๓ ปิฎก ๓ ส่วน ปิฎก หมายถึงตะกร้า หรือที่รวมก็ได้ ที่รวมของพระธรรมวินัย  มี ๓ ส่วน คือ ๑. พระวินัยปิฎก เป็นข้อประพฤติปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ของพระภิกษุ แต่มีธรรมอื่นด้วย ในพระวินัยปิฎกไม่ใช่ไม่มีธรรมเลย แต่ว่าส่วนใหญ่เป็นการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะควรของเพศบรรพชิต

    พระสุตตันตปิฎก ก็เป็นการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับใครที่ไหน ก็ต้องเป็นธรรมอีก พระพุทธเจ้าที่จะไม่ทรงแสดงธรรมไม่มีเลย แต่ทรงแสดงกับใครเรื่องอะไร แต่ละบุคคล วันนี้ทรงแสดงเรื่องนี้กับบุคคลนี้ วันต่อๆไปอาจจะแสดงกับบุคคลนั้นเรื่องนั้น เพราะฉะนั้นจึงมีมากมายหลายเรื่อง รวมเป็นพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเรียกย่อๆว่า พระสูตร

    ส่วนปิฎกสุดท้าย คือ พระอภิธรรมปิฎก ไม่เอาชื่อเสียงอะไรเลยทั้งสิ้น พูดเรื่องธรรมล้วนๆ อย่างที่พูดถึงว่า ธรรมมี ๒ ส่วน ประเภทใหญ่ๆ ก็คือ นามธรรมกับรูปธรรม ไม่ได้บอกว่าเป็นคนนั้นหรือคนนี้เลย แต่ว่าเป็นตัวธรรมล้วนๆ นี่คือพระอภิธรรมปิฎก

    เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ใครถามเรื่องพระไตรปิฎก ตอบได้เลยใช่ไหมคะว่าคืออะไร  เพราะฉะนั้นให้ทราบได้เลยว่า วันนี้เราเรียนเรื่องพระไตรปิฎก โดยเฉพาะปิฎกที่ ๓ คือ พระอภิธรรมปิฎก ตัวธรรม ซึ่งเปลี่ยนลักษณะไม่ได้ แต่เปลี่ยนชื่อได้ ทุกอย่าง อย่างเสียง ภาษาไทยว่าอะไร ภาษาอังกฤษว่าอะไร ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน เรียกกันไปต่างๆ แต่ไม่มีใครเปลี่ยนลักษณะของเสียงซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับ แต่ไม่ใช่หูทั้งหู ต้องเป็นส่วนพิเศษในหูที่สามารถจะกระทบเสียง แล้วก็มีธาตุรู้ที่ได้ยินเสียง เพราะว่ารูปทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้  ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย


    หมายเลข 8563
    10 ก.ย. 2558