ศึกษาที่ตัวสภาพธรรม


    ซี   เมื่อกี้ท่านอาจารย์แสดงว่า ในสมัยนี้ที่มีการศึกษาขั้นปริยัติกันก็มีการศึกษาเรื่องราวกันมาก คือ ศึกษาชื่อของธรรม แล้วหาตัวอย่างกันว่า ชื่อของธรรมเป็นอย่างไร ทีนี้ผมก็มีความสงสัยว่า ถ้าไม่ศึกษาในลักษณะเช่นนั้น แล้วในเมื่อสติปัฏฐานยังไม่เกิด จะนำสภาพธรรมที่รู้อยู่แล้ว ไม่ใช่ขั้นสติปัฏฐาน แล้วเอาชื่อเข้าไปใส่ หรืออย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์    หมายความว่า การศึกษาธรรม อย่าเข้าใจว่า ศึกษาชื่อ อันนี้สำคัญที่สุด ต้องรู้ว่า ธรรมขณะนี้มีจริงๆ การศึกษาเรื่องราวของธรรมเพื่อให้เข้าใจจริงๆในลักษณะของสภาพธรรม แม้แต่คำว่า “ธรรม” คำเดียว ถ้าเราไตร่ตรองจริงๆ ว่า เรารู้จักธรรมหรือยัง เพียงความหมายของคำว่า “ธรรม” เป็นสภาพที่มีจริงๆ ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย เรารู้จักลักษณะนี้หรือยัง และธรรมก็มี ๒ อย่าง คือ นามธรรมอย่างหนึ่ง กับรูปธรรมอย่างหนึ่ง เรารู้จักสภาพ ๒ อย่างนี้จริงๆหรือยัง แต่ถ้าเราไม่รู้ว่า การศึกษาของเราทั้งหมดเพื่อรู้ความจริงอันนี้ เราก็จะศึกษาเรื่องราว ที่เราควรจะรู้ว่า เราสามารถประจักษ์หรือรู้ได้ไหม หรือเราเพียงแต่จำได้ ใครถามเราก็ตอบได้ อยู่หน้านั้นหน้านี้ในพระไตรปิฎก แต่ว่าปัญญาของเราสามารถจะประจักษ์ลักษณะของสภาพนั้นหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรมก็เพื่อให้รู้ว่า ธรรมเป็นจริงอย่างนั้นแน่นอน ละเอียดและลึกซึ้ง  และสุขุมจริงๆ แต่ความรู้ของเราจะถึงระดับไหน ที่เราจะสามารถประจักษ์สิ่งนั้นได้หรือเปล่า ถ้าเราประจักษ์สิ่งนั้นไม่ได้ แล้วเราก็เรียนเพื่อให้เข้าใจถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา ยิ่งเรียนละเอียด ยิ่งรู้ว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นขั้นคิด ซึ่งจะเกื้อกูลเวลาที่สติปัฏฐานเกิดต้องรู้ เมื่อที่สติปัฏฐานเกิด สิ่งที่เราเข้าใจ ไม่ใช่สิ่งที่เราเพียงจำ

    เพราะฉะนั้นการเรียนจะมี ๒ อย่าง คำเดียวแต่เข้าใจลึก เข้าใจตลอดในคำนั้นหมดเลย คำว่า “ธรรม” นี่ค่ะ  ทุกอย่าง อะไรๆก็เป็นธรรม ปัจจัยก็เป็นธรรม ธาตุ อายตนะ ขันธ์ ปฏิจจสมุปปาท ทุกเรื่องที่มีในพระไตรปิฎกเป็นธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นความเข้าใจของเราในธรรม เราเข้าใจเพียงเรื่องราว หรือในทั้งหมด คำว่า “อายตนะ” อายตนะ ๑๒ ตอบได้เลย และความเป็นอายตนะเมื่อไร อย่างไร เราไตร่ตรองไหม หรือเราเพียงจำว่า อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ตอบได้ มีอะไรๆบ้าง  แต่ถ้าเราพิจารณาว่า อายตนะเมื่อไร เช่น ขณะที่เรานอนหลับสนิทมีจิตไหม

    ซี   มีครับ

    ท่านอาจารย์    จิตไม่มีอารมณ์ได้ไหม ไม่ได้ ขณะนั้นเป็นอายตนะหรือเปล่า

    ซี   เป็นครับ

    ท่านอาจารย์    อายตนะอะไร

    ซี   มนายตนะกับธัมมายตนะ คือ อารมณ์ของภวังคจิต

    ท่านอาจารย์    รู้ว่า อารมณ์ของภวังคจิตเป็นธัมมายตนะหรือคะ

    ซี   รู้โดยเรื่องราว

    ท่านอาจารย์    เรื่องเป็นธัมมายตนะ และจะรู้ไหมว่า จิตขณะที่เป็นภวังค์ อารมณ์เป็นธัมมายตนะหรือเป็นอะไร เพราะว่าขณะนั้นก็จะมีจิตกับเจตสิก เจตสิกเป็นธัมมายตนะหรือเปล่า  ไม่มีเจตสิกแล้วมีจิตได้ไหม ไม่มีจิตแล้วมีเจตสิกได้ไหม

    เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเข้าใจอายตนะอื่น เช่น เวลาเห็นต้องมีจักขุปสาทเป็นจักขวายตนะ ต้องมีรูปารมณ์เป็นรูปายนตนะ ๒ อย่างพอไหมคะ

    ซี   ไม่พอครับ

    ท่านอาจารย์    มีอายตนะอะไรอีกตรงนั้น

    ซี   มีมนายตนะ คือ วิญญาณจิต

    ท่านอาจารย์    เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจว่า แต่ละคำที่เราได้ยินได้ฟัง เพื่อประจักษ์แจ้ง เพื่อเข้าใจขึ้นจะได้ไม่ลืม แต่ถ้าตราบใดที่เป็นเพียงตัวหนังสือ อย่างไรๆก็ลืม เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ

    เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า เราเรียนเพื่อเข้าใจธรรม แม้แต่ความเป็นอายตนะ หรือความเป็นธาตุต่างๆ เหล่านี้ และความเป็นปัจจัยต่างๆ ก็ตามมาๆ เพื่อให้เข้าใจกว้างขวางลึกซึ้งขึ้นจากสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังแล้ว แต่ต้องด้วยความเข้าใจ เข้าใจเพื่อที่เวลาสติปัฏฐานเกิด แม้สภาพธรรมปรากฏเกื้อกูลต่อการละคลายความเป็นเรา ถ้าปัญญาของเราไม่พอจากการฟังจนกระทั่งเห็นความเป็นอนัตตาเพิ่มขึ้น อะไรจะไปคลายความติดข้องในสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้น เพราะโลภะติดทุกอย่างที่ปรากฏ แม้แต่ไม่มีอะไรเลย เป็นแต่เพียงธาตุร้อน ซึ่งปกติธรรมดาที่ตัว มีใครมีธาตุร้อนบ้าง ปรากฏไหมคะเวลาบอกว่ามี มีเมื่อไร มีเมื่อปรากฏ เกิดแล้วดับแล้ว โดยที่จิตไม่รู้เลย เพราะรูปธรรมที่เกิดจากกรรมก็มี เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี แต่รูปใดไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว เพราะว่ามีปัจจัยให้เกิด เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ แต่ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้นการเกิดดับของสภาพธรรมนี่เร็วมาก รูปใดนามใดที่สติไม่ระลึก รูปนั้นนามนั้นก็เกิดแล้วดับแล้ว

    เพราะฉะนั้นถ้าเรามีความเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจากการไตร่ตรอง ก็จะเป็นปัจจัยให้สติระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ที่มี

    ซี   คำถาม ๒ คำถามที่ต่อจากตรงนี้ คือ ท่านอาจารย์แสดงว่า ธรรมที่ปรากฏก็คือธรรมที่มี แต่ธรรมที่ไม่ปรากฏ ถ้ามีก็เหมือนไม่มี อย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์    เกิดแล้วก็ดับ ตามปัจจัยของสภาพธรรมนั้น อย่างขณะนี้รูปที่เกิดจากกรรมมีไหม ปรากฏหรือเปล่า ดับหรือเปล่า เกิดแล้วก็ดับแล้ว โดยที่ไม่ปรากฏ

    ซี   คำถามที่ ๒ ก็คือ อยากจะทวนความเข้าใจที่เมื่อกี้ถามคำถามแรก ที่บอกว่า การศึกษาเรื่องของโลภมูลจิต ๘ อย่าง แล้วก็ตัวอย่างมาใส่ว่า มีลักษณะอย่างไรตามชีวิตประจำวัน ที่ท่านอาจารย์บอกว่า เป็นการหาเรื่อง กับเป็นการเข้าใจสภาพธรรม หมายความว่า ถ้ามีความตั้งใจที่จะจำว่า โลภมูลจิตมีชื่ออย่างนี้ มีตัวอย่างอย่างนี้ ก็ไม่ใช่เป็นการศึกษาที่ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นการหาตัวอย่างมาเพื่อที่จะเข้าใจว่า ความจริงแล้วก็มีอยู่ในชีวิตประจำวัน นั่นก็เป็นการศึกษาที่จะมีประโยชน์เกื้อกูลให้สติปัญญาเจริญมากขึ้น ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์    พอถึงโลภมูลจิต ๘ จำได้กันหมดเลย คงจะไม่ลืมไปง่ายๆ เพราะว่ามีเวทนา ๒ อย่าง ที่เป็นโสมนัสก็มี ที่เป็นอุเบกขาก็มี และที่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี ไม่เกิดร่วมกับความเห็นผิดก็มี ที่เป็นสสังขาริกก็มี อสังขาริกก็มี จำได้ใช่ไหมคะ ๘ ดวง และพอพูดเรื่อง ๘ ดวงนี้เสร็จ ก็มีคนถามเลยว่า อย่างวันนั้นไปที่นั่น เป็นโลภมูลจิตดวงไหน นี่คืออะไร เรียนแล้วใช่ไหมคะ ชื่อก็จำได้ แต่ก็ถาม มีทิฏฐิเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า เป็นโลภะหรือเปล่า ก็ถาม แต่เรียนชื่อแล้ว แล้วก็รู้ด้วยว่า มี ๘

    แต่ถ้าเขาจะเข้าใจว่า ชื่อ ๘ ชื่อ ก็หมายความถึงจิตซึ่งมีโลภะเกิดร่วมด้วย จึงเป็นโลภมูลจิต และเวลาที่โลภมูลจิตเกิด จะเกิดร่วมกับเวทนาเพียง ๒ อย่าง คือ อุเบกขาหรือโสมนัส  ส่วนอสังขาริก สสังขาริก ก็คือต้องฟังเข้าใจจนสามารถประจักษ์และเข้าใจได้ว่า สสังขาริกคืออย่างไร  อสังขาริกคืออย่างไร แต่ขั้นแรกก็จะรู้จักชื่อ แล้วก็มีการเข้าใจเพียงคร่าวๆว่า เป็นสภาพจิตที่อ่อน ไม่มีกำลัง หรือมีการชักจูงจึงได้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการชักจูงของคนอื่นหรือตัวเองก็ได้ เข้าใจคร่าวๆอย่างนี้

    เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะถามใคร เรียนไปให้ถามคนอื่น  หรือเรียนให้รู้จักสภาพธรรม เป็นความเข้าใจของตนเองจริงๆ

    ซี   เพราะฉะนั้นฟังแล้วก็เหมือนกับว่า ถ้าเป็นการศึกษาปริยัติขั้นต้นๆ แม้จะยกตัวอย่าง ตอนแรกๆก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องมีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ธรรมตามความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร

    ท่านอาจารย์    ศึกษาด้วยความเข้าใจว่า เป็นเรื่องจริง ลักษณะของโลภะ คือ ความติดข้อง ติดข้องทางไหนบ้าง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเมื่อไรเกิดร่วมกับโสมนัส เมื่อไรเกิดร่วมกับอุเบกขา แล้วไม่ต้องถามใคร


    หมายเลข 8461
    10 ก.ย. 2558