ยังคิดที่จะทำอีกรึเปล่า ๒


    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจว่าไม่มีเรา และเป็นธรรมตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นจิต ๒ ประเภทใหญ่ๆ  คือ ประเภทหนึ่งไม่ใช่วิถีจิต  ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็รู้อารมณ์ เช่น ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ นี่ไม่ต้องอาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วขณะใดที่เห็น คืออาศัยตา ขณะที่ได้ยิน คืออาศัยหู ขณะที่ได้กลิ่น คืออาศัยจมูก ขณะที่ลิ้มรสก็อาศัยลิ้น ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสก็อาศัยกาย ขณะที่คิดนึกก็อาศัยใจ ซึ่งเกิดก่อนเป็นทวาร ทำให้นึกคิดเรื่องที่กำลังคิดอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่มีเราเลยทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นการศึกษาเพื่อให้เข้าใจถูกต้อง  ไม่ใช่เพื่อทำ ยังคิดที่จะทำไหมคะ ถ้าทำ ก็จะทำอะไร แล้วจะเอาอะไรมาทำ เมื่อกี้นี้บอกว่าเอาสติมาทำ เป็นไปไม่ได้เลย จะเอาสติที่ไหนมาทำ

    ผู้ฟัง เนื่องจากไม่มีความรู้ความเข้าใจในจุดนี้ การดำเนินในการปฏิบัติธรรม จึงไม่รู้ว่า จุดไหนควรจะทำ จุดไหนไม่ควรจะทำ

    ท่านอาจารย์    นี่เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ศึกษาไงคะ เรากล่าวว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ มีพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ เรามีความเข้าใจว่า ไม่มีผู้ใดจะเลิศกว่าพระองค์ เป็นผู้ตรัสรู้ความจริงซึ่งรู้ยาก  ต้องบำเพ็ญพระบารมีมานานแสนนานกว่าจะรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ได้ตามปกติธรรมดาอย่างนี้ มีความเคารพเลื่อมใสถึงพระองค์เป็นสรณะ แต่ต้องถึงโดยการศึกษาธรรม ถ้าไม่ศึกษาธรรม จะไม่รู้เลยว่า พระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร รู้อะไร มีพระบริสุทธิคุณอย่างไร มีพระมหากรุณาคุณอย่างไร ๔๕ พรรษาที่ทรงแสดงธรรม ทรงแสดงเรื่องอะไร ให้คนฟังเกิดปัญญาของคนฟังเองที่จะรู้อะไร ถ้าไม่ศึกษาก็ไม่รู้เลย

    เพราะฉะนั้นต้องมีพระธรรมเป็นสรณะจริง คือ ศึกษาปริยัติ เพื่อให้มีปัจจัยให้สภาพธรรมเกิดขึ้นทำกิจปฏิปัตติ เพราะถ้าศึกษาภาษาบาลีจะทราบว่า ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่า ถึง เพราะฉะนั้นปฏิปัตติ คือ สติที่เกิดระลึกรู้เฉพาะลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งที่กำลังปรากฏ เพื่อศึกษา เพื่อเข้าใจถูก แต่คนไทยใช้คำว่า “ปฏิบัติ” หมายความว่า “ทำ”  เราก็ไม่เรียนอะไรเลย ได้ยินคำว่า ปฏิบัติ เราก็คิดว่า ทำ แล้วเราก็ทำ แต่เราไม่ได้เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ยังจะทำไหมคะ

    ต้องเป็นผู้ตรง อาจหาญ ร่าเริง ผิดคือผิด ถูกคือถูก ความจริงคือความจริง  ความจริงต้องพิสูจน์ได้  สามารถเป็นเหตุเป็นผลให้เข้าใจได้

    ก็อยากถามตรงๆว่า ที่ฟังแล้วยังจะทำอีกหรือเปล่า ก็ตอบตรงได้ ถ้าจะทำ ก็บอกว่าจะทำ ถ้าจะไม่ทำ ก็ตอบว่า ไม่ทำ ก็เป็นผู้ตรง ไม่ใช่เรื่องที่ใครต้องเดือดร้อนใจกับใครเลย แต่ธรรมเป็นอย่างไร ธรรมก็เป็นอย่างนั้น มีความเข้าใจถูกคืออย่างไร มีความเข้าใจผิดคืออย่างไร ก็เป็นเรื่องของการสะสมที่จะพิจารณาธรรม ถ้ามีความเข้าใจถูก ก็ถูกตรงตามลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งไม่มีใคร ไม่มีตัวตน

    ถ้าศึกษาเรื่องวิถีจิต จะเอาตัวเราไปแทรกตรงไหนไม่ได้เลยสักขณะเดียว ไม่ว่าจะเป็นปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะ ชวนะ ตทาลัมพนะ เราไปทำตรงไหน หรือทางมโนทวารก็เหมือนกัน ก็ไม่มีเราที่จะไปทำอะไรได้เลย แล้วยังจะทำไหมคะ


    หมายเลข 8270
    8 ก.ย. 2558