ธรรม ๒ ประเภท ตอนที่ ๒


    ท่านอาจารย์ ทีนี้เวลาที่เราศึกษาธรรม ก็มีบางคนที่เพิ่งเริ่มศึกษาใหม่ๆ เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า ต้องทิ้งความเข้าใจเดิมที่ใช้คำนั้นๆในภาษาไทย  เพราะเหตุว่าไม่ตรงกับความหมายของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำภาษาบาลี อย่างคำว่า “ธรรม” เราก็อาจจะคิดว่าเป็นเพียงเทศนา หรือคิดแต่ฝ่ายกุศล อธรรมกับธรรม ก็คิดว่า ธรรมต้องเป็นกุศล และอธรรมก็เป็นฝ่ายอกุศล  แต่ธรรมจริงๆ มีความหมายที่กว้างมาก และก็ต้องรู้ว่า เป็นธรรมจริงๆ จึงจะค่อยๆสละ คลายความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เพราะว่าใครก็ไม่สามารถจะละการยึดถือสภาพธรรมซึ่งเกิดกับเราว่า เป็นตัวตนได้ เพราะว่าเคยชิน  คุ้นมาตั้งแต่เกิด แต่จะมาบอกว่าไม่ใช่เรา แสนยาก และจะบอกว่าเป็นธรรม ก็ต้องอาศัยการฟังแล้วฟังอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก จนกระทั่งเข้าใจจรดกระดูก ที่ใช้คำว่า ไม่เปลี่ยนแปลง มีความเข้าใจถูกต้องจริงๆว่า ธรรมที่มีและไม่สามารถจะรู้อะไรได้นั้น เป็นรูปธรรม

    ทีนี้เริ่มเข้าใจความหมายขึ้นมาอีกนิดหน่อย คือ ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ธรรมหลากหลาย มีละเอียดมาก ต่างกันมาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังสามารถจำแนกออกเป็นลักษณะที่ต่างกันใหญ่ๆ เป็น ๒ ประเภท คือ ลักษณะไม่สามารถรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น เป็นรูปธรรม ส่วนธรรมอีกอย่างหนึ่ง ต่างกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุว่ารูปธรรมแม้เกิดก็ไม่รู้ สีเกิดขึ้นมา เสียงเกิดขึ้นมา กลิ่นเกิดขึ้นมา รสเกิดขึ้นมา ก็ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น แต่ว่ามีธาตุอีกชนิดหนึ่ง ใช้คำว่า “ธาตุ” หมายความว่ามีลักษณะเฉพาะของสิ่งนั้น สิ่งนั้นคือเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ “รู้” ที่นี่ไม่ใช่ปัญญา แต่ “รู้” ที่นี้หมายความว่า เป็นธาตุที่สามารถจะรู้ว่า สิ่งใดกำลังปรากฏให้รู้เฉพาะหน้า  เช่นขณะนี้ธาตุเห็นเป็นสภาพรู้ ซึ่งสามารถรู้โดยเห็น ธาตุชนิดนี้กำลังทำกิจเห็น  เป็นสภาพรู้อะไร รู้ว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้เป็นอย่างนี้  ไม่ใช่รู้อื่น แต่รู้ว่า มีสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างนี้เป็นอย่างนี้   ไม่ใช่คิดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาขณะนี้เป็นอย่างนี้ ไม่ใช่ แต่ลักษณะรู้หรือธาตุรู้ คือว่า รู้โดยรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆขณะนี้ ไม่ต้องใช้คำเลย แต่สามารถเห็นสิ่งนี้ได้

    นี่คือลักษณะอาการของสภาพรู้อย่างหนึ่ง คือ สามารถเห็น เห็นอะไร เห็นลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างนี้ ซึ่งธาตุที่ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะเห็นได้ แต่ธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นเห็นว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาอย่างนี้

    สภาพรู้หรือธาตุรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า “นามธรรม”   “นาม” หมายความถึงสภาพที่น้อมไปรู้สิ่งที่ปรากฏให้รู้ เสียง มีใช่ไหมคะ ทุกคนรู้ว่าเสียงมี ธรรมดามาก เสียงกำลังปรากฏ แต่ถ้าไม่มีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งสามารถได้ยินเสียง ธาตุชนิดนี้เป็นสภาพที่สามารถได้ยิน ไม่สามารถเห็น ไม่สามารถคิดนึก ถ้าโดยธรรมจะแยกวิญญาณธาตุออกเป็น ๗ ประเภท คือ จักขุวิญญาณธาตุ ได้แก่ สภาพเห็น หรือธาตุเห็นต้องอาศัยตา

    เพราะฉะนั้นวิญญาณกับจิต ความหมายเดียวกัน จะใช้คำว่า “จิต” จะใช้คำว่า “วิญญาณ” หรือ “มโน” “มนะ” “หทยะ” ได้หมดเลย เมื่อหมายความถึงสภาพรู้

    เพราะฉะนั้นภาษาอังกฤษหรือภาษาไทย ถ้าไม่ศึกษาก็อาจจะไม่รู้ หรือเด็กเล็กๆก็ไม่รู้ว่า มโนคืออะไร แต่เขาเห็น แต่เขาไม่สามารถจะเรียกได้ แล้วเขาไม่สามารถรู้ความจริงของสภาพที่เห็นได้

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม ต้องศึกษาโดยละเอียด อย่าเพิ่งผ่านแต่ละอย่าง เพราะรู้ว่า นี่คือสิ่งที่ปัญญาจะต้องอบรมจนกว่าจะรู้ชัด ประจักษ์แจ้งถึงความสมบูรณ์ จึงจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้


    หมายเลข 8266
    8 ก.ย. 2558