ธรรม ๒ ประเภท ตอนที่ ๓


    คำสอนของพระพุทธศาสนาสมบูรณ์ คือ ตั้งแต่ฟังเข้าใจ แล้วอบรมตาม คล้อยตามความจริงที่ได้เข้าใจแล้วถูกต้อง จนกระทั่งเมื่อประจักษ์ ก็ประจักษ์ตรงตามที่ได้ศึกษานี้แหละ ไม่ต่างกันเลย ไม่เป็นโมฆะ ไม่ใช่เป็นเพียงความเชื่อ ให้เชื่อ โดยไม่ให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเองเลย แต่ต้องฟังจริงๆ เข้าใจจริงๆ แม้แต่คำว่า “ธรรม” ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง

    ถ้าเข้าใจคำว่า “ธรรม” แล้วรู้ว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นได้ ภาษาบาลีใช้คำว่า “ปรมัตถธรรม”  มาจากคำว่า “บรม” หรือ “ปรม” เพราะเหตุว่าภาษาบาลีไม่มีตัว บ ใบไม้ แต่มีตัว ป เพราะฉะนั้นก็เป็น ปรม กับ อัตถ และธรรม หมายความว่า ธรรม อัตถ หรือลักษณะที่เราจะอธิบาย หรือที่เราจะรู้ความจริงของเขาเป็นสภาพธรรมที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ เป็นปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจธรรม เราเข้าใจปรมัตถธรรมด้วยหรือเปล่าคะ ต้องเข้าใจด้วย เพราะฉะนั้นถ้ามีคนกล่าวว่า เข้าใจธรรม แต่ไม่เข้าใจปรมัตถธรรม จะถูกหรือจะผิด ไม่เข้าใจเลยว่า ธรรมนั้นคืออะไร แล้วก็บอกว่ารู้จักธรรม ถ้ารู้จักธรรม ก็ต้องรู้จักความเป็นปรมัตถธรรมด้วย และปิฎกที่รวบรวมเนื้อความสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมดไว้ในพระไตรปิฎก คือ ปิฎกสุดท้าย คือ อภิธรรมปิฎก “อภิ” แปลว่า ยิ่ง หรือใหญ่ หรือละเอียด ถ้าอ่านพระสูตร แม้พระสูตรจะมีข้อความเรื่องสังโยชน์ เรื่องธรรมหมวดต่างๆ แต่ไม่แสดงละเอียดเท่าพระอภิธรรมซึ่งกล่าวถึงเรื่องปรมัตถธรรมเท่านั้น ล้วนๆ ไม่มีชื่อพระเจ้าปเสนทิโกศล ไม่มีชื่อพระเจ้าพิมพิสาร ไม่มีชื่อใดๆที่เป็นสมมติของบุคคล แต่มีปุคคลบัญญัติ หมายความว่าจิตชนิดนี้เป็นระดับของสัตว์เดรัจฉาน หรือของมนุษย์ที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย หรือของผู้มีปัญญาถึงระดับพระอริยบุคคล นั่นคือบัญญัติปรมัตถธรรม แต่ไม่ใช่โดยชื่อสมมติ ไม่ใช่ชื่อสุจินต์ ไม่ใช่ชื่อสุชาติ ไม่ใช่ชื่อศิลกันต์ ไม่ใช่ชื่ออะไรทั้งนั้น แต่ว่าบัญญัติสภาพที่มีว่า เป็นบุคคลระดับไหน

    เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เริ่มต้นให้ถูก ให้ละเอียด ให้เข้าใจจริงๆ แล้วก็จะไม่สับสน เวลาฟังธรรมที่ไหนก็รู้ว่า กำลังฟังธรรม หรือไม่ใช่ธรรมที่ได้ฟัง และธรรมที่ได้ฟัง เป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่พิสูจน์ได้แม้ในขณะนี้ หรือว่าไม่ใช่ นี่ก็เป็นปัญญาของผู้ฟังเองที่สามารถไตร่ตรองรู้ว่า ประโยชน์ของธรรมที่ฟัง คือ สามารถเข้าใจตัวธรรมจริงๆ ซึ่งมีจริงๆ ซึ่งกำลังปรากฏ

    และตอนนี้เราก็แยกเป็นนามธรรมกับรูปธรรม

    นามธรรม คือ สภาพรู้ ธาตุรู้ อาการรู้ ซึ่งมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่ง คือ จิต อีกอย่างหนึ่ง คือ เจตสิก จิตก็เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ ภาษาบาลีจะใช้คำว่า อารัมมณะ วิชชาน น ลักขณัง ลักษณะที่รู้อารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ถ้าจะกล่าวว่า มีแต่จิต และไม่มีสิ่งที่จิตรู้ ได้ไหมคะ ไม่ได้ นี่ค่ะเราเริ่มเข้าใจในเหตุผล เพราะฉะนั้นเมื่อมีจิตที่ใด มีสภาพรู้ ซึ่งต้องมีสิ่งที่ถูกรู้

    เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ หรืออารัมพนะ หมายความว่า พอใช้คำว่า “อารมณ์” ต้องหมายความว่า จิตกำลังรู้สิ่งนั้น ทุกครั้งที่ใช้คำว่า “อารมณ์” ต้องหมายความว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่จิตกำลังรู้ด้วย เช่น ขณะนี้เห็นเป็นจิตที่เห็นว่า กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นอย่างนี้  เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกเห็น หรือกำลังปรากฏให้เห็นกับจิตเห็น สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ หรืออารัมมณะของจิต บางแห่งจะใช้คำว่า อารัมพนะ ถ้าผู้ที่สนใจเรียนบาลี ก็จะเรียนกำกับไปด้วย แต่ถ้าจะให้ประโยชน์แก่การศึกษาธรรม แล้วให้รู้ความหมาย ซึ่งจะส่องความกระจ่างของคำชัดเจนขึ้นอีกมากเวลาที่เรารู้ความหมายในภาษาบาลีด้วย เราก็มีการศึกษาให้เข้าใจความหมายเฉพาะคำที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ให้รู้ว่า คำนั้นหมายความว่าอะไร ลึกซึ้งกว้างขวางแค่ไหน ซึ่งก็คงกล่าวไม่ได้เลยในที่นี้ เพราะว่าการศึกษา การฟังของเราต้องเป็นเรื่องตลอดชีวิต แล้วก็เป็นเรื่องที่เท่าไรก็ไม่พอ ต้องเป็นเรื่องที่ต้องอบรมจนกว่าปัญญาจะเข้าใจความไม่ใช่ตัวตนของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม ขอให้ทราบว่า การศึกษาธรรมเพื่อความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น


    หมายเลข 8267
    8 ก.ย. 2558