กรรมมี ๒ อย่าง


    ศุกล ท่านอาจารย์ได้พยายามพูดถึงเรื่องเหตุปัจจัยก็ดี เรื่องกรรมก็ดี ทีนี้ก็มีผู้สงสัยเกี่ยวกับปัจจุบันชาติก็พยายามทำสิ่งที่ดี เรียกว่าเป็นกุศลกรรม และเวลาที่ผู้นั้นใกล้จะสิ้นชีวิตก็มักผู้บอกให้ระลึกถึงบุญหรือการกระทำที่เป็นประโยชน์ในลักษณะที่มีตัวมีตนไปทำ กับแล้วแต่เหตุแล้วแต่ปัจจัย ก็มีผู้สงสัยว่า การทำดีที่ผ่านมาแล้วจะไม่เป็นเหตุปัจจัยให้เราพ้นไปจากการเกิดในอบายภูมิไม่ได้หรือ หรือแล้วแต่ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้คนไม่มั่นใจ ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นคนที่เชื่อเรื่องกรรม ก็รู้ว่า กรรมมี ๒ อย่าง คือ กุศลกรรม และอกุศลกรรมไม่ใช่มีอย่างเดียว เมื่ออกุศลกรรมมีทำไปแล้วก็ให้ผล หรือกุศลกรรมที่ทำไปแล้วก็ให้ผล แล้วแต่กรรมไหนจะให้ผลเมื่อไร อย่างเราเกิดมา มีใครบ้างที่ไม่เคยป่วยไข้ ขณะที่ป่วยไข้นั่นมีร่างกาย แล้วก็มีทุกขเวทนาอาศัยรูปนั้นเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้นเราเกิดมาเป็นมนุษย์ด้วยผลของกุศล แต่เราก็ยังมีกุศลกรรมในอดีตที่ทำให้เราได้รับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และเวลาเราตายก็เหมือนกัน เราทุกคนก็มีทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นถ้ากุศลกรรมให้ผลก็เกิดในสุคติภูมิ ถ้าอกุศลกรรมให้ผลก็เกิดในทุคติภูมิ ถ้าเราเป็นผู้รู้เรื่องกรรม เราก็รู้ว่า มีกรรม ๒ อย่าง ทั้ง ๒ อย่างก็ให้ผลตามควร ตามเหตุ

    ศุกล ทีนี้กุศลกรรมที่แต่ละคนได้ทำไว้ในปัจจุบันนี้

    ท่านอาจารย์ แล้วอกุศลกรรมละคะ พูดด้วย จะพูดแต่เฉพาะกุศลกรรมอย่างเดียวไม่ได้

    ศุกล ทีนี้ถ้าจะพูดถึงอกุศลกรรม ท่านอาจารย์ก็เน้นอยู่เสมอว่า ถ้าไม่เป็นกรรมบถก็ยังไม่ให้ผลให้เกิดในอบาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ครบองค์ของกรรมบถ

    ศุกล ทีนี้ปกติจะไม่ถึงขั้นกรรมบถก็ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ถึงขั้นกรรมบถก็ให้ผลหลังจากปฏิสนธิ

    ศุกล เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าในปัจจุบันแต่ละคนก็มีโอกาสทำบุญทำกุศล คือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

    ท่านอาจารย์ แล้วอกุศลกรรมละคะที่ครบองค์ พูดด้านเดียวได้อย่างไร ถ้าพูดเรื่องกรรมก็ต้องพูดทั้ง ๒ ข้าง คือ ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม

    ศุกล ทีนี้สมมติว่าคนนั้นป่วยหนัก ใกล้จะตาย ก็มีญาติพี่น้องลูกหลานมาให้สติเตือนให้ระลึกถึงกุศลกรรมต่างๆ จะมีประโยชน์หรือมีผลจริงๆ หรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เราก็พูดได้ แต่ใครจะรับ ไม่ต้องตอนตาย เอาเดี๋ยวนี้เลยค่ะ

    ศุกล เดี๋ยวนี้ยังไม่มีเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันค่ะ จะตายขณะนี้ยอมได้ ไม่มีใครรู้ว่า ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อไร จะตายเดี๋ยวนี้ทันทีที่ได้ยินก็ได้

    ศุกล เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี่ก็แล้วแต่

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่มีใครไปยับยั้งได้ บางคนบอกว่า ถ้าอย่างนั้นตอนจะตายก็ทำใจดีๆ ไม่ต้องไปโกรธใคร ไม่ต้องโลภ ทำได้อย่างไร ถ้าทำได้ ทำเดี๋ยวนี้ค่ะ ถ้าเดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ ก็หมายความว่า จะตายก็ทำไม่ได้ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วทำไม่ได้เลย ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ดูเหมือนว่าก่อนจะตายอยากจะเป็นพระอรหันต์ ไม่ให้โลภ ไม่ให้โกรธ แต่เหตุไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะฉะนั้นหวังก็หวังผิด หวังลมๆ แล้งๆ ไม่มีเหตุมีผล เมื่อไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อไม่ใช่พระอริยบุคคล แล้วหวังได้อย่างไรว่า อกุศลกรรมจะไม่ให้ผล

    ศุกล คราวนี้มีที่ท่านอาจารย์พูดไว้ในเทป บอกว่าพระพุทธเจ้าแสดงว่า การได้เกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก โอกาสที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นในโลกนี้ก็แสนยาก เมื่อได้ฟังทั้ง ๒ ประโยค ก็มานึกถึงชีวิตของแต่ละคนว่า เวลาที่เกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่ยากแล้ว พอเวลาตายไป อาจจะต้องเกิดในอบายภูมิเสียมากกว่าที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ ก็เลยทำให้จิตใจไม่สดชื่นร่าเริง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไร ข้อสำคัญที่สุดก็คือไม่สดชื่นร่าเริงแล้วจะทำอย่างไร ก็รู้อยู่ ที่พูดนี่แปลว่ารู้ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็ทำกุศลเท่านั้นเอง แล้วจะต้องไปหวังอะไรในเมื่อเหตุมีแล้ว ผลจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็เมื่อนั้น มานั่งคิดทำไมว่าจะให้ผลหรือเปล่า หรือจะให้ตอนตายหรือเปล่า นี่เรื่องคิดค่ะ แต่เรื่องความจริงก็คือว่า อะไรจะเกิดขึ้นก็ย่อมมีเหตุมีปัจจัยที่เป็นอกุศลวิบาก คือผลที่ไม่ดี ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือแม้การเกิดไม่ดี ก็ต้องเป็นผลของอกุศล

    เพราะฉะนั้นก็เริ่มเข้าใจความจริงว่า ไม่มีใครไปบังคับอะไรได้ แต่สามารถอบรมเจริญปัญญาเข้าใจเหตุผลให้ถูกต้อง เมื่อเข้าใจเหตุผลถูกต้องแล้วก็เป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้กุศลเจริญขึ้น เพราะรู้อยู่ว่า อกุศลก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก และกุศลก็เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก

    ศุกล เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันเมื่อได้ฟังคำอธิบายที่ท่านอาจารย์เรื่องสังคหวัตถุแล้ว ก็ควรนำมาประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่ดีในพระธรรมทั้งหมด แล้วแต่ขณะจิตที่จะเกิดขึ้นว่าเป็นขณะใด เป็นขณะของสังคหวัตถุ หรือเป็นขณะของพรหมวิหาร หรือเป็นขณะของอนุสติ หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเรื่องที่อบรมไป แล้วแต่ว่าสภาพธรรมใดจะเกิดขึ้น

    ศุกล ก็คงจะต้องอาศัยการฟังมากๆ และฟังให้เกิดความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขาดการฟังไม่ได้เลย คำว่า “สาวก” หรือ “สาวโก” แปลว่า ผู้ฟัง แล้วต้องปฏิบัติตามด้วย ฟังเฉยๆ ไม่พอ จะยอมรับไหมคะว่า ต้องปฏิบัติตามด้วย ไม่ใช่ฟังเฉยๆ หรือเพียงเข้าใจ

    ศุกล เรื่องการปฏิบัติก็คงได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะตามปกติเวลาที่หลงลืม ก็ไม่ได้นึกถึงประโยชน์ที่จะให้กับบุคคลอื่น หรือถ้านึกถึงก็เป็นส่วนน้อยเหลือเกิน เพราะฉะนั้นพิจารณาแล้วก็คือหลงลืมสติมากกว่ามีสติ ท่านอาจารย์มีคำที่จะช่วยให้เกิดสติไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ช่วย ช่วยไม่ได้ ให้เข้าใจได้ แต่ช่วยไม่ได้ ทุกคนต้องมีความเข้าใจของตัวเอง ต้องมีปัญญาของตัวเอง เรากำลังฟังเพื่อที่จะเกิดปัญญาของตนเอง


    หมายเลข 8112
    13 ก.พ. 2567