อุเบกขาคือไม่หวั่นไหวด้วยความเข้าใจ


    คุณหญิงชวนชม   คนที่มีอุเบกขาจะขัดกับข้อที่มีอัตถจริยาหรือเปล่าคะ

    ท่านอาจารย์    ธรรมนี่ต้องเข้าใจว่า กุศลคือกุศล เพราะฉะนั้นในเรื่องของพรหมวิหาร ๔ ก็ต้องเป็นเรื่องของกุศล ไม่ใช่อกุศล และสังคหวัตถุก็ต้องเป็นกุศล เวลาที่เราช่วยใคร สมมติว่าหมอกับนางพยาบาล มีคนไข้หนัก เราช่วยแน่นอน แต่คนที่ช่วย ใจหวั่นไหวหรือไม่หวั่นไหวทั้งๆที่กำลังช่วย ถ้าคนที่ไม่รู้เรื่องของกรรม ก็จะมีความทุกข์ร้อน หรือสงสาร หรือบางทีอาจจะถึงกับน้ำตาไหลในอากัปกิริยาที่เขากำลังเป็นทุกข์อย่างมากๆ ก็พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย ในขณะนั้นก็กำลังช่วย แต่อีกคนหนึ่งช่วยด้วยความรู้ความเข้าใจว่า ทั้งที่เขาใช้ความสามารถเต็มที่ แต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด   เพราะเหตุว่าถ้าจะถึงคราวที่กรรมจะให้ผล คือจะตาย  จุติจิตจะเกิด มีเงินสักเท่าไร ก็ซื้อต่ออีกขณะหนึ่งไม่ได้ เสี้ยววินาทีหนึ่งก็ไม่ได้ เมื่อกรรมจะให้ผล ใช้คำที่ถูกต้องที่สุด คือ “ถึงแก่กรรม”   

    เพราะฉะนั้นผู้นั้นทำดีที่สุดด้วยความไม่หวั่นไหวเลย ถึงเขาจะตายไปกับมือ ก็ได้ช่วยเขาเต็มที่แล้ว นั่นคืออุเบกขา ไม่ใช่ว่าวางเฉยค่ะ

    คุณหญิงชวนชม   ถ้าอย่างนั้นก็หมายความว่า เราสามารถแสดงอัตถจริยาได้ก่อน

    ท่านอาจารย์    แน่นอนค่ะ พร้อมกันก็ได้ คือ ในขณะที่เมตตาจิตเกิดขึ้น ทั้งกาย ทั้งวาจาเป็นไปได้ ไม่จำเป็นต้องคิดถึงคนอื่นด้วยความเป็นมิตร แต่ในขณะที่เป็นมิตรนั้นก็แสดงกายวาจาที่เป็นมิตรด้วย เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ นั้นแสดงได้ แล้วแต่ว่าจะด้วยเมตตา หรือกรุณา หรือมุทิตา หรืออุเบกขา


    หมายเลข 8116
    6 ก.ย. 2558