อบรมให้รู้สภาพธรรมที่กำลังมีอยู่


    บุษบง ขออนุญาตย้อนกลับไปจากที่พูดว่า ขณะนี้ธรรมก็ทำกิจของเขาอยู่ แต่การอบรมก็คือว่า เราจะอบรมให้รู้ในสภาพธรรมที่กำลังเกิดอยู่ จะถูกไหมคะ

    ท่านอาจารย์    ถูกค่ะ

    บุษบง ทีนี้การอบรมธรรมที่มีอยู่ สรุปก็มีอยู่ด้วยกัน ๔ ทาง คือ กาย เวทนา จิต ธรรม อย่างนี้จะได้ไหมคะ

    ท่านอาจารย์ นั่นชื่อนะคะ คือ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงหมวดของมหาสติปัฏฐาน ๔ ตามการยึดถือ คือ กายนี่เรายึดถือแน่ๆ ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ใครแตะต้องก็ไม่ได้ เป็นของเรา นั่นคือการยึดถือกายว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นก็ต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อจะรู้ความจริงของกาย และสำหรับเวทนา เราก็มีความติดยึดมั่น เพราะทุกคนต้องการความสุข ไม่ว่าจะทำงานเหน็ดเหนื่อยสักเท่าไร ก็เพื่อสุขเวทนา ใช่ไหมคะ จะไปซื้อของที่ไหน กลับเข้ามาในบ้าน ก็เพื่อสุขเวทนาอีก หรือจะไปเที่ยวที่ไหนอย่างไร ก็เพื่อสุขเวทนาทั้งนั้น

    นี่แสดงให้เห็นว่า เวทนาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉะนั้นก็ควรจะเห็นความไม่ใช่ตัวตน  ความไม่เที่ยงของเวทนา และจิต และธรรม ก็รวมอยู่ เพียงแต่ว่าทรงแยกตามการยึดถือเท่านั้นเอง แต่ก็คือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ 

    บุษบง มีผู้สนทนาธรรมถามขึ้นว่า การปฏิบัติธรรมต้องดูอะไรก่อน ถ้าศึกษาตามที่ท่านอาจารย์สอนจะต้องผิดแน่ เพราะว่าสภาพธรรมอะไรจะเกิดก่อนก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องมานั่งดูกายกันอยู่

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ไม่มีกฎเกณฑ์ เพราะเป็นอนัตตาจริงๆ

    บุษบง เห็นที่ทำๆกันอยู่ ดิฉันคิดเอาเองว่า คงจะเอากาย คือ ศึกษาธรรมไม่ละเอียด หรือมีความเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่ง ก็เลยมุ่งว่า กายต้องก่อน ซึ่งจริงๆแล้ว อะไรเกิดก่อนก็ได้

    ท่านอาจารย์    คือธรรมเป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ เพราะฉะนั้นความ   จริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เช่นขณะนี้เราคิด แล้วใครจะห้ามความคิดได้ เพราะฉะนั้นถ้าสติระลึกสภาพที่กำลังคิด ผิดหรือถูก ผิดไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าคิดกำลังเป็นของจริง เพราะฉะนั้นจะไปมีกฎเกณฑ์อะไรไม่ได้ และการปฏิบัติธรรมเพื่อรู้แจ้งธรรมตรงตามที่ได้ศึกษา เมื่อศึกษาเป็นความจริงอย่างไร ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งความจริงอย่างนั้น ไม่ใช่ผิดจากความจริง เพราะว่าตามการศึกษา รูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า คือ ผงดิน ต้องมีธาตุทั้ง ๔ ประชุมรวมกัน ถ้าไม่มีการประชุมรวมกันก็ล่องลอยเป็นฝุ่นเล็กๆ ซึ่งไม่มีการนั่ง การนอน การยืน การเดินในรูปเล็กๆนั้น แล้วเราจะมายึดถือรูปซึ่งประชุมรวมกันได้อย่างไร ก็ไม่ทำให้เข้าใจลักษณะของรูปแต่ละรูปตามความเป็นจริง


    หมายเลข 8117
    6 ก.ย. 2558