ปฏิบัติคืออะไร


    วีระ ตามที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องการปฏิบัติว่า การปฏิบัติคือการเข้าใจสิ่งที่ฟังนี่หรือครับ หรือการปฏิบัติคืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจจริงๆ อย่าเพิ่งตามกันไปโดยไม่เข้าใจ หรืออย่าคิดว่าเข้าใจแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจเลย แม้แต่คำว่า “ปฏิบัติ” ก็อยากจะรู้ว่า จะทำอะไร ถ้าภาษาไทยเราก็บอกว่า ปฏิบัติคือทำ แล้วจะปฏิบัติ คือจะทำ เพราะฉะนั้นจะทำอะไร นี่ค่ะ ไม่ใช่เขาจะปฏิบัติ เขาปฏิบัติอย่างไร เราก็ปฏิบัติด้วย แต่เราก็ไม่รู้เรื่อง

    เพราะฉะนั้นตั้งต้นตั้งแต่คำแรกว่า “ปฏิบัติ” คืออะไร ถ้าปฏิบัติคือทำ ก็ต้องถามว่าทำอะไร ไม่อย่างนั้นก็ไม่เข้าใจ นอกจากว่าปฏิบัติไม่ใช่ทำ

    เพราะฉะนั้นปฏิบัติคืออะไร ทำหรือไม่ทำ

    วีระ ปฏิบัติคือการฟังแล้วเข้าใจ เมื่อฟังแล้วเข้าใจแล้ว ระหว่างสภาพธรรมที่เกิด คือ สภาพรู้ หรือธาตุรู้ หรืออาการรู้เกิดขึ้นปรากฏ ระลึกได้ทัน สมมติว่าเห็น แทนที่จะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ไม่ได้บอกอะไร แต่อธิบายไม่ทราบจะถูกหรือไม่ คือ เห็นก่อน รู้ว่าเห็นเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ เริ่มอย่างนี้เลยนะคะ เริ่มว่าขณะนี้ทำหรือเปล่า คือ ปัญญาเข้าใจชัดขึ้นได้จากคำที่เราใช้เป็นปกติ จะทำให้เราเข้าใจธรรม เช่น เราจะถามอะไรหรือจะพูดอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราสามารถตอบเป็นความเข้าใจในธรรมย่อมได้ เช่น ถ้าถามในขณะนี้ เป็นคำถามลอยๆ ว่า ขณะนี้ทำหรือเปล่า แค่นี้จะตอบว่าอย่างไรคะ ยังไม่พูดเรื่องทำอะไรทั้งหมด ทางตา ทางหู อะไรก็ไม่พูดถึงทั้งนั้น เพียงแต่ถามว่าขณะนี้ทำหรือเปล่า ทำอะไรหรือเปล่า จะตอบว่าอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง ทำ

    ท่านอาจารย์ ทำอะไรคะ

    ผู้ฟัง ทำปัญญา

    ท่านอาจารย์ ทำให้เกิดปัญญาหรือเปล่าคะ จริงๆ แล้วสภาพธรรมกำลังทำกิจการงานของสภาพธรรม ไม่ใช่เรา ขณะนี้ที่เห็น สภาพธรรมกำลังทำกิจของสภาพธรรม คือ กิจเห็น สำหรับธรรมชนิดนี้จะทำอื่นไม่ได้เลย นอกจากเห็น

    เพราะฉะนั้นเริ่มเข้าใจได้ว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่กำลังทำกิจเห็นนี้ จิตที่ทำกิจเห็นนี้ ทำอย่างอื่นไม่ได้ด้วย คิดไม่ได้ เอาจิตที่กำลังเห็นมานั่งนึกให้เป็นกุศล จะทอดกฐิน จะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะจิตขณะนี้เพียงทำกิจเห็น นี่กำลังทำหน้าที่เห็น

    เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า ขณะนี้ทำอะไรหรือเปล่า ความถูกต้องก็คือ สภาพธรรมกำลังทำกิจของสภาพธรรม ไม่ใช่เราทำ ขณะที่กำลังได้ยิน ทำอะไรหรือเปล่า ไม่ใช่เราอีกที่ทำ แต่สภาพธรรมทำ สภาพธรรมเกิดแล้ว ทำกิจอะไร ทำกิจได้ยิน

    นี่คือความเข้าใจถูกต้องที่เรียกว่า ไม่ใช่ไม่มีอะไร และไม่ใช่ไม่ได้ทำอะไร แต่ว่ามีสภาพธรรมที่กำลังทำกิจของธรรม ไม่ใช่เรา

    นี่คือการเริ่มเข้าใจแม้แต่คำที่เราถามกันว่า ขณะนี้ทำอะไรหรือเปล่า ตามความเป็นจริงก็คือสภาพธรรมเกิดขึ้นทำกิจของสภาพธรรม

    อันนี้พอจะเห็นด้วยไหมคะ เป็นธรรม และกำลังทำด้วย กำลังนอนหลับ ทำอะไรหรือเปล่า

    วีระ ทำ

    ท่านอาจารย์ ทำกิจหลับ จริงๆ ค่ะ จิตเกิด แต่จิตไม่ได้เห็นตลอดเวลา ไม่ใช่ได้ยินตลอดเวลา ตอนหลับก็เป็นจิตอีกที่กำลังทำกิจภวังค์ หลับ เพราะฉะนั้นไม่มีสักขณะเดียวที่ไม่ได้ทำ แต่ไม่ใช่เราเลยสักขณะเดียว เป็นสภาพธรรมแต่ละขณะซึ่งทำกิจแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้นถ้าเวลานี้ใครถาม คนในห้องนี้จะเก่งมาก คือ ตอบได้จริงๆ ว่า ต้องทำแน่ๆ ไม่ว่าจะหลับหรือจะตื่น ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจนั้นๆ

    วีระ ทีนี้ถ้าปฏิบัติก็คือ มีสภาพธรรมอีกอันหนึ่งที่มีหน้าที่รู้ว่า ทำอยู่ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ คือกำลังจะใช้คำ ๒ คำ คำหนึ่ง คือ “ทำ” อีกคำหนึ่งคือ “ปฏิบัติ” อันนี้ก็เป็นภาษาไทยเรา ซึ่งเราเอาคำภาษาบาลีมาใช้ แล้วความกว้างของภาษาไทยจะไปใช้ในลักษณะไหน จะตรงกับภาษาบาลีหรือไม่ ซึ่งในธรรมมีหลายด้าน หรือหลายความหมาย แล้วก็หลายที่ เช่น เราถ้าใช้คำว่า “ปริยัติ” หมายความถึงศึกษา “ปฏิบัติ” หมายความถึงอบรมให้เกิดปัญญาตามที่ได้เข้าใจ ตามที่ได้ศึกษาแล้ว และ “ปฏิเวธ” ก็คือการประจักษ์แจ้งจากการอบรม

    เพราะฉะนั้นการใช้คำ “ปฏิบัติ” ก็มีที่อื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นถึงได้เป็นขั้นๆ มาตั้งแต่ขั้นต้นให้เราเข้าใจคำว่า “ทำ” เสียก่อน แล้วเราจะมาถึงการอบรม ซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นสภาพธรรมที่เป็นฝ่ายดี ซึ่งกระทำกิจของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ก็คือโสภณเจตสิกนั่นเอง ต้องแยกจิตกับเจตสิก

    จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้อารมณ์ สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เช่น เห็น จิตรู้แจ้งในสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา คือ เห็นอย่างละเอียด แล้วเวลาที่จิตเกิดได้ยิน จิตก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งเสียง คือ ไม่ว่าเสียงนั้นจะเบา จะค่อย จะประณีต จะเป็นเสียงนก เสียงไก่ เสียงคนที่คล้ายกัน หรือเสียงดุ จิตที่ได้ยิน ก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งในเสียงนั้น นี่คือจิต แต่เจตสิกที่เกิดกับจิต ก็มีหน้าที่การงานของเขาเหมือนกันที่จะกระทำ

    เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงการปฏิบัติธรรม ถ้าใช้คำว่า “การปฏิบัติธรรม” เราคงไม่ไปอบรมธรรมฝ่ายไม่ดี ถูกไหมคะ เพราะว่าธรรมฝ่ายไม่ดี ไม่ต้องอบรม เกิดอยู่เป็นประจำ เหมือนวัชพืช ไม่ต้องไปบำรุงเลย มีแต่ต้องคอยปราบปราม เพราะว่ามีเหตุปัจจัยที่จะเกิดอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นธรรมฝ่ายดีต้องอบรมจึงจะเกิด และโดยเฉพาะปัญญาเกิดยากที่สุด ถ้าเป็นธรรมฝ่ายดีอย่างอื่น เช่น ในเรื่องทาน การให้ หรือในการวิรัติทุจริต ก็ยังไม่ยาก พอที่จะอบรม พอที่จะชี้แจงให้เห็นโทษได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง อันนี้เกิดยาก และโตช้า เจริญช้ากว่าอย่างอื่นด้วย

    นี่ให้เห็นความต่างกันของสภาพธรรมฝ่ายดี เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม ก็คือการอบรมเพื่อให้ปัญญาเจริญ เพื่อที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นเจตสิกที่เป็นโสภณเจตสิกฝ่ายดีหลายชนิด ซึ่งต้องเกิดพร้อมกัน


    หมายเลข 8113
    13 ก.พ. 2567