รูปธรรมนามธรรมในขั้นการฟัง


    บุษบง สำหรับคำว่า “รูป” กับ “นาม” สำหรับตัวดิฉันเองกว่าจะเข้าใจคำว่า “รูป” กับ “นาม” ก็กินเวลาเป็นปีๆ ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมนานขนาดนั้น แต่เมื่อมาพิจารณาแล้วก็คงเป็นเพราะเหตุที่ไม่ได้สนใจ เอาใจใส่ ไม่คิดว่า การฟังธรรมจะต้องสนใจอภิธรรมด้วย เมื่อไม่เข้าใจรูปนามก็ปล่อยไป และอีกอย่างหนึ่งเข้าใจว่า “รูป” คือสิ่งที่จะต้องเห็นด้วยตา เช่น รูปคน ต่างๆ และนามธรรมคือสิ่งที่มองไม่เห็น ทีนี้พอมาฟังคำว่า “เสียง กลิ่น รส” ว่าเป็นรูป ก็เลยทำให้งงว่า ๓ สิ่งนี้มองไม่เห็น ก็น่าจะเป็นนามธรรม แต่เป็นรูปธรรม อย่างนี้ค่ะ แล้วไม่ได้ไต่ถามอะไร ก็เลยงง ติดอยู่ตรงนี้ ในที่สุดมาฟังท่านอาจารย์บ่อยๆ เข้า ก็เลยเข้าใจ ก็จะขอพูดว่า รูป คือ สิ่งที่จะมองเห็นหรือไม่เห็นก็ได้ แต่เป็นสิ่งที่ไม่รู้อะไร ส่วนนามธรรมเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่รับรู้อารมณ์ ถ้าจะสรุปอย่างนี้ จะถูกผิดอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ถูกค่ะ เพราะเหตุว่ารูปในทางธรรม ไม่เหมือนกับรูปที่เราเคยเข้าใจ

    ทางธรรม มีสภาพธรรมที่ต่างกัน ๒ อย่าง โดยประเภทใหญ่ คือ สภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้ คือ ไม่สามารถรับรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ไม่มีความรู้ใดๆ เลย เป็นรูปธรรม ไม่ว่าเราจะมองเห็นหรือไม่เห็นก็ตาม สภาพที่ไม่ใช่สภาพรู้เป็นรูปธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นเราก็มาดู สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ไม่ใช่สภาพรู้ เสียงไม่ใช่สภาพรู้ กลิ่นไม่ใช่สภาพรู้ รสหวาน เค็มต่างๆ ไม่ใช่สภาพรู้ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม แต่ที่ได้ยินเสียง ที่เสียงกำลังปรากฏ แสดงว่าต้องมีสภาพได้ยิน สภาพที่รู้เสียง เสียงนั้นจึงปรากฏได้ ถ้าไม่มีสภาพรู้เสียง ต่อให้เสียงเกิดขึ้นที่ไหนก็ตาม ในป่า หรือที่นี่ แต่ถ้าไม่มีสภาพรู้เสียง เสียงนั้นก็ปรากฏไม่ได้

    เพราะฉะนั้นสภาพรู้เสียงมีจริงๆ ไม่มีรูปร่างเลย ให้ทราบได้ว่า นามธรรมแล้ว ไม่มีสภาพใดๆ ปะปนทั้งสิ้น ไม่ใช่สี ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส จะไปกระทบสัมผัสนามธรรมไม่ได้ จะไปจับต้องนามธรรมไม่ได้ จะเอานามธรรมไปเข้าห้องทดลองพิสูจน์ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงธาตุรู้หรือสภาพรู้ซึ่งกำลังเห็น

    เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า เรามีจิต แล้วจิตอยู่ที่ไหน เอาจิตมาให้ดูไม่ได้ แต่รู้หน้าที่ของจิต คือ ขณะนี้จิตกำลังเห็น นี่คือกิจการงานหนึ่งของจิต จิตไม่ได้อยู่เฉยๆ เลย จิตเกิดแล้วจิตทำงาน โดยที่เราจะรู้หรือไม่รู้ แม้แต่เราเกิด แล้วก็นอนหลับ แล้วก็ฝัน แล้วก็ตื่น แล้วก็เห็น แล้วก็คิด แล้วก็ตาย ทั้งหมดก็คือจิต ซึ่งเกิดขึ้นทำกิจการงาน แต่เราไม่เคยรู้ว่า จิตไหนทำกิจอะไร และก็ไม่ได้รู้ด้วยว่า นั่นเป็นจิต แต่ให้ทราบว่า จิตทำกิจในขณะนี้ที่เห็น เป็นจิต โต๊ะเก้าอี้ไม่เห็นเลย

    เพราะฉะนั้นอาการเห็น ลักษณะเห็น สีที่กำลังปรากฏ มีสภาพที่กำลังเห็นสีนั้น การเห็นสีนั้น สภาพที่เห็นสีนั้นเป็นจิต เป็นนามธรรม ทางหูก็เสียง เวลาเสียงปรากฏ เสียงก็เป็นเสียง เสียงจะเป็นนามธรรมไม่ได้ เสียงเป็นสภาพรู้ไม่ได้ เสียงเป็นความดัง สูงต่ำของเสียงที่ปรากฏ แต่มีสภาพรู้เสียง ขณะนี้ได้ยินเสียง เดี๋ยวก็มีเสียงอื่นอีก เดี๋ยวก็มีเสียงอื่นอีก สภาพที่กำลังรู้เสียงเป็น นามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นหน้าที่ของจิต

    เพราะฉะนั้นจิตก็มีหน้าที่เห็นทางตา จิตมีหน้าที่ได้ยินทางหู จิตได้กลิ่นทางจมูก จิตลิ้มรสขณะที่กำลังรับประทานอาหาร เพลินเลย เป็นเรา แต่ความจริงทุกขณะที่รสปรากฏ เพราะจิตลิ้มรสนั้น แล้วทางกาย ขณะที่กระทบสัมผัส หรือมีความรู้สึกหนาว สบาย ไม่สบายกาย ขณะนั้นก็คือจิตที่กำลังรู้อารมณ์ที่กระทบ หรือถึงแม้ไม่มีอะไรมากระทบเลย ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตก็คิด

    นี่คือลักษณะของจิต จิตคิดทีละคำ แล้วจิตก็ดับไปแต่ละคำ แต่เราไม่เคยประจักษ์เลยว่า จิตเกิดแล้วก็ดับ เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับเร็วมาก

    เพราะฉะนั้นเรื่องนามธรรมกับรูปธรรมในขั้นการฟังต้องแยก จนกว่าจะเข้าใจจริงๆ ว่า ไม่มีเรา มีแต่นามธรรมกับรูปธรรม แล้วค่อยๆ เจริญปัญญา เข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมในชีวิตประจำวันจริงๆ


    หมายเลข 8111
    13 ก.พ. 2567