ทิฏฐิสัมปยุต ๔ ทิฏฐิวิปยุต ๔ ทำให้โลภมูลจิต ๘ ดวงมีความต่างกัน


    ถาม   โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตนี้ อาจารย์พอจะมีตัวอย่างบ้างไหมครับที่ว่า ขณะใดที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุต ขณะใดเป็นทิฏฐิคตวิปปยุต

    ส.   โลภมูลจิตทั้งหมดโดยจำนวน มี ๘ แล้วก็เป็นทิฏฐิคตสัมปยุต ๔ เป็นทิฏฐิคตวิปปยุต ๔ ก่อนอื่นก็ควรที่จะสงสัยว่า เจตสิกอื่นๆ ก็เกิดกับโลภมูลจิตเหมือนกัน ทำไมจึงไม่ยกเจตสิกอื่นๆขึ้นมาเป็นธรรมที่สัมปยุตหรือวิปปยุตกับโลภมูลจิต ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าทิฏฐิที่เกิดร่วมกับโลภะ ทำให้เห็นความต่างกันของโลภะที่มีอยู่ว่า โลภะนั้นที่ประกอบด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดก็มี และที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็มี แต่ว่าจิตทุกดวงต้องเกิดกับผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เป็นต้นอยู่แล้ว

    เพราะฉะนั้นจะยกผัสสเจตสิกขึ้นมากล่าว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเหตุว่าผัสสเจตสิกก็ย่อมเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว แล้วก็ยังมีโมหเจตสิก เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมุลจิต ก็ย่อมมีโมหเจตสิก สภาพธรรมซึ่งไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ มีอหิริกะ สภาพธรรมที่ไม่ละอายในอกุศล มีอโนตตัปปะ สภาพธรรมที่ไม่เกรงหรือกลัว หรือไม่เห็นโทษของอกุศล และมีอุทธัจจเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งไม่สงบ ไม่ให้จิตสงบในอารมณ์ที่ปรากฏ อกุศลเจตสิกทั้ง ๔ ก็เกิดกับอกุศลจิตทุกดวง เพราะฉะนั้นก็ไม่ยกขึ้นมากล่าวว่า จะทำให้เห็นว่า โลภมูลจิตนั้นต่างกันเป็น ๘ ประเภท เป็น ๘ ดวง

    เพราะฉะนั้นจึงยกเฉพาะธรรมซึ่งจะทำให้เห็นความต่างกันของโลภมูลจิต ๘ ว่า ทิฏฐิเจตสิกบางครั้งก็เกิดกับโลภมูลจิต และบางครั้งก็ไม่เกิดกับโลภมูลจิต แต่ทิฏฐิเจตสิกซึ่งเป็นความเห็นผิด จะไม่เกิดกับจิตอื่นเลย นอกจากโลภมูลจิตเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นสำหรับโลภมูลจิตจึงมี ๘ ดวง หรือ ๘ ประเภท และไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ ความเห็นผิด ๔ ดวง

    นี่เป็นเหตุซึ่งเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์และทิฏฐิคตวิปปยุต์

    ซึ่งความเห็นผิดมีหลายระดับขั้น ตั้งแต่ความเห็นผิดอย่างมาก คือ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงที่เห็นได้ชัด และความเห็นผิดซึ่งละเอียด เช่น ความเห็นผิดว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี นั่นเป็นความเห็นผิดขั้นหยาบ ซึ่งรู้ได้ว่า ไม่ใช่เหตุผลเลย เพราะเมื่อมีเหตุ ก็ต้องมีผล หรือผลที่จะเกิดขึ้นได้ ก็ย่อมมาจากเหตุ ถ้าไม่มีเหตุแล้ว ผลก็ย่อมเกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้นเมื่อมีกรรมก็ย่อมเป็นเหตุให้วิบากเกิดขึ้น หรือว่าวิบากที่กำลังเกิดในขณะนี้ ก็ย่อมเป็นผลของกรรมในอดีต เป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น แต่ถ้าใครมีความเห็นผิด คลาดเคลื่อนว่า กรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี อย่างนั้นจะชื่อว่า ความเห็นถูกไม่ได้

    เพราะฉะนั้นผู้ใดก็ตามที่มีความเห็นอย่างนั้น มีความเชื่ออย่างนั้น ขณะนั้นเป็นความเห็นผิด ซึ่งขณะใดที่ความเห็นผิดเกิดขึ้น จิตในขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต ยินดีในความเห็นผิดนั้น พอใจยึดมั่นในความเห็นผิดนั้น

    เพราะฉะนั้นทิฏฐิจะเกิดกับจิตอื่นไม่ได้ นอกจากโลภมูลจิต

     


    หมายเลข 7312
    20 ส.ค. 2558