ตัวอย่างของโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์


    และสำหรับตัวอย่างที่ว่า ขณะไหนที่เป็นความเห็นผิด เวลาที่เกิดความคิดความเห็นเช่นนั้นขึ้นขณะใด ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ เคยคุยกับเพื่อนฝูงบ้างไหมคะ ตายแล้วเกิดไหม ทำดีได้ดีหรือเปล่า หรือว่าทำชั่วต่างหากได้ดี

    นั่นแหละค่ะเป็นเรื่องของการเห็นผิด ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดกาย คือ ความประพฤติที่ผิด หรือวาจา คำพูดที่ผิด ถ้าความเห็นผิดในขณะนั้นไม่เกิดขึ้น จะไม่เป็นปัจจัยให้มีคำพูดอย่างนั้นได้ หรือจะไม่ทำให้เกิดความคิดความเห็นอย่างนั้นได้

    เพราะฉะนั้นในโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ มี ๔ แล้วก็เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ทำอย่างไรจึงจะรู้ว่า ขณะไหนเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด และขณะไหนประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะว่าทุกท่านทราบว่า นอกจากความเห็นผิดที่คลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมตามความเป็นจริงที่เห็นได้ชัด ก็ยังมีความเห็นผิดซึ่งมีอยู่เป็นประจำ ถ้าตราบใดที่บุคคลนั้นยังไม่ได้เป็นพระโสดาบันบุคคล คือ มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นสักกายทิฏฐิ หรือเป็นอัตตานุทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดว่า สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมนั้นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน

    เพราะฉะนั้นทุกท่านก็กลัวใช่ไหมว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็ไม่ได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นตามความเป็นจริง จะเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์หรือเปล่า เคยคิดบ้างไหมคะ

    โลภะเป็นสภาพธรรมที่ยินดี พอใจ ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ อย่าลืมว่า ขณะใดที่มีความยินดี พอใจ ติดข้องในอารมณ์ที่ปรากฏ ในขณะนั้นเป็นลักษณะของโลภะ ไม่ใช่ลักษณะของทิฏฐิ ถ้าเป็นลักษณะของทิฏฐิแล้ว เป็นสภาพที่เห็นผิด ยึดถือในความเห็นที่ผิด ขณะนั้นเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์

    เพราะฉะนั้นถ้าท่านผู้ฟังตื่นขึ้นมา แล้วก็เห็นสิ่งที่พอใจ หรือเกิดคิดนึกถึงความต้องการเรื่องหนึ่งเรื่องใด วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น  ในขณะนั้นเป็นอะไรคะ ลองคิดดู ว่าจะเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หรือทิฏฐิคตวิปปยุตจ ต้องเป็นทิฏฐิคตวิปปยุตต์ เพราะว่าในขณะนั้นไม่ได้มีความยึดถือ หรือยึดมั่นความเห็นใดๆ เป็นแต่เพียงโลภะ ความติดข้อง ความพอใจในสิ่งที่กำลังเป็นอารมณ์อยู่ในขณะนั้น

    เพราะฉะนั้นก็ยังดี ใช่ไหมคะ ซึ่งมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะมีแต่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งความเห็นผิดนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าทำให้หลงผิด ไม่สามารถที่จะหันกลับมาสู่ข้อประพฤติปฏิบัติที่ถูกได้


    หมายเลข 7313
    20 ส.ค. 2558