ทำไมใช้คำเดียวกันเรียกสิ่งนี้ว่านาฬิกา


    ถาม   

    ส.   ท่านผู้ฟังเห็นไหมคะ นี่อะไร เรียกชื่อถูกใช่ไหมคะ ทำไมถึงใช้คำเดียวกันเรียกสิ่งนี้ว่า “นาฬิกา” ทั้งๆที่เห็น รู้ และไม่เรียกว่านาฬิกาก็ได้ ใช่ไหมคะ หรือว่าต้องเรียก สิ่งนี้ปรากฏทางตา เมื่อเห็นแล้ว หลังจากเห็นแล้ว มีการตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐาน และอาจจะนึกถึงคำว่า “นาฬิกา” เวลาที่ถามว่า เห็นอะไร ทุกท่านใช้คำเดียวกันหมด คือ ตอบว่า “นาฬิกา” ทราบไหมว่า ทำไมจึงพูดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง   เพราะความเชื่อ ความยึดถือสมมติสัจจะนั้น เมื่อเรียกว่า “นาฬิกา” แล้ว ทุกคนก็จะได้เข้าใจว่า มีรูปร่างอย่างนั้นๆ และมีหน้าที่อย่างนั้นๆ เป็นสมมติสัจจะ

    ส.   ที่กล่าวถึงชื่อ เพื่อสะดวก จริงไหมคะ แทนที่จะต้องอธิบายมากมาย ว่ามีรูปร่างอย่างนี้ มีอะไรอยู่ตรงกลาง มีสิ่งที่ยาวเรียกว่า เข็ม ยาว หรือสั้น อย่างนั้น อย่างนี้ เป็นการลำบาก ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นที่กล่าวถึงชื่อ เพื่อความสะดวก ไม่ว่าจะเรียกโต๊ะ เก้าอี้ นาฬิกา หนังสือ แว่นตา อะไรๆทั้งหมด เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีการเห็น แล้วก็มีความพอใจ ถ้าเป็นโลภมูลจิตเกิดขึ้น เพราะตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แล้วเวลาที่จะอธิบายว่า พอใจอะไร เพื่อความสะดวกก็กล่าวว่า ชอบนาฬิกาเรือนนี้ หรือว่าชอบวิทยุเครื่องนั้น หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อความสะดวกทั้งหมด แต่ตามความเป็นจริงแล้ว มีการเห็นสิ่งที่ปรากฏ มีความยินดี พอใจในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ความเห็นผิด ไม่ใช่ทิฏฐิคตสัมปยุต เป็นแต่เพียงว่า เมื่อเห็นแล้ว ที่จะยับยั้งไม่ให้ตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏไม่ได้ เป็นจิตนิยาม ซึ่งเมื่อจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางจักขุทวารดับไปแล้ว จิตเกิดขึ้นทางมโนทวารรู้อารมณ์นั้นต่อ ใครจะบอกว่าเมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับไปหมดแล้ว มโนทวารไม่เกิดต่อ ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไม่ได้ ทางมโนทวารนี้เกิดขึ้นต่อ แล้วยังมีการเห็น มีการตรึกนึกถึงสิ่งที่ปรากฏโดยละเอียด ถ้าจะพิจารณาโดยละเอียด แล้วที่กล่าวถึงชื่อก็เพื่อความสะดวก เพราะฉะนั้นที่ชอบ ชอบสิ่งที่ปรากฏ พร้อมกับนึกถึงรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเป็นที่พอใจ

    เพราะฉะนั้นจึงเป็นโลภมูลจิตทิฏฐคตวิปปยุตต์ ในขณะนั้นไม่ได้มีความเห็นใดๆ เกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ แต่ขณะใดก็ตาม ถ้ามีการพูดถึงธรรม แล้วมีความเห็นต่างๆ บุคคลนี้มีความเห็นว่าอย่างนี้ ตายแล้วสูญ อีกท่านหนึ่งมีความเห็นว่า บาปไม่มี บุญไม่มี เป็นต้น ในขณะนั้นไม่ใช่เพียงโลภมูลจิตแล้ว แต่เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ขณะใดที่มีความเห็นผิดเกิดขึ้น ขณะนั้นโลภมูลจิตเป็นไปกับความเห็นผิด จึงบัญญัติเรียกว่า โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ แต่ให้ทราบว่า ถ้าพอใจเฉยๆ ในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ จะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่ แม้ไม่เรียกก็คือความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ ในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏนั่นเอง จึงเป็นเพียงโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุต์

    ซึ่งแม้พระโสดาบันและพระสกทาคามีบุคคลก็ยังมี  ผู้ที่จะดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ก็คือพระอนาคามีบุคคลและพระอรหันต์ ซึ่งดับกิเลสหมด ไม่มีกิเลสอะไรเหลืออีกเลย แต่สำหรับพระโสดาบัน ไม่มีความเห็นผิดทุกอย่าง เพราะเหตุว่าเวลาที่โสตาปัตติมรรคจิตเกิดขึ้นมีนิพพานเป็นอารมณ์ ดับความเห็นผิดทั้งหมดที่เป็นอนุสัย แม้แต่ความเห็นผิดอย่างอ่อน อย่างละเอียด ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในจิตก็ไม่มีที่จะเกิดขึ้นอีกเลย

    เพราะฉะนั้นพระโสดาบันยังเห็น ยังพอใจในสิ่งที่เห็น ยังนึกถึงรูปร่าง ยังนึกถึงชื่อ แต่ไม่ใช่ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ไม่ได้ประกอบด้วยความเห็นผิด


    หมายเลข 7343
    20 ส.ค. 2558