สัมปยุตต์ ๔ กับ อกุศลจิต


    แต่สำหรับอกุศลจิต จำแนกออกแล้วเป็นสัมปยุต ๔ ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๑ เกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้น ปฏิฆสัมปยุตต์ ๑ เกิดกับโทสมูลจิตเท่านั้น เพราะเหตุว่าขณะนั้นจิตประกอบด้วยสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ในขณะใดที่เป็นโทสมูลจิต จะเห็นได้เลย สภาพของจิตต่างจากโลภะ โลภะเป็นสภาพที่พอใจ ไม่เดือดร้อน ยินดี ติดข้อง แต่สภาพของโทสะตรงกันข้าม ในขณะนั้นถ้าจะสังเกตจะรู้ว่า ประกอบด้วยปฏิฆะ คือ ความหยาบกระด้าง จิตหยาบ จิตกระด้าง และความรู้สึกในขณะนั้น ไม่แช่มชื่น นั่นเป็นลักษณะของโทสมูลจิต ที่จะให้รู้ว่าขณะใดเป็นโทสะ ก็จะต้องรู้ได้ เพราะเหตุว่าประกอบด้วยสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ซึ่งเป็นปฏิฆะ หรือโทสะนั่นเอง มิฉะนั้นแล้วไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ ใช่ไหมคะ

    โทสมูลจิต ๒ ดวง ประกอบด้วยปฏิฆะ คือ โทสะ จึงสามารถจะรู้ความต่างกันว่า ขณะไหนเป็นโลภมูลจิต ขณะไหนเป็นโทสมูลจิต ขณะไหนเป็นโมหมูลจิต เพราะเหตุว่าถ้าโทสมูลจิตไม่ประกอบด้วยโทสเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่เป็นปฏิฆะ คือ ความหยาบกระด้าง ก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะใดเป็นโทสมูลจิต

    ปฏิฆะ หรือโทสะ เป็นไวพจน์ คือความหมายเหมือนกัน จะใช้คำว่า โทสะก็ได้ จะใช้คำว่า ปฎิฆะก็ได้ เพราะพูดถึงโทสะ ทุกท่านคิดถึงแต่ความโกรธ แต่เวลาที่ไม่ใช่ลักษณะของความโกรธ และสภาพนั้นเป็นสภาพที่หยาบกระด้าง เวลาที่โทสมูลจิตเกิดแล้ว กิริยาอาการเป็นอย่างไรคะ นั่นน่ะค่ะ คือ ความหมายของปฏิฆสัมปยุตต์


    หมายเลข 7345
    20 ส.ค. 2558