ถ้าผูกเวรแล้วจะหมดเวรอย่างไร


    ถาม   อย่างผู้ที่ผูกพยาบาทกัน ไม่ถือว่าเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันหรือครับ

    ท่านอาจารย์ โดยสถานไหนคะ

    ผู้ฟัง    ก็มีในธรรมบท เรื่องนางยักษิณี เป็นการผูกเวรกันมาหลายชาติ

    ท่านอาจารย์ เมื่อผูกเวรกันแล้ว ทางที่จะหมดเวรนั้นคือทำอย่างไรคะ

    ผู้ฟัง ที่จะหมดเวรนั้น เรื่องก็มีว่า ตอนสุดท้ายนางยักษิณีจะไปจับลูกของผู้หญิงคนที่ผูกเวรเป็นอาหาร ผู้หญิงคนนั้นก็วิ่งไปที่วัด เอาลูกไปวางที่พระบาทของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เรียกไปแล้วพูดจนกระทั่ง ๒ คนนี้เลิกผูกเวรกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่จะหมดเวรกัน คือกระทำอย่างไร

    ผู้ฟัง    คงจะเป็นเพราะกุศลจิตที่เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็คือไม่จองเวร ไม่โกรธกันต่อไปขณะใด ขณะนั้นก็หมดเวรต่อกัน  ก็คือกุศลจิตเกิดทั้ง ๒ ฝ่าย

    ผู้ฟัง    ทีนี้ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งทำบุญแล้วก็มีเจตนาดีที่จะให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับผลบุญที่ตัวกระทำไปด้วย อีกฝ่ายอาจจะเลิกคิดพยาบาทได้ เป็นไปได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ โดยมากสำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อได้ทำกุศลแล้ว อยากจะให้เขาเกิดกุศล เราก็บอกให้เขาล่วงรู้ในกุศลนั้น เพื่อเขาจะได้อนุโมทนา ถูกไหมคะ

    ผู้ฟัง    ใช่ครับ

    ท่านอาจารย์ ทีนี้ถ้าพูดถึงเรื่องเจ้ากรรมนายเวร จะทำอย่างไรเวลาที่เราทำกุศลแล้ว

    ผู้ฟัง    อย่างคนที่โกรธกัน ถ้าเราอุทิศส่วนกุศลให้เขาบอกว่า เราได้ทำบุญให้ ขอให้เขาได้รับส่วนบุญ

    ท่านอาจารย์ อุทิศอย่างไร  ตอนไหน เขายังมีชีวิตอยู่ หรือว่าล่วงลับไปแล้ว

    ผู้ฟัง    ยังมีชีวิตอยู่

    ท่านอาจารย์ ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะรู้ได้อย่างไร วิธีจะรู้

    ผู้ฟัง    ต้องบอก ต้องฝากคนไปบอก หรือส่งจดหมาย

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องบอกให้เขารู้ เพื่อเขาจะได้อนุโมทนา แต่ไม่ใช่แบบที่เป็นเจ้ากรรมนายเวรแต่ครั้งไหนก็ไม่รู้ กรรมอะไรก็ไม่รู้ แล้วก็ยังไปกลัวอีกว่า ที่อุทิศส่วนกุศลให้ เพื่อที่เขาจะได้ไม่มาทำให้เราเดือดร้อน หมายความดูเหมือนกับว่า เขาสามารถจะดลบันดาลได้ ทั้งๆที่เราเป็นผู้กระทำกรรม เพราะฉะนั้นเราเป็นผู้มีกรรมเป็นของเราเอง ไม่ใช่คนอื่นจะสามารถกระทำกรรมให้ได้

    ผู้ฟัง    ครับ ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ก็อย่าผูกโกรธ แต่ไม่ต้องไปคิดถึงกรรมในอดีตที่ผ่านมา แล้วก็ไม่รู้ว่า กรรมอะไร เจ้ากรรมนายเวรอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ถ้าไม่ชอบใคร ก็คิดเสียว่า คนนั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวรอย่างที่เราเคยคิดก็แล้วกัน แล้วจะได้ไม่โกรธเขา แทนที่จะต้องไปนั่งอุทิศส่วนกุศลให้ ก็เกิดเมตตาทันทีในบุคคลนั้น

    ผู้ฟัง    เรื่องการแผ่เมตตา มีคนเป็นจำนวนมากเลย ไม่แผ่ไปเฉพาะพวกเพื่อนฝูงญาติมิตรเท่านั้น แต่แผ่ให้โอปปาติกะทั้งหลายด้วย

    ท่านอาจารย์ ที่สามารถล่วงรู้ แต่ไม่ต้องคิดว่า โอปปาติกะนั้นเป็นเจ้ากรรมนายเวร  คืออยากให้เข้าใจคำว่า “เจ้ากรรมนายเวร” ให้ถูกต้อง ทุกคนมีกรรมเป็นของตนเอง แต่ถ้าได้กระทำกรรมกับใครไว้ แล้วอยากจะให้หมดกรรมนั้น ก็คือเกิดกุศลจิตแทนการผูกโกรธ


    หมายเลข 3314
    17 ส.ค. 2558