พุทธการกธรรม : ขันติบารมี


    ข้อความต่อไปมีว่า

    อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นธรรมในกาลนั้น ได้พบขันติบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งแสวงหาซึ่งคุณใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็น พุทธการกธรรมข้อที่ ๖ สอนตนว่าดังนี้

    เธอจงสมาทานขันติบารมีข้อที่ ๖ นี้ ให้มั่นคงต่อไป เธอมีใจไม่เป็นสองในบารมีนั้น จักบรรลุสัมโพธิญาณ อันธรรมดาแผ่นดินย่อมอดทนสิ่งที่สะอาด และไม่สะอาดทุกชนิดที่เขาทิ้งลง ย่อมไม่ทำความยินดียินร้าย ฉันใด แม้เธอก็เช่นกัน เป็นผู้อดทนต่อความนับถือ และความดูหมิ่นของคนทุกประเภท บำเพ็ญขันติบารมีแล้ว จักได้บรรลุสัมโพธิญาณแล

    ความอดทนนี้มีมากมายหลายประการ ร้อนไป หนาวไป ไม่สะอาด หรืออะไรอย่างนี้ก็แล้วแต่ ที่จะไม่อดทน ในอาหารที่ไม่อร่อย ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส หรืออดทนต่อความนับถือ และความดูหมิ่นของคนทุกประเภท ต้องมีความอดทน และท่านที่มีความอดทนแล้ว จะเห็นคุณของความอดทนจริงๆ ว่า ขณะใดที่มีความอดทน ขณะนั้นจิตไม่หวั่นไหว เป็นจิตที่คงที่ ไม่เดือดร้อนไปด้วยอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์

    ในพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังจะได้ยินคำว่า อภิภายตนะ แต่โดยมากท่านจะได้ยินคำว่า อายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งเป็นทางที่จะรู้อารมณ์ที่เป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์ต่างๆ ทางใจ แต่ว่าอายตนะที่เป็น อภิภายตนะ คือ ขณะที่ไม่หวั่นไหวในขณะที่กระทบกับอารมณ์ทั้งที่เป็นอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ สามารถที่จะมีกำลัง ครอบงำอายตนะได้ด้วยความไม่ยินดียินร้าย ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ด้วยการเจริญภาวนากุศล เพราะว่าจิตย่อมหวั่นไหวไปได้ทุกขณะ ที่เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้โผฏฐัพพะบ้าง รู้เรื่องราวต่างๆ บ้าง จิตหวั่นไหวอยู่เสมอ บางครั้งเป็นโลภะ บางครั้งเป็นโทสะ ถ้าจิตไม่สงบ ไม่มั่นคง ก็ย่อมจะหวั่นไหว

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ที่จิตจะไม่หวั่นไหวในความยินดียินร้ายทั้งหลายนั้น ก็ต้องเป็นไปในขั้นของภาวนากุศล ซึ่งเป็นสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา

    คำว่า ภาวนา ไม่ใช่ท่องบ่น แต่ว่าเป็นการอบรมทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะเป็นความมั่นคงขึ้น

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 736

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 737


    หมายเลข 2231
    31 ธ.ค. 2566