พุทธการกธรรม : อุเบกขาบารมี


    สำหรับประการต่อไป มีข้อความว่า

    อันพุทธการกธรรมนั้นจักมีแต่เพียงเท่านี้ก็หามิได้ เราจักเลือกเฟ้นธรรมอันเป็นเครื่องบ่มโพธิญาณอื่นอีก เมื่อเราเลือกเฟ้นในกาลนั้น ก็ได้พบอุเบกขาบารมี ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งก่อนๆ ได้บำเพ็ญอบรมกันมา จักเป็น พุทธการกธรรมข้อที่ครบ ๑๐ ได้สอนตนว่าดังนี้

    ท่านจงสมาทานอุเบกขาบารมี อันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๑๐ นี้ให้มั่นคงต่อไป เธอเป็นผู้คงที่มั่นคง จักบรรลุสัมโพธิญาณ ชื่อว่าแผ่นดิน ย่อมเว้นจากความยินดี และยินร้าย วางเฉย ในคนที่ทิ้งของที่ไม่สะอาดหรือสะอาดทั้งสองพวก ฉันใด แม้เธอก็เหมือนกัน จงเป็นผู้คงที่ในสุข และทุกข์ทุกเมื่อ เธอบำเพ็ญอุเบกขาบารมีแล้วจักบรรลุโพธิญาณได้แล

    เวลาที่ท่านมีเมตตาใคร่ที่จะให้คนอื่นได้เป็นสุข แต่ถ้าไม่สามารถจะเป็นไปอย่างนั้นได้ ก็ไม่ควรจะให้เป็นอกุศลจิต คือ ความยินดียินร้าย หรือความโทมนัสเกิดขึ้น เพราะขณะนั้นเป็นอกุศล ด้วยเหตุนี้ อุเบกขาบารมีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เวลาที่ผู้ที่เป็นที่รักหรือว่าบุคคลทั้งหลาย เหตุการณ์ทั้งหลาย ไม่เป็นไปอย่างที่ท่านคิดว่าสมควร หรือว่าอย่างที่ท่านต้องการ

    ในวันหนึ่งๆ จะเห็นได้ว่า ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ โดยความไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล กำลังใส่ใจพิจารณารู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้นจะเป็นปัญญาที่ทำให้ไม่ยินดียินร้าย และเกื้อกูลต่อการที่จะเกิดอุเบกขาได้มากขึ้น เพราะรู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เป็นแต่เพียงลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา

    แต่ถ้าลืมไป คิดว่าสามารถบังคับบัญชาได้ จะอุเบกขาไหม ก็ย่อมต้องเดือดร้อนในขณะที่เหตุการณ์ต่างๆ หรือว่าบุคคลทั้งหลายไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา แต่เมื่อปัญญารู้ในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ละความยินดียินร้าย สามารถที่จะวางเฉย มั่นคง เป็นผู้คงที่ในสุข และทุกข์ทุกเมื่อ

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 738


    หมายเลข 2235
    31 ธ.ค. 2566