สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ต่างกันอย่างไร


        ผู้ฟัง สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนามีความแตกต่างกันอย่างไร

        ท่านอาจารย์ คำว่า “ภาวนา” คืออะไร ขอเชิญคุณคำปั่น

        อ.คำปั่น คำว่า “ภาวนา” เป็นการอบรม เป็นการเจริญ หรือกระทำให้มีขึ้น ให้เจริญขึ้น ซึ่งมี ๒ ประการ คือ สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา

        ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่คุณณรงค์ภาวนา ภาวนาว่าอย่างไร

        ผู้ฟัง ต้องอ้อนวอนขอ

        ท่านอาจารย์ ภาวนาแรกๆ นั้นอ้อนวอนขอ หรือว่าอย่างไร

        ผู้ฟัง ประมาณนั้น สมัยเด็กๆ โตมาก็ไม่

        ท่านอาจารย์ แสดงให้เห็นว่า ถ้าเราไม่มีความเข้าใจ เราอาจจะคิดว่า ขอได้ ตั้งใจขอเลย ภาวนาเลยว่า ขอให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่ไม่รู้เหตุว่าจะเป็นไปได้ หรือไม่ ใช่ไหม แต่เมื่อที่ศึกษาแล้วก็ต้องเข้าใจว่า ธรรมะเป็นเรื่องที่ละเอียด อย่าข้าม แล้วอย่าคิดว่า เรารู้แล้ว เข้าใจแล้วโดยตลอด แม้แต่คำว่า “ภาวนา” เป็นการอบรม จะอบรมสิ่งที่ดี หรือไม่ดี

        ผู้ฟัง ต้องอบรมสิ่งที่ดี

        ท่านอาจารย์ สิ่งที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น สิ่งที่ดีที่มีเกิดขึ้นบ้างแล้วให้เจริญขึ้น แต่ทำไมต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ สมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา ไม่ใช่ต่างกันโดยชื่อ แต่ “สมถะ” คืออะไร “วิปัสสนา” คืออะไร นี่เป็นสิ่งที่ต่างกัน ตอนนี้ทราบ หรือยังว่า สมถะ คืออะไร

        ผู้ฟัง สมถะ คือ สงบจากอกุศล

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นสงบไหม

        ผู้ฟัง สงบครับ จิตอ่อน ควรแก่การงาน

        ท่านอาจารย์ นิดๆ หน่อยๆ พอไหม

        ผู้ฟัง ถ้าได้มากๆ ก็ดี

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า ผู้ที่จะเจริญความสงบให้มั่นคงขึ้น ต้องเห็นโทษของอกุศล ไม่ใช่อยากได้ นี่คือความต่างกัน ถ้าใครต้องการทำความสงบ เพราะอยากสงบ ไม่มีทางสงบ เพราะแม้ขณะนั้นก็อยากซึ่งไม่สงบ ไม่มีปัญญาเลย ต้องเข้าใจว่า เรื่องของธรรมะซึ่งเป็นฝ่ายกุศลเป็นเรื่องละโดยตลอด แล้วแต่ว่าจะละระดับไหน ละทุจริตกรรมทางกาย ทางวาจาอย่างหยาบ หรือละสภาพของจิตซึ่งไม่สงบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ แต่ต้องมีปัญญาจึงจะเห็นโทษ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่สามารถสงบขึ้นได้ โดยการไม่รู้แล้วอยากสงบ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า “สมถภาวนา” จะเข้าใจว่าอย่างไร

        ผู้ฟัง ก็เข้าใจว่า การอบรมเจริญกุศลให้มีขึ้นกับตัวเอง

        ท่านอาจารย์ ให้มีความสงบมั่นคง เพราะกุศลสงบ เล็กๆ น้อยๆ ในวันหนึ่ง แล้วก็ไม่สงบอีกแล้ว ใช่ไหม ให้ทานนิดหนึ่งก็หมดไปแล้ว แล้วก็ไม่สงบอีกแล้ว ฉะนั้นถ้ามีกุศลมั่นคงขึ้น ความสงบก็เพิ่มขึ้น แต่มีปัญญาที่จะรู้ไหมว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนไม่ใช่กุศล ถ้าไม่มีปัญญา จะเจริญความสงบได้ไหม นี่เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งหมดต้องเป็นเรื่องของปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่รู้อะไรเลย ก็จะไปทำสงบ หรือจะไปทำวิปัสสนา เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นตอนนี้พอที่จะเข้าใจความหมายของคำว่า “ภาวนา” ความหมายของ “สมถะ” คือสงบจากอกุศล แต่สำหรับ “วิปัสสนาภาวนา” “วิ” แปลว่า แจ้ง “ปัสสนา” แปลว่า เห็น เห็นแจ้งด้วยปัญญา คือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรม

        เพียงเท่านี้ก็แสดงแล้วว่า ผู้ที่เข้าใจวิปัสสนาภาวนา คือผู้ที่รู้ว่า แม้สภาพธรรมปรากฏก็ไม่ได้รู้แจ้ง เพราะฉะนั้นจึงต้องอบรมโดยขั้นฟังให้เข้าใจก่อน เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจในขั้นฟัง แล้วจะรู้แจ้งอะไร ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ปัญญาจึงต้องเจริญขึ้นตามลำดับ ข้ามขั้นไม่ได้เลย พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ตั้งแต่ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ไม่ใช่ปฏิเวธ แล้วปฏิบัติ แล้วปริยัติ เพราะบางคนที่ไม่เข้าใจก็จะกล่าวว่า ฟังแล้วไม่สามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ ต้องไปปฏิบัติ ถูก หรือผิด

        ผู้ฟัง ผิด ต้องฟังให้เกิดปัญญาก่อน

        ท่านอาจารย์ แล้วปฏิบัติรู้อะไร ในเมื่อไม่ได้เข้าใจอะไรมาก่อนเลย ก็ไม่ประกอบด้วยเหตุผล ผู้ที่ฟังพระธรรม ไม่ใช่เพียงฟัง แต่ไตร่ตรอง พิจารณาจนกระทั่งเป็นความเห็นถูกในแต่ละขั้น ด้วยเหตุนี้วิปัสสนาภาวนา การรู้แจ้ง เห็นแจ้ง เข้าใจถูก เข้าใจอะไรถูก ต้องมีเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้มั่นคงขึ้นตามลำดับ วิปัสสนารู้อะไร

        ผู้ฟัง ก็คือต้องเห็นแจ้งสภาวธรรม

        ท่านอาจารย์ เมื่อไร

        ผู้ฟัง ทุกขณะ

        ท่านอาจารย์ สภาวธรรมอะไร

        ผู้ฟัง เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

        ท่านอาจารย์ ที่ปรากฏในชีวิตประจำวันเพราะเกิดแล้ว เกิดแล้วดับแล้วด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องกังวลถึงสิ่งที่ดับไปแล้วไหม หรือว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏให้ฟัง ให้เข้าใจ ในขณะนั้นก็เป็นสติขั้นหนึ่งในขณะที่เข้าใจ เพราะว่าขณะใดก็ตามที่มีปัญญา หรือความเห็นถูก ขณะนั้นต้องมีสติ ถ้าไม่มีสติไม่เป็นกุศล ขณะที่ฟัง เข้าใจไม่ได้เลย เผลอไปแล้ว คิดเรื่องนั้นแล้ว คิดเรื่องนี้แล้ว คิดอย่างอื่นแล้ว ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ หรือกำลังฟังเรื่องนี้ แต่คิดเรื่องอื่น ก็ไม่ได้ยินคำที่ได้ฟัง และไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นการฟังก็คือการฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง เป็นความเข้าใจถูก หรือผิดในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง

        เมื่อรู้ว่า การเห็นแจ้ง ไม่ใช่เห็นแจ้งอื่น นอกจากธรรมะที่กำลังปรากฏ โดยมีความเข้าใจจริงๆ ในขั้นการฟังว่า เป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา ยากไหม แม้ในขั้นการฟังที่จะรู้ว่าเป็นธรรมะ เช่นสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธรรมะ แค่ฟังให้เข้าใจว่า มีจริงๆ แล้วยังไม่รู้เรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเลยว่าเป็นธรรมะ เพราะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอดเวลา

        เพราะฉะนั้นการฟังให้เข้าใจ ก็จะทำให้รู้ว่า ปัญญาจากการฟัง เมื่อมีความเข้าใจมั่นคงขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็จะมีการระลึกเกิดขึ้น คือ ขณะนั้นรู้ลักษณะที่กำลังปรากฏ ลักษณะที่เป็นธรรมะซึ่งเกิดดับเร็วมาก สลับกันจนกระทั่งไม่ปรากฏว่า ลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่งเกิดแล้วดับไป เช่นขณะนี้เสมือนว่ามีทั้งเห็น และได้ยิน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ก็เป็นความไม่รู้ และความเป็นเรา ความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จะหมดความเป็นตัวตนได้อย่างไร ในเมื่อยังไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเกิดแล้วดับจริงๆ

        เพราะฉะนั้นการที่เคยเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่รวมกันตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า เป็นคน เป็นเรา หรือว่าจะเป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามแต่ ก็รวมกันแล้ว ไม่ได้รู้ความจริงว่า แท้ที่จริงแล้ว ลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดเลยเกิดปรากฏทีละอย่าง ไม่ปะปนกัน แล้วก็สามารถประจักษ์ความจริงแบบนี้ได้

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 364


    หมายเลข 12856
    28 ธ.ค. 2566