รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ปัญญาจะเห็นความต่าง


        ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์ สนทนาต่อเกี่ยวกับธาตุ ซึ่งเป็นรูปธาตุกับนามธาตุ ขณะที่กำลังรู้อารมณ์ซึ่งเป็นรูปธาตุ ขณะนั้นจิตกับเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพรู้เหมือนกัน กิจต่างกันอย่างไรครับในขณะนี้

        สุ. จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ถ้าถามว่าคุณประภาสเห็นอะไร ตอบได้เพราะจิตรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่คุณประภาสตอบ ถามว่าได้ยินอะไร

        ผู้ฟัง ทั้งเสียงทั้งคำ

        สุ. เสียงต้องได้ยินทีละเสียง ตอบว่าเสียงอะไร เพราะจิตกำลังรู้แจ้งลักษณะของเสียงได้ยิน จึงตอบว่าได้ยินเสียงนั้น

        นี่คือลักษณะของจิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ไม่ว่าเกิดเมื่อไร มีเจตสิกประกอบเกิดร่วมด้วยเท่าไร จิตก็ไม่เปลี่ยน จิตก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์

        ส่วนเจตสิกมี ๕๒ ประเภท ไม่ปะปนกันเลย เป็นแต่ละหนึ่งๆ ก็แล้วแต่ว่าเจตสิกนั้นมีลักษณะอย่างไร มีกิจอย่างไร เกิดขึ้นกับจิตประเภทไหน

        ผู้ฟัง อย่างฟังเสียงธรรม หรือว่าคำบรรยายเป็นคำๆ แต่ก็มีความดังปรากฏ แต่เราเข้าใจความหมายด้วย

        สุ. คนละขณะ

        ผู้ฟัง คนละขณะใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นต้องมีคำเป็นคำๆ เป็นเสียงสูง เสียงต่ำที่ละเอียดมากพอสมควรที่เรารู้ไม่ได้

        สุ. จิตกำลังรู้แจ้งทุกคำที่คุณประภาสกล่าวถึงสิ่งนั้นๆ

        ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะนั้นจิตต้องรู้ได้

        สุ. จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้ง จึงรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างนั้น

        ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นทางตาก็เช่นเดียวกัน จะเห็นว่าเป็นดอกไม้ เป็นพุ่มเป็นพวง

        สุ. เพราะรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ได้ทำหน้าที่อื่นเลย นอกจากรู้แจ้งลักษณะนั้น จึงตอบได้ สีเขียวหรือสีแดง

        ผู้ฟัง ขาว เขียว แดง มีหมดครับ

        สุ. จิตกำลังรู้แจ้งสีนั้นๆ

        ผู้ฟัง ก่อนที่จะเป็นสติปัฏฐานกับเป็นวิปัสสนาญาณ ที่กล่าวว่า ต้องแยกรูปธรรม และนามธรรมออกจากกัน

        สุ. ไม่ใช่ต้องแยกค่ะ เข้าใจถูกต้อง ลักษณะของรูปเป็นรูป ลักษณะของนามเป็นนาม เป็นเรื่องของความเข้าใจ เป็นเรื่องของปัญญา ตั้งแต่ต้นจนตลอด ไม่มีตัวตนจะไปทำหน้าที่อะไรเลย แม้แต่ที่รู้ว่าเป็นนามธรรม ก็เป็นปัญญา เป็นความเห็นถูกที่รู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ลักษณะที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ก็เป็นปัญญาที่เข้าใจถูกในลักษณะนั้น

        ผู้ฟัง เป็นการศึกษาเพื่อเข้าใจสิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่ต้องรู้นั่น รู้นี่ นั่นเป็นการจงใจ

        สุ. เห็นถูกในสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงของสิ่งนั้น

        ผู้ฟัง ซึ่งก่อนที่สติปัฏฐานจะเกิดได้ ผมคิดว่าต้องฟัง และสังเกต

        สุ. ต้องเข้าใจ ต้องใช้คำว่า “เข้าใจ”

        ผู้ฟัง อย่างนามธาตุอื่นที่ไม่ใช่สภาพจิตที่รู้แจ้ง เราก็ต้องค่อยๆ เข้าใจว่า ขณะที่สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นรู้แจ้ง ถ้าเรายังไม่เข้าใจ ระหว่างสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งเป็นรูปธาตุ มันก็ปนกันใช่ไหมครับ เพราะว่าเห็น แล้วก็เหมือนกับมีตัวเราเห็น

        สุ. จากการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ปัญญาจะเห็นความต่างเอง

        ผู้ฟัง อย่างชีวิตประจำวัน สติก็ไม่ได้เกิด และความเข้าใจจากการฟังวันๆ นี่มีบ้าง ก็ค่อยๆ สังเกตไปเท่านั้นเอง

        สุ. ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 353


    หมายเลข 12495
    16 ม.ค. 2567