ผัสสะเป็นสภาพรู้ เกิดพร้อมจิต


        คุณอุไรวรรณ มีคำถามจากท่านผู้ฟังว่า รูปกระทบกับรูป จะต่างกับผัสสะกระทบอารมณ์อย่างไร

        สุ. รูปไม่ใช่สภาพรู้ ต่อให้รูปกระทบกับรูป ก็ไม่มีสภาพรู้เกิดเลย ผัสสะ ที่เราใช้คำว่า “ผัสสะ” หมายความถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นเจตสิกเกิดกับจิต เป็นนามธรรม เพราะว่าสภาพรู้ทั้งหมดเกิด ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด แม้แต่ผัสสะ เป็นนามธรรมขณะนั้น แต่ไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น นามธรรมก็หมายถึงสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ สภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเสียงกำลังปรากฏ สภาพที่รู้แจ้งลักษณะของเสียง ก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของเสียง แต่สภาพธรรมอื่นก็มีที่เกิดพร้อมกันในขณะนั้น และเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกันด้วย จะขาดกันไม่ได้

        เพราะฉะนั้นขณะนี้มีเห็น แล้วก็มีได้แข็ง ขณะใดรู้อะไร เพราะผัสสะกระทบสิ่งนั้น ผัสสะเป็นสภาพรู้ เกิดพร้อมจิต และกระทบกับสิ่งที่ปรากฏ ขณะนั้นรู้โดยกระทบ ไม่ใช่รู้โดยจำ ไม่ใช่รู้โดยคิด แต่รู้โดยกระทบ ขณะนั้นเป็นสภาพรู้ที่กระทบ

        เพราะฉะนั้นลักษณะของผัสสเจตสิกไม่ใช่ลักษณะของรูปที่กระทบรูป

        อ.กุลวิไล ที่ว่าอารมณ์ที่เป็นรูปารมณ์ หรือสัททารมณ์ก็ตามที่กระทบกับปสาทรูป และกระทบกับภวังค์ จะต่างกับผัสสะที่กระทบอารมณ์ที่เกิดกับจิตอย่างไรคะ

        สุ. ผัสสะเป็นนามธรรม และผัสสะเกิดกับจิตทุกขณะ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตามแต่ ผัสสะเป็นสภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ แต่ผัสสะต้องเกิดกับจิต เดี๋ยวนี้มีไหมคะ ผัสสะ ตอบได้ใช่ไหมคะ มีหรือไม่มี มี รู้หรือเปล่า ก็ไม่รู้ จิต ๑ ขณะ จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อย ๗ ประเภท และมีสิ่งที่กำลังปรากฏด้วย และไม่ได้รู้ในลักษณะตามความเป็นจริงของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด แม้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเป็นไปก็ไม่รู้ จนกว่าจะฟัง แล้วค่อยๆ เข้าใจในความเป็นอนัตตา

        ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้หมายความว่า เมื่อจิตเห็นเกิด รูปารมณ์กระทบจักขุกับปสาทรูป และขณะเดียวกันผัสสะกระทบกับรูปที่จะให้จิตรู้

        สุ. ผัสสะเกิดกับจิตทุกขณะ แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นจิตอะไร และมีอารมณ์อะไร ผัสสะก็กระทบอารมณ์เดี๋ยวกับจิตที่กำลังรู้อารมณ์นั้น

        อ.ธิดารัตน์ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ท่านอาจารย์แนะนำในพื้นฐานพระอภิธรรมว่า ทำไมเราถึงต้องเรียนพื้นฐานพระอภิธรรม เพื่อความเข้าใจแม้กระทั่งขั้นการศึกษา เพราะจริงๆ เวลาสภาพธรรมปรากฏ ถ้าไม่อาศัยการศึกษาอย่างละเอียด เราก็ไม่สามารถเข้าใจได้ เพราะปัญญาของเราไม่สามารถรู้ได้ละเอียดอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านทรงแสดง จึงต้องอาศัยพยัญชนะ หรือการศึกษา เพื่อเทียบเคียง เพื่อความเข้าใจ และยังมีธรรมอีกหลายๆ ประการที่เรายังไม่สามารถรู้ได้ ต้องอาศัยรู้โดยการศึกษา

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 352


    Tag  ผัสสะ  
    หมายเลข 12489
    16 ม.ค. 2567