ความละเอียดของธรรม


        ผู้ฟัง และที่เรียกว่าจิตฝัน เป็นจิตอะไรคะ

        ท่านอาจารย์ ขณะที่ฝัน ฝันว่าอะไรคะ

        ผู้ฟัง ฝันเรื่องราวต่างๆ ค่ะ

        ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล หรือจิตเห็น หรือเป็นจิตได้ยิน

        ผู้ฟัง ที่ฝันเรื่องราวต่างๆ ก็มีทั้งกุศล และอกุศล

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นขณะนั้นก็เป็นกุศลจิต และอกุศลจิต

        ผู้ฟัง จิตมี ๔ ชาติด้วยกัน แต่กำลังกล่าวถึงชาติที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบาก ซึ่งเป็นผลของทั้งกุศล และอกุศล แต่กิริยาจิตที่มีวิริยะบ้าง ไม่มีวิริยะบ้าง ก็แสดงว่าไม่เกี่ยวกับชาติในการที่จิตจะมีวิริยะหรือไม่มีวิริยะ แต่ท่านอาจารย์กล่าวว่า อาศัยปสาท ช่วยชี้แนะด้วยครับ

        ท่านอาจารย์ เวลาที่กล่าวถึงชาติของจิต ก็ต้องมีความเข้าใจที่มั่นคงว่า จิตเกิดขึ้นต้องเป็น ๑ ใน ๔ ชาติของจิต คือ การเกิดขึ้นเป็นไป เป็นชนิดหนึ่งชนิดใดใน ๔ คือ เกิดเป็นกุศล ชาติหนึ่ง เกิดขึ้น คือ ชาติเป็นกุศล และอีกประเภทหนึ่ง คือ เกิดขึ้นเป็นอกุศล เหมือนกันไม่ได้เลย กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล ซึ่งกุศล และอกุศลไม่ใช่ผล แต่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล เพราะฉะนั้นเมื่อกุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดขึ้น เป็นกรรมที่ได้กระทำแล้ว ก็จะเป็นกรรมปัจจัย แม้ดับไปแล้ว ก็สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นผลเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นผล ใช้คำว่า วิปาก หมายความว่า สุกงอม เพราะว่าการสะสมมามาก แต่กรรมไหนจะเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยปัจจัยด้วย

        เพราะฉะนั้นเวลาที่กรรมจะให้ผล แต่ไม่ได้ให้ผลทำภวังคกิจ แต่ให้ผลที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เพราะฉะนั้นจะเกิดขึ้นทันทีสืบต่อจากภวังค์ ซึ่งกำลังเป็นผลของกรรมเดียวกับปฏิสนธิ ที่ทำให้จิตนั้นเกิดดับสืบต่อดำรงภพชาติ แค่นั้นเองค่ะ ไม่ทำกิจอื่นเลย เวลาที่ทำภวังคกิจ ก็คือดำรงภพชาติ คือ ยังไม่ตาย แต่ก็ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่เป็นวิถีจิต ยังไม่คิดนึกใดๆ ขณะนั้นที่เรามองเห็นชัดก็คือขณะที่กำลังหลับสนิท เป็นขณะที่เหมือนขณะที่ปฏิสนธิเลย คือ ไม่รู้เลย จะเป็นใครอยู่ที่ไหน อย่างไร ไม่มีอะไรปรากฏ อารมณ์ของจิตมีจริงแต่ไม่ได้ปรากฏ เพราะว่าไม่ได้อาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง

        เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผลของกรรมที่ทำให้ดำรงภพชาติ จะทำกิจอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้นก่อนมีโอกาสจะกระทำกิจอื่น หรือวิบากจิตอื่นจะเกิดได้ ก็จะมีจิตประเภทหนึ่ง คือ วิถีจิตแรก อาวัชชนจิต เพราะทำอาวัชชนกิจ รำพึงหรือนึกถึงอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แล้วแต่ว่าถ้าเป็นทางทวารทั้ง ๕ เมื่อมีอารมณ์กระทบกับปสาท จิตนี้ก็เกิดขึ้นรู้การกระทบหรือรู้อารมณ์ที่กระทบ แต่ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้นขณะนั้นยังไม่ใช่ผลของกรรมที่จะทำกิจเห็น เป็นต้น ซึ่งเป็นวิบากจิต เพียงแต่อาวัชชนกิจ นึกถึงสิ่งที่กระทบเท่านั้นเอง มีกิจแค่นั้นเอง แล้วก็ดับไป จึงเป็นกิริยาจิต

        ผู้ฟัง แสดงว่าขณะที่หลับสนิท ยังไม่รู้อารมณ์ในปัจจุบัน

        ท่านอาจารย์ อารมณ์ไม่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เลย

        ผู้ฟัง ยังต้องมีจิตคั่นอยู่ก่อนที่จะมีการเห็น การได้ยิน ซึ่งเป็นกิริยาจิต

        ท่านอาจารย์ หมายความว่าจากผลของกรรมที่ทำให้เกิดภวังคจิต แล้วก็จะเปลี่ยนเป็นผลของกรรมที่ทำให้รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

        ผู้ฟัง ซึ่งเป็นผลของกรรม แต่ว่าคนละเรื่องกัน เพราะดำรงภพชาติ แต่เมื่อไรมีการเห็น การได้ยิน ต้องมีอาวัชชนะที่จะมารับรู้อารมณ์ที่กระทบกับทวาร หรือปสาทก่อนจะเห็น ซึ่งเป็นผลของกรรม

        ท่านอาจารย์ ถ้าจิตนี้ไม่เกิด จิตเห็น จิตได้ยิน ก็เกิดไม่ได้ วิถีจิตใดๆ ก็เกิดไม่ได้ แต่ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน

        ผู้ฟัง แล้วในขณะนั้นก็ไม่มีวิริยเจตสิกในการขวนขวาย

        ท่านอาจารย์ ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ มโนทวาราวัชชนจิต เป็นจิตต่างประเภท เป็นจิตคนละดวง

        ผู้ฟัง และเกี่ยวกับอาศัยปสาทกระทบอารมณ์ด้วยไหมครับ

        ท่านอาจารย์ จึงไม่ต้องมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

        ผู้ฟัง ส่วนทางใจ มโนทวาราวัชชนจิต

        ท่านอาจารย์ จะคิดอะไรให้ทราบว่า มีวิริยเจตสิกเกิดขึ้น

        ผู้ฟัง แต่เราไม่สามารถบังคับได้เลย ใช่ไหมครับ

        ท่านอาจารย์ ค่ะ รู้ไม่ได้เลยว่า ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ กำลังเห็นอย่างนี้ ตลอดเหมือนไม่ดับเลย มีจิตอะไรเกิดดับบ้าง และจิตแต่ละขณะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย แม้แต่ความต่างของปัญจทวาราวัชชนจิต มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร จักขุวิญญาณมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร ก็ไม่รู้

        เพราะฉะนั้นการศึกษาธรรม เพื่อรู้ความไม่ใช่ตัวตน ความเป็นธรรม

        ผู้ฟัง เพราะว่าปัญญาไม่สามารถรู้สิ่งเหล่านี้ได้ แต่เรารู้เหตุผลว่า จิตแต่ละประเภทที่เกิด ต้องมีเหตุผลในการมีวิริยะหรือไม่มีวิริยะ ไม่ใช่ว่าจะเกิดลอยๆ หรืออยากจะให้มี

        ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม ศึกษาสิ่งที่มีจริง เมื่อปัญจทวาราวัชชนจิตต่างกับมโนทวาราวัชชนจิต ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่มโนทวาราวัชชนจิต จิตบางประเภทมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากัน เป็นวิบากด้วย แต่ก็ไม่ใช่จิตประเภทเดียวกัน เพราะกิจต่างกัน

        นี่คือความละเอียดของธรรมค่ะ

        ผู้ฟัง เท่ากับเป็นกิจต่างกันด้วย เพราะเป็นทางปัญจทวาราวัชชนจิต

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 346


    หมายเลข 12465
    23 ม.ค. 2567